xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปลุกกระแส “ตู้เวนดิ้งแมชชีน” บูมทั่วประเทศ จ่ายง่าย ขายได้ 24 ชม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ตู้เวนดิ้งแมชชีน (Vending Machine) หรือเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังเกิดกระแส “ตู้เต่าบิน” ตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติเสมือนบาริสต้าชงเอง ของ ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัดในเครือ บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ FORTH ที่โกยรายได้แตะร้อยล้านบาทต่อเดือน 

สำหรับภาพรวมของธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัตินี้ ปี 2020 มีการคาดการณ์มูลค่าในตลาดโลกไว้ที่ 1.344 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในปี 2027 มูลค่าอาจเพิ่มขึ้นเป็น 1.466 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อ้างอิงตารายงานของ Yahoo Finance ปี 2021 ขณะที่ธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในประเทศไทย มีการคาดการณ์ว่าจะสร้างมูลค่าประมาณ 3 พันล้านบาทต่อปี

วิวัฒนาการของตู้เวนดิ้งแมชชีนจากดิมที่ขายเครื่องดื่มในปัจจุบันมีสินค้าทั้งอุปโภคบริโภคให้เลือกมากมาย ขนม อาหาร เสื้อผ้า ของเล่น หน้ากากอนามัย ฯลฯ รับชำระทุกรูปแบบตั้งแต่เหรียญ ธนบัตร โอนเงินระบบต่างๆ หรือ QR Code

อย่างไรก็ดี ตลาดตู้เวดิ้งแมชชีนเมืองไทยยังมีโอกาสเติบโต เพราะหากคำนวณอัตราส่วนตู้เวนดิ้งแมชชีนกับจำนวนประชากรไทยยังมีสัดส่วนต่ำ เทียบกับประเทศญี่ปุ่น สัดส่วนประชากร 160 ล้านคน และมีตู้เวนดิ้งแมชชีนจำนวน 2.5 ล้านเครื่องทั่วประเทศ ซึ่งนับเป็นตลาดใหญ่ที่สุด ส่วนประเทศไทยมีตู้เวนดิ้งแมชชีน 30,000 เครื่อง เทียบกับจำนวนประชากร 70 ล้านคน ตลาดยังมีโอกาสเติบโตได้อีก

รวมทั้ง ตู้เวนดิ้งแมชชีนยังตอบโจทย์การขาย 24 ชม. สามารถกดซื้อสินค้าได้ตลอดเวลา สอดรับกระแสสังคมไร้เงินสด (cashless social) นอกเหนือจากจ่ายเงินโดยรับเหรียญและธนบัตรแล้ว ยังรองรับการจ่ายผ่านระบบโอนเงิน หรือ QR Code

  ในเมืองไทยตู้เวนดิ้งแมชชีนมีมานานกว่า 20 ปีแล้ว ปัจจุบันตลาดตู้เวนดิ้งแมชชีนมากกว่า 10 แบรนด์ มีจำนวนตู้มากกว่า 30,000 ตู้ กระจายทั่วประเทศ ส่วนแบรนด์หลักๆ อาทิ ซัน108 ของกลุ่มสหพัฒน์ ผู้เล่นรายใหญ่สุดในตลาดที่มีตู้ขายสินค้าเยอะที่สุดในตลาดอยู่ที่กว่า 12,000 ตู้ สินค้าหลากหลายทั้งอุปโภคและบริโภค รวมถึงอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคเล็กๆ รองลงมา Vending plus ของกลุ่มสบาย เทคโนโลยี จำหน่ายสินค้าตั้งแต่เครื่องดื่ม ขนม หน้ากากอนามัย ยันชุดชั้นในมีจำนวน 5,700 ตู้ 

“จากวิกฤตของ COVID-19 ที่ผ่านมา ทำให้เราได้เห็นโอกาสใหม่ของตลาด Vending Machine เรียกว่าเป็น New Retail Solution จะเป็นช่องทางใหม่ของผู้ประกอบการ จากแต่ก่อนที่ต้องซื้อขายผ่านช้อป แต่พอเกิดล็อกดาวน์ทำให้มีการปิดศูนย์การค้า ไม่สามารถขายสินค้าได้ แต่ตู้ Vending Machine สามารถไปตั้งใกล้ ลูกค้าได้โดยมีค่าดำเนินการไม่เกินจุดละ 5,000 บาท ก็เปิดการขายได้เลยเทียบกับการเปิดร้าน ซึ่งต้องมีงบตกแต่งมากถึง 2-3 แสนบาท” นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าว

