xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งอย่างไรก็ช่วยให้ชนะเลือกตั้งไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ท่ามกลางความตกต่ำของคะแนนนิยม และมีแนวโน้มจะสูญเสียอำนาจแก่ฝ่ายค้านในการเลือกตั้งครั้งใหม่ กลุ่มผู้มีอำนาจรัฐมิได้ยอมรับความเป็นจริง และปล่อยไปตามครรลองของกลไกกระบวนการที่ชอบธรรม ความกังวลต่อความสูญเสียอำนาจครอบงำความคิดและจิตสำนึก นำไปสู่การกระทำแบบใช้เสียงข้างมากพลิกมติกลับไปกลับมา ดังไม้หลักปักโคลนตม สร้างความเสียหายแก่ภาพลักษณ์รัฐสภาอย่างไม่อาจประมาณได้


อันที่จริงก่อนหน้านี้ การกระทำของ “กลุ่มอำนาจนำ” ก็บั่นทอนภาพลักษณ์ของรัฐสภาไม่น้อยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “การเมืองแบบลิงกินกล้วย” หรือ “การเมืองแบบฟาร์มงูเห่า” ก็ตาม เรียกได้ว่าเป็นยุคแห่งความตกต่ำของรัฐสภาไทย อันเป็นผลจากแรงจูงใจใฝ่อำนาจและความต้องการพิทักษ์ผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มอำนาจนำเหล่านั้น

กลุ่มอำนาจนำได้ออกแบบระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยกำหนดให้มีจำนวน ส.ส.พึงมีและใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว คาดหวังว่าระบบเลือกตั้งแบบนี้สามารถสกัดชัยชนะแบบท่วมท้นของพรรคการเมืองคู่แข่งอย่างพรรคเพื่อไทยได้ ซึ่งผลลัพธ์ก็เป็นไปตามนั้น พรรคเพื่อไทยชนะได้ลำดับหนึ่งในการเลือกตั้ง แต่ได้จำนวน ส.ส.ลดลงจากการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้าเป็นอย่างมาก นำพรรคลำดับสองที่เป็นพรรคของชนชั้นนำอย่างพลังประชารัฐเพียงไม่กี่เสียง

แต่สิ่งที่ชนชั้นนำคาดไม่ถึงคือ ระบบการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญปี 2560 กลับเกื้อหนุนพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองที่น่าหวาดหวั่นยิ่งกว่าพรรคเพื่อไทยขึ้นมา อุดมการณ์และจุดยืนทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่สร้างหวาดวิตกแก่ชนชั้นนำยิ่งกว่าพรรคเพื่อไทย แม้ต่อมาชนชั้นนำจะใช้ช่องทางกฎหมายยุบพรรคอนาคตใหม่ได้ แต่จำนวน ส.ส.ที่เหลืออยู่ก็ได้ร่วมกันสร้างพรรคใหม่ภายใต้อุดมการณ์และจุดยืนการเมืองแบบเดิมคือ พรรคก้าวไกล ขึ้นมา และช่วงสองปีเศษที่พรรคก้าวไกลทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร คะแนนนิยมของพรรคนี้ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ จนกลายเป็นพรรคการเมืองที่มีคะแนนนิยมมากเป็นลำดับสอง รองจากพรรคเพื่อไทยเท่านั้น ระบบการเลือกตั้งแบบ ส.ส.พึงมี และการใช้บัตรใบเดียวจึงกลายเป็นปมปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของชนชั้นนำ

การผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นระบบการเลือกตั้งประสบความสำเร็จในปี 2564 ท่ามกลางความไม่ลงรอยทางความคิดทั้งในกลุ่มชนชั้นนำเองและพรรคฝ่ายค้านด้วย ในกลุ่มชนชั้นนำมีสองฝ่ายที่มีความคิดไม่ตรงกัน ฝ่ายหนึ่งต้องการคงระบบเลือกตั้งแบบเดิมเอาไว้ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาบางกลุ่ม และพรรคการเมืองขนาดเล็ก อีกฝ่ายหนึ่งต้องการเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ต้องการยกเลิกระบบ ส.ส.พึงมี และให้นำระบบการเลือกตั้งที่มีการแบ่งแยกอย่างเด็ดขาดระหว่างการเลือกตั้ง ส.ส.เขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคมาใช้แทน กลุ่มนี้เป็นพรรคการเมืองใหญ่ของรัฐบาล อันได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย รวมทั้งพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยด้วย ขณะที่พรรคก้าวไกลได้เสนอ “ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม” ที่ใช้ในประเทศเยอรมันนีขึ้นมาเป็นทางเลือกแต่ก็พ่ายแพ้ไป

