คอลัมน์....ในความเป็นไป
กำแพงหมื่นลี้
(6)
วรศักดิ์
มหัทธโนบล
กำแพงหมื่นลี้หลังราชวงศ์ฉิน
(ต่อ)
นับแต่อดีตกาลนานมาแทบทุกเมืองใหญ่ในทุกมณฑลของจีนจะมีกำแพงตั้งล้อมรอบเมืองของตน กำแพงเหล่านี้มีขนาดไม่เท่ากัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับขนาดและความสำคัญของเมืองนั้นว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใด ส่วนรูปแบบของกำแพงจะต่างกัน
ใครที่ออกไปทำธุระนอกกำแพงเมืองแล้วกลับเข้ามาไม่ทันกำแพงปิด ก็ต้องนอนตบยุงอยู่ที่นอกกำแพงไปหนึ่งคืน
อันที่จริงแล้วกำแพงเมืองเหล่านี้ยังคงตั้งอยู่มาจนถึงในยุคที่จีนเป็นคอมมิวนิสต์ไปแล้ว แต่ที่เราไม่ค่อยเห็นก็เพราะกำแพงส่วนใหญ่ได้ถูกเรดการ์ดทำลายไปในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ.1966-1976) ในยุคที่เหมาเจ๋อตง (ค.ศ.1893-1976) เป็นผู้นำ ส่วนเหตุผลที่ถูกทำลายนั้นก็เพราะกำแพงเหล่านี้ถูกตราหน้าว่าเป็นสัญลักษณ์ของยุคศักดินา ซึ่งในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมจะต้องกวาดล้างไปให้หมด โดยเชิดชูแต่สัญลักษณ์ของยุคสังคมนิยมเท่านั้น**
ทุกวันนี้กำแพงเหล่านี้มีเหลือให้เห็นอยู่เพียงไม่กี่แห่งในบางเมือง กำแพงบางแห่งที่ถูกทำลายไม่หมดก็ถูกสร้างหรือบูรณะขึ้นใหม่จากซากที่เหลืออยู่ มีน้อยแห่งเหลือเกินที่รอดพ้นจากการถูกทำลายของพวกเรดการ์ด กำแพงส่วนน้อยเหล่านี้บางแห่งก็ยังคงสภาพที่สมบูรณ์ ไม่ต้องบูรณะมากนัก ที่ทรุดโทรมตามกาลเวลาก็ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ให้คงสภาพเดิมมากที่สุด
กลับมาที่กำแพงเมืองจีนอีกครั้งหนึ่ง ที่ว่ามีการสร้างขยายหรือต่อเติมสืบต่อกันมาเป็นระยะหลังราชวงศ์ฉินเรื่อยมานั้น ในที่นี้ขอเริ่มจากกำแพงเมืองจีนในส่วนที่อยู่ชานเมืองปักกิ่ง (เป่ยจิง) ที่เป็นที่รู้จักกันดีของนักท่องเที่ยว
กำแพงเมืองจีนของปักกิ่งสร้างขึ้นในยุคราชวงศ์เว่ยเหนือ (เป่ยเว่ย) ราชวงศ์นี้จัดอยู่ในยุคที่เรียกกันว่า ยุคราชวงศ์ใต้-เหนือ งานศึกษาของฝ่ายไทยมักเรียกว่า ราชวงศ์เหนือ-ใต้ เพราะไทยเราคุ้นชินกับการเรียกทิศทั้งสี่ว่า ออก-ตก-เหนือ-ใต้ แต่ในที่นี้จะขอเรียกตามอย่างจีนที่ให้คำว่า เหนือ (เป่ย) ขึ้นก่อนแล้วตามด้วยคำว่า ใต้ (หนัน) เป็นคำว่า หนันเป่ยเฉา ซึ่งแปลตรงๆ ว่า ราชวงศ์ใต้-เหนือ
ยุคราชวงศ์ใต้-เหนือ (หนันเป่ยเฉา, Northern and Southern Dynasties, ค.ศ.420-589) ถือเป็นอีกยุคหนึ่งที่จีนแตกแยก โดยคำว่าราชวงศ์ใต้-เหนือนี้จะมีความหมายอยู่สองนัย นัยหนึ่ง หมายถึงกลุ่มอำนาจทางการเมืองสองกลุ่มที่อยู่ทางใต้กับทางเหนือ อีกนัยหนึ่ง หมายถึงการตั้งตนเป็นใหญ่ของบางกลุ่มอำนาจที่อยู่ทางเหนือและใต้แล้วตั้งราชวงศ์ของตนขึ้นมา โดยทางใต้จะมีสี่ราชวงศ์ ทางเหนือจะมีห้าราชวงศ์
