xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไม่ใช่แค่ ๑๖ ตำรับ แต่มีมากถึง ๑๖๒ ตำรับยาแผนไทยของชาติที่มี “กัญชา” เป็นส่วนผสม ดาวน์โหลดได้ฟรีแล้ววันนี้ / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


หนังสือ “ตำรับยาแผนไทยของชาติที่เข้าตัวยากัญชา” ซึ่งอยู่ในชุดตำราภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ฉบับอนุรักษ์ จัดทำโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข พิมพ์ครั้งที่ ๑ เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๔ จำนวน ๖๕๐ เล่มเท่านั้น [๑]

ตำรับยาไทยในตำรายาไทยทั้งหลายนั้น เป็นรูปแบบ “การวิจัย” อีกรูปแบบหนึ่ง ที่ใช้ “ชีวิตมนุษย์” เป็นเดิมพัน สิ่งได้ผลจึงได้ถูกบันทึกต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่นนับร้อยๆ ปี

โดยการแพทย์แผนไทยนั้นมีประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน มีความรู้อย่างองค์รวม มีทักษะและเวชปฏิบัติที่อยู่บนฐานของทฤษฎี มีความเชื่อและประสบการณ์จากท้องถิ่นที่ผสมผสานกับทางวัฒนธรรม โดยใช้สำหรับการดูและรักษาสุขภาพ ควบคู่ไปกับการป้องกัน การวินิจฉัย รวมถึงการพัฒนาการบำบัดรักษาทั้งร่างกายและจิตใจ
องค์การอนามัยโลกได้ยอมรับและสนับสนุน “การแพทย์ที่สืบทอดมาทางวัฒนธรรมและการแพทย์ทางเลือก” (Traditional and Complementary Medicine) และให้มีการพัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบ[๒]
จากการรวบรวมขององค์การอนามัยโลกถึงปี พ.ศ. ๒๕๖๒ พบว่าร้อยละ ๘๘ ของประเทศสมาชิกได้รับทราบในการแพทย์ที่สืบทอดทางวัฒนธรรมและการแพทย์ทางเลือก และมีประเทศที่ตอบรับกับการแพทย์กลุ่มมากถึง ๑๗๐ ประเทศ ทั้งการพัฒนาในเชิงนโยบาย กฎหมาย กฎระเบียบ โครงการหรือแผนงาน และสำนักงานหน่วยงานเฉพาะที่มีหน้าที่ดูแล โดยมีประเทศที่เห็นด้วยกับการใช้การแพทย์ที่สืบทอดทางวัฒนธรรมและการแพทย์ทางเลือกมากขึ้นเรื่อยๆ[๒]

โดยเฉพาะเพราะการวิจัยในรูปแบบยาแผนปัจจุบันนั้น ได้กำหนดวิธีปฏิบัติคือ เริ่มต้นตามขั้นตอน จาก หลอดทดลอง สัตว์ทดลอง(ขั้นตอนนี้ใช้เงินมากขึ้น) การทดลองในมนุษย์กลุ่มเล็ก การทดลองในมนุษย์กลุ่มใหญ่ขึ้น กว่าจะทดลองเสร็จใช้เวลาประมาณ ๑๗ ปี [๓]-[๕]

ลักษณะของยาแผนปัจจุบันจึงต้องใช้เงินอย่างมหาศาล จึงถูกผูกขาดโดยระบบให้มีแต่บริษัทยายักษ์ใหญ่เท่านั้นที่จะทำได้ และเมื่อวิจัยเสร็จจึงได้มีการจดสิทธิบัตรส่งผลทำให้ค่าใช้จ่ายของยาจึงมีราคาแพงมาก

ดังนั้นการที่ประเทศไทยนั้นได้รื้อฟื้นตำรับยาที่มีการเข้า “กัญชา” และใช้กัญชาทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ รวมถึงแม้กระทั่งความพยายามจะให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกัญชาและพึ่งพาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการถูกล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจสุขภาพ

