ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เสน่ห์เล่ห์กลในเชิงจิตวิทยาทำให้มีผู้ตกหลุมพราง อาชญากรรมไซเบอร์ในรูปแบบ “โรแมนซ์สแกม (Romance Scam)” คำหวานของคนแปลกหน้าที่ทำให้ใจหวั่นไหว หลอกให้หลงหลอกโอนเงิน ลวงให้รักสุดท้ายกลายเป็นมือที่ 3 ถือเป็น “ปรากฏการณ์การณ์เปลี่ยวเหงายุคดิจิทัล” ที่น่าสนใจยิ่ง
รอบสัปดาห์ที่เป็นข่าวครึกโครมกรณี ชายวัยดึกอายุ 60 ปี ทักแชทลวงเหยื่อสาว 12 ราย เน้นสาวใหญ่ แม่ม่าย ลูกติด ล่อลวงมีเพศสัมพันธ์ เลี้ยงดูแบบสามีภรรยา แต่กลับตกเป็นเมียน้อยไม่รู้ตัว ทำให้กลุ่มผู้เสียหายรวมตัวเข้าปรึกษาทนายคนดัง หวังดำเนินคดีทางกฎหมาย ซึ่งดูเหมือนไม่มีกฎหมายข้อใดเอาผิดได้ เพราะเป็นเรื่องความยินยอมของทั้งสองฝ่ายแต่แรก งานนี้ยิ่งไปออกรายการโหนกระแส ยิ่งเป็นข่าวเรียกเสียงฮือฮาวิจารณ์สนั่น
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าปรากฎการณ์ความเปลี่ยวเหงาของผู้คนในยุคดิจิทัล เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอ่อนไหวง่ายขึ้น และเทคนิคทางจิตวิทยาเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญของอาชญากรรมไซเบอร์ในรูปแบบโรแมนซ์สแกมให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการทั้งเงินทองสนองกิเลสตัณหา
งานวิจัยโครงการข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมเพื่อป้องกันและปราบปรามพิศวาสอาชญากรรม (Romance Scam) และแนวทางสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน โดย ผศ.ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปัจจุบันพฤติกรรมด้านการปฏิสัมพันธ์ของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี มีประชาชนจำนวนมากที่ใช้เทคโนโลยีในการหาคู่ หรือแสวงรัก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการกระทำความผิดที่เรียกว่า “Romance Scam” หรือ “พิศวาสอาชญากรรม” โดย Romance Scam คือการที่ “นักต้มตุ๋น” (Scammer) ได้ใช้เทคนิคทางจิตวิทยาผ่านเครื่องมือทางเทคโนโลยีต่างๆ ในการหลอกลวงให้ “เหยื่อ” หลงเชื่อ จนกระทั่งยินยอมให้สิ่งต่างๆ ที่นักต้มตุ๋นต้องการ
กล่าวคือพิศวาสอาชญากรรมนี้เกิดขึ้นแพร่หลายในยุคดิจิทัล เพราะผู้คนจำนวนมากหันเข้าสู่โลกออนไลน์แทนที่จะออกไปมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เลือกที่จะสื่อสารเรื่องส่วนตัวกันผ่านสื่อออนไลน์มากกว่า เพราะสามารถระบายหรือได้พูดคุยกับคนที่ไม่รู้จักตัวตนของพวกเขาโดยอาจไม่ต้องเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง ทำให้พวกเขารู้สึกสบายใจกว่า
ขณะที่ Digital 2022 Global Overview เดือน ม.ค. 2565 เปิดเผยสถิติว่าประเทศไทยมีอัตราส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตต่อประชากรทั้งหมดอยู่ที่ 77.8% ติดอันดับที่ 34 ของโลก แต่เราใช้เวลาในการเล่นอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยสูงถึง 9 ชั่วโมง 06 นาทีต่อวัน ติดอันดับที่ 7 ของโลก
