ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คำสั่งของธนากลางเมียนมาที่สั่งให้ธนาคารแจ้งลูกค้าระงับการจ่ายหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ต่างประเทศ เพื่อรักษาปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ลดลงต่อเนื่อง การประกาศเบี้ยวหนี้ต่างประเทศ (debt moratorium) คราวนี้ เป็นสัญญาณว่าเมียนมาร์น่าจะขาดแคลนเงินตราต่างประเทศอย่างหนักและเข้าใกล้สภาพเศรษฐกิจล่มสลายเต็มทน
ทั้งนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า มีบริษัทต่างประเทศในเมียนมามีเงินกู้ยืมในสกุลต่างประเทศอย่างน้อย 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ให้สัมภาษณ์สื่อยอมรับว่าคำสั่งดังกล่าวของธนาคารกลางเมียนมาเป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่ขณะนี้ยังไม่พบลูกค้าของเอ็กซิมแบงก์ที่เข้าไปลงทุนว่าได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งดังกล่าวซึ่งเป็นคำสั่งระงับการชำระคืนเงินกู้ แต่ธุรกิจของไทยที่เข้าไปลงทุนจะใช้รูปแบบการชำระเงินเพื่อซื้อขายไม่ได้อยู่ในสถานะการชำระคืนเงินกู้
ปัจุจบันลูกค้าของเอ็กซิมแบงก์ที่เข้าไปลงทุนในเมียนมามี 7 ราย มูลค่าลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท จากภาพรวมการลงทุนไทยในเมียนมา ณ ปัจจุบัน มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกลุ่มพลังงานและกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ณ ไตรมาส 1/2565 เงินลงทุนโดยตรงของไทยในประเทศเมียนมาร์ มีจำนวนทั้งสิ้น 4,839.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ไม่เพียงแต่ชักดาบหนี้ต่างประเทศ ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเมียนมายังมีคำสั่งให้ผู้มีรายได้เป็นเงินต่างประเทศแปลงสกุลเงินของตนเป็นเงินจั๊ตที่อัตราอ้างอิงของธนาคารกลางที่ 1,850 จั๊ต/ดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งของรัฐบาลเพื่อป้องกันความผันผวนของสกุลเงินท้องถิ่น
นอกจากนั้น รัฐบาลเมียนมา ยังดำเนินมาตรการห้ามนำเข้ารถยนต์ สินค้าฟุ่มเฟือย ทั้งยังจำกัดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันปรุงอาหาร เพื่อรักษาปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศ แม้จะยังอนุญาตให้ใช้เงินหยวนและเงินบาทเพื่อการค้าชายแดนกับจีนและไทยอยู่ก็ตาม
นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เปิดเผยว่า คำสั่งดังกล่าวกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรวมทั้งทุนไทยในเมียนมาที่มีการนำเข้า-ส่งออกสินค้าและวัตถุดิบผ่านทางท่าเรือหรือเครื่องบินที่ต้องใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นอัตราแลกเปลี่ยนหลักในการซื้อขายปกติที่อาจหยุดชะงักหรือชะลอตัวเพราะเกรงจะไม่ได้รับการรับชำระหนี้ ส่วนการส่งออก-นำเข้า ระหว่างไทย-เมียนมา คงไม่กระทบมากนักเพราะสัดส่วน 80% ของการค้าไทย-เมียนมาเป็นการค้าชายแดน
ขณะที่ บล.เอเซียพลัส (ASPS) ออกบทวิเคราะห์หุ้นที่ธุรกิจได้รับผลกระทบกรณีพม่าห้ามสั่งจ่ายหนี้ต่างประเทศว่า ประกอบด้วย กลุ่มวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ กระเบื้องเซรามิก และสินค้าวัสดุก่อสร้างอื่นๆ แต่มีสัดส่วนไม่ถึง 5% ของยอดขายรวม โดยเป็นการค้าขายตามปกติ ขณะที่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC เคยมีโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ 1.8 ล้านตันต่อปีแต่ได้ยุติธุรกิจดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่ปี 2563 ปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากพม่าน่าจะลดลงจนแทบไม่มีนัยสำคัญต่อ SCC
สำหรับกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง มี 4 บริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับพม่า ได้แก่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ที่ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยใช้เงินลงทุนไปแล้ว 7,843.6 ล้านบาท ซึ่งถูกรัฐบาลพม่ายกเลิกสัมปทานตั้งแต่ 30 ธ.ค.2563 แต่ ITD ยังไม่ได้ตั้งสำรองด้อยค่าเพราะยังมั่นใจว่าจะเจรจากับรัฐบาลพม่า
บริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR มีลูกหนี้ค่าก่อสร้างโรงแรมในพม่าคงค้างอีกประมาณ 191 ล้านบาท ซึ่งลูกหนี้จะทยอยชำระคืนเงินแก่ NWR ตั้งแต่ ธ.ค. 2565 ถึง ธ.ค 2579 ตาม Projection กระแสเงินสดของโรงแรมดังกล่าวในอนาคต โดยปี 2565 มีกำหนดชำระหนี้ 5 ล้านบาท
บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) หรือ TTCL มีการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้า โดยถือหุ้น 40% ในโรงไฟฟ้า Ahlone#1 ขนาด 120 MW และรับส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้า Ahlone#1 ประมาณ 100 ล้านบาท/ปี และอยู่ระหว่างการลงทุนโรงไฟฟ้า Ahlone#2 ขนาด 388 MW โดยได้รับ PPA จากรัฐบาลพม่าตั้งแต่ปี 2564 แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้ได้
ส่วน บริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SEAFCO มีบริษัทลูกในพม่าคือ SEAFCO (Myanmar) โดยถือหุ้น 80% ปัจจุบันไม่มีการรับงานในพม่าแล้ว โดยมีเครื่องจักรทำเสาเข็ม 3 ชุด รถเครน 4 คัน และรถแบ็กโฮที่รอขายหรือนำกลับประเทศไทย
สำหรับกลุ่มเครื่องดื่ม โอสถสภา (OSP) ประเมินยอดขายจากพม่าอยู่ในระดับ 10% ของยอดขายจากรายได้ปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท โดยส่วนนี้หลักๆ แล้วขายเป็นสกุลเงินพม่าผ่านบริษัทย่อยในพม่า ที่ OSP ถือหุ้นรวมกัน 85% แต่ยังมองว่าผลกระทบค่อนข้างจำกัด ส่วนการลงทุนในโรงงานผลิตขวดแก้วและธุรกิจจำหน่ายขวดแก้ว เป็นการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินไทยซึ่งจะชำระตามภาระหนี้ประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 7 ปีข้างหน้า
กลุ่มธนาคารและการเงิน หากอิงจากมูลค่าการส่งออกจากไทยไปยังพม่า ราว 1% ของมูลค่าการส่งออก เบื้องต้นจึงประเมินผลส่วนนี้จำกัด
ขณะที่กลุ่มพลังงาน เช่น บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP มีโครงการลงทุนแหล่งก๊าซในพม่า เช่น ซอติก้า ยาดานา และเยตากุน เป็นต้น แต่ไม่มีรายการเงินกู้ต่างประเทศสำหรับโครงการในพม่า ดังนั้น จึงไม่มีผลกระทบต่อบริษัท ส่วนในด้านรายรับจากโครงการในพม่า ทาง PTTEP รับเงินจาก PTT โดยตรงเป็น USD เข้าบัญชีในประเทศไทยจึงไม่มีความเสี่ยงเรื่องถูกบังคับแปลงเป็นเงินจั๊ต เช่นเดียวกับด้านรายจ่ายที่จ่ายเงินในพม่าเป็นเงินจั๊ตโดยแปลงเงินเหรียญสหรัฐเป็นจั๊ต สำหรับรายจ่ายของโครงการพม่าที่เป็นสกุลต่างประเทศ จะทำจ่ายจากบัญชีนอกประเทศพม่า ดังนั้นยังสามารถบริหารจัดการได้ตามปกติ
สำหรับกลุ่มชิ้นส่วน บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA มีโรงงานอยู่ในประเทศพม่า พื้นที่การผลิต 4.5 พันตารางเมตร หรือคิดเป็น 2% ของพื้นที่โรงงานทั้งหมดทั้งในและต่างประเทศของ DELTA โดยโรงงานดังกล่าวผลิตชิ้นส่วนขั้นกลาง แล้วส่งมาประกอบต่อในไทยเป็นหลัก จึงประเมินว่าจะได้รับผลกระทบจำกัด เพราะไม่ได้มีรายได้จากการขายภายนอกมากนัก
