xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เบื้องลึก “เพโลซี” เยือนไต้หวัน เปิดยุทธการจัดตั้ง “เอเชีย-นาโต้”?! โหมกระพือความขัดแย้งคานอำนาจ “จีน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ และคณะถ่ายภาพหมู่ที่สนามบิน หลังเดินทางมาถึงท่าอากาศยานนานาชาติซงซานในกรุงไทเป เมื่อวันที่ 2 ส.ค.
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ความวัวเรื่อง “รัสเซีย - ยูเครน” ของประชาชนชาวโลกยังไม่ทันหาย

ความควายเรื่อง “สหรัฐฯ - ไต้หวัน - จีน” ก็เข้ามาแทรกอีกแล้ว และไม่ได้เป็นความธรรมดาๆ เท่านั้น หากแต่เป็นความเสี่ยงที่สามารถนำไปสู่ “วิกฤติการณ์ระดับโลก” ได้เลยทีเดียว เมื่ออยู่ๆ “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ เดินทางไปเยือน “ไต้หวัน” แบบที่สามารถใช้คำแรงๆ ได้ว่า “กวนบาทาจีน” เพราะรู้อยู่เต็มอกว่าจะทำให้เกิดความตึงเครียด เนื่องจากจีนประกาศชัดเจนว่า ไต้หวันคือส่วนหนึ่งของจีน หรือ One China

ที่สำคัญคือ โลกไม่เข้าใจว่า การไปเยือนชั่วประเดี๋ยวประด๋าวของเจ้าของฉายา “Crazy Nancy” พร้อมกับยั่วยุและท้าทายจีนอย่างหนักด้วยประกาศเจตนารมณ์ของสหรัฐฯ ที่จะสนับสนุนเกาะประชาธิปไตยซึ่งจีนถือเป็น “มณฑลกบฏ” นั้น จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่คุ้มค่าจริงหรือไม่? แต่ที่แน่ๆ คือ ถือเป็นการทำลายล้างรากฐานทางการเมืองของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ – จีนให้ดำดิ่งลงสู่จุดวิกฤต เพราะนางเพโลซีถือเป็นผู้แทนระดับสูง “ลำดับ 3” ภายใต้กฎหมาย รัฐบัญญัติสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีปี 1947 (Presidential Succession Act of 1947) เป็นรองเพียงประธานาธิบดีโจ ไบเดน และ คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เท่านั้น

‘ไทเป 101’ ซึ่งเป็นอาคารสูงที่สุดในไต้หวัน ขึ้นข้อความสนับสนุนการมาเยือนของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาสหรัฐฯ โดยทั้งคำว่า “ประธานสภาเพโลซี”, “ยินดีต้อนรับสู่ไต้หวัน”, “ขอบคุณ” และ “ไต้หวันหัวใจสหรัฐฯ”

แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ (ซ้าย) โบกมือทักทายสื่อมวลชนร่วมกับประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน แห่งไต้หวัน ที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงไทเป เมื่อวันที่ 3 ส.ค.

แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ โบกมือทักทายสื่อมวลชนที่ไปรอทำข่าว ขณะเดินทางถึงอาคารรัฐสภาในกรุงไทเป เมื่อวันที่ 3 ส.ค.
และแน่นอน ผู้ที่ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ก็คือ “ประชาชนชาวไต้หวัน” จากมาตรการต่างๆ ที่ “รัฐบาลสี จิ้นผิง” ปฏิบัติการตอบโต้ ตัวอย่างเช่น กรมศุลกากรจีน (General Administration of Customs) ได้ประกาศแบนสินค้าไต้หวัน ประกอบด้วย อาหารทะเล ชา และน้ำผึ้ง หรือการที่กองทัพปลดแอกประชาชนจีนซ้อมรบด้วยกระสุนจริง 6 จุดรอบเกาะไต้หวัน ซึ่งเท่ากับการปิดล้อมไต้หวันทั้งทางน้ำและทางอากาศไปโดยปริยาย และมีเที่ยวบินได้รับผลกระทบรวมอย่างน้อย 1,950 เที่ยวบิน

คำถามก็คือ อะไรอยู่เบื้องหลังที่แท้จริงสำหรับการเดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้