ประเทศไทยเราเสียรู้กลุ่มทุนบริษัทยาข้ามชาติมาอย่างยาวนาน ด้วยเพราะอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. ๑๙๖๑ ที่ประเทศไทยเข้าร่วมอยู่ด้วยนั้น “ไม่เคยห้ามการใช้กลุ่มพืชเสพติดในทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์”

แต่สำหรับประเทศไทยกลับ “ยกเลิก” ตำรับยาไทยที่เข้าตัวยา “ฝิ่น” และ “กัญชา” ทั้งหมด ในทางตรงกันข้ามบริษัทยาในต่างประเทศกลับเดินหน้าในการวิจัยเตรียมมาขายยากัญชาที่จดสิทธิบัตรมาขายผ่านกลุ่มทุนแพทย์และเภสัชในประเทศไทยได้ ส่วนประเทศไทยเพิ่งจะยอมให้ตำรับยาไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมหลังปี พ.ศ. ๒๕๖๒ นี้เอง ภายหลังจากเริ่มคลายล็อกกัญชาภายใต้ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒

แม้แต่กระท่อมซึ่งไม่เป็นยาเสพติดในอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. ๑๙๖๑ เลย แต่ประเทศไทยก็กลับบัญญัติให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ เช่นกัน

“ฝิ่น กัญชา กระท่อม” เป็นพืชที่ออกฤทธิ์ในการ “ระงับการปวด” ซึ่งเป็นหนึ่งในลักษณะการแก้อาการธาตุลมกำเริบหรือ “วาโยธาตุกำเริบ” ที่ทรงพลานุภาพที่สุดในโลก จึงมีคุณค่าอย่างมหาศาลในการระงับอาการปวดที่รุนแรง การระงับอาการปวดที่รุนแรงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยที่อาการหนักทุกคน โดยหากเกิดการผูกขาดด้วยระเบียบวิธีการวิจัยยุคงใหม่ได้ ย่อมมีผลทำให้เกิดความร่ำรวยได้เฉพาะบริษัทยาไม่กี่แห่งได้ด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันฝิ่นได้ถูกพัฒนาสกัดออกมาเป็น “มอร์ฟีน” ซึ่งมีความแรงและเข้มข้นยิ่งกว่า “ยาฝิ่น” แต่ให้ใช้สำหรับแพทย์แผนปัจจุบันบางกลุ่มเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นยังมียามอร์ฟีนส่วนใหญ่ของฝิ่นผูกขาดกับการผลิตยายักษ์ใหญ่เท่านั้น และยาที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากฝิ่นก็ได้รับอนุญาตจดสิทธิบัตรมาขายในเมืองไทยด้วยราคาแพงๆ อีกจำนวนมาก

แต่จวบจนถึงปัจจุบันตำรับยาไทยที่เข้าฝิ่นก็ยังถูกยกเลิกและห้ามใช้ต่อไปเช่นเดิม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก

เพราะตำรับยาไทยที่ได้มีการยอมรับในปัจจุบันมีเพียง ๑๖ ตำรับ ในขณะที่ตำรับยาที่เข้าตัวยาที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาว่าเป็น “ตำรับยาแผนไทยของชาติ” มีมากถึง ๑๖๒ ตำรับ ส่วนตำรับยาที่ยังคงถูกตัดทิ้งไปด้วยเหตุผลเพราะมีการผสมตัว “ยาฝิ่น”

