"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเป็นเป้าหมายสูงสุดของฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่เป็นเป้าหมายที่ไม่อาจเป็นจริงได้ ตราบเท่าที่พรรคร่วมรัฐบาลยังไม่แตกแยกอย่างแตกหัก อย่างไรก็ตาม การอภิปรายไม่ไว้วางใจมีผลต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลไม่น้อยทีเดียว เป็นความจริงที่ว่า มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้คะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐตกต่ำลง แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลให้คะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นการขยายความผิดพลาดในการบริหารประเทศของรัฐบาลให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางในปริมณฑลสาธารณะ
ปลายปี 2563 คะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์อยู่ที่ร้อยละ 30.32 ต่อมาเมื่อฝ่ายค้านได้เปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จากการสำรวจคะแนนิยมของนิด้าโพลหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 คะแนนนิยมพลเอกประยุทธ์ลดลงเหลือร้อยละ 28.79 และลดลงอย่างต่อเนื่องในสามเดือนถัดมา โดยเหลือเพียงร้อยละ 19.32 ในเดือนมิถุนายน 2564
ต่อมาฝ่ายค้านได้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจอีกครั้งในวันที่ 31 สิงหาคม, 1, 2, 3 กันยายน พ.ศ. 2564 ประเด็นที่ฝ่ายค้านได้หยิบยกขึ้นมาอภิปรายคือ บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง มีพฤติการณ์ฉ้อฉล ทุจริต ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเพื่อสร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้กับตนเองและพวกพ้อง ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง ล้มเหลวในการบริหารสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่มีความรอบคอบ ระมัดระวังในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ไม่รักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ สร้างความแตกแยกในสังคมโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์และทำลายผู้เห็นต่าง ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชน ไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และในการบริหารราชการแผ่นดินมีพฤติการณ์โอหังคลั่งอำนาจ
ประมาณสามสัปดาห์ถัดมา ระหว่างวันที่ 20–23 กันยายน 2564 นิด้าโพลได้สำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง คะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์ได้ลดลงไปอีกร้อยละ 2 เหลือเพียงร้อยละ 17.54 และลดลงอย่างต่อเนื่องในสามเดือนถัดมาเช่นเดียวกันกับการอภิปรายครั้งก่อน นั่นคือในเดือนธันวาคม 2564 ลงไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 16.63 ครั้นขึ้นศักราชใหม่ในปี 2565 คะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์ก็ดิ่งลงอย่างรุนแรง ลดลงไปอีกประมาณร้อยละ 4 โดยเหลือเพียงร้อยละ 12.67 ในการสำรวจเมื่อเดือนมีนาคม 2565
เฉกเช่นเดียวกัน พรรคพลังประชารัฐก็มีคะแนนนิยมตกต่ำลงเป็นแบบแผนเดียวกันกับคะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์ พรรคพลังประชารัฐมีคะแนนนิยมร้อยละ 17.80 ในเดือนธันวาคม 2563 และลดลงเหลือ ร้อยละ 10.70 ในเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งเป็นการลดลงอย่างรุนแรงถึงประมาณร้อยละ 7 ทีเดียว หลังจากนั้นพรรคพลังประชารัฐก็มีคะแนนนิยมตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และมีคะแนนนิยมเหลือเพียงร้อยละ 7.03 ในเดือนมีนาคม 2565
ความล้มเหลวในการบริหารประเทศทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความล้มเหลวในการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น ความล้มเหลวในการปฏิรูปประเทศ และพฤติกรรมการใช้อำนาจรัฐในการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างรุนแรง ทั้งการทำสงครามจิตวิทยามวลชน การสลายการชุมนุม การจับกุม คุมขัง และการริดรอนสิทธิการประกันตัว ล้วนแล้วแต่ข้ามเส้นแบ่งของความเป็นนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น รวมทั้งการมีปัญหาเรื่องวุฒิภาวะทางอารมณ์ ที่มักระเบิดอารมณ์แสดงความโกรธเกรี้ยวออกมาอย่างปราศจากความยับยั้งชั่งใจ จนเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางในแวดวงสาธารณะ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นเงื่อนไขเชิงภววิสัยที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งฝ่ายค้านได้หยิบยกไปเจาะลึกในรายละเอียด นำตัวอย่างเชิงรูปธรรมมานำเสนอเพิ่มเติม และมีการเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง จนทำให้คะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์ตกต่ำลงแบบแลนด์สไลด์
นอกจากผลทางการเมืองแล้ว การอภิปรายไม่ไว้วางใจยังเป็นห้วงเวลาที่ธรรมชาติของการเมืองและความขัดแย้งเชิงอำนาจเผยตัวตนออกมาสู่สาธารณะอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการเมืองแบบ “ลิงกินกล้วย” การเมืองแบบ “ฟาร์มงูเห่า” และการเมืองแบบ “องครักษ์พิทักษ์นาย” รูปแบบการเมืองเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนของการเมืองที่ด้อยพัฒนาและต่ำกว่ามาตรฐานการเมืองในระบอบประชาธิปไตยทั่วไป แต่ที่สำคัญคือผู้มีส่วนริเริ่มและสร้างการเมืองรูปแบบเหล่านี้มาจากพรรคร่วมรัฐบาล
การเมืองแบบ “ลิงกินกล้วย” เกิดจากฝ่ายรัฐบาลต้องการเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองเล็ก ๆ จึงมีการแจก “กล้วย” ซึ่งมีนัยหมายถึง “เงิน” แก่ ส.ส. พรรคเล็กเพื่อแลกเปลี่ยน การแข่งกันแจกกล้วยเป็นไปอย่างเข้มข้นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนกันยายน ปี 2654 เมื่อกลุ่มฝักฝ่ายในพรรคพลังประชารัฐที่นำโดยร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ต้องการโค่นล้มพลเอกประยุทธ์ ครั้นเมื่อรู้ตัว กลุ่มที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ก็ผนึกกำลังกันต่อสู้ จนสามารถเอาชนะไปได้อย่างหวุดหวิด แต่ก็ทำให้คะแนนไว้วางใจของพลเอกประยุทธ์อยู่อันดับรองสุดท้ายในบรรดารัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งหมด ได้คะแนนเพียง 264 เสียง ขณะที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนไว้วางสูงที่สุด 270 เสียง
การเมืองแบบ “ลิงกินกล้วย” เป็นอัตลักษณ์ทางการเมืองอย่างหนึ่งของระบอบประยุทธ์ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมที่เกิดขึ้นภายใต้การกำกับของคณะรัฐประหารปี 2557 ที่มีพลเอกประยุทธ์เป็นหัวหน้า เฉกเช่นเดียวกับการเมืองแบบ “ฟาร์มงูเห่า” คำว่า ส.ส. งูเห่าเคยมีมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก็เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ไม่ได้แพร่หลายจนกลายเป็นแบบแผนในปัจจุบัน ส.ส.งูเห่า คือบุคคลที่ได้เป็น ส.ส.เพราะสังกัดพรรคการเมืองบางพรรคในการเลือกตั้ง แต่ไม่มีพันธะผูกพันอย่างลึกซึ้งกับพรรคต้นสังกัดของตนเอง ครั้นเมื่อได้เป็น ส.ส. ก็มักแสวงหาโอกาสเพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของตนเอง ประกอบกับมีพรรคการเมืองบางพรรค ซึ่งมักเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่มีความพร้อมทางอำนาจและการเงิน ต้องการสร้างเสถียรภาพแก่รัฐบาล พร้อม ๆ กับการขยายจำนวน ส.ส.ให้กับพรรคของตนเอง การเมืองแบบฟาร์มงูเห่าจึงเกิดขึ้น ส.ส.งูเห่ามีสองประเภทคือ งูเห่าแบบเปิดเผย ซึ่งคือ ส.ส. ที่แยกจากพรรคเก่าของตนเอง และเข้าร่วมกับพรรคใหม่อย่างชัดเจน กับ งูเห่าแบบซ่อนเร้น ซึ่งเป็น ส.ส. ที่ยังคงอยู่ในพรรคเก่า แต่มีพฤติกรรมทางการเมืองและการลงมติในสภาผู้แทนราษฎรสอดคล้องกับความต้องการของพรรคการเมืองที่เป็นเจ้าของฟาร์ม