คำตอบที่มีความเป็นได้ก็คือ หรือนี่คือปฏิบัติการยั่วยุจีนและปั่นป่วนภูมิภาคนี้เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งองค์การความร่วมมือทางทหารเพื่อต่อกรกับจีนอย่าง “อาเซียน-นาโต้” ตามกระแสข่าวที่ปล่อยออกมาก่อนหน้านี้ หรือมองไกลไปถึง “เอเชีย-นาโต้” หลังจีนแผ่นอิทธิพลใน “เอเชีย-แปซิฟิก” มากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับ “องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation - NATO)” ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อต่อกรกับ “รัสเซีย”

**ทำไมการเยือนไต้หวันของ ‘เพโลซี’ จึงสุดอันตราย?
เครื่องบินของ เพโลซี และคณะเดินทางถึงท่าอากาศยานซงซานในบริเวณใจกลางนครไทเปเมื่อเวลาประมาณ 22.24 น. ของวันอังคารที่ 2 ส.ค. โดยมี โจเซฟ อู๋ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน และ ซานดรา อุดเคิร์ค ผู้แทนสูงสุดของสหรัฐฯ ในไต้หวัน คอยให้การต้อนรับ

ประธานสภาสหรัฐฯ ได้ออกคำแถลงหลังก้าวลงจากเครื่องบินไม่นานนักว่า “คณะผู้แทนจากรัฐสภาสหรัฐฯ มาเยือนไต้หวัน เพื่อเชิดชูความมุ่งมั่นผูกพันอย่างไม่มีคลอนแคลนของอเมริกาในการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยที่มีชีวิตชีวาของไต้หวัน... ความสมานฉันท์ของอเมริกาที่มีต่อประชากร 23 ล้านคนของไต้หวันมีความสำคัญในวันนี้ยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา ในขณะที่โลกถึงเวลาต้องเลือกระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย”

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ได้เผยแพร่ข้อเขียนของ เพโลซี ซึ่งเธอได้กล่าวยกย่องไต้หวันที่มุ่งมั่นผูกพันกับรัฐบาลประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็วิจารณ์จีนที่แสดงท่าทีคุกคามไต้หวันมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เพโลซี ย้ำว่า สหรัฐฯ ไม่สามารถยืนเฉยปล่อยให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนคุกคามไต้หวันและระบอบประชาธิปไตย พร้อมทั้งหยิบยกข้อครหาของสหรัฐฯ ที่บอกว่าจีนใช้ยุทธวิธีอันป่าเถื่อนปราบปรามผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองในฮ่องกง ตลอดจนปฏิบัติต่อชาวมุสลิมอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในลักษณะที่สหรัฐฯ เรียกว่าเป็นการ “ล้างเผ่าพันธุ์”

กระทรวงการต่างประเทศจีนออกคำแถลงประณามการเยือนไต้หวันของ เพโลซี ซึ่งถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของอเมริกาที่ไปเยือนไต้หวันในรอบ 25 ปี โดยเตือนว่าพฤติกรรมของเธอ “เป็นการทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันอย่างรุนแรง มีผลกระทบอย่างสาหัสต่อรากฐานทางการเมืองของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ และยังละเมิดอย่างร้ายแรงต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน” ขณะที่ หวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีนระบุว่า การที่สหรัฐฯ ทรยศต่อคำมั่นสัญญาในประเด็นไต้หวัน “จะทำให้เครดิตความน่าเชื่อถือระดับชาติของตนเองต้องล้มละลาย”

ปักกิ่งส่งเครื่องบินทหารถึง 21 ลำรุกเข้าไปในเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ของไต้หวันก่อนที่ เพโลซี จะเดินทางไปถึง และต่อมากระทรวงกลาโหมจีนก็ประกาศในค่ำวันอังคาร (2) ว่า กองทัพเตรียมจะเปิด “การปฏิบัติการทางทหารแบบมีเป้าหมาย” (targeted military operations) เพื่อตอบโต้การกระทำของประธานสภาสหรัฐฯ

