ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
เมื่อทวอปาตั้งตนเป็นใหญ่แล้วก็ตั้งราชวงศ์เว่ยขึ้นมา แต่เนื่องจากเคยมีราชวงศ์นี้มาก่อนหน้านี้แล้ว นักประวัติศาสตร์จึงเรียกราชวงศ์เว่ยของทวอปาว่า เป่ยเว่ยหรือเว่ยเหนือ เพื่อให้รู้ว่าต่างกับเว่ยที่มีอยู่ก่อนหน้านั้น และเมื่อมีราชวงศ์เป็นของตนเองแล้วก็ต้องมีจักรพรรดิเป็นของตนด้วย เพราะได้กล่าวไปแล้วว่าพวกชนชาติที่มิใช่จีนมักจะรับเอาวัฒนธรรมจีนมาใช้ ซึ่งระบบการปกครองก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ชนชาติทวอปานำมาใช้
และจักรพรรดิของทวอปานี้เองที่เมื่อรวบรวมพื้นที่ทางภาคเหนือเอาไว้ได้แล้ว จึงได้สร้างกำแพงเมืองจีนในส่วนที่อยู่ในปักกิ่งปัจจุบันขึ้นมา โดยจักรพรรดิชาวทวอปาทรงเกณฑ์แรงงานจากเมืองต่างๆ ราว 100,000 คนให้มาสร้างกำแพงเมืองจีน กำแพงในส่วนนี้จะสร้างล้อมรอบเมืองหลวงของทวอปา ซึ่งก็คือเมืองผิงเฉิง (ปัจจุบันคือเมืองต้าถงในมณฑลซันซี)
กำแพงเมืองจีนที่สร้างโดยชนชาติทวอปานี้เริ่มในเดือนมิถุนายน ค.ศ.446 โดยสร้างจากเมืองซั่งกู่ไปสิ้นสุดที่แม่น้ำอี๋ว์ มีความยาวราวหนึ่งพันลี้ ซึ่งสร้างแล้วเสร็จภายในหนึ่งปี ทั้งที่มิใช่โครงการเล็กๆ
ต่อมาราชวงศ์เป่ยเว่ยได้ตกต่ำเสื่อมถอยลงจนทำให้ราษฎรลุกฮือขึ้นมาขับไล่ใน ค.ศ.523 ทำให้ราชวงศ์นี้แตกออกเป็นสองราชวงศ์ย่อย คือ ราชวงศ์ตงเว่ยหรือเว่ยตะวันออก กับราชวงศ์ซีเว่ยหรือเว่ยตะวันตก ครั้นถึง ค.ศ.550 ราชวงศ์เว่ยตะวันออกมีการแย่งชิงอำนาจกันภายใน กลุ่มอำนาจใหม่ที่เข้ามาแทนที่กลุ่มอำนาจเดิมเปลี่ยนราชวงศ์เว่ยตะวันออกมาเป็น ราชวงศ์เป่ยฉีหรือฉีเหนือ
ในยุคราชวงศ์เป่ยฉีนี้เองที่จักรพรรดิของราชวงศ์นี้ทรงให้เกณฑ์แรงงานราว 1.8 ล้านคนมาสร้างกำแพงเมืองจีนขึ้นอีกราว 900 ลี้ โดยเริ่มจากด่านจีว์ยงของเมืองหนันโข่วจนถึงเมืองต้าถงในมณฑลซันซี
หลังจากนั้นราชวงศ์นี้ยังให้ทหารรักษาชายแดนในมณฑลสั่นซีสร้างกำแพงเพิ่มเติมอีก โดยสร้างจากแม่น้ำซีเหอ (แม่น้ำตะวันตก) ไปจดชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยมีความยาวราว 3,000 ทุกสิบลี้จะมีหอสังเกตการณ์ตั้งอยู่ และมีฐานที่มั่นทางทหารรักษาชายแดนอยู่ 25 แห่งเพื่อเฝ้าระวังจุดยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญ
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการรุกรานของ ชนชาติญว๋อหญัน (Rouran) ทูเจี๋ว์ย (Tujue) และอื่นๆ ราชวงศ์เป่ยฉียังได้สร้างกำแพงจากมณฑลซันซีและเหอเป่ยไปจนจดชายฝั่งทะเลป๋อไห่ กำแพงในส่วนนี้จะมีหอสังเกตการณ์ทุกๆ สิบลี้เช่นกัน โดยมีนายทหารคอยบังคับบัญชาเพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่เมืองหลวงอยู่ที่หอตลอดเวลา
