xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผู้กองยอดรัก “ลุงป้อม ลุงตู่ ลุงโทนี่” ใครรักจริงยกมือขึ้น?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ต้องพบกับความผิดหวังตั้งแต่สังเวียนแรกสำหรับ “ค่ายเศรษฐกิจไทย” ภายใต้การนำของ “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรค ที่พ่ายแพ้หมดรูปในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ลำปาง เขต 4 ที่ “หมอรวย” วัฒนา สิทธิวัง อดีต ส.ส.เจ้าของเก้าอี้ ซึ่งหอบหิ้วกันมาจากพรรคพลังประชารัฐ แพ้ให้กับ “หนานแมว” เดชทวี ศรีวิชัย ผู้สมัครจากพรรคเสรีรวมไทย
เดิมทีสนามนี้ “วัฒนา” ดีกรีอดีตประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ลำปาง ได้โอกาสขึ้นชั้น ส.ส. หลัง “นายน้อย” อิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ อดีต ส.ส.เพื่อไทย เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด เมื่อปี 2563 แต่มาถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ใบเหลืองในภายหลัง

และศาลฎีกามีคำพิพากษาสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก่อนมาเสียท่าให้กับ “ส.จ.หนานแมว” ในครั้งนี้

ที่น่าสนใจคงเป็นผลการเลือกตั้งที่กลับตาลปัตรจากปี 2563 แบบหน้ามือเป็นหลังมือ เดิม “วัฒนา” ในสีเสื้อพลังประชารัฐ ได้ไปถึง 61,914 คะแนน เข้าป้ายอย่างสบายๆ แต่งวดนี้ “วัฒนา” ในสีเสื้อเศรษฐกิจไทย คะแนนหายไปกว่าครึ่งเหลือเพียง 30,451 คะแนน ขณะที่ฝ่ายพรรคเสรีรวมไทย เดิมส่ง ร.ต.ท.สมบูรณ์ กล้าผจญ ลงแข่งเมื่อหนก่อนได้มา 38,336 คะแนน รอบนี้เปลี่ยนตัวเป็น “เดชทวี” พลิกกลับมาชนะด้วยคะแนนมากถึง 55,638 คะแนน

โดยที่ข้างกาย “วัฒนา” มีแม่ทัพนำศึกชื่อ “ธรรมนัส” ทั้ง 2 ครั้ง

ความแตกต่างที่เห็นชัดที่สุด คงหนีไม่พ้น “สถานะ” ของตัว “ธรรมนัส” เอง ที่เมื่อปี 2563 ยังมีตำแหน่งเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ และขาใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐ แต่มาวันนี้เป็นเพียง “ผู้กองมนัส” หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ที่สถานะความเป็นรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ไม่ชัดเจน

เรื่องนี้ บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ นายทะเบียนพรรคเศรษฐกิจไทย ที่เป็นมือทำงานคนสนิทของ ร.อ.ธรรมนัส ยังยอมรับว่า “ประชาชนสับสนและมองว่าการทำงานของพรรคยังไม่ชัดเจน”

ที่สำคัญเจ้าของพื้นที่อย่าง พินิจ จันทรสุรินทร์ นักการเมืองวัยเก๋า ที่เคย “เบี้ยวนัด” ไม่ยอมไปลงสมัครรักษาพื้นที่แทนลูกชายที่เสียชีวิต ทั้งที่พรรคเพื่อไทยมีมติส่งลงสมัครเมื่อการดลือกตั้งซ่อมปี 2563 จนถูกมองว่าเป็น “พันธมิตรทางลับ” ให้กับ “ธรรมนัส” ก็เพิ่งเปิดตัวเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ในเขตนี้ ในนามพรรคเพื่อไทย ไปหมาดๆ ก็คงปล่อยให้ “ผู้กองพะเยา” ชนะเลือกตั้งในแดนลำปางใต้อีกครั้งไม่ได้ ด้วยไม่เป็นผลดีกับตัวเองในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไป

