xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช (79) : ความไร้น้ำยาของวิชารัฐศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 อาจารย์ชัยอนันต์  |  อาจารย์ไชยรัตน์
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

อาจารย์ชัยอนันต์ ผู้เป็นปรมาจารย์ทางรัฐศาสตร์และราชบัณฑิต ได้กล่าวไว้ในช่วงที่ท่านผ่านประสบการณ์ต่างๆ มายาวนานว่า  “ยิ่งเรียนรัฐศาสตร์ ยิ่งสอน ยิ่งไปสัมมนาทั่วโลก ก็ยิ่งลดศรัทธาในวิชาที่ผมเรียนมา เคยคิดว่าหากโลกนี้ขาดวิศวกรและแพทย์ เราคงแย่ แต่ถ้ามนุษย์ต่างดาวมากวาดต้อนนักการเมืองและนักรัฐศาสตร์ ตลอดจนนักกฎหมายมหาชนไปให้หมดโลก โลกก็คงจะอยู่ได้และอาจจะอยู่ดีด้วย”  
ผมจะขอกล่าวถึงเฉพาะนักรัฐศาสตร์ เพราะตัวผมเองเป็นนักรัฐศาสตร์
คำกล่าวของอาจารย์ชัยอนันต์ย่อมกระทบต่อผู้ที่เป็นนักรัฐศาสตร์ทั้งในปัจจุบันและในอดีต และย่อมจะกระทบต่ออนาคตด้วย ที่ว่ากระทบต่อนักรัฐศาสตร์ในปัจจุบันย่อมเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ นั่นคือ โลกอยู่ได้โดยไม่มีนักรัฐศาสตร์ การดำรงอยู่ของนักรัฐศาสตร์ไม่ได้จะช่วยโลกให้อยู่รอด การมีอยู่ของนักรัฐศาสตร์ไม่สำคัญจำเป็นเท่าวิศวกรและแพทย์ โลกอาจจะไม่สามารถคงอยู่ได้หากขาดวิศวร แพทย์และรวมไปถึงนักวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญคือ การมีอยู่ของนักรัฐศาสตร์นอกจากจะไม่ได้ช่วยโลกอยู่รอดแล้ว การไม่มีนักรัฐศาสตร์เลยอาจจะทำให้โลกนี้ดีขึ้นด้วยซ้ำ

ที่ว่าข้อความข้างต้นกระทบต่ออนาคตหมายความว่า หากคนรุ่นใหม่ได้อ่านข้อความดังกล่าว ก็อาจจะไม่สนใจอยากจะเรียนรัฐศาสตร์ เพราะเห็นว่าเป็นองค์ความรู้ที่ไม่ได้ช่วยอะไรโลกใบนี้ แถมยังจะทำให้โลกแย่ลงด้วยซ้ำ ถ้าเป็นเช่นนั้น อนาคตก็จะไม่มีใครเรียนรัฐศาสตร์ และไม่มีนักรัฐศาสตร์