ในที่สุดระบบการเลือกตั้งแบบแยกจัดสรร ส.ส. โดยใช้บัตรสองใบ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ระบบเลือกตั้งแบบหาร 100 (มาจากรัฐธรรมนูญกำหนดจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคการเมืองไว้ 100 คน) ก็ผ่านรัฐสภา ทว่า ด้วยความไม่รอบคอบและเร่งรีบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ไม่มีการแก้ไข หรือตัดคำว่า “ส.ส.พึงมี” ที่ปรากฎอยู่ในมาตราอื่น ๆ ออกจากรัฐธรรมนูญ สิ่งนี้จึงกลายเป็นปมปัญหาที่สร้างความปั่นป่วนทางการเมืองในภายหลัง

เหตุผลที่บรรดาพรรคขนาดใหญ่ทั้งหลายต้องการระบบการเลือกตั้งแบบแยกจัดสรรมาใช้ก็เพราะพวกเขาประเมินว่า ระบบการเลือกตั้งแบบนี้จะทำให้พรรคของตนเองมีโอกาสได้จำนวน ส.ส. เพิ่มมากขึ้น ความคาดหวังเช่นนี้เป็นจริง หากพรรคการเมืองใดถึงพร้อมด้วยสองเงื่อนไข เงื่อนไขแรกคือ การมีผู้สมัคร ส.ส. ในระดับเขตเลือกตั้งที่มีฐานเสียงแน่นหนา เครือข่ายหัวคะแนนเข้มแข็ง และมีเงินจำนวนมากในการจัดหาคะแนน และเงื่อนไขที่สองคือ การที่มีพรรคมีคะแนนนิยมสูงในภาพกว้างทั่วประเทศ ในช่วงที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2564 ทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ต่างก็ประเมินตนเองในลักษณะเช่นนี้ ดังนั้น จึงร่วมกันผลักดันให้ระบบเลือกตั้งแบบแยกจัดสรรจนประสบความสำเร็จ

ขณะที่ ส.ว. บางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับระบบเลือกตั้งแบบแยกจัดสรร ก็เพราะประเมินว่า ระบบการเลือกตั้งแบบนี้จะเอื้อประโยชน์แก่พรรคเพื่อไทยมากที่สุด และอาจทำให้พรรคเพื่อไทยกลายมาเป็นพรรครัฐบาลในอนาคต ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ ส.ว. กลุ่มนี้ยอมรับไม่ได้ ส่วนกลุ่มพรรคเล็ก ๆ ไม่เห็นด้วยกับระบบเลือกตั้งแบบแยกจัดสรร ก็เพราะว่าระบบการเลือกตั้งแบบนี้จะเป็นหนทางแห่งความหายนะและล่มสลายหายไปจากเวทีการเมืองไทยของพวกเขา ด้วยพรรคใดที่จะมีจำนวน ส.ส. 1 คน ได้นั้น ต้องมีคะแนนเสียงอย่างน้อย 350,000 คะแนนขึ้นไป สำหรับพรรคเล็กที่อดีตเคยได้คะแนนเสียงเพียงหลักหมื่นเท่านั้น การที่จะได้คะแนนเสียงถึงหลักแสนดูเป็นความฝันที่ยากแก่การเอื้อมถึง

เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง การแก้ไข พ.ร.ป ว่าด้วยการเลือกตั้งเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญก็ตามมา ระหว่างการแก้ไข ในวาระแรกเหตุการณ์ก็ดำเนินไปตามครรลองและตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กระนั้นก็ตาม พรรคเล็ก ๆ ก็ไม่หยุดเคลื่อนไหว พยายามอย่างหนักหน่วงที่จะเสนอให้คงระบบ ส.ส.พึงมีเอาไว้ โดยเสนอให้ใช้จำนวน ส.ส.ทั้งหมดคือ 500 คน เป็นตัวหารเพื่อคิดจำนวน ส.ส.พึงมี การใช้วิธีการนี้จะทำให้พรรคเล็ก ๆ มีโอกาสมากขึ้นในการได้ ส.ส. เพราะใช้คะแนนเสียงประมาณ 75,000 คะแนน ก็สามารถได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้ว และแล้วความพยายามของพวกเขาก็ประสบความสำเร็จในการพิจารณาวาระสองของ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ด้วยการสนับสนุนของพรรคร่วมรัฐบาล ที่พลิกมติเดิมของตนเองที่เคยลงในวาระที่หนึ่งชนิดหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว

คำถามคือ ทำไมพรรคใหญ่อย่างพรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์จึงกระทำที่สวนทางกับสิ่งที่ตนเองเคยทำมาแล้ว คำตอบคือ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนการกระทำก็ต้องปรับ เพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์สูงสุด เป็นการคิดเชิงยุทธศาสตร์ที่เปี่ยมด้วยเหตุผลเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ตนเองโดยแท้ ส่วนหลักการอันชอบธรรมทางการเมืองก็วางเอาไว้ก่อน สถานการณ์อะไรที่ทำให้พรรคการเมืองเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของตนเอง สถานการณ์ที่ว่านั้นคือ การตกต่ำอย่างรุนแรงของคะแนนนิยมทั้งของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด ตรงกันข้าม คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทย กลับทะยานเพิ่มขึ้นสูงลิ่ว นำฝ่ายรัฐบาลชนิดทิ้งกันไม่เห็นฝุ่น หากใช้ระบบเลือกตั้งแบบแยกจัดสรร ก็จะทำให้พรรคเพื่อไทยมีโอกาสสูงในการชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้นในอนาคต