เมื่อขาดไม่มีเจ้าถิ่นเป็น “ตัวช่วย” แล้วยัง “ขาลอย” ไม่มีตำแหน่งรัฐมนตรีต่อท้าย อำนาจรัฐที่เคยใช้เป็นข้อได้เปรียบเมื่อการเลือกตั้งครั้งก่อนก็หมดไป ส่งผลให้ “ค่ายผู้กอง” เดินเกมไม่สะดวกเหมือนเก่า แม้จะมีกระแสข่าวว่า ว่าพก “กระสุ ไปเต็มอัตรา ไม่แพ้หนก่อน แต่ก็ไม่สามารถออกอาวุธได้

ไม่เพียงระแวงคู่แข่งอย่างพรรคเสรีรวมไทย ที่เป็นผู้ยื่นร้องจนต้องมีการเลือกตั้งใหม่ แล้วยังไม่วางใจกลไกรัฐ ด้วยรู้ดีว่าถูกหมายหัวจาก “บิ๊กรัฐบาล” ที่สั่งไม่ให้ทุกหน่วยงานช่วยเหลือพรรคเศรษฐกิจไทยเด็ดขาด

“แกนนำที่มีบทบาทในพื้นที่ ทั้ง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.), สมาชิกอาสาสมัครตำรวจบ้าน (สตบ.), ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) รวมถึง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยทั้งหลาย เขาถูกเบรกโดยใครก็ตามที่มองไม่เห็น ไม่สามารถที่จะลงพื้นที่ให้ผมได้ เหมือนตัดกำลัง ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราพ่ายแพ้เลือกตั้ง” ร.อ.ธรรมนัส ว่าไว้

ฟังได้ว่า “มือที่มองไม่เห็น” เป็นสาเหตุใหญ่ของความพ่ายแพ้ของ “พรรคผู้กอง” ครั้งนี้

ตกผลึกได้อีกว่า สถานะแบบ “กั๊กๆ” อยู่หว่างกลางระหว่างรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ที่เคยคิดว่าเป็นประโยชน์ในการเดินเกมการเมือง ไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะชาวบ้านคนลงคะแนนเสียงต้องการ “ความชัดเจน” มากกว่า

“วันนี้เลือดเต็มปาก ก็ต้องกลืนลงท้องตัวเอง เราเหมือนพรรคอยู่ตรงกลางของเขาควายสองข้าง มันไม่ชัดเจน ฝ่ายรัฐบาลเขาไม่ได้สนับสนุนเรา เราไม่ได้ประโยชน์อะไรจากฝ่ายรัฐบาล อีกทั้งยังถูกกระทำหลายเรื่อง ผมไม่อยากพูด อีกข้างของเขาควาย เขาก็ไม่ได้สนับสนุนเรา ดังนั้นไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะมานั่งตรงกลางของเขาควาย ผมก็ได้เรียนท่าน พล.อ.ประวิตร ซึ่งท่านมีความเข้าใจ”

ซึ่ง “ฝ่ายรัฐบาล” ที่ว่า ไม่สนับสนุนพรรคเศรษฐกิจไทย คงไม่ได้หมายถึง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ “ธรรมนัส” พูดถึงด้วยความเคารพตลอด และมีนัดหมายเข้าไปกราบลาอย่างเป็นทางการอย่างแน่นอน

 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
แต่ถูกตีความไปถึง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้ง “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มี “ปมในใจ” กันมาตั้งแต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อปีกลาย ที่เกิดเหตุ “กบฏผู้กอง” รวบรวมเสียง ส.ส.รัฐบาล พลิกโหวตล้ม “นายกฯ ตู่” และรัฐบาล แต่ไม่ประสบความสำเร็จ มากกว่า

ไม่แปลกที่ “ธรรมนัส” จะโพสต์ข้อความทันทีหลังรู้ผลการเลือกตั้งว่า “ผมเข้าใจแล้วว่าพี่น้องประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลง และผมก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน”

