ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล (Citizen data sciences)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
วังลดาวัลย์หรือที่ประชาชนทั่วไปเรียกว่าวังแดง เพราะมีกำแพงวังทาสีแดง สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อเป็นเรือนหอสำหรับพระราชโอรสที่เพิ่งรับปริญญาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ และพระราชนัดดา พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ทรงเป็นต้นราชสกุลยุคล ส่วนพระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตรมงคล ทรงเป็นพระธิดาในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช กับหม่อมแม้น ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา ทั้งนี้สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชทรงเป็นพระโสทรอนุชากับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชมารดาคือสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
ความรักของทั้งสองพระองค์เกิดขึ้นในงานออกร้านวัดเบญจมบพิตร ดังที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ทรงเล่าให้หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุลฟัง ความว่า
“...ในงานออกร้านวัดเบ็ญจมบพิตร เจ้านายหนุ่ม ๆ อยากดูผู้หญิงก็ไม่กล้า เราต้องจัดการให้ ลุงนั่งอยู่กับพวกหนุ่ม ๆ หน้าร้านเรียกสาว ๆ ให้เข้าไปรับแจก บางคนทำดัดจริตกระมิตกระเมี้ยนเพราะมีหนุ่ม ๆ อยู่ด้วย แต่พอถึงยายบี้ [พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล] แกก็ทำหน้าเป๋อไปหมอบกราบเอาเงินแจก แล้วยังซ้ำกราบเจ้านายหนุ่ม ๆ นั้นเสียด้วย สมเด็จชายก็เลยพอพระทัยว่าไม่มีจริต...”
ความรักระหว่างสองพระองค์นี้ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพอพระทัยมาก และทรงจัดหาซื้อที่ดินประมาณ 17 ไร่ ด้วยเงินพระคลังข้างที่อันเป็นเงินส่วนพระองค์ที่จะทรงใช้ได้โดยปราศจากข้อกังขาใดใดทั้งสิ้น ทรงกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านบริเวณถนนพิษณุโลก ถนนนครราชสีมา และถนนลูกหลวง และทรงใช้เงินพระคลังข้างที่ปลูกพระตำหนักพระราชทาน
พระนามวังลดาวัลย์นั้นมาจากพระนามของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ผู้ทรงเป็นพระอัยกา (ตา) ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าลดาวัลย์ เป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๑๕ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาเอมน้อย
วังลดาวัลย์นั้น มีพระสถิตย์นิมานการ เจ้ากรมโยธาธิการ เป็นผู้จัดการเรื่องการออกแบบการก่อสร้าง ขณะนั้นกรมโยธาธิการได้จ้างช่างชาวต่างประเทศออกแบบพระที่นั่ง พระตำหนัก ตำแหน่งและอาคารต่าง ๆ โดยมีนายจี บรูโน สถาปนิกชาวอิตาเลี่ยนเป็นผู้ออกแบบ
ตัวพระตำหนักออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมยุควิคตอเรีย แบบวิลล่าอิตาเลียน ก่ออิฐถือปูน พระตำหนักมีสองชั้น ทาสีเหลืองนวลด้านนอก ยกเว้นในส่วนของพระตำหนักที่เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระบรมราชบุรพการีอยู่บนชั้นสาม โดยมีบันไดเวียนสำหรับเดินขึ้นไปตามแบบฉบับของตำหนักที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระตำหนักแต่ละชั้นมีช่องแสงเหนือหน้าต่าง ตอนบนเป็นช่องแสงรูปโค้งครึ่งวงกลม ตอนล่างติดกระจกสีเป็นลายดอกไม้งดงามยิ่ง
ด้านล่างภายในพระตำหนักเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ตกแต่งแบบฝรั่งด้วยประติมากรรมหินอ่อนรูปพระนางมารีและพระบุตร และรูปปั้นอื่น ๆ แบบตะวันตก
แต่ด้านบนภายในพระตำหนักเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน ตั้งชุดรับแขกแบบจีน ห้องพระซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปในตู้ไม้หรือพระวิมานไม้แบบจีน ลงรักปิดทองทั้งตู้ บานตู้เขียนลายเรื่องพระพุทธประวัติที่งดงามมาก ซึ่งมีตู้ไม้แบบจีนเช่นนี้อีกองค์ที่พระที่นั่งเวหาสน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน
สมเด็จเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์และพระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตรมงคล-พระชายาทรงครองรักกันใช้ชีวิตคู่แบบผัวเดียว-เมียเดียวด้วยความผาสุกและทรงมีพระโอรสสามพระองค์คือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ (พระองค์ชายใหญ่-ชายกลาง-ชายเล็ก)
ทั้งสองพระองค์ทรงใช้ชีวิตคู่ประทับที่วังลดาวัลย์เรื่อยมาจนกระทั่งสมเด็จเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์สิ้นพระชนม์ พระองค์หญิงเฉลิมเขตรมงคลจึงเสด็จออกมาประทับที่วังมังคละในช่วงปลายพระชนม์ชีพ