เอเซียพลัส ระบุว่า ปริมาณการค้าระหว่างพม่ากับไทย มีมูลค่า 4.8 พันล้านเหรียญ ณ สิ้นปี 2564 โดยไทยเป็นประเทศคู่ค้ากับพม่าใหญ่สุดเป็นอันดับที่ 2 มีสัดส่วน ราว 14% ของประเทศคู่ค้าทั้งหมด รองจากจีนมีมูลค่าการค้า 1.2 หมื่นล้านเหรียญ สัดส่วน 36% ของประเทศคู่ค้าทั้งหมด ในทางกลับกันพม่ากลับมีสัดส่วนการค้ากับไทยเพียง 0.85% เท่านั้น โดยอยู่อันดับที่ 35 เมื่อเทียบประเทศคู่ค้าอื่นๆ ดังนั้นน่าจะกระทบการค้าไทยในวงจำกัด
อย่างไรก็ตาม แม้โบรกเกอร์จะมองว่ากลุ่มทุนไทยที่ไปลงทุนและทำการค้าในพม่าโดยรวมได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัดจากคำสั่งดังกล่าวข้างต้นของธนาคารกลางเมียนมา แต่สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นได้รับผลสะเทือนไม่น้อยจากคำสั่งห้ามนำเข้ารถยนต์และสินค้าฟุ่มเฟือยต่อเนื่องมาถึงคำสั่งชักดาบเบี้ยวหนี้ต่างประเทศ
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยว่า คำสั่งห้ามนำเข้ารถยนต์และสินค้าฟุ่มเฟือยตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุดมีคำสั่งให้บริษัทท้องถิ่น และผู้กู้ยืมเงินระงับการจ่ายหนี้ให้เจ้าหนี้ต่างประเทศ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนของไทยไปเมียนมาแน่นอน ซึ่งจากยอดส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบของไทยไปเมียนมาช่วง 5 เดือนแรกปีนี้มูลค่า 69.02 ล้านดอลลาร์ มีความเสี่ยงเรื่องการได้รับชำระเงินค่าสินค้า โดยคาดว่าปีนี้การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนไปเมียนมาจะลดลงจากปี 2564 ที่ไทยส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนไปเมียนมา คิดเป็นมูลค่า 148.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่า มาตรการเลื่อนจ่ายหนี้ต่างประเทศ การบังคับให้เปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินสกุลท้องถิ่น บวกกับค่าเงินที่อ่อนอย่างหนัก และการประกาศเบี้ยวหนี้ต่างประเทศ เป็นสัญญาณการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศอย่างหนัก ทำให้ค่าเงินท้องถิ่นร่วงลงไปเรื่อยๆ และเงินเฟ้อในเงินสกุลท้องถิ่นพุ่งทะลุเพดาน อาจจะทำให้การทำธุรกรรมกับซัพพลายเออร์หรือซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศมีปัญหา รวมไปถึงการส่งกลับประเทศอาจจะทำไม่ได้ หรือมีต้นทุนที่สูงมาก สินค้าอาจจะขาดแคลนขึ้นอีก การผลิตและการส่งออกอาจจะได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปเรื่อยๆ
ส่วนประเทศที่เงินลงทุนทางตรงมากที่สุดในพม่า 3 ประเทศหลัก คือ สิงคโปร์ จีน และไทย จะมีใครเข้าไปช่วยพม่าได้หรือไม่ เราเห็นปีก่อนนี้ลาวเกือบๆ จะผิดนัดชำระหนี้ เพราะมีเงินสำรองระหว่างประเทศไม่พอจ่ายภาระหนี้ต่างประเทศ ซึ่งจีนเลื่อนการบังคับจ่ายหนี้และเอาเงินเข้าไปในลาว เพื่อแลกกับการลงทุนในสายส่งไฟฟ้าอีก 25 ปี คราวนี้ไม่รู้ว่าจีนจะช่วยหรือไม่ และจะพาพม่าเข้าเป็นประเทศในเครือข่ายของจีนอีกประเทศหรือไม่
ความเสี่ยงจากสถานการณ์ทางการเมืองในพม่า ทำให้ทุนไทยเข้าไปลงทุนในพม่าลดน้อยถอยลง ขณะที่จีนกลับแผ่อิทธิพลครอบคลุมภูมิภาคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศเพื่อนบ้านของไทยไม่ว่าจะเป็น ลาว กัมพูชา และพม่า ล้วนแต่พึ่งพาโครงการลงทุนจากจีนแทบทั้งสิ้น