กองบัญชาการยุทธบริเวณตะวันออก (Eastern Theatre Command) ของจีนประกาศพื้นที่ซ้อมรบร่วมทางทะเลและอากาศ ในบริเวณน่านน้ำและน่านฟ้าตอนเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะไต้หวัน และจะมีการใช้กระสุนจริงพิสัยไกล (long-range live ammunition) ในบริเวณช่องแคบที่กั้นแบ่งไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย โดยปฏิบัติการซ้อมรบบางส่วนจะอยู่ห่างจากชายฝั่งไต้หวันไม่ถึง 20 กิโลเมตร

นอกจากนั้น จีนยังได้ออกมาตรการแก้เผ็ดไต้หวันในทางเศรษฐกิจ โดยกรมศุลกากรจีนประกาศแบนการนำเข้าผลไม้และอาหารทะเลจากไต้หวันในวันพุธ (3) โดยอ้างว่าตรวจพบยาฆ่าแมลงตกค้าง และปนเปื้อนไวรัสโคโรนา ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์จีนก็ได้ระงับส่งออก “ทราย” ไปยังไต้หวัน โดยทรายนั้นถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิต “เซมิคอนดักเตอร์” หนึ่งในสินค้าส่งออกหลักของไทเป

หลายประเทศได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการไปเยือนไต้หวันของประธานสภาสหรัฐฯ โดย “รัสเซีย” และ “เกาหลีเหนือ” ซึ่งความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน ระบุว่า สิ่งที่ เพโลซี ทำนั้นถือเป็นการยั่วยุและแทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างโจ่งแจ้ง และจีนมีสิทธิ์ที่จะใช้ทุกมาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องอำนาจอธิปไตยของตนเอง ขณะที่ “ลาว” ออกแถลงการณ์สนับสนุนนโยบายจีนเดียว และย้ำว่าไต้หวันไม่มีสิทธิ์ที่จะแยกตัวเป็นเอกราชจากจีนได้ รวมถึงประกาศการสนับสนุนนโยบายของจีนในการรวมชาติด้วยสันติวิธี

ญี่ปุ่นซึ่งเป็นชาติพันธมิตรหลักของสหรัฐฯ ได้ออกมาแสดงความกังวลเรื่องที่จีนประกาศซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันในวันพุธ (3) ขณะที่เกาหลีใต้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันหน้าเจรจาเพื่อคงไว้ซึ่งสันติภาพในภูมิภาค

ระหว่างที่เข้าพบประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน แห่งไต้หวันเมื่อวันพุธ (3) เพโลซี กล่าวว่า “วันนี้คณะของเราเดินทางมายังไต้หวัน เพื่อให้เป็นที่ทราบกันอย่างชัดเจนว่า เราจะไม่ละทิ้งพันธกรณีที่มีต่อไต้หวัน” ขณะเดียวกันย้ำว่าเธอเดินทางมา “ด้วยมิตรภาพต่อไต้หวัน” และ “เพื่อสันติภาพในภูมิภาค” ซึ่งความเป็นจริงที่เกิดขึ้นตรงกันข้ามกับที่เธอว่าไว้โดยสิ้นเชิง

ตัวผู้นำไต้หวันเองได้กล่าวขอบคุณประธานสภาสหรัฐฯ วัย 82 ปี ที่ “ใช้มาตรการอย่างเป็นรูปธรรมในการแสดงออกซึ่งการสนับสนุนไต้หวัน ในห้วงเวลาวิกฤตเช่นนี้” พร้อมกับยืนยันว่าชาวไต้หวัน “จะไม่ยอมอ่อนข้อ และจะยืนหยัดในแนวทางปกป้องระบอบประชาธิปไตยต่อไป” ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะการมาของเพโลซีเรียกคะแนนนิยมที่มีต่อตัว ไช่ อิงเหวิน โดยตรง ไม่ต่างอะไรกับเหตุการณ์ในยูเครนที่สงครามส่งผลดีกับตัว “ประธานาธิบดีเชเลนสกี” มากกว่าความเดือดร้อนที่ประชาชนชาวยูเครนได้รับ

เพโลซี ยังได้พบกับบรรดานักเคลื่อนไหวต่อต้านจีนอีกหลายคน รวมถึง “วูเออร์ไคซือ” (Wu’er Kaixi) อดีตแกนนำนักศึกษาที่จัดการชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ก่อนจะขึ้นเครื่องบินเดินทางออกจากไต้หวันในช่วงเย็นวันพุธ (3) เพื่อเดินทางต่อไปยังเกาหลีใต้และญี่ปุ่น รวมระยะเวลาที่ปฏิบัติภารกิจในไต้หวันไม่ถึง 24 ชั่วโมง

กลุ่มชาวไต้หวันโปรสหรัฐฯ ออกมายืนถือป้ายสนับสนุน เพโลซี ที่กรุงไทเป เมื่อวันที่ 2 ส.ค.

