ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มติที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบ “ร่าง พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …” หรือรู้จักในนาม “กฎหมายฉีดอัณฑะฝ่อ (chemical castration)” เพื่อลดความต้องการทางเพศในคดีกระทำผิดทางเพศซ้ำ กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากสังคม ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หากรวมถึงในต่างประเทศด้วย
ทั้งนี้ มีผลการศึกษาในต่างประเทศพบว่าการฉีดไข่ให้ฝ่อสามา
รถลดการกระทำผิดซ้ำ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณามาตรการดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายสูง 1 แสนบาทต่อราย รวมทั้ง ต้องการติดตามผลปรับเปลี่ยนเชิงพฤติกรรมต่อเนื่อง
แน่นอน คำถามสำคัญคือบทลงโทษการฉีดไข่ฝ่อผลลัพธ์คุ้มค่าเพียงใด อาจเป็นการเพิ่มภาระรายจ่ายหรือไม่ อย่างไร
อย่างไรก็ดี มาตรการฉีดลดฮอร์โมนทางเพศแก่ผู้กระทำผิดในคดีความทางเพศเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ มีการบังคับใช้ในหลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ จีน ปากีสถาน อินโดนีเซีย โปแลนด์ อังกฤษ และในสหรัฐฯ อย่างน้อย 5 รัฐ เพื่อลดคดีเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ
สถิติจากกรมราชทัณฑ์ ระบุว่ามีผู้ต้องขังกระทำความผิดคดีทางเพศ 16,413 คน ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำระหว่างปี 2556 - 2564 แต่พบว่ามีจำนวน 4,848 คนกระทำความผิดซ้ำโดยตัวเลขผู้กระทำผิดซ้ำในคดีทางเพศของกรมราชทัณฑ์ ปี 2565 ครึ่งปีแรกมีจำนวนผู้กระทำผิดคดีทางเพศสูงสุดเป็นอันดับ 5 ของทั้งประเทศ แบ่งเป็นกระทำผิดซ้ำภายในช่วง 2 ปี จำนวนทั้งสิ้น 1,700 ราย และกระทำผิดซ้ำภายในช่วง 3 ปี จำนวนทั้งสิ้น 2,111 ราย เป็นการสะท้อนว่าผู้กระทำความผิดคดีทางเพศไม่ได้เกรงกลัวต่อกฎหมาย
นอกจากนี้ สถิติของกระทรวงยุติธรรมเกี่ยวกับผู้ต้องขังคดีต่างๆ ข้อมูลล่าสุด เดือนมีนาคม 2565 พบว่าคดีความผิดทางเพศสูงเป็นอันดับ 4 โดยมีผู้กระทำผิดทางเพศเป็นผู้ชายถึงกว่า 5,400 คน จากคดีทั้งหมดกว่า 5,500 คน รวมทั้ง จำนวนผู้กลับมาทำผิดซ้ำที่ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จึงมีการพิจารณาเพิ่มโทษผลักดันร่างกฎหมายใหม่เพิ่มเติม โดยใช้มาตรการทางการแพทย์มุ่งลดความต้องการทางเพศ
สำหรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. … ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 3 เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ 2565 และวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ 145 ต่อ 0 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาค 2565 ปัจุบันอยู่ระหว่างส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ ใช้บังคับกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ ชีวิตและร่างกาย และเสรีภาพ ดังต่อไปนี้ “ความผิดเกี่ยวกับเพศ” ประกอบด้วย 1) ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา 2) ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี 3) ความผิดฐานกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย 4) ความผิดฐานกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี 5) ความผิดฐานพาเด็กอายุเกิน 15 แต่ไม่เกิน 18 ปี ไปเพื่อทำอนาจาร และ 6) ความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหรือใช้กำลังประทุษร้าย
“ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย” ประกอบด้วย 1) ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น 2) ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย และ 3) ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นอันตรายสาหัส และ “ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ” คือ ความผิดฐานลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่
โดยสาระสำคัญ คือการกำหนดมาตรการ แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด ซึ่งกำหนดให้มีมาตรการทางการแพทย์ หรือการฉีดลดฮอร์โมนเพศชาย และมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ ซึ่งมีมาตรการติดตาม 13 กรณี เช่น การห้ามออกนอกประเทศ ให้พักอาศัยในสถานที่ที่กำหนด และการให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวในการเฝ้าระวัง กำหนดว่าให้เป็นคำสั่งของศาล โดยดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอย่างน้อย 2 คน ซึ่งมีความเห็นพ้องต้องกัน หากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าจำเป็นต้องมีการใช้ยา ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อผู้กระทำความผิดยินยอม
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่าร่าง พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง มีเป้าหมายสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน โดยเฉพาะทำให้ผู้หญิงปลอดภัยจากบุคคลอันตราย ช่วยป้องกันเหตุสะเทือนขวัญไม่ให้เกิดขึ้น
ในส่วนสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ มาตรการแก้ไขฟื้นฟู มาตรการเฝ้าระวัง มาตรการคุมขัง และมาตรการคุมขังฉุกเฉินหลังพ้นโทษ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังบุคคลอันตรายที่มีพฤติกรรมกระทำผิดซ้ำ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ที่กระทำผิดโดย ฆาตกรรม การข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำความผิดทางเพศกับเด็ก การทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส รวมทั้งการนำตัวบุคคลไปเรียกค่าไถ่
โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ จะมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูผู้กระทำผิดมากกว่าการลงโทษ อย่างเช่นมาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษเป็นเวลา 10 ปี ห้ามเข้าเขตกำหนด การติดกำไลอีเอ็ม รวมถึงมีอาสาสมัครคุมประพฤติช่วยติดตาม หากผู้ถูกเฝ้าระวัง มีพฤติกรรมเสี่ยง ก็จะถูกควบคุมตัวทันที เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุ
แต่อย่างไรก็ตาม เกิดคำถามในเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้กระทำผิดซ้ำ รวมทั้งโอกาสรอดชีวิตของเหยื่อที่อาจถูกฆ่าอำพรางมากขึ้น
สำหรับในประเด็นสิทธิมนุษยชน นายสมศักดิ์ระบุว่ามาตรการทางการแพทย์ที่สามารถให้ยากดฮอร์โมนเพศชาย หรือการฉีดให้ฝ่อแก่ผู้กระทำผิด จะแพทย์อย่างน้อย 2 คนลงความเห็น และต้องได้รับความยินยอมจากผู้กระทำผิด จะไม่เป็นการกระทบสิทธิ เพราะผู้ต้องหาต้องยินยอม ซึ่งมีการพิจารณากันอย่างรอบคอบแล้ว แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่มีการใช้ถึงขั้นนั้น เพราะหากมีมาตรการเฝ้าระวังแล้ว ที่เสมือนเป็นการปิดช่องก่อเหตุซ้ำ ก็จะไม่ต้องนำมาใช้ เนื่องจากเราได้ป้องกันที่ต้นเหตุแล้ว แต่การมีกฎหมายที่รุนแรงก็ยังจำเป็น เพื่อช่วยป้องปรามได้อีกทางหนึ่ง
นพ.อภิชาติ แสงสิน นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันกัลยาราชนครินทร์ เปิดเผยว่าผลวิจัยในต่างประเทศพบการฉีดอัณฑะให้ฝ่อสามารถลดการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องหาได้ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ในขณะเดียวกัน ต้องมีการกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควบคู่กันเพื่อลดการกระทำผิด เพราะบางรายแม้รับการฉีดยาแล้วยังปรากฎพฤติกรรมก้าวร้าวในรูปแบบอื่นๆ จากนิสัยส่วนตัว