คนไทยติดอันดับสองของโลกที่ใช้เวลาเฉลี่ยการเล่นอินเทอร์เน็ตจากมือถือที่ 5 ชั่วโมง 28 นาทีต่อวัน โดยที่ฟิลิปปินส์เป็นอันดับหนึ่งของโลก และใช้อินเทอร์เน็ตจากเครื่องคอมพิวเตอร์คนไทยใช้เวลาเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน ติดอันดับที่ 18 ของโลก
อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับดังกล่าวระบุต่อไปว่าเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน กระตุ้นให้ผู้ใช้สร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อพบเจอผู้คนที่อาจไม่รู้จักแต่มีความคิดความชอบที่คล้ายกันให้พบเจอกัน อาชญากรอาจมักมองหาเหยื่อจากชุมชนออนไลน์ที่มีลักษณะการใส่ข้อมูลส่วนตัวให้คนอื่นมาสนใจแบบมองมาที่ฉัน (Look at Me) ซึ่งสร้างความเสี่ยงให้กับผู้ใช้มากขึ้น เนื่องจากผู้ใช้ได้เผยข้อมูลอ่อนไหวของตนให้คนแปลกหน้า
นอกจากนี้ กลยุทธ์ที่ใช้หลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การหลอกเหยื่อว่าจะส่งของมาให้ โดยนักต้มตุ๋นจะใช้ความไว้เนื้อเชื่อใจของเหยื่อ จากการที่พูดคุยกันมาในระยะเวลาหนึ่ง และมั่นใจว่าเหยื่อให้ความไว้ใจ หรือให้ความสนิทสนมกับตนแล้ว พฤติกรรมการหลอกลวงของสแกมเมอร์มีพัฒนาการตามรูปแบบวิธีการสื่อสาร
ปัจจุบันการหลอกลวงทาง Social Media เนื่องจากมีผู้คนเข้าใช้งานเป็นจำนวนมาก อีกทั้งพฤติกรรมของผู้ใช้งานยังถูกเปิดเผยถูกสาธารณะได้ง่าย จึงทำให้อาชญากรสามารถเลือกเหยื่อเป้าหมายได้ไม่ยากนัก ได้แก่ Facebook และ Instagram ทำให้ผู้ใช้งานสามารถพบเจอผู้คนที่รู้จัก หรือการสร้างกลุ่มของคนที่มีความคิด ความชอบที่เหมือนหรือคล้าย กัน ให้เข้ามาพบเจอกัน โดยจะเป็นการเน้นการสร้างชุมชนหรือ Community บนโลกออนไลน์ ในลักษณะ Look at Me จึงมีข้อมูลส่วนบุคคลปริมาณมาก
หรือ Twitter เป็นแพลตฟอร์มในรูปแบบ Look at This คือการที่ผู้ใช้งานเลือกที่จะเห็นว่าตนเองอยากเห็นอะไร สนใจเนื้อหา (Content) ในเรื่องใด ก็จะติดตามหรือเลือกที่จะเห็นเนื้อหาที่ตนสนใจ มากกว่าการเผยข้อมูลส่วนบุคคลให้ผู้อื่นล่วงรู้ รวมทั้งแอปฯ อบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งานที่ต้องการหาคู่ หาเพื่อนทานข้าว หรือหาเพื่อนเที่ยว
โดยมิจฉาชีพจะใช้หลักการพื้นฐานทางจิตวิทยาร่วมกับการเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การวางแผน และการดำเนินขั้นตอนตามที่วางแผนไว้ หรือเรียกรวมๆ ว่า วิศวกรรมสังคม(Social Engineering) โดยกระบวนการล่อลวงนี้สามารถแบ่งได้เป็นขั้นตอนหลัก 6 ขั้นตอน คือ 1. การปลอมโปรไฟล์ 2. เลือกช่องทางในการล่อลวงเป้าหมาย 3. เลือกเป้าหมาย (เหยื่อ) 4. สร้างบทบาทเพื่อเข้าถึงเป้าหมาย 5. การสร้างสถานการณ์ และ 6. บรรลุภารกิจทางการเงิน
และหลักการของการเลือกเหยื่อคือการมองหา “คนขี้เหงา” ที่ต้องการหาเพื่อน/คู่ชีวิตในโลกออนไลน์ ต่อมาคือการประเมินศักยภาพทางการเงิน โดยสิ่งเหล่านี้จะถูกประเมินผ่านข้อมูลส่วนบุคคลที่แสดงในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น ชื่อ อายุ อาชีพ สถานะทางการเงิน สภาพคู่ครอง และวิถีการดำเนินชีวิต เป็นต้น รวมถึงการแชร์เรื่องราว/รูปภาพ หรือการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ด้วย
