ไม่มีการยิง “เครื่องบิน” ที่ประธานสภาฯ เพโลซี ได้นั่งมาร่วมกับ ส.ส.บางส่วนของสหรัฐฯ ในขณะเครื่องบินได้ร่อนลงจอดที่สนามบินไทเป เวลาเกือบ 5 ทุ่มของคืนวันอังคารที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา
เพราะมีการวาดภาพการตอบโต้ของกองทัพปลดแอกจีนต่อการเดินทางมาเยือนของประธานเพโลซี ว่า อาจมีการต่อต้าน ขัดขวางอย่างรุนแรง
ทางการจีนได้ตอบโต้อย่างดุเดือดทันทีที่นางเพโลซีประกาศว่า เธอจะเดินทางไปไต้หวันเพื่อแสดงความสนับสนุนต่อพันธมิตรของสหรัฐฯ ในฐานะที่ไต้หวันมีการปกครองประชาธิปไตยอย่างเข้มแข็ง และอยู่ในข่ายที่อาจถูกคุกคามโจมตีจากจีนเยี่ยงประเทศยูเครนที่ถูกบุกจากรัสเซีย
จีนยอมรับไม่ได้ ถ้าสหรัฐฯ จะให้การสนับสนุนต่อไต้หวันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจีน นอกจากสหรัฐฯ จะขายอาวุธทันสมัยให้แก่ไต้หวันเพื่อไว้ปกป้องตนเองจากการโจมตีของจีน แต่การเดินทางมาของบุคคลลำดับที่ 2 ในสายการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตามหลังรองปธน. (และโดยตำแหน่งเป็นประธานวุฒิสภาด้วย) ที่อยู่ในลำดับที่ 1 ที่จะขึ้นมารับตำแหน่งปธน.สหรัฐฯ (กรณีที่ปธน.เสียชีวิตอย่างเช่น จอห์น เอฟ. เคนเนดี...รองปธน.ลินดอน จอห์นสัน จะเข้ารับตำแหน่งปธน.ทันที...แต่ถ้ารองปธน.เกิดเสียชีวิตหรือต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลที่จำเป็นต้องใช้ยาสลบ ก็จะทำให้ประธานสภาผู้แทนฯ เข้ารับตำแหน่งรักษาการปธน.ทันที)
ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ ของสหรัฐฯ จึงเป็นตำแหน่งที่สำคัญมาก และจีนมองว่า การเดินทางของประธานสภาฯ เพโลซี มาเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการครั้งนี้ เป็นการรุกของสหรัฐฯ ที่พยายามสั่นคลอนหลักการจีนเดียว ซึ่งทางสหรัฐฯ ได้ทำข้อตกลงกับจีนเมื่อปี 1979 (กว่า 40 ปีแล้ว) หลังจากไต้หวันต้องยอมถอนตัวออกจากสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง เมื่อสมาชิกส่วนใหญ่ของยูเอ็นได้ลงมติให้จีนแผ่นดินใหญ่เข้าดำรงตำแหน่งแทนไต้หวัน
แม้การตกลงยอมรับว่า มีจีนเดียว (ซึ่งต่อมาประเทศต่างๆ ในโลกก็หันมายอมรับสถานะของจีนแผ่นดินใหญ่ โดยให้ตั้งสถานทูตจีนแทนที่สถานทูตไต้หวัน ซึ่งเปลี่ยนสถานะเป็นแค่สำนักงานการค้าไต้หวันแทน) แต่รายละเอียดในข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในขณะนั้น ก็มีความกำกวมในเรื่องการยอมให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนไต้หวัน หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไต้หวันเดินทางเข้าสหรัฐฯ...เช่น กรณีอดีตปธน.หลี่ เติงฮุย ของพรรคก๊กมินตั๋ง ต้องการเดินทางไปร่วมงานสังสรรค์ของศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยคอร์เนล เขาก็ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าสหรัฐฯ แม้จะเป็นการเดินทางในสถานะส่วนตัวก็ตาม เพราะในอีกหมวกหนึ่งเขายังเป็นผู้บริหารสูงสุดของไต้หวัน
จีนต้องส่งสัญญาณคัดค้านอย่างรุนแรง เพื่อยังให้หลักการ “จีนเดียว” ยังดำรงอยู่อย่างมั่นคง เพราะถ้ามีการคัดค้านอย่างเบาๆ หรือไม่มีการคัดค้านเลย ก็อาจเพิ่มพูนความชอบธรรม ให้แก่ฝ่ายที่ต้องการประกาศเอกราชของไต้หวัน ที่จะไม่ยอมให้ไต้หวันกลับคืนเป็นส่วนหนึ่งของจีน อย่างที่ผู้นำทุกรุ่นของจีนได้ตั้งความหวังไว้ โดยเฉพาะปธน.สี ที่ได้ประกาศอย่างเข้มข้นเมื่อปีที่แล้วว่า ไต้หวันเป็นดินแดนของจีน และจะต้องนำเอาไต้หวันกลับคืนมาให้ได้แม้จะต้อง “ใช้กำลัง” ก็ต้องทำ
