xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผ่าอาณาจักร Hatari สำรวจ Wind of happiness ของอากงใจบุญ “จุน วนวิทย์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถือเป็นการทำบุญและประกอบคุณงามความดีแห่งปีเลยก็ว่าได้ สำหรับ “อากงจุน” หรือ “จุน วนวิทย์”  ผู้ก่อตั้ง  “บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด”  เจ้าของแบรนด์พัดลมไทย “ฮาตาริ(Hatari)” และครอบครัว ที่ได้บริจาคเงินสมทบทุนให้กับ “มูลนิธิรามาธิบดี ในพระบรมราชูปถัมป์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”  จำนวนถึง 900 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อสมทบทุนโครงการปรับปรุงอาคารโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีศาลายา 160 ล้านบาท โครงการศูนย์การแพทย์รามาธิบดีศรีอยุธยา 300 ล้านบาท และโครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี 440 ล้านบาท โดยมี ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รศ. ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี และผศ. นพ.ภาวิทย์ เพียรวิจิตร รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร เป็นตัวแทนรับมอบเงินบริจาค เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา

แน่นอนว่า การทำบุญใหญ่ดังกล่าวของ “จุน วนวิทย์” เป็นที่กล่าวขานและชื่นชมของผู้คนทั้งแผ่นดิน พร้อมกับตามมาซึ่งการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ “อากงจุน” ว่าเป็นใครมาจากไหน โดยเฉพาะเส้นทางการทำธุรกิจที่เขาสามารถต่อสู้จากอดีตเจ้าของร้านซ่อมพัดลมเล็กๆ จนทำให้ “Hatari” กลายเป็นยี่ห้อพัดลมเบอร์ 1 ของประเทศไทย กระทั่งในปี 2559 นิตยสารฟอร์บส์ ประเทศไทย ได้จัดอันดับให้เขารั้งตำแหน่ง เศรษฐีไทยอันดับ49 ด้วยทรัพย์สินราว 1.481 หมื่นล้านบาท

“จุน วนวิทย์” เกิดเมื่อ 7 พฤษภาคม 2480 ที่กรุงเทพมหานคร ในวัยเด็กไม่ได้เรียนหนังสือในระบบโรงเรียน ทำให้ไม่มีคุณวุฒิทางการศึกษา หากได้ศึกษาภาษาไทยด้วยตนเอง และศึกษาภาษาจีน จากครูที่สอนพิเศษตามบ้าน ถือเป็นผู้ที่มีความวิริยะ อุตสาหะ พยายามขวนขวาย แสวงหาความรู้อยู่เป็นนิจ

เขาเริ่มต้นทำมาหาเลี้ยงชีพตั้งแต่อายุ 12 ปี เริ่มจากการเป็นลูกจ้างกวาดพื้นร้านขายข้าวสารที่ถนนสี่พระยา จากนั้นได้เปลี่ยนอาชีพมาเป็นลำดับ ตั้งแต่การเป็นช่างทำทอง , ขับรถโดยสารรับจ้าง , ลูกจ้างร้านทำป้ายพลาสติก , ลูกจ้างโรงกลึง , ช่างทำแม่พิมพ์สำหรับฉีดพลาสติก เป็นต้น ต่อมาได้เปิดร้านซ่อมพัดลมเล็กๆ หลังพัดลมได้รับความนิยมในไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นก็หันมารับจ้างผลิตพัดลมให้กับแบรนด์ญี่ปุ่น ก่อนจะตัดสินใจทำพัดลมทั้งตัว เมื่อปี 2528 โดยเริ่มต้นในแบรนด์ที่ชื่อ “k” และ “Tory” ตามลำดับ และนำไปสู่การตัดสินใจสร้างแบรนด์พัดลมของตัวเองขึ้นมาในชื่อ ‘ฮาตาริ’ (Hatari) ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่นาน ฮาตาริก็ขยับขยายกลายเป็นบริษัทที่มีโรงงานใหญ่ขึ้น พนักงานมากขึ้น รวมถึงแตกไลน์ธุรกิจด้วยการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนพัดลมแบบครบวงจร กลายเป็นแบรนด์พัดลมที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดในเมืองไทย

ในปัจจุบัน ฮาตาริมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น พัดลมเคลื่อนที่, พัดลมติดตั้ง, พัดลมอุตสาหกรรม, พัดลมระบายอากาศ, พัดลมไอเย็น และเครื่องฟอกอากาศ รวมไปถึงมีการจำหน่ายชิ้นส่วนอะไหล่ เช่น ใบพัด, ฝาครอบใบพัด, แผ่นกรอง, เจลทำความเย็น เป็นต้น



