คอลัมน์...ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
การที่รัฐฉินสามารถรวบรวมจีนเป็นแผ่นดินเดียวกันได้สำเร็จในครั้งนี้ ทำให้ กษัตริย์เจิ้ง คิดต่อไปว่า ในเมื่อพระองค์มีอำนาจเหนือหกรัฐแล้ว หากจะให้เรียกขานพระองค์ว่า กษัตริย์ (หวัง) ดังเดิมแล้วจะเท่ากับว่าฐานะของพระองค์ไม่ต่างไปจากกษัตริย์ของหกรัฐที่พ่ายแพ้แก่ฉิน เพราะรัฐทั้งหกต่างก็เรียกผู้นำของตนว่ากษัตริย์เช่นกัน
จากเหตุนี้ กษัตริย์เจิ้งจึงได้ปรึกษาเสนามาตย์ถึงประเด็นดังกล่าว ว่าจะทำอย่างไรให้พระองค์มีฐานะที่แตกต่างไปจากกษัตริย์ของอีกหกรัฐที่เหลือ ผลคือ เสนามาตย์เห็นพ้องให้เปลี่ยนคำเรียกขานของพระองค์จากคำว่า กษัตริย์ (หวัง) มาเป็นคำว่า จักรพรรดิ (ฮว๋างตี้) จากนั้นก็ให้ใช้ชื่อรัฐมาตั้งเป็นชื่อราชวงศ์ ซึ่งก็คือ ราชวงศ์ฉิน
โดยที่กษัตริย์เจิ้งเป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์ฉิน เสนามาตย์จึงเห็นพ้องให้เรียกขานนามของพระองค์ว่า ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฉิน หรือ ฉินสื่อฮว๋างตี้ นามนี้สื่อเป็นนัยว่า เมื่อมีจักรพรรดิองค์แรกแล้วก็จักมีองค์ที่สอง สาม สี่ ห้า เรื่อยไปไม่รู้จบ ซึ่งจะทำให้ราชวงศ์ฉินมีอายุนับหมื่นๆ ปีสืบไป
และชื่อ ฉินสื่อฮว๋างตี้ ก็คือ จิ๋นซีฮ่องเต้ ที่ไทยเรารู้จักกันในภาษาจีนแต้จิ๋วนั้นเอง
เนื่องจากชัยชนะของราชวงศ์ฉินส่วนหนึ่งมาจากการปกครองภายใต้กฎหมายที่แข็งกร้าว และให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งทางการทหาร เมื่อราชวงศ์ถูกตั้งขึ้นจักรพรรดิฉินสื่อจึงยังคงให้กับความสำคัญกับนโยบายทั้งสองนี้
กล่าวเฉพาะด้านการทหารแล้ว บุคคลที่จะเข้ามาเป็นทหารจะต้องผ่านการสอบที่เข้มงวด และผู้ที่เป็นทหารเกณฑ์จะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี เช่น ให้งดเก็บภาษีทางทหารที่ทุกครัวเรือนจะต้องจ่ายในรูปของม้า วัว หรือรถศึก เป็นต้น
แต่เนื่องจากราชวงศ์ฉินให้ความสำคัญกับการทหาร ทำให้ฉินมีจำนวนทหารมากมายจนมิอาจเลี้ยงดูทหารได้อย่างทั่วถึง ฉินจึงแก้ปัญหาด้วยการเกณฑ์ราษฎรมาสมทบเฉพาะกรณีที่มีศึกเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ส่วนอายุของทหารเกณฑ์ในยุคนี้จะอยู่ในระหว่าง 15 ถึง 60 ปี ในกรณีที่จำเป็นก็อาจเกณฑ์สตรีเข้ามาเป็นทหารอีกด้วย
ที่ขาดไม่ได้ก็คือ การเกณฑ์เอานักโทษหรือทาสมาเป็นทหาร ซึ่งหากชนะในการศึก บุคคลกลุ่มนี้จะได้รับการไถ่โทษให้เป็นอิสระ แต่ไม่ว่าจะมีภูมิหลังเช่นไร ทหารที่หนีทัพจะถูกลงโทษอย่างหนักทุกคน