ที่ว่ากระทบอดีต ก็เพราะองค์ความรู้รัฐศาสตร์ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่เกิดและสะสมกันมาเป็นเวลายาวนานพอๆกับองค์ความรู้ทางการแพทย์ วิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ ถ้านักรัฐศาสตร์ปัจจุบันไร้น้ำยา----(ขอขอบพระคุณท่าน ศาสตราจารย์ ดร. ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขารัฐศาสตร์ฯ ที่ได้เขียนบทความเรื่อง “ความไร้น้ำยาของวิชารัฐศาสตร์” ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2533 ก่อนที่อาจารย์ชัยอนันต์จะเขียนข้อความดังกล่าวข้างต้น แต่ความไร้น้ำยาของวิชารัฐศาสตร์ของอาจารย์ไชยรัตน์จะมีความหมายเดียวกันกับของอาจารย์ชัยอนันต์หรือไม่นั้น ผู้สนใจสามารถเริ่มต้นโดยการไปอ่านบทความของอาจารย์ไชยรัตน์ก่อน)-----------ก็หมายความว่า องค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์ที่เกิดและสะสมมานานกว่าสองพันกว่าปีนั้นไร้น้ำยา ไม่มีค่าอะไรในปัจจุบัน
และถ้าคนในปัจจุบันคิดต่อรัฐศาสตร์เช่นนั้น และความคิดดังกล่าวมีพลังมากพอที่จะทำให้รัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในอดีตไร้น้ำยาไปด้วย ก็จะส่งผลให้รัฐศาสตร์ต้องสูญพันธุ์ไปในอนาคต เป็นไปตามคำอันแยบคายของ จอร์จ ออร์เวล  (“George Orwell” ที่เป็นนามปากกาของผู้เขียนนวนิยายการเมืองเรื่อง “1984”) ที่ว่า  “อดีตกำหนดปัจจุบัน ปัจจุบันกำหนดอนาคต ใครกำหนดปัจจุบัน กำหนดอดีตและอนาคต” 
ถ้าคำกล่าวของอาจารย์ชัยอนันต์ต่อรัฐศาสตร์ในปัจจุบันมีพลังทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อตามนั้น มันก็จะไปกำหนดคุณค่าของรัฐศาสตร์ในอดีตและขีดชะตากรรมของรัฐศาสตร์ในอนาคต ของที่เกิดขึ้นในอดีตและดำเนินมาเรื่อยจนถึงยุคหนึ่งสมัยหนึ่งแล้วล้าสมัย เป็นสิ่งที่เข้าใจได้และเกิดอยู่ตลอดเวลาในประวัติศาสตร์ภายใต้เงื่อนไขที่เชื่อว่าทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

เช่นเดียวกัน องค์ความรู้และศาสตร์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตและดำเนินมาเรื่อยจนถึงยุคหนึ่งสมัยหนึ่งแล้วล้าสมัย ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ และถ้าอาจารย์ไชยรัตน์หรืออาจารย์ชัยอนันต์จะเห็นว่ารัฐศาสตร์ที่ดำเนินมายาวนานล้าสมัยแล้ว ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ขณะเดียวกัน หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นมานานหากทว่ามีการปรับตัวหรือที่เรียกว่า “วิวัฒนาการ” ก็จะสามารถอยู่รอดและยังเป็นประโยชน์ได้

 คำถามคือ รัฐศาสตร์เกิดขึ้นเมื่อไร ? และมีวิวัฒนาการและการปรับตัวไหม ? 

คนสมัยใหม่คงตอบคำถามนี้โดยการค้นจากกูเกิล และเมื่อค้นแล้วจะพบว่ามีคำตอบอยู่หลายที่ เช่น ถ้าพิมพ์คำว่า “the beginning of Political Science” ก็จะปรากฏรายการลิงค์ต่างๆ โผล่ขึ้นมาตามลำดับดังต่อไปนี้คือ https://www.sparknotes.com › political-science Politics and Political Science – SparkNotes,https://en.wikipedia.org/wiki/Political_science และยังมีอื่นๆ อีกมาก จาก sparknotes บอกว่า รัฐศาสตร์เริ่มเกิดขึ้นในยุคกรีกโบราณ และได้กล่าวถึงผลงานของเพลโต

