xs
xsm
sm
md
lg

การจำแนกประเภทพรรคการเมืองไทย (1) (Typology of Thai Political Parties) / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัญญาพลวัตร
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

ในสังคมสมัยใหม่ พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางสังคมที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นองค์กรที่เข้ามาใช้อำนาจการบริหารปกครองประเทศ แทบทุกประเทศในโลก ไม่ว่าประเทศนั้นจะมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม ต่างก็มีพรรคการเมืองเป็นกลไกหลักในการใช้อำนาจทั้งสิ้น การไม่ยอมรับหรือปฏิเสธการดำรงอยู่ของพรรคการเมืองในโลกสมัยใหม่ จึงเป็นการปฏิเสธความจริง ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลดีใดต่อการพัฒนาการเมืองแต่อย่างใด การทำความเข้าใจพัฒนาการและประเภทของพรรคการเมืองที่ดำรงอยูในโลก จึงเป็นพื้นฐานในการนำมาทำความเข้าใจเกี่ยวแนวโน้มและแนวทางของการพัฒนาการเมืองไทยต่อไป


ในแวดวงวิชาการรัฐศาสตร์ของสังคมไทย เมื่ออธิบายถึงประเภทของพรรคการเมือง มักจำแนกออกมาเป็นสองประเภทหลักคือ พรรคชนชั้นนำ (elite party) กับ พรรคฐานมวลชน (mass-based party) ตัวแบบการจำแนกประเภทแบบนี้มาจากการศึกษาพัฒนาการของพรรคการเมืองในประเทศยุโรปของนักวิชาการทางรัฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ มอริซ ดูเวอร์เกอร์ (Maurice Duverger) ตั้งแต่ ค.ศ. 1954 ซึ่งเขียนหนังสือชื่อ “พรรคการเมือง” (political parties) ฐานคิดในการอธิบายเพื่อจำแนกประเภทของดูเวอร์เกอร์คือ บริบททางสังคมและเศรษฐกิจของผู้เลือกตั้ง ซึ่งส่งผลต่อการจัดโครงสร้างองค์กรของพรรคการเมือง

พรรคชนชั้นนำเป็นพรรคที่เกิดขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ภายใต้เงื่อนไขที่ประชาชนมีการศึกษาต่ำ ส่วนใหญ่อาศัยในชนบท และยังไม่มีการให้สิทธิเลือกตั้งแก่ประชาชนส่วนใหญ่ แต่ให้สิทธิเลือกตั้งเป็นการเฉพาะแก่คนบางกลุ่มในสังคมเท่านั้น โครงสร้างองค์กรประกอบด้วยชนชั้นนำที่เป็นขุนนางดั้งเดิม และเครือข่ายความสัมพันธ์ส่วนบุคคลในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจง โครงสร้างของพรรคในระดับชาติเป็นการรวมกลุ่มเชิงพันธมิตรของกลุ่มชนชั้นนำท้องถิ่น และไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจน ในระดับพื้นที่ ความผูกพันระหว่างผู้สมัครของพรรคกับผู้เลือกตั้งอยู่บนฐานของการจัดสรรผลประโยชน์แก่ผู้เลือกตั้งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตเลือกตั้ง และความสัมพันธ์ระหว่างผู้สมัครกับผู้เลือกตั้งเป็นความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์

พรรคมวลชนฐานชนชั้นเกิดขึ้นในระยะหลังจากนั้นไม่นาน เมื่อมีขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชนชั้นแรงงานปรากฏตัวขึ้นในหลายประเทศของยุโรป องค์กรของพรรคประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นชนชั้นแรงงานที่จ่ายค่าสมาชิก มีความกระตือรือร้นทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่มีการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม พรรคมวลชนฐานชนชั้นเน้นความสำคัญของอุดมการณ์สังคมนิยม มีการเผยแพร่และปลูกฝังอุดมการณ์แก่สมาชิกอย่างเข้มข้น และมีการขยายฐานสมาชิกอย่างกว้างขวาง นโยบายของพรรคมีความสอดคล้องกับอุดมการณ์ ยุทธศาสตร์เน้นการจัดตั้งและเคลื่อนไหวระดมการสนับสนุนจากสมาชิกเพื่อบรรลุชัยชนะในการเลือกตั้ง