ปธน.ไบเดน ได้ออกมาส่งสัญญาณถึงสองครั้ง หลังจากนางเพโลซีประกาศจะไปเยือนไต้หวัน ครั้งแรกเขาพูดว่า “ไม่ใช่ความคิดที่ดีนักที่ท่านประธานเพโลซี จะเดินทางไปครั้งนี้” และครั้งที่สอง เขาก็ยกเอากองทัพมาอ้างว่า “กองทัพไม่คิดว่าเป็นความคิดที่ดีสำหรับการเดินทางไปเยือนขณะนี้”
จนมีความพยายามหาทางลงให้ประธานเพโลซีไม่เสียหน้า เช่น เธอควรแค่
เลื่อนการเดินทางไปเป็นปีหน้า
แต่ปีหน้าเธอยังจะเป็นประธานสภาฯ หรือไม่? เพราะตอนนี้โพลจากแทบทุกสำนักสะท้อนว่า การเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายนนี้ พรรครีพับลิกันน่าจะได้เสียงข้างมากทั้งในวุฒิสภาและสภาล่าง เพราะปัญหาน้ำมันและอาหารแพงขึ้นมาก จนทำให้คะแนนนิยมของไบเดนและพรรคเดโมแครตตกไปมาก ผสมกันกับการออกมาถล่มจากทรัมป์...และแทบจะเป็นธรรมเนียมสำหรับการเลือกตั้งกลางเทอมของปธน.สมัยแรก ที่พรรคฝ่ายค้านมักได้เสียงเป็นข้างมากในสภาฯ เพราะประชาชนมักผิดหวังในพรรครัฐบาลหลังเข้ามาบริหารครบ 2 ปีแรก
อีกด้านหนึ่งประธานเพโลซีอาจต้องการส่งสัญญาณว่า เดโมแครตไม่ได้อ่อนข้อให้จีน (ดังที่รีพับลิกันยกขึ้นมาถล่มตลอดเวลา) ซึ่งการเดินทางเยือนไต้หวันครั้งนี้ อาจจะทำให้ฝ่ายเดโมแครตไม่สูญเสียเก้าอี้ ส.ส.ไปมากนักในการเลือกตั้งกลางเทอมคือ ใช้เหตุการณ์ต่างประเทศมาสร้างคะแนนนิยมที่กำลังตกลงๆ
แต่เมื่อเครื่องบินของประธานเพโลซีแตะสนามบินไทเป ไม่ปรากฏมีการต้อนรับอย่างโอ่อ่าสมตำแหน่ง สนามบินมืดมาก ไม่มีกองทหารเกียรติยศต้อนรับเลย เป็นการส่งสัญญาณว่า ไม่ใช่การเดินทางอย่างให้เกียรติยิ่งใหญ่ หรือเป็นการแอบเดินทางเท่านั้น
การที่จีนไม่ได้ใช้ความรุนแรงต้อนรับเพโลซี น่าจะเป็นดังที่โฆษกสภาความมั่นคงทำเนียบขาว (อดีต) พลเรือตรีจอห์น เคอร์บี แถลงก่อนหน้านี้ว่า กองทัพสหรัฐฯ จะให้ความคุ้มครองแก่คณะท่านประธานเพโลซีอย่างเต็มที่ และทางทหารทั้งสหรัฐฯ และจีนก็ได้มีการติดต่อประสานกันระดับหนึ่งแล้ว
ขณะเดียวกัน ปธน.ไบเดนก็ได้ยกเรื่องการเดินทางของประธานเพโลซีเป็นหนึ่งในประเด็นหารือทางโทรศัพท์กับปธน.สี เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งไบเดนได้ชี้ประเด็นว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประธานสภาผู้แทนฯ สหรัฐฯ ได้เยือนไต้หวันเป็นทางการ แต่อดีตประธานสภาผู้แทนฯ นิวท์ กิงริช ได้เคยทำมาแล้ว...และประมุขฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่ใช่ประมุขฝ่ายบริหาร...และตอกย้ำว่า รัฐบาลไบเดนยังคงยอมรับเต็มที่กับหลักการ “จีนเดียว” ...แต่ปธน.สีก็ยังยกคำพังเพยมาขู่ว่า “อย่าเล่นกับไฟ”
จีนไม่ได้ใช้กำลังขัดขวางการเดินทางของประธานเพโลซี แต่ได้รีบประกาศทดลองยิงขีปนาวุธที่ช่องแคบไต้หวันพร้อมการซ้อมรบใหญ่ทางทะเลและทางอากาศ โดยใช้กระสุนจริง ทันทีที่เพโลซีเหยียบไต้หวัน พร้อมสั่งคว่ำบาตรสินค้าไต้หวันจำนวนหลายพันรายการ และห้ามนำทรายจากจีนขายให้กับไต้หวันทันที (ทรายเป็นวัตถุสำคัญสำหรับผลิตชิป)
จีนแสดงออกอย่างเข้มข้นในการเป็นเจ้าของดินแดนไต้หวัน โดยไม่ยอมอ่อนข้อเพื่อรักษาหลักการ “จีนเดียว” เหนือสิ่งอื่นใด โดยเฉพาะเป็นปีสำคัญยิ่งในการที่ปธน.สี ต้องรักษาอิทธิพลอำนาจและหน้าตา ไม่ให้ใครมาลูบคม ก่อนที่เขาจะได้รับความไว้วางใจให้อยู่ต่อในตำแหน่งสูงสุดของจีนต่อไป ขณะที่เพโลซีก็ต้องรักษาคำพูดของเธอ รวมทั้งอาจช่วยหาเสียงให้พรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งกลางเทอมนี้ด้วย