สาเหตุที่ทำให้พระองค์หญิงเฉลิมเขตรมงคลตัดสินพระทัยขายวังลดาวัลย์ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้นมาจากการที่จอมพลแปลก พิบูลสงครามมาทาบทามขอซื้อวังลดาวัลย์เพื่อให้เป็นกองบัญชาการทหารญี่ปุ่นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง [1] พระองค์หญิงเฉลิมเขตรมงคลทรงเกรงว่าวังลดาวัลย์จะถูกทุบทิ้งแบบวังวินด์เซอร์หรือวังกลางทุ่งของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของไทย จึงทรงตัดสินพระทัยรีบขายวังลดาวัลย์ให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในทันที
สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน (เดิม สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) มีที่ทำการ ณ วังลดาวัลย์ในปัจจุบันนี้เป็นแห่งที่ห้าโดยย้ายเข้ามาตั้งแต่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๘
ทั้งนี้เดิมสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เคยมีสำนักงานที่ทำการซึ่งได้ย้ายไปทั้งหมดสี่ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็นหน่วยงานใหม่ยังไม่มีที่ทำการ ต้องยืมส่วนหนึ่งของสำนักงานพระคลังข้างที่เดิมด้านวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ริมประตูวิมานไชยศรี ที่ทำการที่สองย้ายมาที่อาคาร ๑ ถนนราชดำเนินกลาง ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๕ และย้ายหนีระเบิดจากสงครามโลกครั้งที่สองไปที่ทำการแห่งที่สามคือวังพระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช (วังบางพูล) ที่ตำบลบางยี่ขัน อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๗ ซึ่งยังไม่มีถนนไปถึงต้องเดินทางด้วยเรือ จึงต้องย้ายมาที่ทำการแห่งที่สี่คือวังกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ บริเวณเชิงสะพานเทเวศร์นฤมิต ริมถนนสามเสนฝั่งตะวันตก เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ และย้ายออกเพราะวังลดาวัลย์ว่างและมีสถานที่กว้างขวางกว่าประกอบกับวังกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์มีค่าใช้จ่ายในการดูแลสูงมาก
สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้ดูแลรักษาและอนุรักษ์วังลดาวัลย์ให้อยู่ในสภาพแข็งแรงงดงามดังเดิมมาเป็นอย่างดี จนกระทั่งได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำหรับผู้ที่อยากเข้าชมวังลดาวัลย์ให้ทำหนังสือขอเข้าชมอย่างเป็นทางการในนามหมู่คณะไปยังสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
หมายเหตุ :
[1] รศ.ดร.คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์. ที่มาของวังลดาวัลย์ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ https://mgronline.com/daily/detail/9630000121136
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล (Citizen data sciences)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
วังลดาวัลย์หรือที่ประชาชนทั่วไปเรียกว่าวังแดง เพราะมีกำแพงวังทาสีแดง สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อเป็นเรือนหอสำหรับพระราชโอรสที่เพิ่งรับปริญญาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ และพระราชนัดดา พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ทรงเป็นต้นราชสกุลยุคล ส่วนพระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตรมงคล ทรงเป็นพระธิดาในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช กับหม่อมแม้น ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา ทั้งนี้สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชทรงเป็นพระโสทรอนุชากับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชมารดาคือสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
ความรักของทั้งสองพระองค์เกิดขึ้นในงานออกร้านวัดเบญจมบพิตร ดังที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ทรงเล่าให้หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุลฟัง ความว่า
“...ในงานออกร้านวัดเบ็ญจมบพิตร เจ้านายหนุ่ม ๆ อยากดูผู้หญิงก็ไม่กล้า เราต้องจัดการให้ ลุงนั่งอยู่กับพวกหนุ่ม ๆ หน้าร้านเรียกสาว ๆ ให้เข้าไปรับแจก บางคนทำดัดจริตกระมิตกระเมี้ยนเพราะมีหนุ่ม ๆ อยู่ด้วย แต่พอถึงยายบี้ [พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล] แกก็ทำหน้าเป๋อไปหมอบกราบเอาเงินแจก แล้วยังซ้ำกราบเจ้านายหนุ่ม ๆ นั้นเสียด้วย สมเด็จชายก็เลยพอพระทัยว่าไม่มีจริต...”