ด้วยประเมินแล้วผลพวงจากการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ลำปาง เขต 4 ไม่ได้หมายถึงเก้าอี้ ส.ส. 1 ที่นั่งที่หายไป แต่ส่งผลกระทบไปถึง “เครดิตทางการเมือง” ของ “ธรรมนั เอง หากยังไม่ปรับตัว ความเสียหายในทางการเมืองจะมีมากกว่า โดยเฉพาะในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าที่จะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

“การพ่ายแพ้ครั้งนี้ ผมเสียนะ พรรคเศรษฐกิจไทยเสียเครดิตมากกว่า ทรงมวยเสียเลย กระทบมาก เนื่องจากว่าที่ผู้สมัครหลายคนที่เป็นคนที่ผมมั่นใจว่าเขาจะกลับเข้ามานั่งในสภาได้ และหลายคนที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่เป็นบ้านใหญ่ หลายจังหวัดโดยเฉพาะภาคอีสานถอนตัว ถามว่าผมได้อะไร ผมมีแต่เสีย”

เป็นที่มาของการสั่งการให้ 2 ส.ส.ของพรรค ทั้ง “บุญสิงห์” และ “เสี่ยไผ่” ไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร และเลขาธิการพรรค ทำหนังสือลาออกจากตำแหน่งคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ถึง “นายกฯ ตู่”

ถือเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ในการสละสถานะพรรคร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการ จากนั้นก็เป็นคิว “ธรรมนัส” ที่ออกมาตีปี๊บโหมกระแสประกาศตัวเป็น “ฝ่ายค้าน 100%”

การตัดสินใจพลิกขั้วเป็นฝ่ายค้านเต็มตัวของ “พรรคผู้กอง” ผนวกกับเครือข่ายพรรคเล็ก-พรรคปัดเศษ ภายใต้การนำของ “เฮียหมา” พิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ก็ทำให้ “ภูมิทัศน์การเมือง” ในสภาผู้แทนราษฎรเปลี่ยนแปลงไม่น้อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังจะมีศึกใหญ่อย่างการอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล ที่ชี้วัดความเป็นไปของรัฐบาล และรัฐมนตรีที่ถูกยื่นญัตติด้วยเสียนงโหวตในสภาฯ

กล่าวคือจำนวน ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 475 คน หากแบ่งตามต้นสังกัดจะเป็นฝ่ายรัฐบาล 267 เสียง (18 พรรค รวมพรรคเศรษฐกิจไทย) ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ 95 คน, พรรคภูมิใจไทย 62 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 52 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา 12 คน, พรรคเศรษฐกิจไทย 16 คน, พรรคเศรษฐกิจใหม่ 5 คน, พรรครวมพลัง 5 คน, พรรคพลังท้องถิ่นไท 5 คน, พรรคชาติพัฒนา 4 คน, พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 คน และพรรคเล็กอีก 9 คน

ส่วนฝ่ายค้านมี 209 เสียง แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 132 คน, พรรคก้าวไกล 52 คน, พรรคเสรีรวมไทย 10 คน (ยังไม่รวม ส.ส.เขต 4 ลำปาง), พรรคประชาชาติ 7 คน, พรรคเพื่อชาติ 6 คน, พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน และพรรคไทยศรีวิไลย์ 1 คน

ยืนตามตัวเลขนี้ ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อพรรคเศรษฐกิจไทยที่มี 16 เสียง บวกกับกลุ่มพรรคเล็กที่อ้างว่ามีอีก 16 เสียง รวมเป็น 32 เสียงจะพลิกขั้วไปอยู่กับฝ่ายค้าน เพราะจะทำให้เสียงของฝ่ายค้านมีมากกว่ารัฐบาลทันที