ความจริงแล้วตำรับยาไทยนั้นมีความแยบคาย ด้วยเพราะฝิ่น หรือแม้กระทั่งมอร์ฟีน นั้นมีอันตรายอยู่ด้วย จึงใช้กัญชาเพื่อถ่วงดุลฤทธิ์ซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังช่วยลดอาการข้างเคียงของฝิ่นที่ต้องใช้มาก จึงช่วยบรรเทาการติดฝิ่นอีกด้วย โดยกัญชาเมื่อเริ่มแรกที่ใช้ความดันโลหิตจะลดลง หัวใจเต้นเร็ว[๖]-[๗] แต่เมื่อใช้ติดต่อไปนานจะส่งผลตรงกันข้ามกันทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้[๗] ส่วนฝิ่นเมื่อเริ่มแรกใช้อาจจะความดันโลหิตจะสูงขึ้น[๘] รวมทั้งการใช้ฝิ่นทำให้ลดการรับประทานอาหาร[๙] แต่กัญชากลับทำให้เจริญอาหารขึ้น[๑๐]

ข้อสำคัญคือตำรับยาไทยที่ใช้สำหรับการ “อดฝิ่น” โดยมีตัว ขี้ยาฝิ่น ผสมกัญชาและกระท่อมเป็นส่วนผสมด้วย ปรากฏตามคัมภีร์แพทย์แผนไทยโบราณเล่ม 3 ของ ขุนโสภิตบรรณรักษ์ (อำพัน กิตติขจร) กำหนดตำรับยา “อดฝิ่น” ความว่า

“ยาทำให้อดฝิ่น เอาขี้ยา 2 สลึง เถาวัลย์เปรียงพอประมาณ กันชาครึ่งกรัม ใบกระท่อม เอาให้มากกว่ายาอย่างอื่น ต้มกิน ให้กินตามเวลาที่เคยสูบฝิ่น เมื่อกินไป 1 ถ้วย ให้เติมน้ำ 1 ถ้วย ให้ทำดังนี้จนกว่าจะจืด เมื่อกินจนน้ำจืดแล้วยังไม่หาย ให้ต้มกินหม้อใหม่ต่อไป”[๑๑]

แต่ด้วยเหตุที่ประเทศไทยก็ยังคงยกเลิกตำรับกัญชาที่มีส่วนผสมของฝิ่นอยู่ทั้งหมด ตำรับยาไทยอันทรงคุณค่าที่ใช้เพื่อการอดฝิ่น หรือลดปัญหายาเสพติดร้ายแรงก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้อีกเช่นกัน

แต่เราต้องรอให้ฝรั่งมามาบอกว่า ผ่านงานวิจัยในวารสาร Clinical Pharmacology & Therapeutics เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๔ ตีพิมพ์การวิจัยในมนุษย์พบว่า การใช้กัญชาควบคู่ไปกับกลุ่มยาที่มาจากฝิ่น จะช่วยทำให้ลดผลข้างเคียงและลดการปริมาณใช้ยาจากกลุ่มฝิ่นลง[๑๒]

แสดงให้เห็นว่าภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่มีการใช้ฝิ่นควบคู่กับไปกัญชานั้น มีรากฐานความเข้าใจในการใช้ฝิ่นผสมผสานกับกัญชาอย่างแยบคายและลึกซึ้งมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว แล้วเหตุใดเราจะทิ้งรากเหง้าภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยในอดีตเสียเอง ด้วยการยอมจำนนยกเลิกยาที่มีกัญชาและฝิ่นของไทยเสียเอง?

สำหรับ “ตำรับยาแผนไทยของชาติที่เข้าตัวยากัญชา” ในหนังสือเล่มนี้มีความหนาถึง ๔๕๔ หน้า มีสถานภาพถูกรับรองโดยกฎหมาย โดยอาศัยพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๑๕๔๒ ตามมาตรา ๑๗ ว่าหมายถึง “มีการใช้ประโยชน์หรือมีคุณค่าในทางการแพทย์หรือการสาธารณสุขเป็นพิเศษ”[๑๓]

โดยในหนังสือเล่มนี้มีการถ่ายภาพการบันทึกเอกสารโบราณต้นฉบับ ลายมือหรือตัวอักษรต้นฉบับสำหรับการอ้างอิงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ศิลาจารึก สมุดไทย ใบลาน หนังสือ ฯลฯ ซึ่งไปถ่ายที่หอสมุดที่ไม่ให้คนทั่วไปได้เข้ามีโอกาสได้เห็น จึงถือเป็นเอกสารที่มีคุณค่ายิ่ง