ส่วนเรื่องที่ ระบบการเลือกตั้งแบบหาร 500 เอื้อต่อพรรคก้าวไกล ดูเหมือนเป็นเรื่องรองในสายตาของชนชั้นนำ เมื่อเทียบกับการที่พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น แต่สิ่งหนึ่งที่ชนชั้นนำอาจคิดไม่รอบด้านคือ แม้ว่าระบบเลือกตั้งแบบหาร 500 มีผลกระทบกับพรรคเพื่อไทย แต่นักการเมืองที่อยู่ฝ่ายเดียวกับพรรคเพื่อไทยก็สามารถคิดแก้เกมได้ไม่ยากนัก โดยการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาอีกพรรค และมุ่งเน้นเฉพาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งโดยวิธีนี้จะทำให้พรรคเพื่อไทยและพรรคที่อยู่ในครอบครัวเดียวกันได้จำนวน ส.ส. รวมกันก็ไม่แตกต่างจากระบบหาร 100 มากนัก

ดังนั้น ไม่ว่าชนชั้นนำจะตัดสินใจใช้ระบบเลือกตั้งแบบหาร 500 หรือ หาร 100 ที่มีบัตรเลือกตั้งสองใบคือเลือกส.ส.เขต กับเลือกพรรค ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงแนวโน้มทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ การดิ้นรนเพื่อพลิกสถานการณ์ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม มีข่าวที่ได้รับการพูดอย่างกว้างขวางตามสื่มวลชนแขนงต่าง ๆ ว่า มีกลุ่มแกนนำบางคนของพรรคร่วมรัฐบาลเสนอให้กลับไปใช้ “ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม” ที่มีการใช้ “บัตรเลือกตั้งใบเดียว” แบบเดิมที่เคยใช้เมื่อการเลือกตั้งปี 2562 สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อรัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เพื่อนำสิ่งทิ้งไปแล้ว กลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง แต่หากชนชั้นนำและพรรคร่วมรัฐบาลดำเนินการตามข้อเสนอนี้จริง ก็จะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของระบบรัฐสภาอย่างรุนแรง

การกระทำแบบกลับไปกลับมา ใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยไม่สนใจต่อหลักการอันชอบธรรม ทำลายภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของรัฐสภาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลุ่มตนเองรักษาอำนาจและผลประโยชน์ต่อไปเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง การคิดที่ว่าระบบเลือกตั้งแบบใดจะสร้างความได้เปรียบจนสร้างชัยชนะเหนือคู่แข่งได้นั้น เป็นการคิดที่คับแคบและไม่รอบด้านเพียงพอ

ความจริงคือ ระบบการเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลสูงในการกำหนดชัยชนะเลือกตั้งได้ เมื่อพรรคการเมืองที่เข้าร่วมการแข่งขันมีศักยภาพและคะแนนนิยมไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ระบบการเลือกตั้งจะมีอิทธิพลน้อยมากในการกำหนดชัยชนะ หากพรรคการเมืองที่เข้าแข่งขันมีศักยภาพและคะแนนนิยมแตกต่างกันมาก
สถานการณ์ในปัจจุบันซึ่ง พรรคร่วมฝ่ายค้าน ทั้งเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคเสรีรวมไทยมีคะแนนนิยมสูง ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลทั้งพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยมีคะแนนนิยมตกต่ำ ชัยชนะของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ใช่เรื่องที่สามารถพลิกสถานการณ์ได้ด้วยการใช้ระบบการเลือกตั้งแต่อย่างใด ไม่ว่าใช้ระบบการเลือกตั้งแบบใด ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงคะแนนนิยมและผลลัพธ์ของการเลือกตั้งได้ การเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์การเลือกตั้งได้นั้น ต้องมุ่งไปยังการเปลี่ยนแปลงคะแนนิยมเป็นหลัก

ดังนั้น เพื่อไม่ใช้รัฐสภาไทยเสื่อมเสียความน่าเชื่อถือไปมากกว่านี้ บรรดาผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรยุติการกระทำแบบไม้หลักปักโคลนตม และการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ซึ่งเป็นการทำลายครรลองและหลักการอันชอบธรรมของระบอบรัฐสภาเสียเถิด ควรมุ่งปรับปรุงการทำงานบริหารประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และแสดงพฤติกรรมตามหลักจริยธรรมเพื่อให้ประชาชนเกิดความนิยมเชื่อถือใหม่อีกครั้ง อันเป็นเรื่องที่นักการเมืองและผู้บริหารปกครองประเทศที่ดีพึงกระทำ


กำลังโหลดความคิดเห็น