xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผ่าอาณาจักร TSMC ยักษ์ใหญ่ผลิตชิปเบอร์หนึ่งโลก หมุดหมายสำคัญในการเยือนไต้หวันของ “เพโลซี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หมุดหมายสำคัญประการหนึ่งในการเดินทางเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา คือการพบปะนายมาร์ก หลิว ประธานบริษัทไต้หวันเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง คอมพานี (TSMC) บริษัทผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของไต้หวันที่ครองส่วนแบ่งการตลาดชิปอันดับหนึ่งของโลก

วอชิงตันโพสต์ รายงานว่าการพบปะครั้งนี้ของทั้งสองเพื่อหารือกันเรื่องการลงทุนโรงงานผลิตชิปในสหรัฐฯ หลังสภาคองเกรสสหรัฐฯเพิ่งผ่านกฎหมาย Chips and Science Act ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถจัดหางบอุดหนุนวงเงิน 52 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมโรงงานผลิตชิปภายในประเทศ ซึ่ง TSMC ที่กำลังก่อตั้งโรงงานในเมือง Phoenix รัฐแอริโซนา สหรัฐฯ มูลค่า 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ จึงอยู่ในเป้าหมายที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการสนับสนุน

รายงานข่าวดังกล่าวข้างต้นมีขึ้นภายหลังจากนายหลิว ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า หากจีนรุกรานใต้หวัน โรงงานผลิตชิปของ TSMC ซึ่งเป็นโรงงานที่ทันสมัยที่สุดของโลกจะไม่สามารถปฏิบัติงานได้ เนื่องจาก TSMC ต้องพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และเขายังเปรียบเทียบความขัดแย้งในไต้หวันกับเหตุการณ์รัสเซียรุกรานยูเครนว่า แม้สองกรณีนี้จะแตกต่างกันอย่างมาก แต่จะก่อผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศอื่นในลักษณะคล้ายคลึงกัน การรุกรานไต้หวันจะก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจสำหรับจีน ไต้หวัน และนานาประเทศในตะวันตก

เป็นเสียงสะท้อนที่เตือนว่าจะไม่มีผู้ชนะในสงครามระหว่างจีนและไต้หวัน และอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกหากความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น เพราะเวลานี้ทั่วโลกต่างเผชิญปัญหาชิปขาดแคลนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หลังจากสหรัฐฯและจีนเปิดศึกสงครามเทคแบนหัวเหว่ย ตามมาด้วยการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ห่วงโซ่อุปทานมีปัญหาบวกความต้องการชิปเพิ่มขึ้นจากการใช้อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ฯลฯ ในช่วงล็อกดาวน์

สำหรับเส้นทางของบิ๊กคอร์ประดับโลกอย่าง TSMC มีจุดเริ่มต้นและเติบโตจนมายืนหนึ่งในวงการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ได้อย่างไร ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดา

ถึงตอนนี้รู้หรือไม่ว่าสมองของสมาร์ทโฟนอย่างชิป A-Series ของแอปเปิล และชิปหลายรุ่นบน Android ต่างถูกผลิตขึ้นโดย TSMC ซึ่งเวลานี้มีส่วนแบ่งตลาดเซมิคอนดักเตอร์หรือชิปเซ็ตทั้งหมดบนโลกมากถึง 55.6% หรือเรียกได้ว่าชิปเกินกว่าครึ่งโลกต่างผลิตจากบริษัทนี้ ปัจจุบัน TSMC มีมูลค่ามากกว่า 20 ล้านล้านบาท ครองอันดับที่ 9 ของโลก และมีมูลค่าเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียรองจาก Saudi Aramco บริษัทน้ำมันแห่งชาติซาอุดีอาระเบีย