ตำรับยาแผนไทยของชาติที่เข้าตัวยากัญชา ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบไปด้วย ๑๖๒ ตำรับ โดยจำแนกตามกลุ่มโรค หรือ อาการ ๑๓ กลุ่มโรค ได้แก่

กลุ่มโรคกษัยกล่อน ๑๐ ตำรับ, กลุ่มโรคลม ๔๓ ตำรับ, กลุ่มโรคเด็ก ๒ ตำรับ

กลุ่มโรคริดสีดวง ๑๘ ตำรับ, กลุ่มอาการนอนไม่หลับ ๒๗ ตำรับ, กลุ่มยาบำรุง ยาอายุวัฒนะ ๖ ตำรับ, กลุ่มอาการท้องเสีย ท้องเดิน บิด ป่วง ๒๔ ตำรับ, กลุ่มโรคฝี ๕ ตำรับ, กลุ่มไข้ ๘ ตำรับ, กลุ่มอาการไอ ๓ ตำรับ, กลุ่มโรคสตรี ๑ ตำรับ, กลุ่มโรคตา ๑ ตำรับ และกลุ่มโรคอื่นๆ ๑๓ ตำรับ[๑]

โดยในขณะที่เราห้ามใช้ในเด็กต่ำกว่าอายุ ๒๐ ปี แต่ในหนังสือเล่มนี้ให้ตำรับยากัญชาใน “เด็กเล็ก” ได้ด้วยถึง ๒ ตำรับ ยาตำรับหนึ่งชื่อ “ไฟอาวุธ” ความว่า :

“ ๏ ยาชื่อไฟอาวุธ ขนานนี้ท่านให้เอา ผลจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน กานพลู โกฐทั้ง ๕ เทียนทั้ง ๕ ชะเอมเทศ กัญชา แก่แสมทะเล เอาสิ่งละส่วน อุตพิต สมุลแว้ง ดีปลี ใบพิมเสน เอาสิ่งละ ๒ ส่วน รากจิงจ้อ รากส้มกุ้ง รากเปล้าน้อย รากเปล้าใหญ่ รากสะค้าน รากพาดไฉน เอาสิ่งละ ๓ ส่วน หัสคุณเทศ ๔ ส่วน บุกรอ ๙ ส่วน พริกไทย ขิงแห้ง เจตมูล เอาสิ่งละ ๑๖ ส่วน รวมยา ๓๒ สิ่งนี้ ทำเป็นจุณเอาน้ำมะนาวเป็นกระสาย บดปั้นแท่งไว้กิน

แก้ทรางทั้ง ๗ จำพวก แก้ตานโจรทั้ง ๑๒ จำพวก แก้หืดน้ำนมทั้ง ๗ จำพวก แก้ไอผอมเหลือง แลแก้ไส้พองท้องใหญ่ แก้พุงโร แลลมจุกเสียด แลแก้ป้าง แก้ม้าม แลดานเสมหะให้ปวดมวนเสียดแทง แลแก้อุจจาระเป็นเสมหะโลหิต ระคนกัน มักให้ถอยกำลังแลมักให้เป็นไข้ไม่รู้สึกตัว ให้ลงเป็นโลหิตแลไข้เพื่อเสมหะ ลมโหด ถ้าได้กินยาขนานนี้ หายสิ้นทุกประการวิเศษนัก๚”[๑๔]

นอกจากนั้นยังมีตำรับยาว่าด้วย “ธาตุลม” ในพระคัมภีร์ชวดาน ในการรักษาโรคตานทราง โดเพื่อทำให้เด็กกินข้าวได้ กินนมได้ นอนหลับ โดยนอกจากจะมีกัญชาเป็นส่วนผสมแล้ว บางกรณียังมีฝิ่นเล็กน้อยโดยโดยนิ้วชี้และโป้งเรียกว่า “รำหัด” เป็นส่วนประกอบด้วย ความว่า