แม้จะเห็นได้ชัดว่า การทหารทวีความสำคัญอย่างมากในยุคนี้ แต่ความพยายามที่จะสร้างระบบความมั่นคงนอกจากการทหารแล้วก็ยังมีในทางอื่นเช่นกัน และทางอื่นที่ว่านี้มีพื้นฐานมาจากหลักคิดของจักรพรรดิฉินสื่อที่ว่า ให้สร้างความได้เปรียบขึ้นที่ด่านที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งหนึ่งในความได้เปรียบก็คือ การสร้างกำแพง
แม้จะเป็นการสร้างความได้เปรียบก็ตาม แต่การสร้างกำแพงในยุคฉินก็มีที่มาจากปัญหาความมั่นคงเช่นกัน กล่าวคือ แม้จะตั้งราชวงศ์ขึ้นแล้ว แต่ปัญหาที่ยังมิได้หมดไปด้วยก็คือ การที่ฉินยังมีความขัดแย้งกับชนชาติที่มิใช่จีน และชนชาติที่เป็นปัญหามากก็คือ ซย์งหนู ที่เป็นชนชาติที่ยากจะเอาชนะได้ง่าย
ดังนั้น หลังตั้งราชวงศ์ได้ไม่นาน จักรพรรดิฉินสื่อจึงให้ขุนศึกนามว่า เหมิงเถียน (มรณะ ก.ค.ศ.210) เป็นผู้นำทัพไปทำศึกกับซย์งหนูที่ชายแดนด้านเหนือของจีน การศึกครั้งนี้ฉินได้ทุ่มทรัพยากรทางการทหารอย่างเต็มที่ จนเมื่อสามารถขับไล่ซย์งหนูออกไปจากกำแพงของจักรวรรดิได้สำเร็จแล้ว ก็ทรงมีบัญชาให้ขุนศึกผู้นี้สร้างกำแพงขึ้นมาใหม่ โดยให้สร้างเชื่อมต่อกับกำแพงเดิมของรัฐเอียนกับรัฐเจ้ายาวเป็นแนวเดียวกัน
และเนื่องจากภูมิภาคต่างๆ มีความกว้างใหญ่ไพศาล การที่จะสร้างกำแพงขึ้นมาได้จะต้องอาศัยทรัพยากรในภูมิภาคเหล่านั้น ซึ่งแต่ละภูมิภาคย่อมมีทรัพยากรที่แตกต่างกันไป ฉินจึงมีแนวนโยบายให้ใช้ทรัพยากรตามที่ภูมิภาคนั้นมีอยู่ในการสร้างกำแพง และให้จ่ายค่าแรงตามคุณภาพของงาน จากนั้นก็ให้เกณฑ์แรงงานมาสร้างกำแพง
ปรากฏว่า แรงงานที่ใช้สร้างกำแพงกลับไม่เชิงว่าเป็นแรงงานเกณฑ์ เพราะแรงงานเหล่านี้ล้วนเป็นทหารใต้บังคับบัญชาของขุนศึกเหมิงเถียนที่มีอยู่ราว 300,000 นาย โดยเมื่อขับไล่ซย์งหนูขึ้นไปทางเหนือพร้อมกับยึดคืนดินแดนทางใต้ตามแนวโค้งแม่น้ำเหลืองได้แล้ว แรงงานที่ว่าก็ลงมือสร้างกำแพงกันขึ้นในทางภาคเหนือของจีน กำแพงนี้สร้างจากตะวันตกที่เมืองหลินเถาในมณฑลกันซู่ปัจจุบัน ไปถึงตะวันออกที่เหลียวตงในมณฑลเหลียวหนิงในปัจจุบัน
แรงงานที่สร้างกำแพงเหล่านี้ได้ใช้ภูมิปัญญาของตนได้อย่างน่าอัศจรรย์ นั่นคือ อิฐที่ใช้สร้างจะไม่เหมือนกันไปทั้งหมด คือมีอิฐที่ทำจากดินเนื้อละเอียด จากหินก้อนใหญ่ และจากหินเนื้อละเอียด ผสมปนเปกันไป ถ้าเป็นภูมิภาคที่เป็นทะเลทราย อิฐก็จะทำจากกิ่งของต้นทามาริสค์ (tamarisk) ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้สนชนิดหนึ่งกับต้นอ้อหรือกกนำมาผสมกับดินเพื่อทำเป็นอิฐ
อิฐที่ใช้สร้างกำแพงชนิดหลังนี้ยังคงเห็นได้ในทุกวันนี้ในบางพื้นที่ของมณฑลกันซู่และซินเจียง
