xs
xsm
sm
md
lg

หลักเกณฑ์การพิจารณาอุดมการณ์ทางการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ในยุคสมัยใหม่ การบริหารปกครองและพัฒนาประเทศถูกขับเคลื่อนจากการต่อสู้ของอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างชัดเจน ทั้งประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย และประเทศที่ใช้ระบอบเผด็จการ การต่อสู้ทางอุดมการณ์ในระบอบเสรีประชาธิปไตยเป็นการต่อสู้กันอย่างเปิดเผยภายใต้กรอบกติกาที่ชัดเจนและเป็นไปอย่างสันติผ่านกระบวนการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ แต่การต่อสู้ทางอุดมการณ์ในประเทศที่มีระบอบอำนาจนิยมประชาธิปไตยและเผด็จการมักถูกกดทับจากผู้มีอำนาจ การต่อสู้ทางอุดมการณ์จึงมีหลากหลายรูปแบบทั้งเปิดเผยและซ่อนเร้น และมีความรุนแรงแฝงอยู่


ในอดีต การเมืองไทยเคยมีการต่อสู้ทางอุดมการณ์อย่างรุนแรงระหว่างผู้ปกครองที่ยึดถืออุดมการณ์อนุรักษ์นิยมแบบอำนาจนิยม กับกลุ่มที่นักปฏิวัติสังคมที่ยึดถืออุดมการณ์สังคมนิยม แต่ในปัจจุบัน อุดมการณ์สังคมนิยมได้อ่อนพลังลงเป็นอย่างมากทั้งในระดับสากลและในประเทศไทย การเมืองของประเทศที่ระบอบเสรีประชาธิปไตยมีความเป็นสถาบัน จะมีอุดมการณ์ที่หลากหลายต่อสู้กันเพื่อช่วงชิงอำนาจนำในการกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แต่การเมืองของประเทศที่มีระบอบอำนาจนิยมประชาธิปไตยหรือเผด็จการ อุดมการณ์หลักที่เป็นคู่ขัดแย้งคือ อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมอำนาจนิยม กับ อุดมการณ์เสรีนิยมสมัยใหม่หรือเสรีนิยมสังคม ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่อยู่ภายในกลุ่มนี้

แต่ก่อนที่พิจารณาว่าการเมืองไทยในปัจจุบันมีพลวัตการต่อสู้ของอุดมการณ์ในลักษณะใดบ้าง ผมขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับอุดมการณ์ให้ชัดเจนเสียก่อน

อุดมการณ์หมายถึง ชุดของมโนคติที่มีความสอดคล้องและครอบคลุม ซึ่งอธิบายและประเมินสถานการณ์สังคม ช่วยพลเมืองให้เข้าใจตำแหน่งแห่งหน หรือจุดยืนทางการเมืองของตนเองในสังคม และช่วยกำหนดแนวทางหรือยุทธศาสตร์สำหรับการกระทำทางสังคมและการเมือง อุดมการณ์มีองค์ประกอบและทำหน้าที่สำคัญสี่ประการ คือ1) การอธิบาย (explanation) 2) การประเมิน (evaluation) 3) การกำหนดอัตลักษณ์ (identity) และ 4) ยุทธศาสตร์ (strategy)

1) องค์ประกอบด้านการอธิบาย ของอุดมการณ์ทำหน้าที่สร้างชุดความคิดและทฤษฎีเพื่ออธิบายสภาพของสังคมที่ดำรงอยู่ว่ามีลักษณะหรือรูปลักษณ์ใด เช่น การอธิบายว่า สังคมใดสังคมหนึ่งในยุคใดยุคหนึ่งเป็นสังคมศักดินา สังคมแห่งการกดขี่ สังคมไร้ระเบียบ สังคมแห่งความน่าสะพรึงกลัว เป็นต้น พร้อมทั้งอธิบายสาเหตุและเงื่อนที่ส่งผลให้เกิดสภาพสังคมการเมืองและเศรษฐกิจในลักษณะนั้นขึ้นมา ยิ่งกว่านั้นอุดมการณ์ยังมีบทบาทสูงในการอธิบายสังคมในช่วงวิกฤต เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวผู้คนจะทุ่มเทความพยายามในการแสวงหาคำอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น ทำไมจึงมีสงคราม ทำไมจึงเกิดความขัดแย้งและการแบ่งขั้วทางการเมือง ทำไมภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตายจึงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำไมผู้คนจึงตกงานและว่างงานจำนวนมาก ทำไมจึงเกิดความเหลื่อมล้ำ เหตุใดความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติต่างๆ จึงตึงเครียดและกลายเป็นปรปักษ์ เป็นต้น

