คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
ในปี ค.ศ. ๑๗๘๘ ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศสหนึ่งปี ฝรั่งเศสได้แสดงจุดยืนต่อชาวอาณานิคมอเมริกันในสงครามเรียกร้องอิสรภาพ (the War of Independence) ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๗๖ โดยให้การสนับสนุนการปฏิวัติของชาวอเมริกันต่อการปกครองของอังกฤษ ส่งผลให้ พระเจ้ากุสตาฟแห่งสวีเดน ผู้ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น “กษัตริย์ผู้ทรงภูมิธรรม” (Enlightened Despots) พระองค์หนึ่งในยุโรป ทรงรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งกับจุดยืนดังกล่าวของฝรั่งเศส
พระองค์ทรงบันทึกความในใจของพระองค์ว่า “ข้าพเจ้าไม่สามารถยอมรับว่า มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องในการสนับสนุนพวกที่กบฏต่อกษัตริย์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย การกบฏในอเมริกาจะกลายเป็นแบบอย่างที่ผู้คนในที่ต่างๆ จะลอกเลียนแบบกัน อันจะทำให้เกิดยุคสมัยที่การโค่นล้มปราการแห่งอำนาจอันชอบธรรมได้กลายเป็นกระแสนิยมทั่วไป”
และอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ความเห็นของพระองค์ดังกล่าวข้างต้นย่อมถูกต้องชอบธรรมหากพิจารณาภายใต้หลักการปกครองและหลักความยุติธรรมในระบอบพระมหากษัตริย์พระราชอำนาจสมบูรณ์และระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ถ้าพิจารณาภายใต้หลักการปกครองและความยุติธรรมของอีกระบอบหนึ่ง นั่นคือ ระบอบสาธารณรัฐ ความเห็นดังกล่าวก็ย่อมจะไม่ถูกต้องชอบธรรมทันที ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้เกิดแนวคิดที่เรียกว่า “ความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน” ที่จะช่วยให้เราเข้าใจและสามารถสร้างกรอบความยุติธรรมที่เหมาะสมกับทุกฝ่ายในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านของระบอบการปกครอง
ไม่ว่าจะเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ หรือระบอบฟาสซิสต์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย หรือการล้มระบอบประชาธิปไตยแล้วนำไปสู่ระบอบเผด็จการ
เราจะพบว่า หลังระบอบฟาสซิสต์ในเยอรมนี ก็ต้องมีการตัดสินพิพากษาบรรดาอาชญากรสงครามหรือผู้ร่วมมือกับรัฐบาลฮิตเลอร์ ซึ่งแน่นอนว่าคนเหล่านี้มีทั้งที่กระทำไปด้วยความจงรักภักดีต่อระบอบและคิดว่าสิ่งที่ตนทำหรือร่วมมือไปนั้นจะนำไปสู่ผลประโยชน์ของชาติของตน แต่ขณะเดียวกัน ก็มีคำถามตัวโตๆ เกิดขึ้นตามมาว่า คนเหล่านี้ไม่มีสำนึกทางมโนธรรม-จริยธรรมเลยหรือกับการกระทำที่กล่าวได้ว่า “โหดร้ายทารุณ” เกินไป แน่นอนว่า ในแง่กฎหมายและระเบียบอาจจะสามารถโต้แย้งได้ว่ามันเป็น “กฎหมาย” หรือ “คำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย” แต่ก็อีกแหละ พวกเขาไม่รู้สึกเลยหรือว่า “คำสั่ง” หรือ “กฎหมาย” นั้นมันขัดกับมโนธรรมจริยธรรมหรือพูดง่ายๆ ก็คือ คนเราไม่ควรจะลงโทษลงทัณฑ์กับคนด้วยกันขนาดนั้น และหากเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในยุคโบราณบรรพกาลก็พอจะเข้าใจได้ แต่ความทารุณโหดร้ายเช่นนั้นที่เกิดขึ้นในสังคมสมัยใหม่ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ
แต่กระนั้น เราก็พบว่า ความทารุณโหดร้ายที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันก็ยังคงดำเนินไปในหลายประเทศในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ในบ้านเรา หรือกรณี “ทุ่งสังหาร” ในกัมพูชาในยุคที่เขมรแดงเรืองอำนาจ แต่กล่าวได้ว่าปัญหากรณี ๖ ตุลาที่สนามหลวง คือไม่มีการออกคำสั่งหรือกฎหมาย เพราะภาพที่ปรากฎบนท้องสนามหลวงก็คือ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อประชาชน แต่เป็นการที่ประชาชนกระทำต่อประชาชนด้วยกันเองอย่างทารุณโหดร้าย หรือกล่าวให้เจาะจงลงไปก็คือ ประชาชนจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เป็นนิสิตนักศึกษากระทำต่อประชาชนที่เป็นนิสิตนักศึกษา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่ใช่การใช้อำนาจรัฐหรือมีการออกคำสั่ง (เพราะอย่างไรก็คงไม่มี “คำสั่ง” เช่นนี้แน่นอน แบบเดียวกันกับที่สมัย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีมีนโยบายปราบปรามยาเสพติด ที่ส่งผลให้มีการวิสามัญฆาตกรรมคนไปเป็นจำนวนนับพันคน คุณทักษิณก็ไม่ได้ออกคำสั่งให้ทำเช่นนั้น แต่เท่าที่เคยสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ฯ ก็ได้คำตอบว่า “เป็นที่รู้กัน” !) คำถามตัวโตๆ ที่เกิดขึ้นตามมาเช่นเคยก็คือ แล้วในกรณี ๖ ตุลามีอะไรที่เข้าข่าย “เป็นที่รู้กัน” หรือไม่ ?