กลุ่มชาวไต้หวันที่ออกมาประท้วงต่อต้านการมาเยือนของ เพโลซี ที่กรุงไทเป เมื่อวันที่ 2 ส.ค.

กลุ่มผู้สนับสนุนจีนฉีกธงชาติสหรัฐฯ และเหยียบย่ำภาพใบหน้าของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่บริเวณด้านนอกสถานกงสุลสหรัฐฯ ประจำฮ่องกง เมื่อวันที่ 3 ส.ค.


ในมุมของ เพโลซี เอง ทริปการเยือนเอเชียครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย เธอกลายเป็นจุดสนใจของคนทั่วโลกในช่วงเวลาแค่ไม่กี่วัน และในฐานะนักการเมืองหญิงคนหนึ่ง เธอได้ท้าทายและปฏิเสธที่จะถูกข่มขู่โดยเหล่าผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน และสามารถก้าวไปยืนเคียงคู่กับผู้นำหญิงไต้หวันอย่างสง่าผ่าเผย เพื่อย้ำถึงการปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันเป็นค่านิยมพื้นฐานของชาวอเมริกัน
การเยือนไต้หวันคราวนี้ยังถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงล่าสุดของ เพโลซี ซึ่งเคยไปยืนถือป้ายเชิดชู “นักเคลื่อนไหวที่สละชีพเพื่อประชาธิปไตยในจีน” บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1991 และยังเคยนำคณะ ส.ส.เดโมแครตเดินทางไปเยือน “ทิเบต” เมื่อปี 2015 รวมถึงเคยเข้าพบ “องค์ทะไลลามะ” ผู้นำจิตวิญญาณชาวทิเบต ซึ่งถูกรัฐบาลปักกิ่งตราหน้าว่าเป็นผู้นำกลุ่มแบกแยกดินแดน

กระนั้นก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกระทำของ เพโลซี นั้นออกจะสวนทางกับนโยบายพื้นฐานของสหรัฐฯ ที่มุ่งหลีกเลี่ยง “หายนะ” จากการทำสงครามเต็มรูปแบบกับจีน และอาจกลายเป็นความผิดพลาดร้ายแรง หากมันทำให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ย่ำแย่ลงอย่างถาวร หรือกระตุ้นให้ปักกิ่งใช้มาตรการขั้นรุนแรงที่สั่นคลอนสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของไต้หวัน

แม้ทริปของ เพโลซี จะก่อความกังวลให้กับบรรดาผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศของวอชิงตัน แต่กลับได้รับเสียงสนับสนุนล้นหลามจาก “สภาคองเกรส” ซึ่งมีจุดยืนโปรไต้หวัน สมาชิกพรรครีพับลิกันหลายคนออกปากชื่นชมความกล้าหาญของประธานสภาสายเดโมแครตผู้นี้ และบางคนก็อดไม่ได้ที่จะมองว่าเธอแข็งแกร่งกว่าประธานาธิบดี โจ ไบเดน ซึ่งให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนที่แล้วว่ากองทัพสหรัฐฯ “ไม่ค่อยแฮปปี้” เท่าไหร่กับแผนการไปเยือนไต้หวันของ เพโลซี

สหรัฐฯ มีกฎหมายที่เรียกว่า Taiwan Relations Act ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อป้องปรามไม่ให้จีนคิดบุกเกาะแห่งนี้ และยังรับประกันว่าสหรัฐฯ จะขายอาวุธเพื่อการป้องกันตนเองให้แก่รัฐบาลไทเป ทว่าในระยะหลังๆ เริ่มมีเสียงเรียกร้องจากพวก ส.ส.สายเหยี่ยวในคองเกรสให้มีการแก้กฎหมายเพิ่มการสนับสนุนไต้หวันให้มากยิ่งขึ้นไปอีก รวมถึงขอให้สหรัฐฯ เลิกใช้นโยบาย “ความกำกวมทางยุทธศาสตร์” (strategic ambiguity) ต่อไต้หวัน ซึ่งไม่ได้ระบุชัดเจนว่าอเมริกาจะตอบโต้อย่างไรหากไต้หวันถูกจีนรุกราน