 มอร์ริส จาง ผู้ก่อตั้ง TSMC กับประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน
TSMC ก่อตั้งโดยนายมอริส จาง เขาเกิดที่ Ningbo เป็นเมืองในมณฑลเจ้อเจียง เมื่อปี พ.ศ.2474 ในครอบครัวฐานะปานกลางที่โยกย้ายอยู่บ่อยครั้งจากสงครามกลางเมืองในจีน สงครามจีน-ญี่ปุ่น และสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2491 สงครามกลางเมืองจีนประทุ จางในวัย 17 ปี พร้อมครอบครัวย้ายไปปักหลักที่ฮ่องกง และด้วยความอุตสาหะ ทำให้เขาสามารถเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้สำเร็จ แต่หลังเรียนเพียงปีเดียวเขาก็ย้ายไปเรียนต่อที่ MIT จนจบปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาวิศวกรรมเครื่องกล

จาง เริ่มงานแรกที่บริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ในเครือ Sylvania เป็นเวลา 3 ปี ก่อนลาออกมามาเริ่มงานใหม่ที่ Texas Instruments และไต่เต้าจนได้รับตำแหน่งรองประธานดูแลฝ่ายเซมิคอนดักเตอร์ จากนั้นย้ายมายัง General Instrument Corporation หรือ GIC บริษัทผลิตอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ เชี่ยวชาญด้านเซมิคอนดักเตอร์และเคเบิลทีวี แต่ทำได้เพียงปีเดียวจางตัดสินใจลาออกมารับข้อเสนอของรัฐบาลไต้หวัน ซึ่งต้องการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีซึ่งหนึ่งในนั้นคือเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิปเซ็ต (Chipset)

ภายใต้เป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลไต้หวันจัดสรรเงินทุนก่อตั้งสถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หรือ Industrial Technology Research Institute (ITRI) โดยจาง รับตำแหน่งประธาน ITRI พร้อมกับโจทย์ของรัฐบาลไต้หวันที่ต้องการยกระดับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ผ่านการจัดตั้งบริษัทใหม่ จางจึงก่อตั้งบริษัท TSMC ขึ้นมา ในปี พ.ศ.2530 รับผลิตชิปเซ็ตให้กับบริษัทอื่นโดยไม่มีแบรนด์ของตัวเอง นับเป็นบริษัทแรกของโลกที่มีโมเดลธุรกิจเช่นนี้ที่เรียกว่า pure-play

ช่วง 3 ปีแรก บริษัทมีลูกค้าเพียงไม่กี่ราย แต่หลังจากปี พ.ศ.2534 เป็นต้นมา หลายบริษัทที่ต้องชิปเซ็ตเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากแต่ไม่มีทุนสร้างโรงงานผลิตต่างได้ว่าจ้างให้ TSMC เป็นผู้ผลิตชิปให้ เหตุผลหลายบริษัทเข้ามาเป็นลูกค้าของ TSMC เพราะบริษัทมีเทคโนโลยีในการผลิตที่มีความซับซ้อนสูง สามารถรองรับความต้องการของลูกค้า ซึ่งเป็นผลจากนโยบายการลงทุนในเรื่องการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ.2563 TSMC มีงบวิจัยและพัฒนาสูงถึง 1.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 8.5% ของรายได้บริษัท มากกว่า Apple ที่มีสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 6.8%

สำหรับธุรกิจหลักของ TSMC ที่รับจ้างผลิตชิปเซ็ตให้กับบริษัทอื่น ครอบคลุมการรับจ้างผลิตชิปเซ็ตในธุรกิจเทคโนโลยี 4 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย สมาร์ทโฟน, อุปกรณ์ IoT, รถยนต์ รวมถึง HPC หรือการประมวลผลระดับสูง

หนึ่งในลูกค้าที่ออกแบบชิปเองโดยไม่มีโรงงานและมาจ้าง TSMC ผลิตในยุคก่อนคือ NVIDIA ที่ก่อตั้งโดย Jensen Huang วิศวกรชาวไต้หวันที่ไปเรียนที่อเมริกา ตอนนั้น NVIDIA ยังเป็นสตาร์ทอัพที่ยังไม่มีเงินทุนตั้งโรงงานแต่มีดีไซน์ ซึ่งโมเดลแบบนี้เรียกว่า fabless

