xs
xsm
sm
md
lg

ทางสองแพร่งของนายกรัฐมนตรี: ตามรอยรัฐบุรุษ หรือซ้ำรอยทรราช

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

โดยปกติ ระบบรัฐสภาจะไม่มีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะอยู่ในตำแหน่งนานเท่าใดก็ได้ ตราบเท่าเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรให้การสนับสนุน แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ของประเทศไทยได้กำหนดระยะเวลาให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสามารถอยู่ในตำแหน่งรวมกันไม่เกินแปดปี และยังให้นับรวมทั้งในกรณีที่ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องและไม่ต่อเนื่องด้วย นับว่าเป็นนวัตกรรมทางการเมือง ที่เกิดขึ้นเฉพาะในบริบทของสังคมไทย


เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอันเป็นที่มาของการบัญญัติเช่นนี้ได้นับการเขียนไว้ในหนังสือ “คำมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” หน้า 275 ย่อหน้าสุดท้าย ความว่า “การกำหนดระยะเวลา แปดปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤติทางการเมืองได้”
นั่นหมายความว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ตระหนักว่า การอยู่ในอำนาจนานเกินไป จะนำไปสู่การผูกขาดอำนาจหรือการมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาอันเนื่องจากผูกขาดอำนาจมีหลายประการ ประการแรก คือ เป็นการเพิ่มโอกาสของการใช้อำนาจในทางที่มิชอบได้มากขึ้น ทั้งจากตัวผู้มีอำนาจเองและผู้ใกล้ชิด การใช้อำนาจในทางที่มิชอบมีหลากหลายมิติ เช่น การแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการทุจริตโดยตรง การกำหนดนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มพวกพ้อง การกีดกันคู่แข่งทางการเมือง การกดขี่ปราบปรามประชาชน เป็นต้น

ประการที่สอง ทำให้การตรวจสอบผู้มีอำนาจขาดความเที่ยงธรรม เพราะผู้ที่อยู่ในอำนาจยาวนานจะสะสมบ่มเพาะอำนาจ จนสามารถมีอิทธิพลเหนือองค์กรตรวจสอบทั้งหลายได้ เมื่อผู้มีอำนาจถูกร้องเรียนไปยังองค์กรตรวจสอบ ทั้งเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต หรือเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นผลเสียต่อสถานภาพ ตำแหน่งและอำนาจของผู้บริหารประเทศ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเสมอคือ พวกเขาสามารถหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาทั้งมวลอย่างง่ายดาย ทั้งที่บางเรื่องมีหลักฐานแห่งความผิดอย่างชัดเจน นั่นเป็นเพราะพวกเขาสามารถใช้อำนาจสั่งการหรือกดดันองค์กรตรวจสอบได้นั่นเอง ความเที่ยงธรรมในการตรวจสอบจึงขาดหายไป ซึ่งนำความเสื่อมเสียมาสู่องค์กรตรวจสอบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ประการที่สาม ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกคับข้องใจและไร้ความหวัง การอยู่ในอำนาจนานเกินไป หากความชอบธรรมอันเป็นที่มาของอำนาจถูกตั้งข้อสงสัย ประกอบกับการบริหารประเทศล้มเหลว เศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนมีหนี้สินและยากจนมากขึ้น รวมทั้งมีการใช้อำนาจในทางที่มิชอบ จำกัดสิทธิทางการเมือง และการปราบปรามผู้มีความคิดทางการเมืองแตกต่างจากตนเองอย่างรุนแรง ย่อมทำให้ประชาชนรู้เกิดความรู้สึกคับข้องใจ และสิ้นความหวัง