นักวิเคราะห์บางคนมองว่า ภารกิจของ เพโลซี ในไต้หวันให้ผลในแค่ “ในเชิงสัญลักษณ์” และเป็นความสำเร็จใน “ระยะสั้น” เท่านั้น และการที่เธอลงทุนนั่งเครื่องบินฝ่าวงล้อมจีนเข้าไปยังไต้หวันเพื่อประกาศความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในครั้งนี้จะเป็นความเสี่ยงที่ “คุ้มค่า” หรือเป็นการยั่วยุที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในทางยุทธศาสตร์ให้แก่อเมริกาเลยนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าจีนจะลงมือตอบโต้อย่างหนักหน่วงและยืดเยื้อแค่ไหน

แม้สิ่งที่ เพโลซี พูดและทำในไต้หวันจะไม่ถึงขั้นละเมิดนโยบายจีนเดียวที่สหรัฐฯ ยึดถือ แต่ในการแถลงข่าวช่วงหนึ่ง เธอได้ยกย่องชาวไต้หวันว่า “มีความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศ (country) ของตัวเองไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่มากขึ้น” ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสหรัฐฯ ไม่เคยรับรองไต้หวันเป็นประเทศ

ไม่ว่า เพโลซี จะเพียงแค่ “พลั้งปาก” หรือตั้งใจส่งสัญญาณอะไรก็ตามที แต่แน่นอนว่าคำพูดนี้ย่อมสร้างความเดือดดาลต่อเจ้าหน้าที่ในปักกิ่ง และอาจทำให้คณะผู้นำจีนเข้าใจไปเองว่าสภาคองเกรสคิดที่จะผลักดันให้สหรัฐฯ ใช้นโยบายหนุนหลังไต้หวันอย่างแข็งกร้าวมากขึ้น ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่อันตราย และอาจทำให้สายป่านการทูตระหว่างสหรัฐฯ และจีนเกี่ยวกับสถานะของไต้หวันที่เปราะบางมากอยู่แล้ว เดินไปถึงจุดแตกหัก

ยิ่งไปกว่านั้น หากการเยือนของ เพโลซี ทำให้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง รู้สึกว่าการรวบรวมชาติกลายเป็นเรื่องเร่งด่วน และตัดสินใจใช้กำลังทหารบุกยึดไต้หวันขึ้นมา ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคงจะพูดไม่ได้ว่าเป็น “ผลดี” สำหรับสหรัฐฯ หรือฝ่ายใดๆ

“ผมเห็นด้วยว่าเธอมีสิทธิ์ที่จะไป แต่คำถามก็คือมันได้ประโยชน์อะไรบ้าง” ฟิล มัดด์ อดีตเจ้าหน้าที่เอฟบีไอและซีไอเอ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์ด้านการต่อต้านก่อการร้ายให้กับ CNN ตั้งคำถาม

ด้าน แม็กซ์ โบคัส อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศจีน ให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า การตัดสินใจของ เพโลซี ถือว่า “ไม่ค่อยฉลาดเท่าไหร่” หากมองถึงบริบทความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ที่ย่ำแย่มากอยู่แล้วเป็นทุนเดิม

“ในความเห็นผมนะ พูดตรงๆ ว่าเธอไม่ควรไปเลย เป้าหมายหลักของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ คือการลดความตึงเครียดกับจีน ไม่ใช่กระพือความตึงเครียด” โบคัส ซึ่งเป็นอดีต ส.ว.เดโมแครตจากรัฐมอนทานา ระบุ

“การไปเยือนครั้งนี้ทำให้ความสัมพันธ์กับจีนตึงเครียดขึ้น เธอไม่มีเหตุผลในเชิงนโยบายเลยที่จะไป ยังไงชาวไต้หวันก็รู้อยู่แล้วว่าเราสนับสนุนพวกเขา”