สำหรับคำถามเหล่านี้และคำถามอื่น ๆ อีกจำนวนมาก อุดมการณ์ที่แตกต่างกันจะนำเสนอการอธิบายที่แตกต่างกัน แต่ละอุดมการณ์พยายามที่จะตอบคำถามเหล่านั้นในทางใดทางหนึ่งเพื่อให้เข้าใจถึงโลกอันซับซ้อนที่ผู้คนในสังคมกำลังเผชิญอยู่ อย่างกรณีสงคราม นักสังคมนิยมอธิบายว่า สงครามเป็นผลพวงจากการแข่งขันของนายทุนในตลาดต่างประเทศ ในขณะที่ นักฟาสซิสต์อธิบายสงครามในฐานะเป็นบททดสอบของเจตนารมณ์ของชาติหนึ่งในการต่อต้านชาติอื่น ในเรื่องปัญหาสังคม นักต่อสู้ชาวผิวดำอธิบายว่า รากเหง้าของปัญหาสังคมส่วนใหญ่มาจากการเหยียดสีผิว ขณะที่นักสตรีนิยมอธิบายว่า ปัญหาสังคมเกิดจากความเชื่อแบบปิตาธิปไตย เป็นต้น

ความแตกต่างของการอธิบายสังคมของแต่ละอุดมการณ์บ่งชี้ แต่ละอุดมการณ์มีวิธีคิดและฐานคติเพื่อทำความเข้าใจกับปรากฎการณ์และความซับซ้อนที่ดำรงอยู่แตกต่างกัน ยิ่งไปกว่านั้น นักอุดมการณ์ ซึ่งต้องการโน้มน้าวผู้อื่นให้ยอมรับอุดมการณ์ของตน พยายามนำเสนอคำอธิบายที่เรียบง่ายต่อปรากฎการณ์สังคมการเมือง เพื่อให้เข้าถึงผู้คนให้มากที่สุด แต่การอธิบายที่ถูกทำให้ง่ายจนเกินไป อาจก่อให้เกิดความเข้าใจปรากฎการณ์คลาดเคลื่อนจากความจริงได้

2) องค์ประกอบด้านการประเมิน ทำหน้าที่จัดหาหลักการมาตรฐานสำหรับการประเมินปรากฎการณ์สังคม แต่ละอุดมการณ์มีการกำหนดเกณฑ์ประเมินแตกต่างกันในการตัดสินว่า ปรากฎการณ์ใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม น่าพึงปรารถนาหรือไม่น่าพึงปรารถนา ดีหรือไม่ดี ตัวอย่างเช่น การประเมินสงคราม บางอุดมการณ์ประเมินและตัดสินว่า สงครามทั้งมวลเป็นความชั่วร้ายที่ควรหลีกเลี่ยง แต่บางอุดมการณ์ประเมินว่า ในการบางกรณีสงครามมีความธรรม ขณะที่บางอุดมการณ์ประเมินว่า สงครามเป็นสิ่งจำเป็นและต้องทำให้เกิดขึ้น หรือกรณีการถดถอยทางเศรษฐกิจ บางอุดมการณ์มองว่า เป็นเรื่องปกติของวงจรเศรษฐกิจที่จะต้องเกิดขึ้น แต่บางอุดมการณ์มองว่า เป็นอาการป่วยของระบบเศรษฐกิจ การจ้างงานก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีการประเมินที่แตกต่างกัน บางอุดมการณ์เห็นว่าการจ้างงานเต็มรูปแบบเป็นอุดมคติที่สมเหตุสมผล แต่บางอุดมการณ์ประเมินว่า การจ้างงานเต็มรูปแบบเป็นความเพ้อฝันที่ไร้เดียงสา หรือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน บางอุดมการณ์ตัดสินว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่บางอุดมการณ์มองว่า เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาและไม่อาจยอมรับ เป็นต้น