โดยในขั้วรัฐบาลเมื่อตัดไป 32 เสียง หากมีจริงตามที่ “พิเชษฐ” กล่าวอ้าง รวมไปถึง 2 เสียงในพรรคประชาธิปัตย์ คือ อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี และ พนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล รวมเป็น 34 เสียง ฝ่ายรัฐบาลก็จะเหลือ 233 เสียง ขณะที่ฝ่ายค้านจะเพิ่มมาเป็น 243 เสียง

อย่างไรก็ตาม หากดูตามตัวเลข ส.ส.ที่แท้จริงแล้ว ก็ยังเป็นฝ่ายรัฐบาลที่ถือไพ่เหนือกว่า เพราะมี “พลังงูเห่า” ฝังตัวอยู่ในซีกฝ่ายค้านมากกว่าสิบชีวิต ผ่านทีมงาน “ค่ายเซราะกราว” พรรคภูมิใจไทย ที่ยืนพื้นด้วย 4 ส.ส.ก้าวไกล คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ, พีรเดช คำสมุทร” ส.ส.เชียงราย, เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย และ ขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี ที่ตัดขาดจาก “ค่ายสีส้ม” มานานแล้ว

แล้วยังมี ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่เปิดตัวเตรียมย้ายเข้าสังกัดค่ายเซราะกราว อีกอย่างน้อย 7 เสียง ประกอบด้วย จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ, ธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ, ผ่องศรี แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ, จักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี, นิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก, วุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก และ สุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา

เอาแค่กลุ่มนี้ก็จะทำให้ฝ่ายรัฐบาลกลับมามี ส.ส.มากกว่า ที่ 244 ต่อ 232 เสียง ยังไม่รวม “งูเห่า” ที่ยังซุ่มอยู่อีกจำนวนหนึ่ง และเชื่อว่าจะเปิดตัวกันในการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจงวดนี้ที่เป็นศึกสุดท้ายที่จะแสดงตัวเพื่อรับ “โปรย้ายค่าย”

 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 ทักษิณ ชินวัตร
ที่สำคัญ หากจำกันได้ ครั้งหนึ่ง “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเคยกางโพย ส.ส.การันตีต่อหน้า “นายกฯตู่” ว่ามี 260 เสียงสนับสนุนรัฐบาล โดยไม่รวม “ก๊วนผู้กอง” ด้วยซ้ำ

อีกทั้งที่ผ่านมา “ก๊วนปัดเศษ” ก็ประเภท “ดังแต่ท่อ ล้อไม่หมุน” ก่อนลงมติแยกเขี้ยวขู่ฟ่อ แต่ถึงเวลาจริง บางคนเลือก “กินกล้วย” แตกแถวคุมกันไม่อยู่ พลิกกลับไปโหวตให้ฝ่ายรัฐบาลก็มีให้เห็นมาตลอด

ที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ การลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ที่ทั้งพรรคเศรษฐกิจไทย-พรรคเล็ก แยกเขี้ยวขู่รัฐบาลรายวัน สุดท้ายต่างลงมติให้ผ่านร่างวาระที่ 1 อย่างพร้อมเพรียง แลกกับโควตากรรมาธิการงบประมาณฯ ทำเอาฝ่ายค้านที่ “ฝันค้าง” ที่จะล้มรัฐบาลผ่านการคว่ำกฎหมายสำคัญฉบับดังกล่าวมาแล้ว

เบอร์ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยอย่าง สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม และประธานวิปฝ่ายค้าน ก็ยอมรับว่า การที่พรรคเศรษฐกิจไทยถอนตัวออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลทำให้ฝ่ายค้านมีเสียงมากขึ้นกว่าเดิมแน่นอน เพียงแต่หากนับมือในสภาฯ แล้วยังไม่พอล้มรัฐบาลได้

อย่างไรก็ดี แม้ไม่อาจถึงเข้าขั้นพลิกขั้วอำนาจได้ในข้ามคืน แต่หมากนี้ของ “ธรรมนัส” ก็ถือว่าได้ใจ “ค่ายดูไบ” พรรคเพื่อไทย ไม่น้อย เพราะถือเป็น “ปัจจัยบวก” ให้กับการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน รวมไปถึงช่วยเร่งกระแสการโค่นล้ม “ระบอบ 3 ป.” ผ่านการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าได้อีกด้วย อย่างนี้จะไม่ให้เรียก “ผู้กองยอดรัก” ได้อย่างไร