อนึ่ง ญว๋อหญันเป็นชนชาติที่มีสายสัมพันธ์ทางสายเลือดกับชนชาติซย์งหนู และถือเป็นชนชาติที่มีต้นธารทางชาติพันธุ์กับชนชาติมองโกลในยุคแรกๆ ชนชาตินี้เรืองอำนาจในราวศตวรรษที่ 5 ถึงช่วงศตวรรษที่ 6 และช่วงที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้เป็นช่วงที่เริ่มเสื่อมถอยแล้ว ชื่อของชนชาตินี้ตั้งโดยจักรพรรดิของราชวงศ์เป่ยเว่ย มีความหมายว่า หนอนที่ขดตัว ซึ่งเป็นความหมายที่ด้อยค่าชนชาตินี้
ส่วนชนชาติทูเจี๋ว์ยนั้นถือเป็นชนชาติเติร์กโบราณ (Old Turkic) ชื่อของชนชาตินี้หมายถึง หมวกเหล็ก (โตวโหมว, combat helmet) ด้วยเห็นว่าถิ่นฐานของทูเจี๋ว์ยที่ตั้งอยู่ในแถบเทือกเขาอัลไตมีรูปทรงที่คล้ายกับหมวกเหล็กของทหาร
แต่ดังได้กล่าวไปแล้วว่า ในยุคราชวงศ์ใต้-เหนือเป็นยุคที่จีนแตกแยกไร้เอกภาพ การศึกระหว่างรัฐหรือราชวงศ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ไม่เพียงทำให้ราษฎรทนทุกข์ทรมานเท่านั้น แต่ยังต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกเกณฑ์มาสร้างกำแพงเมืองจีนอีกด้วย
เรื่องหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นความทุกข์ทรมานในยุคที่ว่าก็คือ มีบันทึกระบุว่าได้มีการเกณฑ์แม่ม่ายมาสร้างกำแพงเมืองจีนร่วมกับแรงงานทหาร โดยมีแม่ม่ายจากมณฑลซันตงจำนวน 2,600 คนถูกส่งไปสร้างกำแพง กล่าวกันว่า สองถึงสามในสิบส่วนของแม่ม่ายเหล่านี้ถูกพรากจากสามีของเธอด้วยการใช้กำลัง
ตราบจน ค.ศ.566 ชายแดนของเป่ยฉีถูกรุกรานถี่ขึ้น ขุนศึกที่บัญชาการรบอยู่ในแถบภาคเหนือจึงให้ทหารของตนสร้างกำแพงป้องกันการรุกรานขึ้นอีก คราวนี้กำแพงถูกสร้างด้วยความยาวราว 2,000 ลี้ โดยสร้างจากคู่ตุยซู่ไปจดชายฝั่งทะเลตะวันออก พื้นที่ใดที่มีความอ่อนไหวทางยุทธศาสตร์ก็สร้างป้อมปราการและสิ่งกีดขวางไว้ด้วย โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นหน้าผาและช่องเขา ส่วนหอสังเกตการณ์ถูกสร้างรวม 50 แห่ง
อนึ่ง คู่ตุยซู่ในปัจจุบันคือเมืองจิ้งเล่อที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเหลืองในมณฑลซันซี ซึ่งกำแพงได้ทอดยาวจากเมืองนี้ขึ้นเหนือไปที่ต้าถง และมุ่งสู่ทางตะวันออกถึงเมืองจังเจียโข่วและด่านจีว์ยงหรือจีว์ยงกวานพาดผ่านเมืองชังผิงและเทียนจู๋ที่เมืองซุ่นอี้ ทงเสี้ยน ฮว๋อเสี้ยน อู่ชิง ไปจดทะเลชายฝั่งตะวันออก
กำแพงที่สร้างโดยราชวงศ์เป่ยฉีมีอายุยืนยาวมาจนถึงราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) ในยุคนี้ได้มีนักคิดนักเขียนบรรยายภาพของกำแพงเมืองจีนของเป่ยฉีเอาไว้ด้วย โดยบรรยายว่ากำแพงที่ตนเห็นนั้นตั้งอยู่ในเมืองใดบ้าง ซึ่งก็คือเมืองต่างๆ ตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้น และคำบรรยายนั้นยังได้บอกอีกด้วยว่ากำแพงของเป่ยฉีที่ตนเห็นนั้น ว่ามีความยาวจากเมืองนี้ไปเมืองนั้นยาวเพียงใด