หลิวเต๋ออิน หรือมาร์ก หลิว (Mark Liu) ประธาน TSMC ซึ่งมีรายงานข่าวว่าได้พบปะพูดคุยกับนางแนนซี เพโลซีในการเยือนไต้หวันในประเด็นการผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ หรือ ชิปคอมพิวเตอร์ เพื่อแก้ไขปัญหาชิปขาดแคลนอย่างยั่งยืนและรับมือกับการบุกตลาดของชิปจีน
สำหรับลูกค้า fabless รายสำคัญของ TSMC ในปัจจุบัน คือ Apple (มีดีไซน์ มีเงิน แต่ไม่ตั้งโรงงานเอง) ที่ออกแบบชิปตั้งแต่ A-Series ใช้ใน iPhone/iPad, S-Series ที่ใช้ใน Apple Watch, H-Series ใช้ใน AirPods ไปจนถึง M-Series ที่กำลังเริ่มใช้ใน Mac แล้ว ซึ่ง Apple เองก็จ้าง TSMC เป็นหลัก ในช่วงหลังมีจ้าง Samsung บ้าง ในอนาคตยังมีการคาดการณ์กันว่ารถยนต์ไฟฟ้าของ Apple จะใช้ชิปที่ผลิตจาก TSMC เช่นกัน

TSMC ในช่วงหลังเติบโตเร็วมาก จากบริษัทรับผลิตชิปแบบไม่ซับซ้อนกลายมาเป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีผลิตชิปแถวหน้า ปัจจุบันเป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน และเป็นบริษัทไต้หวันแห่งแรกที่สามารถนำหุ้นเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กหรือ NYSE และเป็นบริษัทที่มีส่วนในการทำให้ไต้หวันเติบโตมาจนทุกวันนี้

ยิ่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่ต้องมาคู่กับชิปเซ็ทเพราะเป็นเสมือนแกนหรือสมองสำหรับสั่งการอุปกรณ์ที่ทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ นับตั้งแต่สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แลปทอป เครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป ยานยนต์สมัยใหม่ การผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้หุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์ควบคุมสั่งการ ก็ยิ่งทำให้ TSMC เติบโตแบบก้าวกระโดด

นับจากปี พ.ศ.2562 เป็นต้นมา บริษัท TSMC มีผลิตภัณฑ์กว่า 10,761 แบบ, ใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน 272 แบบ และมีลูกค้ามากกว่า 500 รายทั่วโลก โดย TSMC มีลูกค้ารายใหญ่คือ Apple, Nvidia และ Qualcomm และมีส่วนแบ่งการตลาดธุรกิจกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ มากถึง 55.6% ส่วนอันดับรองลงไป คือ Samsung 16.4%, UMC 6.9%, GlobalFoundries 6.6%, SMIC 4.3% และอื่นๆ 10.2%

ในปีที่ผ่านมา TSMC มีรายได้ 1.4 ล้านล้านบาท เติบโต 25.2% จากปีก่อน ส่วนกำไร 5.6 แสนล้านบาท เติบโต 50% จากปีก่อน ปัจจุบัน TSMC มีมูลค่าบริษัท สูงถึง 20 ล้านล้านบาท มากกว่า Intel ที่มีมูลค่า 7 ล้านล้านบาท และ AMD ที่มีมูลค่า 4 ล้านล้านบาท ซึ่งนับเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมดทั่วโลกอีกด้วย