ด้วยผลคะแนนลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ที่ล็อกเป้า “พี่น้อง 3 ป.” อยู่ด้วยนั้นแม้จะสอบผ่าน มีคะแนนไว้วางใจมากกว่า แต่ตัวเลขที่ออกมาจะสูสีมากขึ้นกว่าการโหวตที่ผ่านๆมา ก็สามารถจะนำไป “ตีกิน” ในประเด็นความนิยมรัฐบาลตกต่ำได้อีก

อีกทั้งการขาดมืองานการเมืองอย่าง “ธรรมนัส” ก็ย่อมทำให้ “ค่ายหลวงพ่อป้อม” พรรคพลังประชารัฐ อ่อนแอลงในแง่การเดินเกมทางการเมือง และการหาเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ-ภาคอีสาน ที่เมื่อครั้งเลือกตั้งปี 2562 “ผู้กองคนดัง” แสดงอิทธิฤทธิ์จน “คนเพื่อไทย” บ่นพึมมาแล้ว

จากที่เคยโจมตีกันเสียหาย กลับมีเสียงยกย่องเชิดชูออกมาจาก “ค่ายดูไบ” ถึงขนาด “สุทิน” เปรียบ “ธรรมนัส” เป็น “ทองคำ” ที่ไปอยู่กับ “ตะกั่ว” อย่างรัฐบาล จนหม่นหมอง

สะท้อนว่า จากศัตรูในวันวาน มาวันนี้ “ธรรมนัส” กลายเป็นที่รักของพรรคเพื่อไทยเป็นพิเศษ ไม่รวมข่าวคราว “ซูเปอร์ดีล” ที่ว่า “ผู้กองคนดัง” พูดคุยวางเกมการเมืองกับ “นายใหญ่ดูไบ” ทักษิณ ชินวัตร มาตลอดระยะหลัง ตามภาษาเจ้านาย-ลูกน้องเก่า

อันน่าจะเป็นเหตุผลที่ว่าในการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ภาคเหนือตอนบนของพรรคเพื่อไทย มีความทะแม่งๆที่ “เมืองพะเยา” ถิ่นฐานของ “ธรรมนัส” เมื่อพบว่า พรรคเพื่อไทย ส่งผู้สมัครหน้าใหม่อย่าง พล.ต.ต.ธรรมนูญ มั่นคง ลงที่เขต 2 จ.พะเยา และ อำนาจ วิชัย ลงที่เขต 3 จ.พะเยา และยังเว้นว่างเขต 1 ที่ “ธรรมนัส” เป็น ส.ส.ไว้

ทั้งที่ใน จ.พะเยา เองถือเป็น “ของตาย” ของ “พรรคทักษิณ” มาโดยตลอด มีอดีต ส.ส.หลายสมัยทั้ง “เจ๊หน่อง” อรุณี ชำนาญยา หรือ ไพโรจน์ ตันบรรจง ที่รอบก่อนแพ้ให้กับพรรคพลังประชารัฐอยู่

ไม่เท่านั้นรุ่นใหญ่อย่าง “รองฯแฟรงค์” วิสุทธิ์ ไชยณรุณ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่เป็น ส.ส.ปัจจุบันที่เขต 2 กลับไม่มีชื่อลงเขตรอบหน้า โดยถูกเกลี้ยกล่อมแกมบังคับให้ไปขึ้นบัญชีรายชื่อ พร้อมมอบหมายให้ไปดูพื้นที่ภาคใต้ ในฐานะที่เคยไปศึกษาร่ำเรียนมาในสมัยวัยรุ่น