ในระดับนโยบาย อุดมการณ์ก็ได้มอบหลักเกณฑ์ในการตั้งคำถาม และการประเมินที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มเสรีนิยมมีแนวโน้มที่จะประเมินนโยบาย โดยตั้งคำถามว่า ควรเพิ่มหรือลดบทบาทของรัฐบาลในการแทรกแซงชีวิตของปัจเจกบุคคล คำตอบคือ การเพิ่มบทบาทของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา กลุ่มสตรีนิยมจะตั้งถามว่า นโยบายใดของรัฐบาลที่ส่งเสริม หรือต่อต้านผลประโยชน์ของผู้หญิง ส่วนกลุ่มคอมมิวนิสต์จะตั้งถามว่า ยุทธศาสตร์ของรัฐส่งผลกระทบต่อชนชั้นแรงงานในการเพิ่ม หรือลดโอกาสแห่งชัยชนะในการต่อสู้ทางชนชั้น สิ่งเหล่านี้หมายความว่า ในเรื่องเดียวกัน ผู้ยึดถือในอุดมการณ์หนึ่งอาจประเมินว่า เหมาะสมและน่าพึงปรารถนา แต่ผู้ที่ยึดมั่นในอุดมการณ์อื่น อาจประเมินว่าไม่เหมาะสมและไม่น่าพึงปรารถนาอย่างยิ่งก็ได้ ดังเช่น กลุ่มคอมมิวนิสต์ประเมินว่าการต่อสู้ทางชนชั้นเป็นเรื่องดี ในขณะที่พวกฟาสซิสต์เชื่อว่า การต่อสู้ทางชนชั้นเป็นเรื่องชั่วร้าย
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีจุดยืนแบบใด ก็เป็นที่ชัดเจนว่า อุดมการณ์ทั้งหมดกำหนดกรอบบรรทัดฐานที่ช่วยให้ผู้คนตั้งคำถาม ประเมิน ตัดสินนโยบายและเงื่อนไขทางสังคม เพื่อให้สรุปได้ว่า ปรากฎการณ์ทางสังคมการเมือง นโยบาย และมาตรการใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ดีหรือไม่ดี น่าสนใจหรือไม่น่าสนใจ และน่าพึงปรารถนาหรือไม่น่าพึงปรารถนา

3) องค์ประกอบที่สามคือ การกำหนดอัตลักษณ์ อุดมการณ์มอบความรู้สึกสำนึกถึงตัวตนและชี้นำทิศทางการปฏิบัติแก่ผู้ยึดถือ ทำให้พวกเขาตระหนักรู้ว่าตนเองเป็นใคร สังกัดกลุ่ม ชนชั้น เชื้อชาติ ชนชาติ ศาสนา และเพศใด รู้ว่าจะต้องใช้แนวทางใดในการเชื่อมโยงสัมพันธ์กับกลุ่มอื่น ๆ และควรใช้แนวทางใดตอบสนองต่อปรากฎการณ์ทางสังคมการเมืองที่ซับซ้อนรอบตัว ตัวอย่างเช่น นักสื่อสารมวลชนผู้คิดว่า ตนเองเป็นสมาชิกของชนชั้นแรงงานที่อุทิศตนเพื่อปลดปล่อยผู้ใช้แรงงานจากการกดขี่ และแสวงหาประโยชน์จากนายทุน ดังนั้น จึงแสดงออกด้วยการไม่เห็นด้วยกับการมีชนชั้นนายทุนปกครองประเทศ ส่วนกลุ่มนาซีคิดว่า ตนเองเป็นคนผิวขาวและเป็นสมาชิกของพรรคที่อุทิศตนเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติ ดังนั้น พวกเขามีแนวโน้มใช้แนวทางการกดขี่ การปราบปราม และการกำจัดเผ่าพันธุ์ "ด้อยกว่า" พวกตนเอง กลุ่มสตรีนิยมคิดว่า ตนเองเป็นแนวหน้าและตัวแทนผู้หญิง จึงเคลื่อนไหวทางสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อยุติการกดขี่และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ สำหรับอุดมการณ์อื่น ๆ ก็มีบทบาทในลักษณะเดียวกันคือ การมอบสำนึกแห่งอัตลักษณ์และชี้นำทิศทางการปฏิบัติแก่ผู้ที่ยึดมั่นในอุดมการณ์นั้น ๆ

4) องค์ประกอบที่สี่คือ การกำหนดยุทธศาสตร์ทางการเมือง. อุดมการณ์จะกำหนดกรอบแนวทางการปฏิบัติแก่ผู้ติดตามว่า ต้องทำอะไรและทำอย่างไร อุดมการณ์ทางการเมืองกำหนดภาพของสังคมที่พึงปรารถนา อันเปรียบเสมือนวิสัยทัศน์ในอนาคตที่อุดมการณ์นั้นต้องการสร้างขึ้นมาให้ปรากฎเป็นจริง ขณะเดียวกันก็สร้างสำนึกพันธกิจอย่างแรงกล้าแก่ผู้ยึดถือ ในบางสถานการณ์พลังเชิงพันธกิจของอุดมการณ์มีมาก จนกระทั่งผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ยินยอมเสียสละชีวิตและทรัพย์สินเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์แห่งสังคมอุดมคติในอุดมการณ์นั้น ๆ และที่สำคัญอีกประการคือ อุดมการณ์ยังนำเสนอประเด็นยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ นโยบาย และมาตรการในการบรรลุเป้าประสงค์อีกด้วย เมื่ออุดมการณ์หนึ่งวินิจฉัยว่า สังคมมีสภาพเลวร้าย และไม่มีแนวโน้มดีขึ้น เว้นแต่จะสามารถจัดหายุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิผลเพื่อดำเนินการจัดการปัญหา และพัฒนาสร้างสรรค์สังคมไปสู่สภาพที่ดีขึ้นมา อุดมการณ์นั้นก็จะนำเสนอยุทธศาสตร์ที่เชื่อว่า ทรงพลัง มีพลานุภาพ และประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาสังคมที่ดำรงอยู่ได้

