xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สงครามชิป “4 ชาติ” ป่วนอุตสาหกรรมไทย รถยนต์หนักสุด เครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์อ่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่เพียงแค่สถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) อาทิ ก๊าซนีออน ซึ่งยูเครนเป็นผู้ส่งออกกว่า 20% ของตลาดโลก รวมทั้งการส่งออกแร่สำคัญจากรัสเซียที่ยังถูกคว่ำบาตรแล้ว ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างจีนและไต้หวัน ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะยืดเยื้อมากแค่ไหน ก็ถือเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความขาดแคลนชิปอย่างหนัก เพราะไต้หวันมีสัดส่วนเป็นผู้ส่งออกชิปกว่า 64% ในตลาดโลก ขณะที่จีนงดส่งออกทรายธรรมชาติ วัตถุดิบสำคัญในการผลิตชิปไปยังไต้หวัน เป็นมาตรการตอบโต้หลังการมาเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร สหรัฐอเมริกา 

เป็นปัญหาที่ประเดประดังเข้ามาซ้ำเติมสถานการณ์ชิปขาดแคลนทั่วโลกที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่เกิดสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดซึ่งทำให้ห่วงโซ่อุปทานชิปมีปัญหา บวกความต้องการอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ชิ้นสำคัญนี้เพิ่มขึ้นจากการล็อกดาวน์เมืองทำให้ผู้คนหันมาใช้คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน เกมคอนโซลพุ่งสูงขึ้น และเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย อุตสาหกรรมยานยนต์ฟื้นตัวความต้องการชิปก็เพิ่มสูงขึ้น ซ้ำเติมการขาดแคลนหนักขึ้น

และแน่นอนว่าการขาดแคลนชิปในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ยอดการส่งออกยานยนต์ลดลงเกือบ 10% รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ต้องประสบกับปัญหา

 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.กำลังเร่งตรวจสอบไปยังผู้ประกอบการที่มีความจำเป็นต้องใช้ชิพในการผลิตในหลายอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบ เช่น รถยนต์ ยานยนต์ไฟฟ้า แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไฮเทค เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ ว่าในระยะสั้นนี้จะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหนและในกรณีที่เหตุการณ์ความขัดแย้งยังยืดเยื้อ

อย่างไรก็ดี ประธาน ส.อ.ท. มองว่า วิกฤตการขาดแคลนชิปที่เกิดขึ้น มองเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยที่จะดึงการลงทุนผลิตชิปเข้ามายังไทย โดยเฉพาะบริษัท TSMC ของไต้หวัน ที่มีการลงทุนในต่างประเทศบางส่วน ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ไทยจะใช้จังหวะนี้ชักจูง TSMC เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยเพื่อกระจายความเสี่ยงหากประเทศใดประเทศหนึ่งมีปัญหาเกิดขึ้น ดังนั้นหนึ่งในข้อเสนอของเอกชน คือ รัฐบาลต้องเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด และเชื่อมโยงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค เหมือน EEC ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์และสามารถดึงการลงทุนเข้ามาได้อย่างมหาศาล

ด้าน นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท.กำลังติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวัน หลังล่าสุดจีนได้ระงับการส่งออกทรายซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ไปยังไต้หวัน โดยมีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากกังวลว่าหากปัญหานี้ยืดเยื้อและไต้หวันไม่อาจหาแหล่งทรายจากที่อื่นมาเสริมได้จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนชิปที่หนักขึ้นของอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

“เราคงต้องติดตามใกล้ชิดว่าปัญหานี้จะนานเพียงใด โดยเฉพาะผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. หรือ TSMC จะมีสต๊อกทรายมากน้อยแค่ไหน รวมถึงการหาจากแหล่งอื่นทดแทนหากสถานการณ์ยืดเยื้อเพราะไต้หวันต้องพึ่งพิงทรายจากจีนเกือบ 90%” นายสุรพงษ์ กล่าว

สำหรับปัญหาขาดแคลนชิปเริ่มขึ้นตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่กระทบการผลิต และการล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้ที่เป็นอีกแหล่งผลิตชิปสำคัญของโลก รวมไปถึงการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้เกิดการหยุดชะงักของการส่งออกก๊าซนีออนที่เป็นวัตถุดิบในการแกะแบบแผงวงจรให้เป็นแผ่นซิลิคอนเวเฟอร์ (silicon wafer) เพื่อใช้ในการผลิตชิป ซึ่งปัญหาชิปขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาทำให้การผลิตรถยนต์บางรุ่นในไทยเองต้องส่งมอบล่าช้า ซึ่งเดิมปัญหานี้มีการประเมินว่าสถานการณ์จะดีขึ้นสู่ภาวะปกติได้ในช่วงปลายปี 2567 หลังเกิดโรงงานผลิตชิปแห่งใหม่เพิ่มขึ้นหลังการก่อสร้างเสร็จสิ้น แต่เมื่อมีกรณีจีนและไต้หวันเข้ามาเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงจึงต้องติดตามใกล้ชิดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะบานปลายมากน้อยเพียงใด

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ทั้งชิปที่ขาดแคลนและราคาสูงขึ้น รวมไปถึงต้นทุนการผลิตอื่นๆ โดยรวมที่เพิ่มทำให้ขณะนี้รถยนต์บางรุ่นได้ปรับราคาเพิ่มขึ้นแล้ว เชื่อว่าหากสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคต่างๆ ยังไม่ดีขึ้นต้นทุนการผลิตปี 2566 ก็จะสูงเพิ่มมากขึ้น และอาจทำให้การปรับราคาจำหน่ายรถยนต์ต่างๆ รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) สูงขึ้นกว่าปีนี้