หรืออย่าง TG Vending ของกลุ่มกระทิงแดง ตู้ขายสินค้าเฉพาะแบรนด์ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเกลือแร่และ Energy Drink, Vending Machine ของกลุ่มซีพี ส่งตรงร้านสะดวกซื้ออัตโนมัติขนาดย่อม, ตู้เต่าบิน ตู้บุญเติม ของกลุ่มฟอร์ท (FORTH) เป็นต้น

และปฏิเสธไม่ได้ว่า  “ตู้เต่าบิน”  ของ บมจ. ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น (FORTH) ปลุกกระแสตลาดตู้เวนดิ้งแมชชีนให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยนิยามตัวเองเป็น TAO BIN Your Robotic Barista คือคาเฟ่ 24 ชั่วโมง หรือบาริสต้าที่จะชงเครื่องดื่มให้กับทุกคน มีเมนูให้เลือกหลากหลายมากกว่า 100 เมนู มีการจดสิทธิบัตรกลไกการทำงานของตู้เต่าบินจะมีเทคโนโลยีที่ละเอียดอ่อนหลายขั้นตอน ชงใหม่แก้วต่อแก้วแตกต่างจากตู้กดเครื่องดื่มทั่วไปเป็นเครื่องดื่มที่ถูกชงไว้ก่อนแล้ว

ยอดขายปัจจุบัน เฉลี่ยกว่า 50 แก้วต่อวันต่อตู้ มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 60 แก้วต่อวันต่อตู้ โดยบางตู้ทำยอดขายได้ถึง 240 - 250 แก้วต่อวัน เฉลี่ยของเครื่องดื่ม 34 บาทต่อแก้วต่อตู้ รายได้เฉลี่ยต่อวันของตู้เต่าบินอยู่ที่ 1.5-1.6 ล้านบาทต่อวัน

โดยข้อมูล เดือน มิ.ย. 2565 มีตู้เต่าบินกระจายอยู่ทั่วประเทศ 1,500 ตู้ เป็นของบริษัทบริหาร 60% และตัวแทน 40% โดยภายในสิ้นปี 2565 จะมีตู้เต่าบิน 5,000 ตู้ และเป้าหมาย 3 ปี (2565 - 2667) จะติดตั้งให้ได้ 20,000 ตู้


 เรียกได้ว่าธุรกิจ Vending Machine ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ มี 3 บริษัทใหญ่ที่น่าจับตาสู้ศึกในตลาดหุ้น เข้าสู่ New s curve หรือรูปแบบการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี 

อ้างอิงรายงานข่าวเว็บไซต์ bangkokbiznews ระบุว่า บมจ. ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี หรือ SVT ที่มีทุนใหญ่ เครือสหพัฒน์ฯ เป็นเจ้าของ ส่งธุรกิจตู้กดอัตโนมัติทั้งเครื่องดื่ม-ขนมขบเคี้ยว-บะหมี่สำเร็จ เข้าตลาดหุ้นหลังดำเนินธุรกิจมานาน 20 ปี ด้วยจำนวนตู้ในมือ 14,600 สิ้นปี 2564 ทำให้มีมาร์เก็ตแชร์ 40 %

ปี 2565 SVT เร่งเครื่องแผนธุรกิจเพิ่มเครื่องวางตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติอีกประมาณ 2,000 เครื่อง รวมเป็น 17,000 เครื่อง และปรับตู้แบบธรรมดาให้เป็นแบบสมาร์ทเพิ่มเป็น 7,500 เครื่อง โดยติดตั้งหน้าจอ LCD ระบบสัมผัสเพิ่มช่องทางสร้างรายได้สื่อโฆษณาดิจิทัล

พร้อมกันนี้ เตรียมเดินหน้าธุรกิจแฟรนไชส์อย่างเป็นทางการเพื่อใช้รุกขยายไปต่างประเทศ รวมถึงรูปแบบการร่วมทุน ในกลุ่มเวียดนามและ สปป. ลาว และขยายให้ครอบคลุม CLMV ในระยะต่อไป รวมถึงการมีพันธมิตรเสริมการขาย กับบมจ.ซันสวีท หรือ SUN ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูปและผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรอื่นๆ ภายใต้ตราสินค้า KC และกลุ่ม บีทีเอส หรือ BTS เพิ่มพื้นที่วางตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในจุดใหม่ๆ เช่น สถานีรถไฟฟ้า