ในกรณีของเหตุการณ์ ๖ ตุลานี้เข้าข่ายของการเปลี่ยนผ่านจากระบอบประชาธิปไตยไปสู่ระบอบเผด็จการอย่างเห็นได้ชัด และรัฐบาลที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารก็มิได้เร่งสืบหาและจับกุมประชาชนที่กระทำผิดเข่นฆ่านิสิตนักศึกษาในเหตุการณ์ดังกล่าว ในแง่นี้ก็เข้าข่าย “ความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน” ได้เช่นกัน (แต่เป็นในแง่ร้าย !) นั่นคือ รัฐบาลและผู้คนในสังคมดูจะไม่เดือดร้อนกับอาชญากรรมอันรุนแรงโหดร้ายที่เกิดขึ้น
จำได้ว่า มีคนเล่าให้ฟังไม่นานมานี้ว่า ในขณะที่นั่งรถแท็กซี่ คนขับก็คุยเรื่องการเมือง และเขาประกาศชัดเจนอย่างภาคภูมิใจว่า เขาไม่เหมือนคุณสมัคร สุนทรเวชที่ในสมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรีให้คุณทักษิณได้อ้อมแอ้มๆ บอกว่า ในเหตุการณ์ ๖ ตุลามีคนตายเพียงคนเดียว และพูดไปในทำนองที่ตัวเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น แท็กซี่คนนั้นประกาศชัดว่า ตัวเขาคือหนึ่งในประชาชนที่สนามหลวงในเหตุการณ์ ๖ ตุลาฯ และเขาภาคภูมิใจที่ได้ “กำจัด” คนที่มุ่งทำลายล้าง “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” (ตัวคนเล่าไม่ได้บอกว่า คนขับใช้คำว่า “กำจัด” แต่ใช้คำที่ชัดเจนโจ่งแจ้งไปเลย)
เราอาจพิจารณาตีความ “แท็กซี่” คนนั้นได้ในสองกรณี กรณีแรก เขาคือผู้ที่ออกมาร่วมทำร้ายและฆ่านิสิตนักศึกษาด้วยความบริสุทธิ์ใจ กรณีที่สอง เขาคือผู้ที่ถูกจัดตั้งและได้รับคำสั่งให้มากระทำการดังกล่าว ซึ่งในกรณีหลังนี้จะบริสุทธิ์ใจหรือไม่ก็ได้ ในกรณีไม่บริสุทธิ์ก็คือ ทำไปเพราะรับอามิสสินจ้างหรือมีรางวัลตอบแทน
ในกรณีแรก แม้ว่าจะไม่มีใครสั่งเขา แต่ภายใต้บริบทของการปั่นกระแสความเกลียดชัง เขาจึงเป็นแค่หมากตัวหนึ่งที่เต้นไปตามกระแสที่มีใครหรือกลุ่มคนบางกลุ่มปลุกปั่นสร้างขึ้น ในแง่นี้ แม้ว่าจะไม่มีคำสั่งหรือกฎหมายที่บังคับใช้โดยรัฐที่สั่งให้ใครไปฆ่าใคร แต่ “ใครหรือกลุ่มคนบางกลุ่ม” ที่ว่านี้ย่อมต้องรับผิดต่อการปลุกปั่นสร้างกระแสให้ประชาชนออกมาฆ่านิสิตนักศึกษา
ส่วนในกรณีที่สอง ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า หากเขาคือผู้ที่ถูกจัดตั้งและได้รับคำสั่ง ทั้งคนจัดตั้งออกคำสั่งและตัวเขาก็ย่อมต้องรับผิดในสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งต่างจากการที่เขาเป็นเพียงหมากตัวหนึ่งที่เต้นไปตามกระแสที่ถูกปลุกปั่นขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีความผิด แต่การพิจารณาความผิดย่อมต้องแตกต่างไปจากในกรณีที่เขารับคำสั่งมา
คำถามตัวโตๆ ที่เกิดขึ้นอีกก็คือ แล้ว “ใครเล่าคือ ใครหรือกลุ่มคนบางกลุ่ม” ที่ปลุกกระแสดังกล่าว?