จุน วนวิทย์และครอบครัวในวันที่บริจาคเงินให้มูลนิธิรามาธิบดีฯ จำนวน 900 ล้านบาทเมื่อวันที่ 26 ก.ค.65 ที่ผ่านมา
 อย่างไรก็ดี นอกจากธุรกิจพัดลมแล้ว เครือฮาตาริกรุ๊ปยังมีสินค้าและบริการอื่น ๆ จากบริษัทในเครืออีกด้วย ได้แก่

-บริษัท วนวิทย์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อปี 2528 มีนายจุน วนวิทย์ นางสุนทรี วนวิทย์ และนางศิริวรรณ พานิชตระกูล เป็นกรรมการ ทุนจดทะเบียน 400,000,000 บาท โดยปี 2564 มีรายได้รวม 5,774,766,880.63 บาท เพิ่มขึ้น 9.56% มีกำไร 645,645,044.65 บาท เพิ่มขึ้น 6.91% ส่วนปี 2563 มีรายได้รวม 5,270,406,291.32บาท เพิ่มขึ้น 8.49% และมีกำไร 603,899,494.51 บาท เพิ่มขึ้น 50.18%

-บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด ซึ่งทำธุรกิจขายส่งเครื่องใช้ไฟฟ้า มีนายวิทยา พานิชตระกูล นายจุน วนวิทย์ และนางสุนทรี วนวิทย์ เป็นกรรมการ ทุนจดทะเบียน 5,000,000 บาท โดยปี 2564 มีรายได้รวม 6,336,193,438.58 บาท เพิ่มขึ้น 1.53% และมีกำไร 65,821,884.79 บาท ลดลง 10.85% ส่วนปี 2563 มีรายได้รวม 6,240,236,344.24 บาท ลดลง 4.30% และมีกำไร 73,837,658.72 บาท เพิ่มขึ้น 26.01%

-บริษัท ฮาตาริ อีคอมเมิร์ซ จำกัด ทำธุรกิจขายปลีกพัดลมทางอินเตอร์เน็ต จดทะเบียนตั้งเมื่อปี 2562 มีนายธนากิจ วนวิทย์ และนางสาวชัญญา พานิชตระกูล เป็นกรรมการ ทุนจดทะเบียน 2,000,000 บาท ในปี 2564 มีรายได้รวม 7,805,204.84 บาท ลดลง 27.63% และมีกำไร 1,535,561.79 บาทเพิ่มขึ้น 2.57% ส่วนปี 2563 มีรายได้รวม 10,786,251.34 บาท และมีกำไร 1,496,978.62 บาท

-บริษัท ฮาตาริ ไวร์เลส จำกัด ทำธุรกิจด้านสื่อดิจิทัลอย่างจอโฆษณา พัฒนาแอปพลิเคชั่น ระบบเน็ตเวิร์คสำหรับองค์กร ฯลฯ มีผลงาน เช่น โมบายแอปและเว็บไซต์ของธนาคารกรุงศรี หน้าจอโฆษณาในธนาคารกสิกร เป็นต้น โดยก่อตั้งเมื่อปี 2546 ทุนจดทะเบียน 100,000,000 บาท มีนายวิชัย วนวิทย์ นายนพดล กาญจนทวีวัฒน์ และนายวสุ คุณวาสี เป็นกรรมการ ส่วนรายได้ของ ฮาตาริ ไวร์เลส นั้นปี 2564 มีรายได้รวม 506,237,407.81 บาท ลดลง 8.15% และมีกำไร 23,553,832.47 บาท ลดลง 10.71% ส่วนปี 2563 มีรายได้รวม 551,158,002.05 บาท ลดลง 56.65% และมีกำไร 26,379,894.76 บาท เพิ่มขึ้น 45.75%

-บริษัท ฮาตาริ คอนเน็คท์ จำกัด ทำธุรกิจจัดจำหน่ายอุปกรณ์สมาร์ทโฮมจากหลายแบรนด์ และให้บริการโซลูชั่นสมาร์ทโฮมสำหรับร้านค้าปลีกและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ให้คำปรึกษา จัดซื้อ ติดตั้งและบริการหลังการขาย โดยก่อตั้งเมื่อปี 2558 มีนายวิชัย วนวิทย์ นายเกลน วิลเลี่ยม พอฟ และนายนพดล กาญจนทวีวัฒน์ เป็นกรรมการ ทุนจดทะเบียน 9,000,000 บาท ซึ่งในปี 2564 มีรายได้รวม 2,326,422.99 บาท เพิ่มขึ้น 231.63% และมีกำไร 397,518.66 บาท เพิ่มขึ้น 142.42% หลังจากปี 2563 มีรายได้รวม 701,505.69 บาท ลดลง 85.59% และขาดทุน 937,083.48 บาท ขาดทุนเพิ่มจากปีก่อน 53.07%

