xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

Zipmex เดินย่ำรอย Bitkub! ทำธุรกรรมเล็ดลอดสายตา ก.ล.ต.? นำสินทรัพย์ดิจิทัลไทยปล่อยกู้ใน ตปท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สั่นสะเทือนวงการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอีกแล้ว เมื่อ  “ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย)”  แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลรายใหญ่ ประกาศระงับการฝากถอนเงินบาทและคริปโตเคอเรนซี่ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา เรียกว่า  “เดินย่ำรอยบิทคับ”  ซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤตศรัทธาอย่างหนักหนาสาหัสหลังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งปรับ สั่งลงโทษ หลายกรณี ต่างกรรม ต่างวาระ ก็คงจะได้

งานนี้ สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ลงทุนรวมทั้งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก เพราะแม้   “นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท” จะออกมาแถลงการณ์ชี้แจงปัญหาและแนวทางดำเนินการแก้ไขในเบื้องต้น แต่คาดว่า ไม่น่าจะจบแบบ “แฮปปี้เอนดิ้ง” ด้วยความเสียหายจากเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 5,500 ล้านบาท รวมทั้งมีแง่มุมทางกฎหมายที่ ก.ล.ต.จำเป็นต้องจัดการ ด้วยมีข้อมูลออกมาว่า อาจเป็นเพราะมี “ธุรกรรม” ที่เล็ดลอดไปจากสายตาของ ก.ล.ต.

ประเด็นแรกที่เชื่อว่า สังคมสงสัยก็คือ ซิปเม็กซ์มี  “ใคร” เกี่ยวข้องบ้าง

บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 25 ต.ค. 2561 และมีทุนจดทะเบียนปัจจุบันอยู่ที่ 112 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นประกอบด้วย 1.เอกลาภ ยิ้มวิไล จำนวน 3,161,999 หุ้นคิดเป็นสัดส่วน 51% 2.ซิปเม็กซ์ เอเซีย พีทีอี ลิมิเต็ด (Zipmex Asia Pte Ltd.) จำนวน 3,038,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 49% และ 3. ลิม เหว่ย ซีออง มาร์คัส จำนวน 1 หุ้น ทั้งนี้ โดยมี นายเอกลาภ ยิ้มวิไลและนายตรัยคุณ ศรีหงส์” เป็นกรรมการของบริษัท

จากการตรวจสอบงบการเงินนำส่งปี 2564 พบมีสินทรัพย์รวม 178,592,151 บาท เพิ่มขึ้น 431% รายได้รวม 86,881,208 บาท เพิ่มขึ้น 878% รายจ่ายรวม 78,404,920 บาท เพิ่มขึ้น 444%ผลประกอบการมีกำไร 9,579,404 บาท หรือเพิ่มขึ้น 273%

อย่างไรก็ดี นอกจากบริษัทข้างต้นแล้ว นายเอกลาภยังมีชื่อเป็นกรรมการในอีก 5 บริษัท ประกอบด้วย

หนึ่ง - บริษัท ซิปเม็กซ์ เทคโนโลยี จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 11 มี.ค. 2563 ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท มีนายเอกลาภ ยิ้มวิไล นางสาวพราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ และ นางสาวกรจิรา ยงคุณาวุฒิ เป็นกรรมการบริษัท ประกอบกิจการพัฒนาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ ส่งรายงานงบการเงินปีล่าสุด ปี 2564 พบว่า มีรายได้รวมกว่า 78 ล้านบาท รายจ่ายรวมกว่า 315 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิกว่า 239 ล้านบาท

สอง - บริษัท ซิปเม็กซ์ ไทย ซับซิเดียรี จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 8 พ.ย. 2564 ทุนจดทะเบียน 51 ล้านบาท มีนายเอกลาภ ยิ้มวิไล เป็นกรรมการ ประกอบกิจการลงทุนในหุ้น ตราสารทุน และตราสารหนี้ ซึ่งออกโดยบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือนิติบุคคลทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย หรือต่างประเทศ ส่งรายงานงบการเงินปีล่าสุด ปี 2564 มีรายงานเพียงว่า ขาดทุนสุทธิ 50,100 บาท