โมเดลรับผลิตชิปจากบุคคลภายนอกของ TSMC เป็นโมเดลที่ใช้งานได้ดีในปัจจุบัน และดูเหมือนว่าในอนาคต เทรนด์ที่กำลังมาอย่างรถยนต์ไฟฟ้าก็ยิ่งต้องการชิปมากขึ้นอีก ทำให้โมเดลการผลิตแบบ TSMC ยังคงเดินต่อไปได้อีกไกล ต่างจากโมเดลธุรกิจผลิตชิปของ Intel ที่เป็นโรงงานผลิตชิปประเภทออกแบบยันตั้งโรงงานผลิตเอง เรียกว่าเป็น IDM ซึ่งเป็นโมเดลที่ใช้กันหลายเจ้านอกจาก Intel ยังมี AMD, IBM, Motorola ความสำเร็จของ Intel ผูกติดอยู่กับยุคคอมพิวเตอร์ แต่หลุดเทรนด์ของยุคถัดมาอย่างสมาร์ทโฟนจน Intel ต้องทุ่มลงทุนเร่งฝีก้าวทวงแชมป์เบอร์หนึ่งคืน

ในช่วงสองปีกว่าที่ผ่านมา ขณะที่ทั่วโลกตกอยู่ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนต้องทำงานและเรียนหนังสือจากบ้านส่งผลให้ความต้องการใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและสมาร์ทโฟนทวีความจำเป็นจนยอดขายสูงขึ้น ขณะที่ยอดขายเครื่องเกมคอนโซลและแบบพกพาเพิ่มสูงขึ้น จนต้องมีการเร่งผลิตและปัญหาชิปขาดแคลนรุนแรงขึ้น และแม้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะคลี่คลายแต่ปัญหาชิปขาดแคลนยังคงอยู่ ลามไปถึงสายการผลิตรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน จนบางค่ายต้องปิดโรงงานชั่วคราวเพราะชิปไม่เพียงพอ


ภายใต้วิกฤตชิปขาดแคลน TSMC แปลงวิกฤตเป็นโอกาสขยายธุรกิจ โดยบริษัทประกาศเพิ่มงบพัฒนาและผลิตชิปในอีก 3 ปีข้างหน้าเป็น 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มจากระหว่าง 25,000 - 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ราว 782,000 - 876,000 ล้านบาท ที่ตั้งไว้ในปี พ.ศ.2565

TSMC มองว่า วิกฤตโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้โลกมุ่งสู่ความเป็นดิจิทัล และพึ่งพาอุปกรณ์อัจฉริยะมากขึ้น โดยการเพิ่มงบลงทุนพัฒนาชิปครั้งนี้ ยังเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับการขยายเครือข่ายการสื่อสารระบบ 5G อีกด้วย แผนทุ่มลงทุนครั้งใหญ่ของ TSMC มีขึ้นไม่นานหลังจากที่ Intel คู่แข่งสัญชาติอเมริกันประกาศทุ่มงบ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 626,000 ล้านบาท ตั้งโรงงานผลิตชิป 2 แห่งในสหรัฐฯ และทวงคืนความเป็นอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมนี้

แผนการขยายธุรกิจของ TSMC ที่ประกาศทุ่มลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและยกระดับมาตรฐาน โดยแผนการลงทุนหลัก ประกอบด้วย ช่วงปี พ.ศ. 2565 – 2567 ก่อตั้งโรงงานผลิตแห่งใหม่ที่ Tainan Science Park ในไต้หวันรองรับกระบวนการผลิต Chipset ขนาด 3 นาโนเมตร พร้อมโรงบำบัดน้ำเสียด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นแห่งแรกของโลก อีกทั้งยังวางแผนขยายกำลังการผลิตอีกสองเท่าตัวในโรงงานผลิตชิปเซ็ต แบบ 28 นาโนเมตร รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหลัก ที่เมืองนานกิงของจีน


ในปีที่ผ่านมา TSMC มีรายได้ 1.4 ล้านล้านบาท เติบโต 25.2% จากปีก่อน ส่วนกำไร 5.6 แสนล้านบาท เติบโต 50% จากปีก่อน ปัจจุบัน TSMC มีมูลค่าบริษัท สูงถึง 20 ล้านล้านบาท มากกว่า Intel ที่มีมูลค่า 7 ล้านล้านบาท และ AMD ที่มีมูลค่า 4 ล้านล้านบาท ซึ่งนับเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมดทั่วโลกอีกด้วย