จอห์น เคอร์บี โฆษกด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ยืนยันว่าสหรัฐฯ “ไม่รู้สึกกลัวเกรง” กับการข่มขู่หรือถ้อยคำชวนทะเลาะจากจีน พร้อมทั้งยืนยันว่าการเยือนของ เพโลซี ไม่ได้ละเมิดทั้งประเด็นอธิปไตย หรือแม้แรกทั่งจุดยืนของสหรัฐฯ เกี่ยวกับนโยบายจีนเดียว

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า “จีนอาจจะใช้มาตรการตอบโต้บางอย่างในช่วงไม่กี่วันข้างหน้า หรือไม่ก็ในระยะยาว” ซึ่งอาจรวมถึงการยิงขีปนาวุธในช่องแคบไต้หวัน, ส่งฝูงบินรบเข้าไปในเขต ADIZ ของไต้หวันมากและถี่ขึ้น หรือแม้กระทั่งประกาศว่าช่องแคบไต้หวันไม่ใช่น่านน้ำสากลอีกต่อไป

ในห้วงเวลาที่ห่วงโซ่อุปทานโลกยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หากช่องแคบไต้หวันซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือสินค้าที่สำคัญถูกจีนปิดกั้นเพื่อเพิ่มแรงบีบต่อไทเป ก็อาจจะส่งผลกระทบในทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และมีผลในเชิงการเมืองต่อสหรัฐฯ เองด้วย เพราะหากนักลงทุนเกิดความกังวลก็อาจจะทำให้เกิดแรงเทขายหุ้น เพิ่มความเดือดร้อนแก่ชาวอเมริกันที่กำลังเผชิญปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้นและเงินเฟ้อ และแน่นอนว่าย่อมเป็นสัญญาณร้ายสำหรับพรรคเดโมแครตในศึกเลือกตั้งกลางเทอมที่จะมาถึงในเดือน พ.ย. นี้

**หรือนี่คือปฏิบัติการตั้ง “นาโต 2”

อย่างไรก็ดี หากวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ทางการเมืองและการทหารของสหรัฐฯ ที่มีต่อภูมิภาคเอเชียในยุค “ประธานาธิบดี โจ ไบเดน” แล้วจะเห็นว่า มีความพยายามที่จะเข้ามาคานอำนาจจีนที่แผ่ขยายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมากเป็นลำดับ

ที่ผ่านมา สหรัฐฯ มีฐานทัพในภูมิภาคเอเชียอยู่หลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น แต่ใน “อาเซียน” สหรัฐฯ ยังไม่สามารถหยั่งรากลึกทางการทหารลงไปได้เต็มตัว แม้ “สิงคโปร์” จะถือเป็นพันธมิตรใกล้ชิดมากที่สุด แต่ “ภูมิรัฐศาสตร์” ก็ไม่เหมาะสมสำหรับปฏิบัติการทางทหาร ที่สำคัญคือ ถ้าต้องการจะลงหลักปักฐานให้เป็นพันธะสัญญา สหรัฐฯ ย่อมปรารถนาที่จะให้มีองค์กรความร่วมมืออย่างเป็นทางการในลักษณะเดียวกับ “นาโต” เพื่อต่อกรกับจีน เพราะนั่นหมายถึงชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

หินที่ถูกโยนออกมามีตั้งแต่ระดับ “อาเซียน นาโต” และไปไกลถึงขั้น “เอเชีย นาโต” เลยทีเดียว

ส่วนถ้าหากต้องการจะยั่วยุสถานการณ์ในภูมิภาคนี้ให้อลหม่าน “ไต้หวัน” คือพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด

กล่าวสำหรับพยายามจะจัดตั้ง “Asean NATO” ของสหรัฐฯ ที่หลอนคนในภูมิภาคนี้รวมทั้งไทยด้วยนั้น เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาตั้งคำถามต่อนาย Antony H.BLINKEN รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ สหรัฐฯ ที่เพิ่งมาเยือนไทยระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งคำตอบของนายบลิงเคนไม่ผูกมัดและไม่ได้ปฏิเสธเรื่อง Asean NATOอย่างสิ้นเชิง โดยเปรยว่าประเทศต่างๆ สามารถตัดสินใจเลือกอนาคตของตนเองโดยไม่มีใครมาบังคับได้ ความหมายก็คือเปิดกว้างพร้อมลื่นไหลไปตามสถานการณ์