“ปัญหาการขาดแคลนชิปทำให้การส่งมอบรถยนต์บางรุ่นต้องใช้เวลาเป็นปี และราคารถเริ่มขยับขึ้นซึ่งรวมถึงรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์เองก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาชิปเช่นเดียวกัน สะท้อนจากการที่มูลค่าการส่งออกรถจักรยานยนต์ชะลอตัวลง นั่นเป็นเพราะบิ๊กไบค์ที่มีมูลค่าส่งออกสูงส่งออกลดลงจากผลกระทบชิปขาดแคลน ” นายสุรพงษ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน ปัญหาการส่งมอบรถยนต์ที่ล่าช้าเพราะต้องรอชิปยังทำให้ตลาดรถยนต์มือสองมีการเติบโตมากขึ้นเพราะผู้ใช้รถจำนวนไม่น้อยต้องการรถยนต์เพื่อใช้งานทันทีไม่สามารถรอได้ ประกอบกับรถมือสองมีราคาต่ำลงท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้ประชาชนมีเงินไม่มากพอที่จะซื้อรถยนต์รุ่นใหม่ ดังนั้นคงจะต้องรอมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐในระยะต่อไปว่าจะสามารถฟื้นกำลังซื้อประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน เช่น คนละครึ่งเฟส 5 โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น

 นายชัยชาญ เจริญสุข  ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุในทำนองเดียวกันว่าการที่จีนประกาศไม่ส่งวัตถุดิบทรายที่เป็นส่วนสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิป เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อตอบโต้ไต้หวัน ทำให้สรท.มีความกังวลต่อการการขาดแคลนชิปมาก เพราะปัญหานี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่ผ่านจนถึงปัจจุบัน ทำให้ยอดการส่งออกรถยนต์ไทยครึ่งปีแรกติดลบ ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าจะรุนแรงขนาดไหน

ขณะนี้การส่งออกของไทยยังไปได้ดี โดยปีนี้ทั้งปีคาดส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 6-8 % และมีลุ้นโตถึง 10 % แต่ขณะนี้เริ่มไม่แน่ใจเพราะตัวแปรสำคัญคือ ชิป ที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ขณะนี้ถือว่ายังไม่สามารถประเมินได้ ทั้งนี้ ไทยนำเข้าชิปจากไต้หวันและจีนเป็นหลัก หากไต้หวันขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตชิปจะกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน

วัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตชิปคือทรายซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไต้หวัน โดยตัวเลขยอดส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเดือนมิ.ย.ของไต้หวันอยู่ที่1.73 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็น41% ของยอดส่งออกทั้งหมด ขณะที่ไต้หวันนำเข้าทรายและกรวด 5.67 ล้านตันในปี 2020 โดยกว่า 90% เป็นการนำเข้าจากจีน

จากรายงาน มีการระบุว่า ข้อมูล Trade Map ปี 2021 การค้าเซมิคอนดักเตอร์ของโลก มีมูลค่า 296,027 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศส่งออกอันดับ 1 คือ จีน มูลค่า 48,793 ล้านเหรียญสหรัฐ ครองส่วนแบ่ง 33% ขณะที่สหรัฐเป็นอันดับที่ 7 ส่งออก 7,491 ล้านเหรียญ

ส่วนไต้หวันส่งออก 6,356 ล้านเหรียญสหรัฐ หรืออยู่ในอันดับ 8 ส่วนของไทยนั้น ส่งออกอยู่ที่ 2,661 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% จากปี 2563 ครองสัดส่วน 2% ของตลาดโลก ในขณะที่ประเทศผู้นำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ อันดับ 1 ได้แก่ จีน ซึ่งมีมูลค่า 33,356 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 22% ส่วนสหรัฐเป็นผู้นำเข้าอันดับ 3 มูลค่า 13,436 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 13%

ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ออกรายงานภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย ปี 2565 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น แต่เป็นอัตราเติบโตที่ชะลอลงเล็กน้อย ท่ามกลางความเสี่ยงจากสงครามและปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาด ซึ่งส่งผลกระทบมายังอุตสากหกรรมปลายน้ำอย่างรถยนต์ที่จำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ในการผลิต โดยเฉพาะรถยนต์รุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย และรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EVs

ขณะที่แนวโน้มการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ EVs ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ Supply chain อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยในระยะยาว โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้สำหรับเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังของยานยนต์สันดาปภายใน (ICE) ยกเว้นผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์บางประเภท เช่น โครงรถ ตัวถัง ระบบช่วงล่าง เบาะนั่ง ล้อรถ เป็นต้น ซึ่งจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนประเภทอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ EVs

จากปัจจัยดังกล่าว EIC คาดยอดผลิตรถยนต์ในปี 65 จะขยายตัวราว 2% หรืออยู่ที่ 1.72 ล้านคัน ขณะที่ ยอดขายรถยนต์ในประเทศ คาดว่าจะขยายตัว 2.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน หรืออยู่ที่ราว 7.8 แสนคัน ชะลอลงจากคาดการณ์เดิม ณ ต้นปี 2565 ที่ 8.2 แสนคัน จากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ เนื่องจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ที่คาดว่าจะส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคยังฟื้นตัวได้จำกัด

EIC มองว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ จากประเด็นปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และปัญหาราคาต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาแหล่งวัตถุดิบจากแหล่งผลิตใหม่ๆ หรือเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบชนิดอื่นทดแทน


กำลังโหลดความคิดเห็น