ต่อมาในปี 1966 ออตโต เคิร์ชไคเมอร์ (Otto Kirchhemer) นักรัฐศาสตร์ชาวเยอรมันได้นำเสนอตัวแบบเพิ่มเติมในการจำแนกประเภทพรรคการเมือง โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ พรรคนายทุนส่วนบุคคล (bourgeois parties of individual representation) พรรคมวลชนฐานชนชั้น (class-mass parties) พรรคมวลชนฐานศาสนา (denominational mass parties) และ “พรรคแตะทุกกลุ่ม” (catch-all people’s parties)

พรรคนายทุนส่วนบุคคลของเคิร์ชไคเมอร์มีความคล้ายคลึงกับพรรคชนชั้นนำของดูเวอร์เกอร์ แต่สิ่งที่แตกต่างคือ แกนนำของพรรคเป็นกลุ่มชนชั้นนายทุน แทนที่จะเป็นขุนนาง ทั้งนี้เป็นเพราะชนชั้นขุนนางดั้งเดิมในยุโรปได้เสื่อมสลายลงไปในปลายศตวรรษที่สิบเก้า อันเนื่องมาจากการพัฒนาการของอุตสาหกรรมและการขยายความเป็นเมือง ดังนั้น กลุ่มที่เข้ามามีบทบาทในการจัดตั้งพรรคการเมืองแบบชนชั้นนำแทนคือกลุ่มนายทุน ส่วนพรรคมวลชนฐานชนชั้นก็ยังคงดำรงอยู่เหมือนเดิม

เคิร์ชไคเมอร์ยังได้เพิ่มประเภทพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาอีก 2 ประเภท คือ พรรคมวลชนฐานศาสนา กับ พรรคแตะทุกกลุ่ม

พรรคมวลชนฐานศาสนา เป็นพรรคที่ใช้ความเชื่อทางศาสนาเป็นอุดมการณ์หลักของพรรค ในยุโรปพรรคลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายประเทศ ซึ่งมักตั้งชื่อพรรคด้วยคำขึ้นต้นว่า “คริสเตียน” เช่น พรรคคริสเตียนเดโมแครต (Cristian democratic parties) ของหลายประเทศในยุโรป ลักษณะของพรรคมฐานศาสนาคือการมีสมาชิกที่กว้างขวางที่จ่ายค่าสมาชิกแก่พรรค มีโครงสร้างพรรคแบบลำดับชั้นของอำนาจที่เชื่อมโยงระหว่างระดับชาติกับท้องถิ่น และมีเครือข่ายความสัมพันธ์กับกลุ่มทางสังคมที่หลากหลายที่มีฐานความเชื่อทางศาสนาเดียวกัน นโยบายของพรรคมีความสัมพันธ์กับความเชื่อทางศาสนา เน้นมิติทางด้านศีลธรรมและจริยธรรมของศาสนา เช่น การต่อต้านการทำแท้ง ต่อต้านการหย่าร้าง ต่อต้านการแสดงออกทางเพศที่โจ่งแจ้ง เป็นต้น

ในบรรดาพรรคการเมืองทั้ง 4 ประเภทของ เคิร์ชไคเมอร์นั้น “พรรคแตะทุกกลุ่ม” ได้รับความสนใจจากแวดวงวิชาการอย่างกว้างขวางที่สุด เพราะสอดคล้องกับปรากฎการณ์ทางการเมืองของหลายประเทศในยุโรป ซึ่งมีพรรคการเมืองหลักจำนวนมากปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อตอบสนองผู้เลือกตั้งให้กว้างขวางที่สุด โดยไม่จำกัดเฉพาะมวลชนที่เคยเป็นผู้สนับสนุนหลักดังในอดีต “พรรคแตะทุกกลุ่ม” มีโครงสร้างองค์การหลวม ไม่กระชับแน่นดังพรรคฐานมวลชน มีอุดมการณ์ตื้นเขินและคลุมเครือ เน้นความสำคัญอย่างยิ่งกับชัยชนะในการเลือกตั้ง ให้ความสำคัญกับผู้นำที่โดดเด่นของพรรค และผู้สมัครที่มีบทบาททางการเมืองสูงและชื่อเสียงในระดับชาติ เป้าหมายของพรรคแตะทุกกลุ่มคือ การได้มาซึ่งคะแนนเสียงมากที่สุดเพื่อชนะการเลือกตั้ง ดังนั้น พรรคแตะทุกกลุ่มจึงพยายามรวมรวบปัญหาความต้องการของกลุ่มผลประโยชน์ให้ได้จำนวนมากที่สุด เพื่อผลิตนโยบายที่สามารถตอบสนองความต้องการของทุกกลุ่ม และพรรคประเภทนี้พยายามวางตัวเป็นกลางทางอุดมการณ์ และมักระบุอัตลักษณ์ของพรรคว่าเป็น “พรรคปฏิบัตินิยม”