“๏ ยาแก้ทรางกินข้าวมิได้ กินนมมิได้ มิให้นอนหลับ เอา ถั่วพู ๑ โกฐ ๑ กัญชา ๑ น้ำตาลทราย 1 บดทำแท่งไว้ ละลายน้ำกิน ถ้าลงท้องเอาฝิ่นรำหัดลง แก้พิการ ตานทรางทั้งปวงแล๚”[๑๕]

นอกจากนั้นในขณะที่แพทย์แผนปัจจุบันระบุว่า “กัญชาทำให้เกิดโรคจิต” แต่ในหนังสือเล่มนี้กลับได้ระบุว่ามีตำรับ “ยาแก้โรคจิต” ด้วย ปรากฏตามตำรายาเกร็ดความว่า

“๏ ยาแก้โรคจิต เอาเปลือกกุ่มน้ำ ๒ บาท เปลือกมะรุม ๖ บาท แห้วหมู เปล้าน้อย เปล้าใหญ่ รางแดง จันทน์เทศ เปลือกมะตูม ก้านกัญชา บอระเพ็ด เปลือกโมกมัน หญ้าขันกาด สนเทศ สิ่งละ ๑ บาท ระย่อมเท่ายาทั้งหลาย รวมตำผง ละลายน้ร้อนแทรกพิมเสน กินครั้งแรกหนัก ๒ ไพ ถ้านอนไม่หลับ ให้ทวียาขึ้นไปถึง ๑ สลึง๚”[๑๖]

นอกจากนี้ยังมีตำรับยาที่น่าสนใจอีกหลายตำรับที่ระบุในหนังสือเล่มนี้ เช่น ยาแก้องคชาติตาย ปรากฏในตำรายาเกร็ดความว่า

“๏ ถ้าองคชาติตายไป เอา ดีปลี ๑ ลูกช้าพลู ๑ พริก ๑ ขิง ๑ ลูกจันทน์ ๑ กระวาน ๑ รากสะแก ๑ กัญชาเท่ายาทั้งหลาย ตำเป็นผงละลายน้ำผึ้งกิน จำเพาะะองค์ชาตินายแลฯ”[๑๗]

นอกจากนั้นยังปรากฏตำรับยาที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมาก เช่น ยาแก้ฝีในมดลูก[๑๘] ยาต้มแก้โลหิตเน่าร้ายในกลุ่มสตรี[๑๙] ยาอายุวัฒนะ[๒๐] ฯลฯ

โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้านทั่วประเทศสามารถเข้าถึงได้แล้ว ด้วยดาวน์โหลดฟรีตั้งแต่เช้าวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ตามลิงก์ด้านล่างนี้

https://www.dtam.moph.go.th/E-Book/ptmk/ptmk-ganja/ptmk-ganja.pdf

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข

อ้างอิง
[๑] ชุดตำราภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ฉบับอนุรักษ์: ตำรับยาแผนไทยของชาติที่เข้าด้วยกัญชา, ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, ๒๕๖๔, ๔๕๔ หน้า, พิมพ์ครั้งที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ จำนวน ๖๕๐ เล่ม พิมพ์ที่ บริษัท สามเจริญพาณิชย์ (กรุงเทพ) จำกัด, ISBN : ๙๗๘-๖๑๖-๑๑-๔๗๕๕-๖
https://www.dtam.moph.go.th/E-Book/ptmk/ptmk-ganja/index.html
https://www.dtam.moph.go.th/E-Book/ptmk/ptmk-ganja/ptmk-ganja.pdf

[๒] World Health Organization, WHO global report on traditional and complementary medicine 2019, ISBN 978-92-4-151543-6
https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/312342/9789241515436-eng.pdf?sequence=1&isAllowed=y

[๓] Westfall J, Mold J, Fagnan L Practice-based research – “Blue Highways” on the NIH roadmap. JAMA 2007;297:403–6 [PubMed] [Google Scholar]
https://jamanetwork.com/journals/jama/article-abstract/205216