มองได้ว่า “ทักษิณ” ซื้อใจ “ธรรมนัส” ล่วงหน้า ที่แม้เดินไม่สะดวกที่จังหวัดอื่น แต่ที่ จ.พะเยา ก็ยังเปิดทางโล่งให้ เพราะมองว่าดึงคนอย่าง “ธรรมนัส” ไว้เป็นพวก เป็นบวกกับเป้าหมายแลนด์สไลด์ ดับฝันการสืบทอดอำนาจของ “ระบอบ 3 ป.” ได้มากกว่า เพียงแต่เมื่อผ่านพ้นศึกเลือกตั้ง ส.ส.ใหญ่แล้ว ทุกอย่างจะเป็นไปตามที่ดีลกันไว้หรือไม่ เป็นอีกเรื่อง

นับถึงวันนี้ ต้องถือว่า 3 ปีที่ผ่านมา การเมืองประเทศไทยหมุนรอบตัว “ธรรมนัส” ก็ว่าได้ ด้วยเส้นทางการเมืองหวือหวาเสียยิ่งกว่า “รถไฟเหาะ” มีเอี่ยวแทบกับทุกเรื่องในยุทธภูมิการเมือง กลายเป็น “ผู้กองยอดรัก” ของ “ใคร” หลายคน

จากเดิมเมื่อครั้งฟอร์มรัฐบาลประยุทธ์ 2 หลังการเลือกตั้งปี 62 เจ้าตัวเคยประกาศว่าตัวเองเป็น “เส้นเลือดใหญ่รัฐบาล” และมีบทบาทเป็นฟันเฟืองสำคัญของรัฐบาล และพรรคพลังประชารัฐ ช่วงหนึ่งถือว่า เป็นที่รักใคร่ของคนในรัฐบาล โดยเฉพาะ “พี่น้อง 3 ป.” ผ่านการคอนโทรลของ “ลุงป้อม” กระทั่งได้รับความไว้วางใจให้เป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

“ร.อ.ธรรมนัส” ดำรงสถานะ “ผู้กองยอดรัก” อยู่นานพอดู ก่อนจะคิดก่อการใหญ่ “กบฏผู้กอง” จนเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องหลุดลอย ถูกเชิญขึ้น “แบล็กลิสต์” ของ “บิ๊กตู่-บิ๊กป๊อก” ในฐานะหัวหน้ากบฏมานับแต่นั้น ทว่าก็เป็น “พี่ป้อม” ที่ออกหน้ากางปีกปกป้องมาโดยตลอด ว่ากันว่าการแยกตัวออกมาตั้งพรรคเศรษฐกิจไทย ก็เป็นหมากที่ “บิ๊กป้อม” วางให้เดิน เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ และเพื่อลดแรงปะทะกับ “น้อง 2 ป.” ที่จ้องเขม็งพร้อมเอาคืน

กระทั่งมีข่าวว่า “ผู้กองคนดัง” ถูกหมายหัวเช็กบิล ผ่านการตรวจสอบทรัพย์สิน ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มาตลอด แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่มีอะไรมาระคายผิว “ธรรมนัส” ได้

หรือมีความพยายามเชื่อมโยง “ผู้กองมนัส” กับเครือข่ายธุรกิจสีเทา ไม่ว่าจะเป็นสลากออนไลน์หลายเจ้า หรือล่าสุดที่ “เฮียชู” ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองจอมแฉ ออกมาเปิดโปงเครือข่ายสถานบันเทิงทุนจีนหลายแห่งที่ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลาง กทม. ที่มีคอนเนกชันกับนักการเมืองบางราย

ทว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตำรวจ ก็ดูจะไม่รับลูก แสดงให้เห็นถึงพุทธคุณความเข้มขลังของ “หลวงพ่อป้อม” ได้เป็นอย่างดี

พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่ว่าสถานะไหน “ธรรมนัส” ก็ยังเป็น “ไอ้นัส” ลูกเลิฟของ “นายป้อม” อยู่ดี.




กำลังโหลดความคิดเห็น