โมเดลรับผลิตชิปจากบุคคลภายนอกของ TSMC เป็นโมเดลที่ใช้งานได้ดีในปัจจุบัน และดูเหมือนว่าในอนาคต เทรนด์ที่กำลังมาอย่างรถยนต์ไฟฟ้าก็ยิ่งต้องการชิปมากขึ้นอีก ทำให้โมเดลการผลิตแบบ TSMC ยังคงเดินต่อไปได้อีกไกล ต่างจากโมเดลธุรกิจผลิตชิปของ Intel ที่เป็นโรงงานผลิตชิปประเภทออกแบบยันตั้งโรงงานผลิตเอง เรียกว่าเป็น IDM ซึ่งเป็นโมเดลที่ใช้กันหลายเจ้านอกจาก Intel ยังมี AMD, IBM, Motorola ความสำเร็จของ Intel ผูกติดอยู่กับยุคคอมพิวเตอร์ แต่หลุดเทรนด์ของยุคถัดมาอย่างสมาร์ทโฟนจน Intel ต้องทุ่มลงทุนเร่งฝีก้าวทวงแชมป์เบอร์หนึ่งคืน

ในช่วงสองปีกว่าที่ผ่านมา ขณะที่ทั่วโลกตกอยู่ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนต้องทำงานและเรียนหนังสือจากบ้านส่งผลให้ความต้องการใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและสมาร์ทโฟนทวีความจำเป็นจนยอดขายสูงขึ้น ขณะที่ยอดขายเครื่องเกมคอนโซลและแบบพกพาเพิ่มสูงขึ้น จนต้องมีการเร่งผลิตและปัญหาชิปขาดแคลนรุนแรงขึ้น และแม้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะคลี่คลายแต่ปัญหาชิปขาดแคลนยังคงอยู่ ลามไปถึงสายการผลิตรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน จนบางค่ายต้องปิดโรงงานชั่วคราวเพราะชิปไม่เพียงพอ

ปี พ.ศ.2568 โรงงานแห่งใหม่ที่มลรัฐอริโซนา ในสหรัฐอเมริกา รองรับลูกค้าฝั่งอเมริกาเป็นหลัก พร้อมเทคโนโลยีการผลิตได้ถึงระดับ 5 นาโนเมตรเป็นอย่างน้อย โดยโรงงานแห่งนี้ TSMC ทุ่มเงินร่วม 4 แสนล้านบาท

นอกจากนั้น ช่วงปลายปีที่ผ่านมา สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า TSMC เตรียมเจรจากับรัฐบาลเยอรมนีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี โอลาฟ โชลซ์ ในการตั้งโรงงานผลิตชิปเซ็ตที่มีศักยภาพแห่งใหม่ในเยอรมนี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนการแก้ปัญหาซัพพลายเชนขาดแคลนในปี พ.ศ. 2565 เพื่อสร้างขีดความสามารถในการผลิตไมโครชิปของบริษัทในทั่วโลก

ขณะเดียวกัน TSMC ยังจัดตั้งโรงงานเซมิคอนดักเตอร์มูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์ในญี่ปุ่น โดยคาดว่าจะเดินสายพานการผลิตชิปในต้นปี พ.ศ. 2567

การขยายพรมแดนธุรกิจออกไปทั่วทุกมุมโลกของ TSMC ส่วนหนึ่งก็เพื่อกระจายความเสี่ยงจากสงครามเทคระหว่างสองมหาอำนาจจีน-สหรัฐฯ ที่นับวันจะเข้มข้นขึ้น และ TSMC ถูกดึงเข้าสู่สงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ขณะที่รัฐบาลจีนซึ่งประกาศนโยบายจีนเดียวย่อมไม่ปล่อยให้ไต้หวัน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของ TSMC ยักษ์ใหญ่เซมิคอนดักเตอร์ระดับโลกหันไปซบสหรัฐฯ อย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น