เมื่อแล้วเสร็จก็ปรากฏเป็นกำแพงที่มีความยาวมากกว่าหมื่นลี้ กำแพงนี้จึงถูกเรียกว่า “กำแพงหมื่นลี้” (วั่นหลี่ฉังเฉิง) นับแต่นั้นมา และทำให้กำแพงเมืองจีนกลายเป็นสัญลักษณ์แรกๆ ที่สะท้อนความเป็นเอกภาพของจีนไปในตัว
กำแพงหมื่นลี้หรือกำแพงเมืองจีนก็ถือกำเนิดนับแต่นั้นมา
กำแพงหมื่นลี้หลังราชวงศ์ฉิน
ภายหลังราชวงศ์ฉินไปแล้ว กำแพงเมืองจีนยังคงถูกสร้างโดยราชวงศ์และ/หรือยุคสมัยต่างๆ สืบต่อกันมาตามระดับความจำเป็น กำแพงที่สร้างแต่ละช่วงเวลาจะมีขนาดและความยาวไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะในยุคราชวงศ์ฮั่น (ก.ค.ศ.206-ค.ศ.220) จิ้น (ค.ศ.265-420) เว่ยเหนือ (เป่ยเว่ย, ค.ศ.386-534) เว่ยตะวันออก (ตงเว่ย, ค.ศ.534-550) เว่ยตะวันตก (ซีเว่ย, ค.ศ.535556) ฉีเหนือ (เป่ยฉี, ค.ศ.550-577) โจวเหนือ (เป่ยโจว, ค.ศ.557-581) สุย (ค.ศ.581-618) ถัง (ค.ศ.618-970) ซ่ง (ค.ศ.960-1279) เหลียว (ค.ศ.907-1125) จิน (ค.ศ.1115-1234) และหมิง (ค.ศ.1368-1644)
ทั้งนี้กำแพงที่สร้างโดยฮั่น จิน และหมิงจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าของราชวงศ์อื่น คือมีความยาวหมื่นลี้ขึ้นไปจนถึงสองหมื่นลี้ และเมื่อรวมที่สร้างโดยราชวงศ์อื่นๆ เข้าด้วยกันแล้ว ความยาวของกำแพงรวมทั้งสิ้นจะอยู่ที่ราวๆ 50,000 ลี้ โดยที่ความยาวทั้งหมดนี้หาใช่สร้างโดยชาวจีนชนชาติเดียว ชนชาติที่มิใช่ชนชาติจีนก็มีส่วนสร้างอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะนับแต่ราชวงศ์ฮั่นเรื่อยมา
ชนชาติที่มิใช่จีนที่เป็นชนชาติส่วนน้อยและมีส่วนสร้างกำแพงเมืองจีนก็คือ ชนชาติแห่งราชวงศ์เว่ยเหนือ เว่ยตะวันออก เว่ยตะวันตก ฉีเหนือ โจวเหนือ เหลียว และจิน ชนชาติเหล่านี้ต่างก็เรืองอำนาจในช่วงที่จีนกำลังแตกแยกและไร้เอกภาพ และในเมื่อมีส่วนในการสร้างไม่น้อย กำแพงเมืองจีนจึงถือเป็นกำแพงนานาชนชาติพันธุ์ หาใช่กำแพงของชาวจีน โดยชาวจีน และเพื่อชาวจีนแต่ฝ่ายเดียวไม่
การที่กำแพงเมืองจีนที่ถูกสร้างขยายต่อเติมในยุคสมัยต่างๆ ดังกล่าว ทำให้การกล่าวถึงกำแพงในแต่ละยุคจึงควรบอกเล่าเรื่องราวของยุคนั้นๆ ประกอบด้วย เพราะเรื่องราวที่ว่าจะช่วยขยายให้เข้าใจเหตุผลในการสร้างกำแพงเมืองจีนในแต่ละยุค ว่าเหตุใดกำแพงในยุคนั้นๆ จึงถูกสร้างเฉพาะบางพื้นที่บางมณฑล มิได้สร้างทั่วบ้านทั่วเมืองหรือทั่วประเทศ และพื้นที่เฉพาะนี้ก็ให้เป็นพื้นที่ทางภาคเหนือแทบทั้งหมด หาใช่พื้นที่ทางภาคใต้ไม่ ภาคใต้ของจีนจึงไม่มีกำแพงเมืองจีนอย่างเรารู้จักกัน