สาม - บริษัท ซิปเม็กซ์ ไทย กรุ๊ป จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 20 ม.ค. 2565 ทุนจดทะเบียน 26.01 ล้านบาท มีนายเอกลาภ ยิ้มวิไล เป็นกรรมการบริษัท ประกอบกิจการลงทุนในหุ้น ตราสารทุน และตราสารหนี้ ซึ่งออกโดยบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย หรือต่างประเทศ และยังไม่มีการส่งรายงานงบการเงิน

และสี่ - 5.บริษัท ซิปเม็กซ์ไทย โฮลดิ้ง จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 20 ม.ค. 2565 ทุนจดทะเบียน 1.961 ล้านบาท มีนายเอกลาภ ยิ้มวิไล เป็นกรรมการ ประกอบกิจการลงทุนในหุ้น ตราสารทุน และตราสารหนี้ ซึ่งออกโดยบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย หรือต่างประเทศ และยังไม่มีการส่งรายงานงบการเงิน

ก่อนหน้านี้ ซิปเม็กซ์ได้รับการกล่าวขานว่า เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียแปซิฟิก โดยหนึ่งในความเคลื่อนไหวที่ถูกจับตาก็คือ ประกาศการระดมทุนรอบ Series B ด้วยมูลค่า 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเป็นเงินมูลค่ากว่า 1.3 พันล้านบาท ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทร่วมลงทุน (CVC) ในเครือธนาคาร และ Venture Capitalists ระดับโลกเข้ามาร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นบริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุน (CVC) ในเครือธนาคารกรุงศรีฯ รวมถึงบริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) และบริษัท มาสเตอร์ แอด จำกัด (มหาชน) ที่ได้ประกาศเข้าร่วมลงทุนก่อนหน้านี้ นอกจากนั้นยังมี MindWorks Capital ซึ่งเป็นบริษัทจากฮ่องกง รวมถึงผู้นำในการระดมทุนรอบ Series A ที่ผ่านมา Jump Capital ผู้บริหารเงินร่วมลงทุนในสหรัฐฯ ร่วมลงทุนในรอบนี้ด้วย

ประเด็ดถัดมาและคำถามที่ต้องตอบก็คือ ทำไมบริษัทซึ่งได้รับการคาดหมายว่าจะเป็น “ยูนิคอร์น” ตัวต่อไปของเอเชียในอนาคตอันใกล้จึงต้องเผชิญกับชะตากรรมเยี่ยงนี้

ก่อนหน้าที่จะมีการเฉลยออกมา นักลงทุนคริปโตฯ และผู้ใช้บริการจำนวนมากเข้ามาคอมเมนต์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ให้บริการกระดานเทรดรายนี้ โดยนักลงทุนบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่าในสถานการณ์เดียวกันนี้ กระดานเทรดอื่นไม่ได้ระงับการฝากถอนเงินบาท หรือเหรียญคริปโตฯ และหากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ที่ตลาดมีความผันผวนมากกว่า โดยราคาเหรียญ Bitcoin ต่ำลงไปถึง $18,900 ก็ยังมีการซื้อขายเหรียญกันเป็นปกติ แต่เมื่อราคาเหรียญฟื้นตัวกลับขึ้นมา กระดาน Zipmex กลับมีข้อกล่าวอ้างถึงความผันผวนของตลาด ทำให้นักลงทุนเสียโอกาสในการทำกำไร ซึ่งการที่ Zipmex ปิดการฝากถอนเหรียญนั้น ทำให้นักลงทุนตั้งคำถามว่า ทาง Zipmex แอบนำเหรียญที่อยู่ในบัญชีเทรดของลูกค้าไปเก็งกำไรหรือไม่


 นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ออกแถลงการณ์ถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า บริษัทประสบปัญหากับตัวผลิตภัณฑ์ “ซิปอัพ” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทางลูกค้าในประเทศไทยฝากเงินไปที่ “ซิปเม็กซ์ โกลบอล” ในประเทศสิงคโปร์ โดยที่คู่ค้าของซิปเม็กซ์ โกลบอล คือ บริษัทบาเบลล์ ไฟแนนซ์ และเซลเซียส ประสบปัญหาสภาพคล่องจึงส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ในซิปอัพ

จากปัญหาดังกล่าวนี้ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลโดยเฉพาะบิตคอยน์ อีเธอเรียม USET และ USDC มีปัญหา แต่สินทรัพย์ดิจิทัลและเงินบาทที่อยู่ในเทรดวอลเลตไม่มีปัญหาลูกค้ายังฝากยังถอนได้ปกติ และ ณ เวลา 20.00 น. จะมีการเปิดให้บริการแพลตฟอร์มตามปกติ แต่การโอนสินทรัพย์ดิจิทัลระหว่างตัวซีวอลเลตกับเทรดวอลเลต จะถูกระงับชั่วคราวไปก่อน และบริษัทขอย้ำว่า การเทรดวอลเลตหรือบัญชีที่ลูกค้าใช้สำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและเงินบาทที่ฝากอยู่ในนั้นยังสามารถฝากถอนได้ปกติ และในช่องทางของซีวอลเลตจะไม่มีเงินบาทอยู่ในนั้น

ทั้งนี้ สิ่งแรกที่ทาง ซิปเม็กซ์ ไทยแลนด์ จะดำเนินการต่อไป คือ จะดำเนินการเรื่องคดีความฟ้องร้องกับทางซิปเม็กซ์โกลบอลและทางบาบอล ไฟแนนซ์ และเซลเซียส ตามกฎหมายอย่างเต็มที่ เพื่อนำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้ากลับคืนมาให้กับลูกค้าให้ได้ โดยพร้อมที่จะดำเนินคดีความและพร้อมจะดำเนินคดีความแบบกลุ่ม ซึ่งลูกค้าสามารถมาร่วมด้วยก็ได้ โดยซิปเม็กซ์ ไทยแลนด์ จะออกเงินค่ากฎหมายให้ทั้งหมด

นายเอกลาภ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาในการขายหุ้นทั้งหมดของบริษัทให้กับผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งขณะนี้เจรจา 3-4 ราย เพื่อนำเงินมาคืนให้กับลูกค้าที่ฝากเงินไว้ในซีวอลเล็ต โดยมูลค่าขั้นต่ำในการการขายบริษัทจะต้องเท่ากับมูลค่ารวมที่ลูกค้าไม่สามารถถอนเงินได้ เพราะบริษัทจะพยายามดำเนินการเพื่อให้ลูกค้าได้รับเงินคืนโดยเร็ว โดยคาดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ภายใน 1-2 เดือนนี้

“ในฐานะประธานบริหาร ขอโทษและขออภัยลูกค้าทุกคนเป็นอย่างสูง ที่สร้างความผิดหวังและจะไม่นิ่งนอนใจเพื่อหาทางสินทรัพย์ดิจิทัลในผลิตภัณฑ์ซิปอัพของลูกค้า กลับคืนมาให้หมด ไม่ว่าจะเป็นการขายบริษัท การได้เงินกลับมาหรือการฟ้องร้องคดีความ” นายเอกลาภกล่าว

สรุปก็คือ ทรัพย์สินของลูกค้าถูกโอนจาก Zipmex Thailand ไปยัง Zipmex ที่สิงคโปร์ และนำไปฝากต่อที่ Babel และ Celsius ที่มีปัญหาล้มละลาย

หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ไม่นานนักบริษัทเซลเซียส เน็ตเวิร์ก (Celsius Network) หนึ่งใน บริษัทปล่อยกู้คริปโตเคอร์เรนซี รายใหญ่ที่สุดในโลก ได้ยื่นคำร้องต่อศาลในนิวยอร์กขอพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลายสหรัฐฯ หลังจากบริษัทได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะผันผวนในตลาดคริปโตฯ ซึ่งทำให้หลายบริษัทในวงการคริปโตฯ ประกาศล้มละลาย ไปแล้วก่อนหน้านี้

เซลเซียสออกแถลงการณ์เมื่อวันพุธ (13 ก.ค.) ว่า ทางบริษัทกำลังมองหาแนวทางในการสร้างเสถียรภาพของธุรกิจโดยใช้วิธีการปรับโครงสร้าง ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้นทุกคน โดยขณะนี้บริษัทมีเงินสดอยู่ประมาณ 167 ล้านดอลลาร์ เพื่อพยุงกิจการให้ดำเนินได้ต่อไป

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี สื่อใหญ่ของสหรัฐฯ รายงานว่า เซลเซียสเป็นบริษัทคริปโต ที่มีชื่อเสียงรายล่าสุดที่ตัดสินใจยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ตามกฎหมายล้มละลาย โดยเมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา บริษัทวอยเอเจอร์ ดิจิทัล (Voyager Digital) ซึ่งเป็นโบรกเกอร์สินทรัพย์ดิจิทัลของสหรัฐได้ยื่นคำร้องต่อศาลสหรัฐเพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลายล่วงหน้าไปแล้ว อันเป็นผลพวงความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากที่บริษัท ธรี แอโรว์ส แคปิตอล (Three Arrows Capital หรือ 3AC) ได้ผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ที่จะต้องจ่ายให้กับวอยเอเจอร์จำนวนมากถึง 670 ล้านดอลลาร์

รายงานระบุว่า ศาลรัฐนิวยอร์กได้สั่งอายัดทรัพย์สินของบริษัท 3AC เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยขณะนี้ทางบริษัทกำลังอยู่ในกระบวนการตัดขายสินทรัพย์เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามคำสั่งศาล

ประเด็นคำถามที่ตามมาก็คือ การกระทำแบบนี้ ‘ถูกกฎหมาย’ หรือไม่ อย่างไร ในกรณีนำสินทรัพย์ดิจิทัลของนักลงทุนไทย ไปปล่อยกู้หรือใช้ในวัตถุประสงค์อื่นๆ เพราะมีผู้ชี้ปมเอาไว้ว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุญาตให้ Exchange ไทยสามารถใช้ผู้ดูแลรับฝากทรัพย์สิน (Custodian) ได้ แต่ไม่อนุญาตให้นำสินทรัพย์ไปทำอย่างอื่น

 นายพีรเดช ตันเรืองพร  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด และในฐานะประธานสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO) กล่าวว่า ขณะนี้ในอุตสาหกรรมผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ยังไม่มี Exchange อื่นที่แจ้งระงับการถอนเงินชั่วคราว ซึ่งบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ถือเป็นรายแรกในไทยที่มีการระงับการถอนเงินชั่วคราว ซึ่งตามปกติถ้า Exchange มีการเก็บเงินที่ลูกค้าฝากเงินไว้เอง ไม่ว่าค่าเงินผันผวนแค่ไหน หากลูกค้าต้องการถอนเงินออก Exchange ก็สามารถนำเงินคืนให้กับลูกค้าได้โดยส่วนตัวเชื่อว่าเรื่องดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุน

เช่นเดียวกับ  “กรณ์ จาติกวณิช” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและหัวหน้าพรรคกล้า ที่วิเคราะห์แยกแยะปัญหาที่เกิดขึ้นเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ก.ล.ต.มีคำประกาศชัดเจนกับทุก crypto exchange ว่าต้อง ไม่นำทรัพย์สินของลูกค้าที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลไปหาดอกผลให้ลูกค้า ซึ่งรวมถึงการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปฝากและผู้รับฝากมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นไปไห้บุคคลอื่นยืม ดังนั้นจึงแปลกใจเมื่อทราบว่ามีการบริการให้ ‘subscribe’ (คือให้ยืมนั่นแหละ) crypto ทางอ้อมผ่านบริษัทแม่ของ Zipmex ที่ต่างประเทศ (Zipmex Global) และบริษัทแม่ได้เอาไป stake กับแพลทฟอร์มอื่น เช่น Celsius Network

ปัญหาคือ Celsius Network เข้าสู่กระบวนการล้มละลายเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว หลังจากที่ประสบปัญหาสภาพคล่องมานานหลายอาทิตย์ ดังนั้นลูกค้าคนไทยก็เลยเสียหายไปด้วย ลูกค้าที่ใช้บริการนี้คงทำอะไรไม่ได้นอกจากรอผลการฟ้องร้องเรียกทรัพย์สินคืน ซึ่งเมื่ออ่านสัญญาแล้วต้องขอบอกว่าน่าจะคืนได้ยาก คงต้องหวังว่านักลงทุนที่เห็นว่าเจรจาจะลงทุนซื้อ Zipmex จะคืนเงินให้บางส่วนเพื่อเอาใจลูกค้า

พร้อมตั้งคำถามทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “ธุรกรรมที่เล็ดลอดสายตา ก.ล.ต.?”

ด้าน  “ดร.ณปภัช ปิยไชยกุล” หรือ Dr.Big อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจ วิศวกรรมไฟฟ้า และสังคมศาสตร์กล่าวให้สัมภาษณ์ใน Suthichai Podcas ว่า Zipmex ฝากทรัพย์สินอยู่ใน Babel Finance 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Celsius 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมกันถึงกว่า 5,000 ล้านบาท และสำหรับคนที่จะมาซื้อกิจการ Zipmex ก็ต้องหาเงิน 5,000 ล้านมาชดใช้เจ้าหนี้ทั้งหมดก่อน สำหรับคนไทยที่ใช้ Zipmex ส่วนใหญ่จะใช้บริการ Zipup+ เพราะให้ดอกเบี้ยสูง แต่จริง ๆ แล้ว ถ้าหากกดที่บริการนี้ ระบบจะให้ผู้ใช้งานยอมรับว่า ทรัพย์สินจะถูกโอนไปให้ ZIPMEX บริหารจัดการ ซึ่งความจริงถูกเปิดเผยออกมาวันนี้ว่า ทรัพย์สินของลูกค้าถูกโอนจาก Zipmex Thailand ไปยัง Zipmex ที่สิงคโปร์ และนำไปฝากต่อที่ Babel และ Celsius ที่มีปัญหาล้มละลาย โดยก่อนหน้านี้มีข่าวเรื่อง Celsius ล้มละลายมาสักพักแล้ว แต่คาดว่า ZIPMEX เพิ่งมาแจ้งก็เพราะว่า ใกล้วันสุดท้ายที่จะยื่นฟ้องเป็นเจ้าหนี้แล้ว และการเปิดเผยว่าฟ้อง ทุกคนจะรู้ว่า มีรายชื่อ ZIPMEX อยู่ในนั้นด้วยอยู่ดี

ทั้งนี้ หลังเกิดปัญหา ก.ล.ต.ได้มีหนังสือให้บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) ชี้แจงรายละเอียดตามที่มีปรากฏในเพจเฟซบุ๊กของบริษัท Zipmex และที่ปรากฎในสื่อสังคมออนไลน์ว่า Zipmex ได้ประกาศระงับการเพิกถอนเงินบาทและสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมผลกระทบที่มีต่อลูกค้า โดยต้องคำนึงถึงการคุ้มครองประโยชน์ของลูกค้า ตลอดจนการปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และขอให้นำส่งข้อมูลต่อ ก.ล.ต. โดยเร็วต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น