คำบรรยายดังกล่าวทำให้เห็นว่า ตราบจนถึงราชวงศ์ชิง กำแพงที่สร้างโดยราชวงศ์เป่ยฉียังคงตั้งมั่นอยู่ได้ ถึงแม้เวลาจะผ่านมาร่วมพันปีแล้วก็ตาม และหลังจากราชวงศ์เป่ยฉีไปแล้วยังคงมีการสร้างและซ่อมกำแพงนี้อยู่เป็นระยะๆ แต่ไม่มีขนาดใหญ่หรือเป็นโครงการขนาดใหญ่ อีกทั้งกำแพงที่ได้สร้างแล้วเสร็จในยุคหรือราชวงศ์ต่างๆ ยังคงแข็งแรงพอที่จะปกป้องจีนเอาไว้ได้
ในขณะเดียวกัน จีนหลังยุคราชวงศ์ใต้-เหนือไปแล้วเป็นจีนที่มีเสถียรภาพ เป็นจีนที่ความมั่นคง และความมั่งคั่ง และเป็นจีนที่มีเอกภาพที่ยาวนานหลายร้อยปี นั่นคือ เป็นจีนในยุค ราชวงศ์สุย (ค.ศ.581-618) และราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) โดยเมื่อสิ้นราชวงศ์ถังไปแล้ว แม้จีนจะเกิดความแตกแยกใน ยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐ (อู่ไต้สือกว๋อ, Five Dynasties and Ten Kingdoms, ค.ศ.907-979) ขึ้นอีกก็ตาม แต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ จากนั้นก็มีเอกภาพภายใต้ ราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1279) อีกหลายร้อยปี
ยุคราชวงศ์ซ่งถือเป็นยุคที่จีนถูกรุกรานจากชนชาติที่มิใช่จีนหลายชนชาติ และเป็นการรุกรานที่แทบเรียกได้ว่ามากันไม่ขาดสาย บางชนชาติมีความเข้มแข็งเกรียงไกรจนสามารถตั้งจักรวรรดิและราชวงศ์ของตนขึ้นมาได้ ชนชาติเหล่านี้บางครั้งก็อยู่กับราชวงศ์ซ่งด้วยดี บางครั้งก็เป็นศัตรูกับซ่ง ขึ้นอยู่กับทั้งสองฝ่ายจะมีนโยบายอย่างไรในแต่ละยุค
เมื่อสิ้นราชวงศ์ซ่งไปแล้วก็มี ราชวงศ์หยวน (ค.ศ.1206-1368) มาแทนที่ ราชวงศ์หยวนแม้มีอายุไม่ถึงร้อยปี แต่ก็ถือเป็นยุคที่จีนมีเอกภาพ จนเมื่อสิ้นราชวงศ์หยวนไปแล้วก็มี ราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) มาแทนที่
ราชวงศ์หมิงเป็นราชวงศ์ที่ขับไล่และโค่นล้มราชวงศ์หยวนที่เป็นของชาวมองโกลได้สำเร็จ โดยมีผู้นำในการโค่นล้มคือ จูหยวนจัง (ค.ศ.1328-1398) ผู้มีภูมิหลังเป็นชาวนาจน เขาเคยบวชเป็นพระภิกษุในศาสนาพุทธและเคยเป็นขอทานเพราะไม่มีจะกิน ครั้นเมื่อเติบใหญ่ขึ้นก็เป็นช่วงเดียวกับที่มีการลุกฮือขึ้นมาของชาวจีนเพื่อโค่นล้มราชวงศ์หยวนของพวกมองโกล อันเป็นช่วงที่ราชวงศ์หยวนเริ่มอ่อนแอ
จูหยวนจังเข้าร่วมในขบวนการกบฏต่างๆ จนเมื่อปีกกล้าขาแข็งขึ้นแล้วก็ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้ากบฏ เขานำกบฏเข้าโค่นล้มราชวงศ์หยวนและขับไล่ชาวมองโกลให้พ้นไปจากจีนได้สำเร็จ จากนั้นก็ตั้งตนเป็นจักรพรรดิในนามราชวงศ์หมิง และราชวงศ์หมิงนี้เองที่ได้สร้างกำแพงเมืองจีนขึ้นมาอีก ทั้งยังเป็นกำแพงที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในปัจจุบันรู้จักกันดี