ในปี 1988 แอนจีโล พานีเบียงโค (Angelo Panebianco) นักรัฐศาสตร์ชาวอิตาลีได้จำแนกพรรคการเมืองออกเป็น 2 ประเภท คือ พรรคมวลชนราชการ (mass-bureaucratic parties) ซึ่งเป็นพรรคที่มีโครงสร้างพรรคที่เป็นลำดับชั้นเชิงระบบราชการ มีสมาชิกพรรคที่มีจุดยืนอุดมการณ์เดียวกันเป็นกลไกสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง เน้นการนำแบบรวมกลุ่ม และให้ความสำคัญกับอุดมการณ์สูง และพรรคเลือกตั้งอาชีพ (electoral-professional parties) ซึ่งมีกลุ่มบริหารพรรคแบบมืออาชีพเพื่อการเลือกตั้ง ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกกับพรรคค่อนข้างอ่อนแอ เน้นความสำคัญของผู้นำพรรค และเน้นประเด็นนโยบายเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง และให้ความสำคัญกับอุดมการณ์น้อย

ในปี 2003 ริชาร์ด กุนเธอร์ (Richard Gunther) และแลร์รี่ ดายมอนด์ (Larry Diamond) ได้สังเคราะห์ทฤษฎีระบบพรรคการเมืองของนักวิชาการในอดีต และได้ใช้เกณฑ์ 3 ประการในการจำแนกพรรคการเมือง ประกอบด้วย 1) ธรรมชาติของโครงสร้างองค์กร อันได้แก่ โครงสร้างแบบกระชับแน่นหนา (thick) กับโครงสร้างหลวมแบบเบาบาง (thin) และโครงสร้างแบบฐานชนชั้นนำ (elite-based) กับโครงสร้างแบบฐานมวลชน (mass-baes) 2) แนวโน้มการยึดถือในอุดมการณ์ ซึ่งจำแนกเป็น การยึดมั่นในอุดมการณ์ กับการยึดถือระบบอุปถัมภ์ และ 3) การยอมรับความอดกลั้นความแตกต่างและความเป็นพหุนิยม (tolerant and pluralistic) กับ การมุ่งเน้นการครองอำนาจนำ (proto-hegemonic) หรือการต่อต้านระบบการเมืองที่เป็นอยู่

นักวิชาการทั้งสองคนใช้เกณฑ์ข้างต้นจำแนกประเภทพรรคการเมืองได้ 5 ประเภทหลัก และ 15 ประเภทย่อย สำหรับข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ครอบคลุมในหลายประเทศในยุโรป เอเชีย อเมริกาเหนือและใต้ และแอฟริกา ด้านช่วงเวลาในประวัติศาสตร์การเมืองก็ใช้ตั้งแต่ ค.ศ. 1850 จนถึง ค.ศ. 2000 สำหรับ 5 ประเภทหลักของพรรคการเมืองประกอบด้วย 1. พรรคฐานชนชั้นนำ 2. พรรคฐานมวลชน 3. พรรคฐานชาติพันธุ์ (ethnicity-base parties) 4. พรรคเลือกตั้ง (electoralist parties) และ 5. พรรคขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (movement parties) แต่ละประเภทมีรายละเอียดดังนี้

1.พรรคฐานชนชั้นนำ ซึ่งมีสองประเภทย่อย คือ 1.1) พรรคฐานชนชั้นนำท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งคล้ายคลึงกับพรรคฐานชั้นนำของดูเวอร์เกอร์ กับ 1.2) พรรคฐานชนชั้นนำแบบอุปถัมภ์ใหม่ (clientelistic parties) ซึ่งคล้ายคลึงกับพรรคฐานชนชั้นนำนายทุนส่วนบุคคลของเคิร์ชไคเมอร์