-บริษัท ฮาตาริ เทคโนโลยี จำกัด ทำธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ อาทิ เครื่องวัดสุขภาพหัวใจส่วนบุคคล ซึ่งจับมือกับเอไอเอส, ฟอนดูซ เซอวิช, พรีซิชั่น เฮลท์ และโรงพยาบาลราชธานี เปิดตัวไปเมื่อปี 2562 และเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “เรียนไปป์” (Rienpipe) ตัวกรองเลิกบุหรี่ เป็นต้น ทั้งนี้มีนายวิชัย วนวิทย์ และนางสาวสมบุญ สังฆบารี เป็นกรรมการบริษัท ทุนจดทะเบียน 60,000,000 บาท ในปี 2564 มีรายได้รวม 29,792,548.13 บาท เติบโต 110.65% ขาดทุน 4,240,376.37 บาท ขาดทุนลดลง 74.60% จากปี 2563 ที่มีรายได้รวม 14,142,586.91 เพิ่มขึ้น 133.59% และขาดทุน 16,696,059.60 บาท ขาดทุนลดลง 23.19%

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจปั๊มแก๊ส LPG ในชื่อ HATA GAS ตั้งอยู่บริเวณ ถ.สุขสวัสดิ์ ตรงข้ามซอยสุขสวัสดิ์ 31 ดำเนินการโดยบริษัท ฮาตา ออโต้ แก๊ส จำกัด มีนายวิชัย วนวิทย์ นางจรัสพร จีระออน และนางสาวสมบุญ สังฆบารี เป็นกรรมการ ทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท โดยปี 2564 มีรายได้ 24,840,305.09 บาท ลดลง 22.69% และขาดทุน 210,141.70 บาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 792.77% ส่วนปี 2563 มีรายได้ 32,131,928.42 บาท ลดลง 18.01% และขาดทุน 23,537.92 บาท ขาดทุนลดลง 86.09%

และบริษัท ฮาตาริ แอลอีดี จำกัด ทำธุรกิจการผลิตหลอดไฟฟ้า ก่อตั้งเมื่อปี 2558 ก่อนจะเลิกกิจการไปในปี 2560 โดยมีนายจุน วนวิทย์ และนายธนากิจ วนวิทย์ เป็นกรรมการ

ก่อนหน้านี้ “จุน และครอบครัวฮาตาริ” ได้บริจาคทำบุญมาอย่างต่อเนื่องอย่างเงียบๆ มาอย่างเนื่อง เช่น จัดกิจกรรม CSR ผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาให้กับผู้ป่วยต้อกระจกภายใต้โครงการ “ผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาต้อกระจก” โดยร่วมมือกับมูลนิธิพิทักษ์ดวงตามชัยภูมิและโรงพยาบาลต่างๆ โดยสลับสับเปลี่ยนไปตามจังหวัดที่มีความพร้อมของโรงพยาบาลและทีมงานแพทย์ พยาบาล เช่น รพ.ชัยภูมิ, รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร, รพ.สมเด็จพระยุพราชสระแก้ว และ รพ.บางน้ำเปรี้ยว ฉะเชิงเทรา เป็นต้น รวมถึงกองทุนฮาตาริ เพื่อการศึกษา ที่มอบทุนการศึกษาจำนวน 20 ล้านบาท ให้กับนักเรียนที่ขาดทุนทรัพย์ของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น

ในวันรับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

เมื่อปี 2563 จุนและครอบครัว มอบเงินบริจาคจำนวน 60,000,000 บาท แก่มูลนิธิรามาธิบดีฯ สมทบทุนสร้างศูนย์ผู้สูงวัยโรงพยาบาลรามาธิบดี
ในคำประกาศเกียรติคุณของ “มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง” เมื่อคราวที่มอบปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ ได้กล่าวถึง “จุน วนวิทย์” เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

“เป็นผู้มีแนวคิดในการประกอบอาชีพและดำรงชีวิตโดยยึดหลัก ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัดกตัญญู เสียสละ มีความมุ่งมั่น มีวินัย ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่เพื่อความสำเร็จ และเป็นคนกล้าคิดกล้าทำ เป็นผลให้กิจการของฮาตาริก้าวหน้าและมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่อง มีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับพัดลมทุกประเภท รวมทั้งเครื่องฟอกอากาศ และเครื่องซักผ้าขนาดเล็กออกสู่ตลาด และแม้ว่าในบางช่วงจะประสบวิกฤตทางด้านการเงินเป็นอย่างมากก็ยังสามารถบริหารจัดการให้บริษัทผ่านพ้นมรสุมได้เป็นอย่างดี การผลิตสินค้าดังกล่าวนั้น ดำเนินการโดยบริษัทในเครือวนวิทย์กรุ๊ป ได้แก่ บริษัทวนวิทย์แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด บริษัทฮาตาริอิเลคทริค จำกัด และบริษัทวนวิทย์เมทัลเวิร์ค จำกัด โดยมีนายจุน วนวิทย์ เป็นประธานกรรมการ