[๔] Trochim W Translation Won't Happen Without Dissemination and Implementation: Some Measurement and Evaluation Issues. 3rd Annual Conference on the Science of Dissemination and Implementation Bethesda, MD: 2010 [Google Scholar]

[๕] Lawrence W. et al, Diffusion Theory and Knowledge Dissemination, Utilization, and Integration in Public Health, Vol. 30:151-174 (Volume publication date 21 April 2009) First published online as a Review in Advance on January 15, 2009 https://doi.org/10.1146/annurev.publhealth.031308.100049
https://www.annualreviews.org/doi/10.1146/annurev.publhealth.031308.100049

[๖] Sidney S. Cardiovascular consequences of marijuana use. J Clin Pharmacol 2002;42:64S-70S. 10.1002/j.1552-4604.2002.tb06005.x [PubMed] [CrossRef] [Google Scholar]

[๗] Jones RT. Cardiovascular system effects of marijuana. J Clin Pharmacol 2002;42:58S-63S. 10.1002/j.1552-4604.2002.tb06004.x [PubMed] [CrossRef] [Google Scholar]

[๘] F Fontana, et al., Pressor effects of endogenous opioid system during acute episodes of blood pressure increases in hypertensive patients, Hypertension, 1997 Jan;29(1 Pt 1):105-10. doi: 10.1161/01.hyp.29.1.105.
https://www.ahajournals.org/doi/10.1161/01.HYP.29.1.105

[๙] Nogueiras R., et al., The Opioid System and Food Intake: Homeostatic and Hedonic Mechanisms, Obes Facts 2012;5:196–207
https://doi.org/10.1159/000338163
https://www.karger.com/Article/Fulltext/338163

[๑๐] Lucile Simon, et al., Cannabinoid interventions for improving cachexia outcomes in cancer: a systematic review and meta‐analysis., J Cachexia Sarcopenia Muscle. 2022 Feb; 13(1): 23–41.Published online 2021 Dec 8. doi: 10.1002/jcsm.12861
PMCID: PMC8818598,PMID: 34881518
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/epdf/10.1002/jcsm.12861

[๑๑] ขุนโสภิตบรรณรักษ์ (อำพัน กิตติขจร), คัมภีร์แพทย์แผนไทยโบราณเล่ม 3, 2504

[๑๒] D I Abrams, et al , Cannabinoid–Opioid Interaction in Chronic Pain , Clinical Pharmacology & Therapeutics, 2011 Dec;90(6):844-51. doi: 10.1038/clpt.2011.188. Epub 2011 Nov 2.
https://ascpt.onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1038/clpt.2011.188

[๑๓] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒, วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒, เล่ม ๑๑๖, ตอนที่ ๑๒๐ ก, หน้า ๔๙ - ๖๙, (หน้า ๕๔)
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2542/A/120/49.PDF

[๑๔] ชุดตำราภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ฉบับอนุรักษ์: ตำรับยาแผนไทยของชาติที่เข้าด้วยกัญชา, ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, ๒๕๖๔, ๔๕๔ หน้า, พิมพ์ครั้งที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ จำนวน ๖๕๐ เล่ม พิมพ์ที่ บริษัท สามเจริญพาณิชย์ (กรุงเทพ) จำกัด, ISBN : ๙๗๘-๖๑๖-๑๑-๔๗๕๕-๖, หน้า ๑๗๔
https://www.dtam.moph.go.th/E-Book/ptmk/ptmk-ganja/index.html
https://www.dtam.moph.go.th/E-Book/ptmk/ptmk-ganja/ptmk-ganja.pdf

[๑๕] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๘๑

[๑๖] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๖๒

[๑๗] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๖๕

[๑๘] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๓๗

[๑๙] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๕๒

[๒๐] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๖๓-๒๘๑


กำลังโหลดความคิดเห็น