ขณะที่สื่อต่างประเทศ อย่างสำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า ในการมาเยือนกรุงเทพฯ ของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ต้องการใช้ไทยสนับสนุนฐานสหรัฐฯ ให้แข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อต่อต้านการเพิ่มอิทธิพลของจีนภายในภูมิภาค ซึ่งการเดินทางมาของนายบลิงเคน เกิดขึ้นคล้อยหลัง นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางมาเยือนไทยเมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา

สำนักข่าวเอพี ชี้ว่า นายบลิงเคนไม่ได้เอ่ยถึงจีนโดยตรงในการหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทว่าหลังมีการลงนามข้อตกลงร่วมกันแล้วเขาชี้ว่า “ทั้งสหรัฐฯ และไทยต่างมีเป้าหมายร่วมกันสำหรับการเปิดกว้าง ความมั่งคั่งเชื่อมโยง ความยืดหยุน และความมั่นคงของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก”

ไทยนั้นถือเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกกรอบทำงานทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Forum) ของประธานาธิบดีไบเดน ที่ก่อตั้งเมื่อต้นปี 2022 มีเป้าหมายเพื่อคานอำนาจจีนที่มุ่งมั่นขยายอิทธิพลผ่านโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ซึ่งรอยเตอร์ ชี้ว่า จีนฉวยโอกาสในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ ในสมัยอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ให้ความสนใจในภูมิภาคนี้มากนัก ส่งผลให้จีนมีโอกาสเข้ามาแผ่อิทธิพลในภูมิภาคผลักดันผ่านการลงทุนและการเชื่อมโยงทางการค้า

นอกจากนายบลิงเคน ที่ต้องตอบคำถามเรื่องดังกล่าวแล้ว ก่อนหน้านี้ นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวคำปราศรัยบนเวที Shangri-La Dialogue ที่ประชุมด้านความมั่นคงระดับสูงของเอเชีย เมื่อวันเสาร์ที่ 11 มิถุนายนว่าวอชิงตันไม่ได้กำลังทางหาจัดตั้ง “นาโต้ เอเชีย” หรือโหมกระพือความขัดแย้งในอินโด-แปซิฟิก แต่มุ่งเน้นไปที่การค้ำจุนเสถียรภาพในภูมิภาคแห่งนี้ ซึ่งดูสวนทางกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

ที่สำคัญคือ แม้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ จะออกมาปฏิเสธ แต่การให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศของ ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร เคยระบุเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ว่าระเบียบโลกที่สร้างขึ้นมาหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็นไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป ดังนั้นตะวันตกจึงต้องการ “นาโต้โลก” เพื่อเสาะหาภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ จากนั้นก็เริ่มมีการพูดถึงประเด็นการจัดตั้งพันธมิตรนาโต้ 2 ของสหรัฐฯ สำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

สอดรับกับการไปเยือนญี่ปุ่นของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ที่ทำให้สามารถปะติดปะต่อสถานการณ์ให้เขม็งเกลียวยิ่งขึ้นเพราะวัตถุประสงค์ที่ไบเดนไปพูดคุยกันที่ญี่ปุ่น คือการกระชับความร่วมมือภาคีแห่งความมั่นคง Quad กับผู้นำเหล่าชาติจตุรมิตร โดยมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การสร้างข้อตกลงความร่วมมือด้านความมั่นคงและการทหาร ซึ่งเริ่มจากภาคี Quad คือ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ

ดังนั้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ปฏิบัติการของสหรัฐฯ ที่กระทำรัวๆ ต่อไทย ต่อไต้หวัน ต่อจีนและต่อภูมิภาคนี้ จะนำพาสถานการณ์ไปเยี่ยงไร จะถึงขั้นนำไปสู่การจัดตั้ง “อาเซียน-นาโต้” หรือไปไกลถึง “เอเชีย-นาโต้” หรือไม่ ต้องติดตามอย่างไม่วางตาเลยทีเดียว



กำลังโหลดความคิดเห็น