“นายจุน วนวิทย์ คิดเสมอว่าคนไทยมิได้มีความสามารถด้อยกว่าใคร ไม่ต้องรอให้ชาวต่างชาติเป็นผู้นำและคนไทยเป็นผู้ตามเสมอไป นอกจากนี้ ยังได้ใช้กลยุทธ์การบริหารต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเป็นแนวทางการทำงานมาโดยตลอด ๒ ประการ คือ “ใช้ต้นทุนเท่าเดิม แต่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น” และ “ใช้ต้นทุนลดลง แต่ได้ผลผลิตเท่าเดิม” รวมทั้งกำหนดวิสัยทัศน์ของบริษัทในเครือไว้ว่า “ฮาตาริ คือผู้เชี่ยวชาญทางด้านสายลม”

มอบเงินสมทบทุนจัดสร้างศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ ณ ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
“นายจุน วนวิทย์ ได้ใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมารวมกับพรสวรรค์ ในเชิงช่างทำการประดิษฐ์คิดค้น และพัฒนาระบบการผลิตให้มีประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่อง สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้อย่างเห็นได้ชัด โดยมิได้ใช้พื้นฐานความรู้จากการเรียนทีใด ขณะเดียวกันก็ไม่ปฏิเสธเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ได้นำมาผสมผสานอย่างกลมกลืน สำหรับพนักงานนั้น นายจุน วนวิทย์เป็นผู้ให้โอกาสพนักงานที่ตั้งใจปฏิบัติงาน เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้นจะให้คำชี้แนะและให้ถือว่า “ผิดเป็นครู” ให้เดินหน้าต่อไป ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องท้อถอย พร้อมทั้งให้การจุนเจือครอบครัวของพนักงานด้วยการให้ทุนการศึกษาแก่บุตรและมอบเครื่องอุปโภคให้เป็นประจำทุกปี

“ณ วันนี้บริษัทในเครือวนวิทย์กรุ๊ป มีพนักงานกว่า ๒,๐๐๐ คน ส่งผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายทั่วประเทศไทยและต่างประเทศ มีผลประกอบการปีละกว่า ๔,๐๐๐ ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาดในผลิตภัณฑ์พัดลมในประเทศประมาณร้อยละ ๘๐ สามารถลดการนำเข้าพัดลมจากต่างประเทศได้เกือบทั้งหมด จึงถือได้ว่า นายจุน วนวิทย์ เป็นผู้ทีมีความรู้ความสามารถ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์สุจริต มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และจิตใจดีงามสามารถนำพาตนเองและกิจการสู่ความสำเร็จอย่างสูง เมื่อประสบความสำเร็จในการงานอาชีพแล้ว นายจุน วนวิทย์ มิได้ลืมตอบแทนสังคม แต่กลับคิดเสมอว่าจะต้องตอบแทนสิ่งที่ดีงามให้แก่สังคม ช่วยเหลือผู้อื่นทีเดือดร้อนหรือด้อยโอกาส ด้วยความบริสุทธิ์ใจ โดยไม่แสดงตัว ได้บริจาคทรัพย์สิ่งของให้กับโรงพยาบาลต่างๆ สร้างศูนย์วิปัสสนาและมอบเงินอุดหนุนให้แก่ยุวพุทธิกสมาคม ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส สร้างสะพานลอยข้ามถนน ตลอดจนบริจาคเงินให้แก่โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกระดับ อยู่เป็นประจำมาแล้วเป็นมูลค่ารวมกว่าร้อยล้านบาทและยังปฏิบัติอยู่ โดยสม่ำเสมอ จากการประกอบคุณงามความดีมาอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นผลให้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นสายสะพายปฐมดิเรกคุณาภรณ์

“ด้วยความรู้ความสามารถและประสบการณ์อันเป็นที่ประจักษ์ชัดในการเป็นนักประดิษฐ์และนักบริหารที่ประสบความสำเร็จมีผลงานเป็นที่ปรากฏ ทั้งทีมิเคยได้รับการศึกษาในระบบมาก่อน รวมทั้งการเป็นผู้ที่มีคุณธรรม และอุทิศตนเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป กว่า ๕๐ ปี ประกอบกับสิ่งที่ได้กระทำมาล้วนเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติโดยรวม นับเป็นแบบอย่างที่พึงยกย่องในวงวิชาการและวิชาชีพ ดังนั้น ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในคราวประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๕ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้นายจุน วนวิทย์ ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป”

…น้อมคารวะในหัวใจอันดีงามของ “จุน วนวิทย์และครอบครัวฮาตาริ” มา ณ โอกาสนี้อีกครั้ง.



กำลังโหลดความคิดเห็น