ดังเช่น อุดมการณ์คอมมิวนิสต์วินิจฉัยว่า สังคมทุนนิยมมีปัญหาการกดขี่ขูดรีด การแก้ไขปัญหาการกดขี่รูดรีดได้คือ การล้มล้างระบบทุนนิยม โดยการใช้ยุทธศาสตร์การปฏิวัติสังคมด้วยกำลังอาวุธ และชนชั้นที่จะเป็นผู้นำของการปฏิวัติคือ ชนชั้นกรรมาชีพ การที่ชนชั้นกรรมาชีพเข้าร่วมการปฏิวัติสังคมได้นั้น ต้องมีจิตสำนึกทางชนชั้นที่ชัดเจน ดังนั้น ยุทธศาสตร์การสร้างจิตสำนึกทางชนชั้นของชนชั้นแรงงานจึงเงื่อนไขเบื้องต้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับยุทธศาสตร์การล้มล้างระบบทุนนิยม และยึดอำนาจรัฐที่ครอบครองโดยชนชั้นนายทุนให้มาอยู่ในการครอบครองของชนชั้นกรรมาชีพ เมื่อชนชั้นกรรมชีพมีอำนาจแล้ว ก็จะดำเนินยุทธศาสตร์ตามอุดมการสังคมนิยม เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างสังคมในอุดมคติที่พึงปรารถนาต่อไป

ขณะที่กลุ่มนาซี ภาพสังคมที่พึงปรารถนาคือ สังคมที่มีเผ่าพันธุ์อารยันผิวขาวผู้สร้างความก้าวหน้าแก่สังคมเป็นผู้ปกครองประเทศ ส่วนเผ่าพันธ์อื่นที่หน้าที่รับใช้ หรือบางเผ่าพันธุ์ไม่ควรดำรงยู่ในสังคม ลัทธินาซีจึงใช้ “ยุทธศาสตร์การปราบปรามและการทำลายล้างเผ่าพันธ์ที่ด้อยกว่า” ด้านลัทธิเสรีนิยม สังคมในอุดมคติคือ การมีเสรีภาพและการแข่งขันอย่างเสรีตามกลไกตลาด ยุทธศาสตร์การเมืองที่เสนอคือ การลดหรือขจัดการแทรกแซงของรัฐในการควบคุม บงการ และกำกับการใช้ชีวิตของปัจเจกชนและการแข่งขันในตลาด ส่วนกลุ่มอนุรักษ์นิยมหัวโบราณ สังคมในอุดมคติคือ การดำรงศีลธรรมตามจารีตดั้งเดิม ความมั่นคง และความเป็นระเบียบของสังคม ยุทธศาสตร์หลักคือ การใช้อำนาจรัฐแทรกแซงเพื่อส่งเสริมศีลธรรมหรือค่านิยมดั้งเดิม การปราบปรามผู้สร้างความไม่สงบแก่สังคมอย่างเข้มงวด เป็นต้น

องค์ประกอบของอุดมการณ์ทางการเมืองทั้งสี่ทำหน้าที่เชื่อมโยงความคิดและความเชื่อกับการกระทำ ทุกอุดมการณ์นำเสนอทั้งภาพความจริงของสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และภาพวิสัยทัศน์ของสังคมอุดมคติในอนาคต พร้อมทั้งเสนอยุทธศาสตร์เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ สังคมที่พึงปรารถนาในอนาคตเป็นความหวัง และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนเพื่อเปลี่ยนแปลง หรือรักษาวิถีชีวิตของตน หากระบบคิดหรือระบบความเชื่อใด ที่ขาดองค์ประกอบและการหน้าที่ทั้งสี่ประการคือ การอธิบายสังคม การประเมินสภาพสังคมที่ดำรงอยู่และการสร้างวิสัยทัศน์ของสังคมในอนาคต การกำหนดอัตลักษณ์ของผู้ยึดถือ และการเสนอยุทธศาสตร์เพื่อบรรลุสังคมอุดมคติ ก็ไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง การนิยามเชิงองค์ประกอบและหน้าที่จึงช่วยให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า สิ่งใดคืออุดมการณ์ และสิ่งใดไม่ใช่อุดมการณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น