แนวโน้มของผู้ที่ตกเป็น “เหยื่อ” มักมีลักษณะดังนี้ เพศหญิงอายุ 45-65 ปี (ค่าเฉลี่ยอายุ 50 ปี), สถานภาพหย่าร้าง/หม้าย, เหงา และต้องการมีเพื่อนต่างชาติ ผู้ที่ขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำข้อมูลส่วนบุคคล หรือวิถีชีวิต (lifestyle) เข้าสู่โลกดิจิทัล เช่น การแสดงข้อมูลชื่อ อายุ การทำงาน สถานะทางสังคมสถานภาพคู่ครอง งานอดิเรก ความชื่นชอบส่วนตัว การแสดงความคิดเห็น ภาพถ่าย สเตตัส และการแชร์ข้อมูล เป็นต้น สำหรับบุคคลที่มีบุคลิกภาพอารมณ์ “อ่อนไหวง่าย” (sensitive) หรือ “ขี้สงสาร” อย่างไรก็ตามเพียงแค่การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเป็นประจำ ประกอบกับเป็นคนขี้เหงา/ขี้สงสาร และหลงเชื่อที่จะตอบกลับข้อความจากแชตคนแปลกหน้าถือว่ามีความเสี่ยงในการตกเป็นเป้าหมาย (เหยื่อ) ของนักต้มตุ๋น (romance scam) ได้ถึง 70%
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยดำเนินการสืบสวนติดตามจับกุมเครือข่ายโรแมนซ์สแกม เมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2565 พบว่าผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นข้าราชการวัยเกษียณ ทั้งชาย และหญิง มูลค่าความเสียหายนับ 10 ล้านบาท โดยเปิดเผยวิธีการหลอกลวงของมิจฉาชีพ ดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ 1 คนร้ายที่จะเลือกเหยื่อผ่าน facebook หรือ Instargram ก่อนจะทักทำความรู้จักกับผู้เสียหาย ขั้นตอนที่ 2 เมื่อทำความรู้จักกับผู้เสียหายจนเกิดความสนิทในระดับหนึ่งแล้ว จะชวนผู้เสียหายสนทนาผ่าน Line หรือ E-mail จนเหยื่อหลงเชื่อว่าเป็นคนรักจนตกลงคบหา
ขั้นตอนที่ 3 จะทำทีเป็นว่าจะส่งทรัพย์สินมาให้ ขั้นตอนที่ 4 เมื่อถึงขั้นจะมีการส่งทรัพย์สินมาให้ผู้เสียหาย คนร้ายซึ่งทำหน้าที่สั่งการจะหลอกผู้เสียหาย และจะแจ้งให้คนร้ายซึ่งทำหน้าที่โทรศัพท์หาผู้เสียหายโดยอ้างว่าตนเองเป็นเจ้าหน้าที่จากบริษัทรับส่งพัสดุเพื่อหลอกผู้เสียหายว่า มีพัสดุจัดส่งมาจากต่างประเทศซึ่งผู้เสียหายจะต้องเสียค่าภาษีนำเข้าพัสดุดังกล่าวก่อนจึงจะสามารถส่งพัสดุให้ผู้เสียหายได้
ขั้นตอนที่ 5 เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินเสร็จเรียบร้อย คนร้ายซึ่งทำหน้าที่สั่งการจะหลอกผู้เสียหาย และจะแจ้งกลับมาที่คนร้ายซึ่งทำหน้าที่โทรศัพท์อ้างว่าตนเองเป็นเจ้าหน้าที่จากบริษัทพัสดุเพื่อแจ้งต่อไปให้คนร้ายซึ่งทำหน้าที่ตระเวนกดเงินให้รีบไปตระเวนกดเงินออกจากบัญชีที่ใช้รองรับเงินที่หลอกได้จากผู้เสียหาย
สุดท้ายการทำความรู้จักคนแปลกหน้าบนโลกออนไลน์ไม่ใช่เรื่องอันตราย เพียแต่งต้องมีสติไตร่ตรองการแฝงตัวของ “โรแมนซ์สแกม” ยิ่งในยุคดิจิทัลผู้คนเปลี่ยวเหงาใช้เวลากับโซเชียลฯ มากขึ้น การหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องใกล้ตัว