สำหรับการเมืองแบบ “องรักษ์พิทักษ์นาย” ไม่ใช่รูปแบบการเมืองใหม่ แต่เป็นรูปแบบเดิมที่สืบเนื่องกันมา การเมืองแบบพิทักษ์นายมีสนามเล่นสองสนาม สนามแรกเล่นในเวทีสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ลักษณะของการเมืองแบบพิทักษ์นายคือ การประท้วงผู้อภิปรายฝ่ายตรงข้าม ที่อภิปรายในประเด็นที่มีผลกระทบต่อนายของตนเอง เพื่อขัดขวางและตัดตอนการอภิปราย และมักนำไปสู่ความวุ่นวายในสภาฯ สร้างความเบื่อหน่ายรำคาญแก่ประชาชนที่ติดตามเฝ้าดูการอภิปรายเป็นอย่างมาก ผู้ประท้วงที่ไม่สนใจความรู้สึกของประชาชน เป็นการกระทำอย่างขาดสำนึก และไม่คิดถึงผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสภาฯ มุ่งแต่เพียงแสดงความจงรักภักดีและแสดงบทบาทให้เข้าตานายเป็นหลัก ตนเองจะได้มีความสำคัญในสายตานาย
ส่วนสนามที่สองเป็น การพิทักษ์นายนอกสภา ซึ่งทำหน้าที่ในการตอบโต้ผู้วิจารณ์นายของตนเองอย่างแข็งกร้าว ไม่มีท่าทีของการน้อมรับการวิจารณ์และนำไปปรับปรุงนโยบายและพฤติกรรมการบริหารประเทศแต่อย่างใด ดังนั้น การแสดงบทบาทของบรรดาองครักษ์พิทักษ์นายจึงรังแต่ทำให้คะแนนนิยมของรัฐบาลตกต่ำลงไปอีก
การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด ยังทำให้สาธารณะได้เห็นร่องรอยของควมแตกแยกระหว่างกลุ่ม 3 ป. อย่างชัดเจน นั่นคือ การตอบผู้อภิปรายของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เกี่ยวกับการรัฐประหาร พลเอกประวิตร ปฏิเสธว่าตนเองไม่รู้เรื่องและไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับการรัฐประหารในปี 2557 ผู้ที่กระทำการรัฐประหารมีเพียงคนเดียวคือ พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งพลเอกประยุทธ์ก็ยกมือรับ พร้อมใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ยิ่งกว่านั้นพลเอกประวิตร ยังระบุว่า “ไม่มีกลุ่ม 3 ป. ใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่พูดกันไปเองทั้งนั้น”
การปฏิเสธกลางสภาฯว่า ตนเองไม่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร ย่อมเกิดจากความคิดของพลเอกประวิตรในปัจจุบันที่อาจมองว่า การรัฐประหารเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ขัดกับระบอบประชาธิปไตย และประชาชนไม่ยอมรับ จึงพยายามปลีกตัวหนีออกจากการถูกตีตราของการเป็นนักรัฐประหาร แต่ที่น่าสนใจคือ การระบุว่า พลเอกประยุทธ์ทำคนเดียว ซึ่งก็เท่ากับโยนความรับผิดชอบเต็ม ๆ ไปให้กับพลเอกประยุทธ์ การตอบรับอย่างยิ้มแย้มของพลเอกประยุทธ์ แสดงว่า พลเอกประยุทธ์ ไม่ทันเกมพลเอกประวิตร และยังคิดว่า การรัฐประหารเป็นสิ่งน่าภาคภูมิใจ โดยหาได้ตระหนักว่า การพูดของพลเอกประวิตรในสภาจะถูกบันทึกและกลายเป็นประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป และสิ่งนี้ทำให้พลเอกประยุทธ์ถูกตีตราของการเป็นนักรัฐประหารอย่างไม่อาจลบเลือนได้
ส่วนการที่พลเอกประวิตรกล่าวว่า ไม่มีกลุ่ม 3 ป. นั่นก็เป็นการแสดงออกที่สะท้อนถึงความปรารถนาที่อยู่ในเบื้องลึกในขณะนี้ว่า ตนเองไม่ประสงค์ที่ถูกผนวกรวมเป็นกลุ่ม 3 ป. อีกต่อไป และต้องการแยกตัวออกเป็นตัวของตนเอง การอภิปรายของพลเอกประวิตร ในสภาฯจึงเป็นภาพสะท้อนของความแปลกแยกและไม่สนิทแนบแน่นกับพลเอกประยุทธ์ดังเดิมอีกต่อไป และนั่นย่อมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางการเมืองไทยหลังจบการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ไม่น้อยทีเดียว