ตอบได้เลยว่าคือคนหรือกลุ่มคนที่คิดว่าจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งอาจจะมองสถานการณ์ดังกล่าวว่าเป็น “การจลาจลและการนองเลือด” ที่ทำให้ทหารจำเป็นต้องออกมายึดอำนาจจากรัฐบาลที่ล้มเหลวไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยได้ หรืออาจจะมองได้ว่า สถานการณ์ดังกล่าวคือ “จุดเริ่มต้นของการปฏิวัติ” ซึ่งหากรัฐหรือทหารใช้กำลังปราบปราม กระแสการปฏิวัติก็จะเติบโตเข้มแข็งได้ต่อไป
แต่ตอบได้เลยอย่างฟันธงว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ย่อมไม่ใช่ รัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อย่างแน่นอน เพราะสถานการณ์ดังกล่าวย่อมหมายถึง การที่รัฐบาลควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ และหากรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์เห็นความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายพิเศษออกมาเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย ก็แน่นอนว่าจะต้องเสี่ยงต่อการใช้อาวุธโดยเจ้าหน้าที่รัฐจัดการกับฝูงชนและการชุมนุมของนิสิตนักศึกษา และอาจจะถูกกล่าวหาได้ว่า รัฐบาลเข้าข้างใดข้างหนึ่ง เช่น ทางฝ่ายประชาชนที่ถูกปลุกระดมให้เกลียดชังนิสิตนักศึกษา ก็อาจจะมองว่ารัฐบาลปกป้องคอมมิวนิสต์ และ ส.ส. รวมทั้งรัฐมนตรีของประชาธิปัตย์มีใจโน้มเอียงไปในแนวคอมมิวนิสต์ ซึ่งในช่วงก่อนวันที่ ๖ ตุลาคม เป็นที่ทราบดีว่า ทางฝ่ายขวาจัดได้ออกมาโจมตี ส.ส. และรัฐมนตรีบางคนของประชาธิปัตย์ว่าเป็นพวกแดง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ได้แก่ คุณชวน หลีกภัย คุณวีระ มุสิกพงศ์ และยังมีคนอื่นๆ อีกที่ถูกโจมตีเช่นนั้น (ยกเว้นว่า ในขณะนั้นคุณชวนหรือคุณวีระจะเป็นคอมมิวนิสต์จริงๆ !?)
ผู้เขียนเห็นด้วยกับความมุ่งมั่นของนักวิชาการบางท่านที่ต้องการให้มีการชำระประวัติศาสตร์เหตุการณ์ ๖ ตุลาคมโดยเฉพาะ อาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว อาจารย์ใจเรียนหนังสืออยู่ที่อังกฤษ และก็อาจจะยังมิได้มีอุดมการณ์ความคิดทางการเมืองอย่างที่เป็นในปัจจุบัน ผู้เขียนเชื่อว่า อาจารย์ใจไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับเหตุการณ์ ๖ ตุลาคมฯ นั่นคือ ไม่ได้อยู่ในขบวนการนิสิตนักศึกษาขณะนั้น และก็ไม่น่าจะมีส่วนของการเป็นหนึ่งใน “ใครหรือกลุ่มคนบางกลุ่ม” ที่คาดหวังที่จะได้ประโยชน์จากสถานการณ์จลาจลนองเลือด เพียงแต่คุณพ่อ (ศ. ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์) ของอาจารย์ใจตกเป็นหนึ่งในเหยื่อของเหตุการณ์ครั้งนั้น
แต่ ณ เวลานี้ การกลับไปที่เหตุการณ์ ๖ ตุลาฯอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่จะทำไม่ได้เสียเลย แต่ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนต้องการจะบอกในข้อเขียนครั้งนี้ก็คือ สิ่งที่อาจจะยังสดๆร้อนๆ กว่า ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ก็คือเหตุการณ์ปี ๒๕๕๓ ผู้เขียนเห็นว่า เรายังกลับไปที่เหตุการณ์ในปี ๒๕๕๓ ได้อยู่และง่ายกว่าที่จะกลับไป ๖ ตุลา ๒๕๑๙ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะนิรโทษกรรม เรามาหาความจริงในเหตุการณ์ปี ๒๕๕๓ กันไม่ดีกว่าหรือ ?
(ข้อเขียนนี้เคยตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่: 33 ฉบับที่: 1729 ศุกร์ 4 - พฤหัสบดี 10 ตุลาคม 2556)