จากทั้งสองนัยดังกล่าวทำให้นักประวัติศาสตร์บางสำนักตั้งประเด็นขึ้นมาว่า หากดึงเอาเฉพาะกลุ่มอำนาจที่เป็นชนชาติจีน (ฮั่น) แล้วจะมีกี่กลุ่มหรือราชวงศ์ ซึ่งพบว่า สามารถแยกอธิบายได้เป็นสองทาง
ทางแรกอธิบายผ่านที่ตั้งของเจี้ยนคัง (ปัจจุบันคือเมืองหนันจิงหรือนานกิง) ที่เป็นเมืองหลวงในเวลานั้นเป็นเกณฑ์ หากเป็นทางนี้จะมีอยู่หกกลุ่มหรือหกราชวงศ์ด้วยกันคือ ตงอู๋ (อู๋ตะวันออก) ตงจิ้น (จิ้นตะวันออก) หลิวซ่ง หนันฉี (ฉีใต้) เหลียง และเฉิน โดยตงอู๋เป็นหนึ่งในสามรัฐของยุคสามรัฐ (ค.ศ.220-280, ไทยเราเรียกว่า ยุคสามก๊ก) ที่นำโดยซุนเฉีว์ยน (ซุนกวน) บางที่จึงเรียกรัฐนี้ว่า ซุนอู๋ คือเป็นรัฐหรือราชวงศ์ของสกุลซุน
ทางที่สอง อธิบายผ่านความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจทางเชื้อสาย หากเป็นทางนี้จะมีอยู่หกกลุ่มหรือหกราชวงศ์เช่นกันคือ เฉาเว่ย จิ้น หลิวซ่ง หนันฉี เหลียง และเฉิน โดยเฉาเว่ยคือหนึ่งในสามรัฐของยุคสามรัฐเช่นกัน อันเป็นรัฐของเฉาเชา (โจโฉ) และเป็นที่มาของคำเรียกรัฐนี้ในบางที่ว่า เฉาเว่ย คือเป็นรัฐหรือราชวงศ์ของสกุลเฉา
จะเห็นได้ว่า ทางที่สองจะต่างกับทางแรกในสองกลุ่มแรก ที่เหลืออีกสี่กลุ่มหลังจะเหมือนกัน ทั้งสองทางจากที่กล่าวมานี้ทำให้ยุคราชวงศ์ใต้-เหนือถูกเรียกขานในอีกชื่อหนึ่งว่า ยุคหกราชวงศ์ (ลิ่วเฉา, Six Dynasties, ค.ศ.220 หรือ 222-589) อันเป็นความหมายตามนัยแรกตามที่กล่าวไปข้างต้น
ภายใต้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแบ่งกลุ่มอำนาจข้างต้น กลุ่มอำนาจตามนัยที่สองก็คือกลุ่มอันเป็นที่มาหรือกลุ่มที่จัดอยู่ในยุคราชวงศ์ใต้-เหนือ ที่แม้จะเป็นยุคที่จีนแตกแยกเป็นรัฐหรือราชวงศ์โดยไร้เอกภาพก็ตาม แต่ก็ถือเป็นยุคที่มีปรากฏการณ์ที่โดดเด่นอยู่ในตัว
ความโดดเด่นนี้แสดงผ่านความรุ่งเรืองของศาสนาพุทธและลัทธิเต้า และเป็นยุคที่มีการอพยพลงมาทางใต้แม่น้ำหยังจื่อ (แยงซี) ครั้งใหญ่ของชนชาติจีน และเป็นการอพยพเข้ามาทางเหนือของชนชาติที่มิใช่จีนอีกด้วย
การอพยพอย่างแรกได้นำไปสู่การผสมผสานระหว่างชนพื้นเมืองทางใต้กับชนชาติจีน ส่วนการอพยพอย่างหลังนำไปสู่การผสมผสานระหว่างชนชาติที่มิใช่จีนกับชนชาติจีน การผสมผสานนี้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า จีนานุวัตร (sinicization)โดยมีลัทธิเต้ากับศาสนาพุทธเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญ
ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า จีนานุวัตร นี้หมายถึง การที่ชนชาติที่มิใช่จีนได้อยู่ปะปนกับกับชนชาติจีน และจะด้วยเหตุที่จีนเป็นชนชาติส่วนใหญ่ก็ดี หรือจะด้วยเหตุที่จีนมีวัฒนธรรมที่เจริญกว่าก็ดี ต่างก็ได้ทำให้ชนชาติที่มิใช่จีนรับเอาวัฒนธรรมจีนมาไว้กับตัว ครั้นนานวันเข้าชนชาติที่มิใช่จีนเหล่านี้ก็ถูกกลืนให้เป็นจีนไปในที่สุด
คือถูกกลืนกลายเป็นจีนจนแยกไม่ออกว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นชนชาติที่มิใช่จีนมาก่อน
อย่างไรก็ตาม เมื่อกลุ่มอำนาจต่างๆ เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น และต่างก็ตั้งตนเป็นใหญ่ตามพื้นที่ที่ตนมีอิทธิพลอยู่ กลุ่มอำนาจเหล่านี้ก็ตั้งราชวงศ์ของตนขึ้นมาจนเป็นที่มาของยุคราชวงศ์ใต้-เหนือในที่สุด
โดยราชวงศ์ใต้ (ค.ศ.420-589) มีอยู่สี่ราชวงศ์ด้วยกันคือ หลิวซ่ง (ค.ศ.420-479) หนันฉี (ฉีใต้, ค.ศ.479-502, บางที่เรียกว่า เซียวฉี) เหลียง (ค.ศ.502-557, บางที่เรียกว่า หนันเหลียงหรือเหลียงใต้)และเฉิน (ค.ศ.557-589)
ส่วนราชวงศ์เหนือ (ค.ศ.439-581) มีอยู่ห้าราชวงศ์ด้วยกันคือ เป่ยเว่ย (เว่ยเหนือ, ค.ศ.386-535) ตงเว่ย (เว่ยตะวันออก, ค.ศ.534-550) ซีเว่ย (เว่ยตะวันตก, ค.ศ.535-557) เป่ยฉี (ฉีเหนือ, ค.ศ.550-577) และเป่ยโจว (โจวเหนือ, ค.ศ.557-581)
ราชวงศ์ทั้งสองภูมิภาคนี้ไม่เพียงตั้งตนเป็นศัตรูระหว่างกันเท่านั้น หากแม้แต่ในภูมิภาคเดียวกันก็ยังห้ำหั่นกันเองอีกด้วย โดยที่ต่างก็ตั้งตนเป็นใหญ่และตั้งราชวงศ์ของตนขึ้นมา เมื่อต้องมาห้ำหั่นกันแล้ว ราชวงศ์เหล่านี้จึงมีอายุไม่ยืนยาว
แต่ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้นก็ตาม ก็ยังมีบางราชวงศ์ที่ได้สร้างความเจริญให้แก่จีนอยู่เช่นกัน และในส่วนที่ห้ำหั่นกันก็ได้ทำให้บางราชวงศ์สร้างกำแพงเมืองจีนขึ้นมาป้องกันตนเองพร้อมกันไปด้วย โดยเป่ยเว่ยหรือเว่ยเหนือก็คือราชวงศ์ที่สร้างกำแพงเมืองจีนในเขตกรุงปักกิ่งดังได้กล่าวไปข้างต้น
ความน่าสนใจของราชวงศ์เป่ยเว่ยก็คือว่า ผู้สถาปนาราชวงศ์มิใช่ชนชาติจีน แต่เป็นชนชาติทวอปา ชนชาตินี้เป็นชนชาติที่แตกมาจากชนชาติเซียนเปยอีกชั้นหนึ่ง จะว่าเป็นอนุชนชาติเซียนเปยก็ไม่ผิดนัก ทวอปาเป็นชนชาติที่มีถิ่นฐานอยู่ที่แถบเทือกเขาใหญ่ซิ่งอัน (the Great Xing’an Mountains) ซึ่งมีความยาว 1,200 กิโลเมตร และตั้งอยู่ในมองโกเลียใน (Inner Mongolia) ที่อยู่ในภาคอีสานของจีน