ถัดมาคือ  บมจ. ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น หรือ FORTH ที่มีเรือธง “ตู้เต่าบิน” ราคาหุ้นนิวไฮทะลุ 30 เตรียมขยาย ตู้เพิ่มเป็น 5,000 ตู้ และจะเพิ่มจำนวนตู้เป็น 20,000 ตู้ ภายในปี 2567 ขณะที่มีเมนูเครื่องดื่มมากกว่า 170 เมนู รวมถึงเพิ่มฟังก์ชั่นเรื่องรสชาติ พัฒนาความสามารถในการทำเมนูอาหารใหม่ๆ เข้ามาในอนาคต จากปัจจุบันมีเมนูทำโจ๊ก รวใรายได้เฉลี่ยต่อวันของตู้เต่าบินอยู่ที่ 1.5-1.6 ล้านบาทต่อวัน

นอกจากนี้ “ฟอร์ท” ยังมี  “ตู้บุญเติม” จำนวนให้บริการ 1.3 แสนตู้ เน้นการชำระเงินและเติมเงินอัตโนมัติ เพิ่มเติมบริการทางการเงิน การผ่อนสินค้า และที่จะเป็นบริการใหม่ e-wallet ที่จะเข้ามาเสริมการบริการที่ต่อยอดมาจากการให้บริการตู้บุญเติม และมีการแตกไลน์ “ตู้บุญเติม Mini ATMW ให้บริการได้ทั้งในประเทศและโอนเงินระหว่างประเทศผ่านธนาคารและกลุ่ม Non-bank ลาสุดได้พันธมิตรใหม่จากคู่แข่งในธุรกิจเดียวกันเข้ามาตั้งบริษัทร่วมทุนและขยายตู้กดอัตโนมัติไปพร้อมกัน


และสุดท้าย  บมจ. สบาย เทคโนโลยี หรือ SABUY  ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีการนำตู้เวนดิ้ง แมชชีน ตู้เติมเงินสบายพลัส ขยายต่อเนื่องปี 2564 รวมกว่า 57,000 ตู้ พร้อมกับการเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตรทั้ง อาทิ บมจ.แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี หรือ AIT เข้ามาถือหุ้น ดำเนิน DATA Center รวมไปถึงธุรกิจ Cloud หรือกลุ่ม FORTH และ FSMART เป็น JV เพื่อขยายธุรกิจตู้ร่วมกัน ปัจจุบันบริษัทเข้าลงทุนในธุรกิจซักแห้ง ธุกิจสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อรถยนต์ ธุรกิจสมาร์ทล็อกเกอร์ให้บริการเช่าล็อกเกอร์ทั่วประเทศ และล่าสุดเตรียมพัฒนาบริการเพื่อเข้าสู่ธุรกิจดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่ตลาดตู้เวนดิ้งแมชชีนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด บริษัท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน) หรือ SMD  ผู้ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์และ ATK เดินหน้าขยายช่องทางการจัดจำหน่าย ATK เดินหน้าติดตั้งตู้กด ATK แบบอัตโนมัติ (Vending Machine) นำร่องโรงพยาบาลรัฐ

 ดร.วิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน) หรือ SMD เปิดเผยว่าปัจจุบันตู้กดสินค้าอัตโนมัติได้รับความนิยมสูงและผู้บริโภคมีความคุ้นเคยกับการซื้อสินค้าจากตู้อัตโนมัติมากขึ้น ตู้กด ATK นี้จะเข้ามาตอบโจทย์ความสะดวกมากขึ้น เนื่องจากสามารถซื้อได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในราคา 50 บาทต่อชิ้น โดยเซนต์เมดตั้งเป้าติดตั้งตู้กด ATK อัตโนมัติ ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ จำนวน 50 ตู้ ภายในเดือนมีนาคมนี้ โดยแต่ละตู้กดสามารถจำหน่าย ATK ได้ 600 ชิ้นต่อตู้ต่อวัน หรือต่อการเติมสินค้า 1 ครั้ง

 พอจะสรุปได้ว่าตลาดตู้เวดิ้งแมชชีนเมืองไทยยังมีโอกาสเติบโต หากเทียบกับสัดส่วนตู้เวดิ้งแมชชีนที่อยู่ในปัจจุบันประมาณ 30,000 ตู้ ขณะที่ประชากรไทยมีจำนวนกว่า 70 ล้านคน เทียบกับจำนวนประชาชนแล้วบรรดากูรูฟันธงในทิศทางเดียวกันว่าเป็นธุรกิจที่ยังไปได้สวย 


กำลังโหลดความคิดเห็น