เงื่อนไขทั้งสามประการข้างต้นย่อมนำไปสู่วิกฤติทางการเมือง ดังที่เคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งในสังคมไทย สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยในยามนี้ ก็ถึงพร้อมทั้งสามเงื่อนไข ดังนั้น สัญญาณที่บ่งบอกถึงวิกฤติทางการเมืองก็ปรากฏมากขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ดังกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ และการชุมนุมขับไล่รัฐบาลขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางในแทบทุกวงการ ขณะเดียวกัน การสนับสนุนรัฐบาลก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเกิดขึ้นแม้กระทั่งในกลุ่มของผู้เคยสนับสนุนรัฐบาลมาก่อน และที่เห็นชัดที่สุดอีกประการคือการดิ่งลงของคะแนนนิยมอย่างต่อเนื่องทั้งต่อพลเอกประยุทธ์ และพรรคร่วมรัฐบาล หากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชายังคงดำรงตำแหน่งต่อไป โดยละเลยไม่สนใจต่อเจตนารมณ์และบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ก็มีความเป็นไปได้สูงยิ่งที่จะทำให้สังคมไทยเดินไปสู่ภาวะวิกฤติทางการเมืองในอนาคตอันใกล้นี้

ทางออกเพื่อหยุดยั้งวิกฤติทางการเมืองอยู่ที่การตัดสินใจของพลเอกประยุทธ์ และศาลรัฐธรรมนูญ พลเอกประยุทธ์สามารถหยุดยั้งวิกฤติทางการเมืองได้ภายใต้ทางเลือกสองประการ ทางเลือกแรก คือ การประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนวันที่ 23 สิงหาคม 2565 และประกาศต่อสาธารณะให้ชัดเจนว่า ตนเองได้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถดำรงตำแหน่งรวมกันไม่เกิน 8 ปี ดังนั้น ตนเองพร้อมที่จะลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์อาจหยิบยกประโยคอมตะทางการเมืองไทยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เคยกล่าวไว้ในปี 2531 ว่า “ผมพอแล้ว” อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการมีจิตใจที่รู้จักพอเพียง พอประมาณ และเปี่ยมด้วยสำนึกแห่งความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง หากพลเอกประยุทธ์เลือกเดินตามรอยรัฐบุรุษ ก็ย่อมได้รับการสรรเสริญ แซ่ซ้อง จากประชาชน และสามารถเดินลงจากอำนาจทางการเมืองอย่างสง่างาม จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนของนิด้าโพลเมื่อวันที่ 2-4 สิงหาคม 2565 ปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.25 ต้องการให้พลเอกประยุทธ์เลือกแนวทางนี้ และหากพลเอกประยุทธ์เลือกแนวทางนี้จริง เมื่อนักประวัติศาสตร์ในอนาคตศึกษาเรื่องราวของพลเอกประยุทธ์ ก็จะสามารถระบุถึงข้อดีของพลเอกประยุทธ์ได้บ้างว่า เป็นผู้มีอำนาจที่รับฟังเสียงประชาชน และมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมในการป้องกันไม่ได้ประเทศถลำลงไปสู่วิกฤติทางการเมือง

ทางเลือกที่สองคือ การยุบสภาก่อนวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ทางเลือกนี้ไม่สง่างามเท่ากับทางเลือกแรก แต่ก็ยังถือว่าเป็นทางเลือกที่เคารพเจตนารมณ์และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ การยุบสภาทำให้พลเอกประยุทธ์หลีกเลี่ยงปมปัญหาเรื่องของระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งได้ ขณะเดียวกันก็ยังทำให้พลเอกประยุทธ์สามารถรักษาการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไปตามรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน ซึ่งระยะเวลาในการรักษาการจะอยู่ที่ประมาณ 3-4 เดือน ข้อดีสำหรับพลเอกประยุทธ์ในการเลือกแนวทางนี้คือ ยังสามารถเข้าร่วมประชุมเอเปกในฐานะนายกรัฐมนตรีในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ได้ อันเป็นการเติมเต็มความปรารถนาของตนเองได้อย่างชอบธรรม อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับแนวทางแรก แนวทางการยุบสภาอาจด้อยกว่าอยู่เล็กน้อย เพราะอาจได้รับการตีความว่าเป็นความพยายามเพื่อรักษาอำนาจจนวินาทีสุดท้าย เสียงชื่นชมย่อมน้อยกว่าแนวทางแรก และฐานะทางประวัติศาสตร์ของพลเอกประยุทธ์ก็ดูด้อยลงตามไปด้วย