จากวิกิพีเดีย หัวข้อ รัฐศาสตร์ ได้บอกว่า รัฐศาสตร์ปัจจุบันเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อครึ่งหลังของศตวรรษที่สิบเก้า และเริ่มแยกตัวออกจากองค์ความรู้ที่เรียกว่า ปรัชญาการเมือง ที่มีรากย้อนกลับไปที่ผลงานของเพลโตและอริสโตเติลเมื่อสองพันห้าร้อยปีก่อน
จากรายการลิงก์ทั้งสอง ทำให้เราได้ความรู้คร่าวๆว่า รัฐศาสตร์เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ มีอายุได้สองพันห้าร้อยกว่าปีแล้ว แต่อยู่ภายใต้ชื่อ ปรัชญาการเมือง หรือ political philosophy  และเมื่อตอนกลางศตวรรษที่สิบเก้า เริ่มเกิดองค์ความรู้รัฐศาสตร์ หรือ political science  ที่เป็นองค์ความรู้รัฐศาสตร์ในปัจจุบัน โดยรัฐศาสตร์จะแยกตัวออกจากปรัชญาการเมืองที่มีกำเนิดในผลงานของเพลโตและอริสโตเติล ดังนั้น เมื่อพูดถึงรัฐศาสตร์ จึงมีรัฐศาสตร์ปัจจุบัน กับ รัฐศาสตร์โบราณหรือรัฐศาสตร์คลาสสิก และเมื่อรัฐศาสตร์มีสองรัฐศาสตร์

คำถามที่ตามมาคือ เวลาอาจารย์ไชยรัตน์เขียนบทความเรื่อง “ความไร้น้ำยาของวิชารัฐศาสตร์” และอาจารย์ชัยอนันต์กล่าวว่า ““ผมยิ่งเรียนรัฐศาสตร์ ยิ่งสอน ยิ่งไปสัมมนาทั่วโลก ก็ยิ่งลดศรัทธาในวิชาที่ผมเรียนมา” ท่านหมายถึงรัฐศาสตร์แบบไหน ? หรือท่านเหมารวมทั้งสองรัฐศาสตร์ ? ทีนี้ เราลองมาดูกันว่า นักรัฐศาสตร์ฝรั่ง (political scientist) ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันมองรัฐศาสตร์คลาสสิกอย่างไร ?

 เกเบรียล อัลมอนด์ (Gabriel Almond) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงโด่งดังในศตวรรษที่ยี่สิบได้กล่าวเปรียบเทียบนักรัฐศาสตร์ “สมัยใหม่” กับนักรัฐศาสตร์ “คลาสสิก” อย่างมั่นใจว่า“นักรัฐศาสตร์ทั่วไปคงเห็นพ้องต้องกันว่า นักรัฐศาสตร์สมัยใหม่อย่างไมเคิล วอลเซอร์ (Michael Walzer) เข้าใจประเด็นเรื่องความยุติธรรมได้ดีกว่าเพลโต และการศึกษาเรื่องประชาธิปไตยของโรเบิร์ต ดาลฮ์ (Robert Dahl) ย่อมก้าวหน้ามากกว่าอริสโตเติลอย่างแน่นอน”  

 อัลมอนด์    | วอลเซอร์      |  ดาลฮ์
จากการประเมินเปรียบเทียบองค์ความรู้รัฐศาสตร์สมัยใหม่กับรัฐศาสตร์คลาสสิกของอัลมอนด์ เห็นได้ชัดว่า ถึงแม้ว่าองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์จะมีกำเนิดจากรัฐศาสตร์คลาสสิก แต่ก็มีวิวัฒนาการการปรับตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับตัวครั้งใหญ่ในตอนกลางศตวรรษที่สิบเก้าที่ทำให้องค์ความรู้รัฐศาสตร์สมัยใหม่ก่อตัวขึ้นและแยกออกจากรัฐศาสตร์คลาสสิกหรือ ปรัชญาการเมือง