2. พรรคฐานมวลชน ซึ่งประกอบด้วยพรรคฐานมวลชน 3 ประเภทหลัก 6 ประเภทย่อย ดังนี้ 2.1) พรรคฐานมวลชนแนวสังคมนิยมซึ่งมี 2 ประเภทย่อยคือ 2.1.1) พรรคมวลชนฐานชนชั้น (class-mass parties) ซึ่งเป็นพรรคแนวสังคมนิยมประชาธิปไตย ที่ยอมรับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย มีฐานสมาชิกกว้างส่วนใหญ่มาจากชนชั้นแรงงาน แต่ก็เปิดกว้างในการรับสมาชิกจากกลุ่มอื่น ๆ ทางสังคมที่มีอุดมการณ์เดียวกัน เน้นอุดมการณ์ทางการเมืองและผลิตนโยบายที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ และ 2.1.2) พรรคมวลชนแบบเลนิน (Leninist parties) ซึ่งพยายามสถาปนkอำนาจนำของพรรค และยอมรับเงื่อนไขทางการเมืองที่เอื้อประโยชน์ต่อการบรรลุเป้าหมายของพรรคในการเปลี่ยนแปลงสังคม โครงสร้างพรรครวมศูนย์และกระชับอำนาจ การรับสมาชิกมีการคัดสรรอย่างเข้มงวด เน้นวินัยและความจงรักภักดีของสมาชิกที่มีต่อพรรค

2.2 พรรคฐานมวลชนแบบชาตินิยม (nationalism) ซึ่งมี 2 ลักษณะคือ 2.2.1 พรรคชาตินิยมแบบพหุนิยม ซึ่งยอมรับระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย เป็นพรรคที่มีฐานสมาชิกกว้างขวาง เครือข่ายองค์กรของพรรคประกอบด้วยกลุ่มทางวัฒนธรรมและอาจรวมถึงสหภาพแรงงาน กลุ่มเป้าหมายของพรรคแบบนี้คือบุคคลที่มีความรู้สึกและยึดมั่นในความเป็นชาติ ยุทธศาสตร์ของพรรคนอกเหนือจากการใช้เพื่อสร้างชัยชนะในการเลือกตั้งแล้ว ยังใช้ยุทธศาสตร์ในการรณรงค์เลือกตั้งเพื่อส่งเสริมความรักชาติและนโยบายชาตินิยมอย่างเข้มข้นด้วย อย่างเช่น นโยบายการดำรงตนเป็นอิสระในการเมืองระหว่างประเทศ นโยบายการอ้างดินแดนที่เคยสูญเสียในอดีตคืนมา เป็นต้น ส่วนนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม และศาสนาจะเน้นทางสายกลาง และ 2.2.2) พรรคชาตินิยมสุดขั้ว (ultranationalist parties) ซึ่งเป็นพรรคที่มีจุดมุ่งหมายในการครองอำนาจนำ และใช้ระบอบประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมาย และบางกรณีก็อาจใช้การรัฐประหาร พรรคชาตินิยมสุดขั้วเน้นความเป็นชนชาติและเชื้อชาติเหนือปัจเจกบุคคล รังเกียจชนกลุ่มน้อย ชื่นชมและเปิดกว้างในการใช้กำลัง การจัดตั้งองค์กรพรรคมีลักษณะกึ่งกองทัพ การคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นสมาชิกมีความเข้มงวด เน้นวินัยและความจงรักภักดี ปลูกฝังอุดมการณ์แก่สมาชิกอย่างเข้มข้น และให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับผู้นำ ตัวอย่างพรรคแบบนี้คือ พรรคนาซีในประเทศเยอรมันนี และ พรรคฟาสซิสต์ในประเทศอิตาลี

2.3 พรรคมวลชนฐานศาสนา ซึ่งมีสองประเภทย่อยคือ 2.3.1 พรรคมวลชนฐานศาสนาสายกลาง (denominational mass party) ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับพรรคฐานศาสนาของเคิร์ชไคเมอร์ กับ 2.3.2) พรรคฐานศาสนาแบบรากฐานนิยม (fundamentalist party) ซึ่งมีความมุ่งหมายในการครองอำนาจนำและนำหลักศาสนามาใช้เป็นหลักปกครองประเทศ (ยังมีต่อ)

อ้างอิง
Duverger, M. (1954 ). Political Parties. London: Methuen.
Gunther, R., & Diamond, L. (2003). SPECIES OF POLITICAL PARTIES: A New Typology. Party Politics, 9(2), 167-199.
Kirchheimer, O. (1966). The Transformation of the Western European Party Systems. In J. LaPalombara, & M. Weiner (Eds.), Political Parties and Political Development. . Princeton, NJ: Princeton University Press.
Panebianco, A. (1988). Political Parties: Organization and Power. Cambridge and New York: Cambridge University Press.


กำลังโหลดความคิดเห็น