หากพลเอกประยุทธ์ไม่เลือก 2 แนวทางนี้ และปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสิน ก็หมายว่าพลเอกประยุทธ์ ละเลย มิได้ให้ความสนใจมากนักกับเจตนารมณ์และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เราจึงไม่อาจกล่าวได้ว่า พลเอกประยุทธ์มีสำนึกรับผิดชอบต่อบ้านเมือง หรือมีความตั้งใจที่จะหยุดยั้งวิกฤติทางการเมือง ฐานะทางประวัติของพลเอกประยุทธ์ก็อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ในระนาบเดียวกับอดีตจอมพลและนายพลเอกบางคนที่เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเป็นต้นเหตุแห่งวิกฤติทางการเมือง ที่สร้างความรุนแรงและพรากชีวิตประชาชนเป็นจำนวนมาก จนถูกประเมินจากประชาชนและนักประวัติศาสตร์ว่าเป็น “ทรราช”

เมื่อเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งในสามทางนี้ ทางแรก คือ พลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งครบวาระ 8 ปี และไม่อาจดำรงตำแหน่งได้อีกต่อไป ผลลัพธ์แบบแรกมาจาก การยึดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นหลัก มีการตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และยึดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ตั้งแต่ได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2557

ทางที่สอง พลเอกประยุทธ์ยังดำรงตำแหน่งได้อีกประมาณ 3 ปี ผลลัพธ์นี้อาจไม่ให้ความสำคัญกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมากนัก แต่ยึดเอาวันที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นหลัก และทางที่สาม พลเอกประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งได้อีกประมาณ 5 ปี ผลลัพธ์นี้ ยึดเอาวันที่มีการโปรดเกล้าแต่งตั้งพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง ในเดือนกรกฎาคม 2562 เป็นหลัก และไม่ได้ให้ความสำคัญแต่อย่างใดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

หากผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญออกมาเป็นแนวทางแรก ก็ทำให้พลเอกประยุทธ์ต้องพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที พลเอกประยุทธ์และผู้สนับสนุนอาจรู้สึกคับข้องใจไม่น้อยทีเดียว ด้วยการลงจากตำแหน่งมิได้เกิดจากความเต็มใจของตนเอง แต่เกิดจากการถูกบังคับตามกฎหมายและการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม การพ้นจากตำแหน่งของพลเอกประยุทธ์ทันทีจะทำให้โอกาสเกิดวิกฤติทางการเมืองลดลง และความน่าเชื่อถือต่อความเที่ยงธรรมของศาลรัฐธรรมนูญในสายตาของประชาชนก็อาจเพิ่มขึ้นบ้าง

แต่หากผลลัพธ์ออกมาในสองแนวทางหลัง นั่นคือ พลเอกประยุทธ์ยังสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้แน่นอนว่า ย่อมสร้างความยินดีปรีดาต่อพลเอกประยุทธ์และผู้สนับสนุนที่ยังสามารถรักษาตำแหน่งและอำนาจต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง แต่จะไปเพิ่มความรู้สึกคับข้องใจของประชาชนที่มีต่อพลเอกประยุทธ์และรัฐบาล ซึ่งเป็นการยกระดับความเป็นไปได้มากขึ้นในการทำให้สังคมไทยเดินเข้าไปสู่วิกฤติความรุนแรงทางการเมืองอีกครั้ง ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งภาพลักษณ์ของความเที่ยงธรรมและความน่าเชื่อถือค่อนข้างต่ำอยู่แล้วในสายตาของประชาชนจำนวนมาก ก็ยิ่งตกต่ำย่ำแย่ลงไปอีก เพราะเป็นการตอกย้ำความเชื่อของประชาชนที่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมิได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง แต่อาจอยู่ภายใต้การควบคุมบงการของผู้มีอำนาจทางการเมือง

ในท้ายที่สุด ประเทศไทยจะสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤติทางการเมืองที่กำลังย่างกรายเข้ามาในอนาคตอันใกล้ได้หรือไม่ ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ การตัดสินใจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาว่า จะตัดสินใจเลือกทางใดระหว่าง “การเดินตามรอยรัฐบุรุษ” กับ “การเดินซ้ำรอยทรราช”


กำลังโหลดความคิดเห็น