เพื่อความเป็นธรรม เราก็ควรเปิดพื้นที่ฟังความเห็นของนักรัฐศาสตร์คลาสสิกด้วย แต่เนื่องจากนักรัฐศาสตร์คลาสสิกย่อมไม่มีวันได้อ่านประเมินเปรียบเทียบรัฐศาสตร์คลาสสิกกับรัฐศาสตร์สมัยใหม่ของอัลมอนด์ เพลโตย่อมไม่มีโอกาสอ่านการศึกษาเรื่องความยุติธรรมในหนังสือเรื่อง  Spheres of Justice ของไมเคิล วอลเซอร์  และอริสโตเติลก็ไม่สามารถอ่านงานเกี่ยวกับประชาธิปไตยหลายเล่มของ  โรเบิร์ต ดาลฮ์ (อาทิ Democracy and Its Critics, Toward Democracy - a Journey: Reflections, 1940–1997 และ On Democracy)  เมื่อเพลโตและอริสโตเติลไม่สามารถอ่านงานของนักรัฐศาสตร์สมัยใหม่ได้ ทั้งสองก็คงไม่สามารถโต้ตอบหรือยอมรับการประเมินของนักรัฐศาสตร์สมัยใหม่ได้ แต่สิ่งที่ทำได้ก็คือ อ่านงานของเพลโตและอริสโตเติลเพื่อค้นดูว่า เขาทั้งสองจะมีคำตอบอะไรที่เราจะสามารถเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องราวในปัจจุบันได้

 เพลโต | อริสโตเติล
เมื่อกลับไปค้นงานของเพลโตและอริสโตเติล จะพบว่ามีงานเขียนสองชิ้นที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันของอริสโตเติลที่ชื่อว่า  Nicomachean Ethics   ซึ่งเป็นงานที่มาก่อนงานของเขาที่ชื่อ Politics   โดยในตอนท้ายของ Nicomachean Ethics จะบอกให้ผู้อ่านที่อ่าน Nicomachean Ethics จบแล้ว ให้ไปอ่าน Politics ต่อ อันแสดงให้เห็นว่า ในความคิดของอริสโตเติล จริยศาสตร์ (Ethics) แยกไม่ออกจากรัฐศาสตร์ (รัฐศาสตร์) และในตอนต้นของ Nicomachean Ethics อริสโตเติลกลับกล่าวถึงความสำคัญของรัฐศาสตร์ในฐานะที่เป็นศาสตร์แห่งศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่สูงสุดเหนือศาสตร์อื่นๆ

การที่อริสโตเติลกล่าวเช่นนั้นจะเป็นการคุยโวทับถมศาสตร์อื่นๆหรือเปล่า ? ตัวเขามีความรู้ในวิทยาศาสตร์และศาสตร์อื่นหรือไม่ ? ถึงได้กล้ากล่าวคำโตให้ “รัฐศาสตร์” ขนาดนั้น !

ใครที่ศึกษางานเขียนของอริสโตเติลย่อมจะทราบดีว่า งานเขียนของเขานั้นครอบคลุมศาสตร์ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นฟิสิกส์ ชีววิทยา สัตววิทยา จิตวิทยา อุตุนิยมวิทยา ภาษาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ธรณีวิทยา ฯ ดังนั้น การที่เขากล่าวถึงรัฐศาสตร์ว่าเป็นศาสตร์เหนือศาสตร์หรือศาสตร์สูงสุดนั้น จึงน่ารับฟังว่าเขาจะอธิบายให้เหตุผลไว้อย่างไร จะเป็นคำคุยหรือเป็นคำจริงมีเหตุผล

และถ้าจริง นอกจากอริสโตเติลจะช่วยให้อาจารย์ชัยอนันต์กลับมามีศรัทธาต่อรัฐศาสตร์ และรัฐศาสตร์อาจจะไม่ไร้น้ำยาในสายตาของอาจารย์ไชยรัตน์แล้ว ยังจะช่วยปกป้องรัฐศาสตร์ในแบบของอัลมอนด์ วอลเซอร์และดาลฮ์อีกด้วย

 ยกเว้นเสียแต่ว่า รัฐศาสตร์ของนักรัฐศาสตร์สมัยใหม่อย่างอาจารย์ชัยอนันต์ อาจารย์ไชยรัตน์ อัลมอนด์ วอลเซอร์และดาลฮ์จะแตกต่างจากรัฐศาสตร์คลาสสิกของอริสโตเติลไปอย่างสิ้นเชิง 


กำลังโหลดความคิดเห็น