ขณะที่ความคิดเห็นจาก นพ.กัมปนาท พรยศไกร ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก Sarikahappymen ระบุตอนหนึ่งสรุปความได้ว่าเกี่ยวกับเรื่องการฉีดยากดฮอร์โมนเป็นเถียงกันมานานแล้ว และหลายประเทศดำเนินการไปแล้วทั้งฝรั่งและเอเชีย โดยใช้วิธีนี้ในนักโทษที่ก่อคดีซ้ำซาก
สำหรับวิธีลดฮอร์โมนเพศชาย ทางการแพทย์มีอยู่ 2 วิธี เพื่อเอามารักษาในคนไข้ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งก็มีให้เลือก 2 วิธี คือ1. ผ่าตัดเอาลูกอัณฑะออก ซึ่งเป็นตัวผลิตฮอร์โมน วิธีนี้ก็ง่าย สะดวก ประหยัดดี และ 2. ฉีดยากดฮอร์โมน ซึ่งก็ได้ผลเหมือนกัน ข้อดีคือไม่ต้องผ่า เก็บสองลูกนั้นไว้ได้ แต่ต้องฉีดยาทุก 3 เดือนตลอดชีวิต ซึ่งหมายความว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฉีดนับแสนบาทต่อปี
ทั้งนี้ ผลข้างเคียงเมื่อไม่มีฮอร์โมนเพศชายจะหงอยเหงาซึมเซา ความต้องการทางเพศลด ความแข็งก็ลด ขนาดที่มีก็ลด คำถามสำคัญลดฮอร์โมนเพศชายป้องกันกระทำผิดซ้ำได้ดีจริงไหม ข้อมูลในต่างประเทศพบว่าคดีข่มขืนลดลงได้เล็กน้อย แต่หากเกิดขึ้นแล้วอาจหนักกว่า สมมติจากเมื่อก่อนข่มขืนเสร็จแยกย้าย กลายเป็นข่มขืนเสร็จแล้วฆ่าปิดปากเลย เนื่องจากกลัวโดนจับได้ทีหลัง
ในมุมอาชญาวิทยาการเพิ่มโทษที่รุนแรงมีความเสี่ยงที่คนร้ายจะฆาตกรรมเหยื่อปิดปาก และจะยิ่งทำให้เกิดความรุนแรงในสังคมเพิ่มขึ้น
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ว่าตำรวจในต่างประเทศหลายแห่งยืนยันว่า การฉีดอัณฑะให้ฝ่อสามารถแก้ปัญหาการกระทำผิดซ้ำได้ แต่ต้องมีการติดตามผลถึงพฤติกรรมของผู้กระทำผิด รวมถึงผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการฉีดยา เพราะมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงได้ในกรณีที่มีการฉีดติดต่อกันนานเกินกว่าความจำเป็น
ทั้งนี้ กระบวนการฉีดไข่ให้ฝ่อในต่างประเทศ จะบังคับให้คนร้ายฉีดทุก 3 เดือน แต่ปัญหาคือรายจ่ายที่สูงกว่า 1 แสนบาทต่อราย พิจารณาจากคนไข้ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากที่ต้องได้รับยาชนิดเดียวกัน คนไข้จำนวนมากไม่มีเงินรักษาเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น มาตรการฉีดไข่ฝ่อในผู้กระทำความผิดคดีทางเพศซ้ำซากจะเพิ่มภาระค่าใช้ของรัฐอย่างเลี่ยงไม่ได้
และสุดท้ายหากนำโทษรูปแบบใหม่มาใช้ในช่วงแรกอาจทำให้ผู้คิดกระทำผิดเกิดความเกรงกลัว แต่ภาพรวมสถิติการกระทำความผิดในระยะยาวอาจไม่ลดลง
แม้ร่าง พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. … จะได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นในสภา แต่ก็มีเสียงสะท้อนที่เห็นต่างโดย นายจะเด็จ เชาวน์วิไล นักเคลื่อนไหวจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล WMP (Women and Men Progressive Movement Foundation) มองว่าการใช้วิธีฉีดอัณฑะฝ่อนั้นไม่ช่วยให้อาชญากรรมทางเพศลดลง มิหนำซ้ำการฉีดให้ฝ่อเป็นการลงโทษ ไม่ได้มีการเปลี่ยนวิธีคิด ยิ่งถูกลงโทษยิ่งโกรธแค้นมากขึ้นก็กลับมาทำผิดอีกครั้ง สิ่งที่รัฐควรทำคือเปลี่ยนความคิดเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ต้องขังระหว่างอยู่ในเรือนจำมากกว่า
ชัดเจนว่ามาตรการฉีดลดฮอร์โมนทางเพศ หรือ การฉีดไข่ฝ่อ แก่ผู้กระทำผิดในคดีความทางเพศเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เป็นการเพิ่มภาระรายจ่ายของรัฐ ซึ่งคงต้องติดตามและศึกษากันต่อว่าเป็นการลงทุนสู่เป้าหมายที่คุ้มค่าเพียงใด