ความรักระหว่างสองพระองค์นี้ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพอพระทัยมาก และทรงจัดหาซื้อที่ดินประมาณ 17 ไร่ ด้วยเงินพระคลังข้างที่อันเป็นเงินส่วนพระองค์ที่จะทรงใช้ได้โดยปราศจากข้อกังขาใดใดทั้งสิ้น ทรงกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านบริเวณถนนพิษณุโลก ถนนนครราชสีมา และถนนลูกหลวง และทรงใช้เงินพระคลังข้างที่ปลูกพระตำหนักพระราชทาน
พระนามวังลดาวัลย์นั้นมาจากพระนามของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ผู้ทรงเป็นพระอัยกา (ตา) ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าลดาวัลย์ เป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๑๕ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาเอมน้อย
วังลดาวัลย์นั้น มีพระสถิตย์นิมานการ เจ้ากรมโยธาธิการ เป็นผู้จัดการเรื่องการออกแบบการก่อสร้าง ขณะนั้นกรมโยธาธิการได้จ้างช่างชาวต่างประเทศออกแบบพระที่นั่ง พระตำหนัก ตำแหน่งและอาคารต่าง ๆ โดยมีนายจี บรูโน สถาปนิกชาวอิตาเลี่ยนเป็นผู้ออกแบบ
ตัวพระตำหนักออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมยุควิคตอเรีย แบบวิลล่าอิตาเลียน ก่ออิฐถือปูน พระตำหนักมีสองชั้น ทาสีเหลืองนวลด้านนอก ยกเว้นในส่วนของพระตำหนักที่เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระบรมราชบุรพการีอยู่บนชั้นสาม โดยมีบันไดเวียนสำหรับเดินขึ้นไปตามแบบฉบับของตำหนักที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระตำหนักแต่ละชั้นมีช่องแสงเหนือหน้าต่าง ตอนบนเป็นช่องแสงรูปโค้งครึ่งวงกลม ตอนล่างติดกระจกสีเป็นลายดอกไม้งดงามยิ่ง
ด้านล่างภายในพระตำหนักเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ตกแต่งแบบฝรั่งด้วยประติมากรรมหินอ่อนรูปพระนางมารีและพระบุตร และรูปปั้นอื่น ๆ แบบตะวันตก
แต่ด้านบนภายในพระตำหนักเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน ตั้งชุดรับแขกแบบจีน ห้องพระซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปในตู้ไม้หรือพระวิมานไม้แบบจีน ลงรักปิดทองทั้งตู้ บานตู้เขียนลายเรื่องพระพุทธประวัติที่งดงามมาก ซึ่งมีตู้ไม้แบบจีนเช่นนี้อีกองค์ที่พระที่นั่งเวหาสน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน
สมเด็จเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์และพระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตรมงคล-พระชายาทรงครองรักกันใช้ชีวิตคู่แบบผัวเดียว-เมียเดียวด้วยความผาสุกและทรงมีพระโอรสสามพระองค์คือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ (พระองค์ชายใหญ่-ชายกลาง-ชายเล็ก)
ทั้งสองพระองค์ทรงใช้ชีวิตคู่ประทับที่วังลดาวัลย์เรื่อยมาจนกระทั่งสมเด็จเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์สิ้นพระชนม์ พระองค์หญิงเฉลิมเขตรมงคลจึงเสด็จออกมาประทับที่วังมังคละในช่วงปลายพระชนม์ชีพ
สาเหตุที่ทำให้พระองค์หญิงเฉลิมเขตรมงคลตัดสินพระทัยขายวังลดาวัลย์ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้นมาจากการที่จอมพลแปลก พิบูลสงครามมาทาบทามขอซื้อวังลดาวัลย์เพื่อให้เป็นกองบัญชาการทหารญี่ปุ่นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง [1] พระองค์หญิงเฉลิมเขตรมงคลทรงเกรงว่าวังลดาวัลย์จะถูกทุบทิ้งแบบวังวินด์เซอร์หรือวังกลางทุ่งของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของไทย จึงทรงตัดสินพระทัยรีบขายวังลดาวัลย์ให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในทันที
สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน (เดิม สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) มีที่ทำการ ณ วังลดาวัลย์ในปัจจุบันนี้เป็นแห่งที่ห้าโดยย้ายเข้ามาตั้งแต่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๘
ทั้งนี้เดิมสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เคยมีสำนักงานที่ทำการซึ่งได้ย้ายไปทั้งหมดสี่ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็นหน่วยงานใหม่ยังไม่มีที่ทำการ ต้องยืมส่วนหนึ่งของสำนักงานพระคลังข้างที่เดิมด้านวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ริมประตูวิมานไชยศรี ที่ทำการที่สองย้ายมาที่อาคาร ๑ ถนนราชดำเนินกลาง ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๕ และย้ายหนีระเบิดจากสงครามโลกครั้งที่สองไปที่ทำการแห่งที่สามคือวังพระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช (วังบางพูล) ที่ตำบลบางยี่ขัน อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๗ ซึ่งยังไม่มีถนนไปถึงต้องเดินทางด้วยเรือ จึงต้องย้ายมาที่ทำการแห่งที่สี่คือวังกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ บริเวณเชิงสะพานเทเวศร์นฤมิต ริมถนนสามเสนฝั่งตะวันตก เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ และย้ายออกเพราะวังลดาวัลย์ว่างและมีสถานที่กว้างขวางกว่าประกอบกับวังกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์มีค่าใช้จ่ายในการดูแลสูงมาก
สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้ดูแลรักษาและอนุรักษ์วังลดาวัลย์ให้อยู่ในสภาพแข็งแรงงดงามดังเดิมมาเป็นอย่างดี จนกระทั่งได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำหรับผู้ที่อยากเข้าชมวังลดาวัลย์ให้ทำหนังสือขอเข้าชมอย่างเป็นทางการในนามหมู่คณะไปยังสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
หมายเหตุ :
[1] รศ.ดร.คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์. ที่มาของวังลดาวัลย์ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ https://mgronline.com/daily/detail/9630000121136