xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กำแพงหมื่นลี้ (3)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชาวจีนปีนไต่กำแพงเมืองจีนที่ด่านปาต๋าหลิง เพื่อสิริมงคลชีวิต อธิษฐานขอพรในวันปีใหม่ (ภาพไชน่าเดลี)
ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ก่อนจะเป็นกำแพงหมื่นลี้ (ต่อ)


ที่น่าสนใจก็คือว่า ในยุควสันตสารทนั้น บันทึกของจีนได้แบ่งรูปแบบของสงครามที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่าง ก.ค.ศ.722-481 เป็นห้ารูปแบบด้วยกันคือ เจิง (征)หรือสงครามรุกราน (invasion) 61 ครั้ง ฝา (伐) หรือสงครามจู่โจม (attack) 212 ครั้ง จั้น (战) หรือสงครามสมรภูมิ (battle) 23 ครั้ง เหวย (围) หรือสงครามล้อมปราบ (besiegement) 44 ครั้ง และ ญู่ (入) หรือสงครามบุกรุก (entrances) 27 ครั้ง

สรุปแล้ว ตลอดเวลา 241 ปี (ก.ค.ศ.722-481) สงครามทั้งห้ารูปแบบรวมแล้วจะมีทั้งหมด 367 ครั้ง เฉลี่ยแล้วยุควสันตสารทจะมีสงครามเกิดขึ้นปีละ 1.52 ครั้ง จนกล่าวได้ว่า ในยุคนี้คนจีนทำสงครามกันหนักมาก

ลองคิดง่ายๆ ว่า สงครามที่ยาวนานต่อเนื่องนับร้อยปีดังกล่าวจะสร้างความเสียหายให้แก่สังคมจีนมากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากรต่างๆ หรือชีวิตมนุษย์ ด้วยเหตุนั้น การที่รัฐใดรัฐหนึ่งในขณะนั้นจะคิดอ่านสร้างระบบป้องกันตนเองขึ้นมาก็ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเฉพาะถ้าหากหนึ่งในระบบที่ว่าคือ กำแพง

ด้วยเหตุนี้ กำแพงจึงถูกเอ่ยขึ้นเป็นครั้งแรกๆ ในบันทึก ชุนชิว (จดหมายเหตุวสันตสารท) โดยตอนหนึ่งของบันทึกนี้บรรยายว่า ครั้งหนึ่งรัฐฉีที่กำลังเพื่อขยายดินแดนของตนด้วยการยกทัพไปตีรัฐฉู่เมื่อ ก.ค.ศ.656 นั้น เมื่อทัพฉีไปถึงก็ได้พบกับขุนนางของฉู่ที่ถูกส่งมารับหน้า จากนั้นทั้งสองฝ่ายก็เจรจาโต้ตอบกัน

โดยฝ่ายฉีเจรจาอย่างมั่นใจว่า ด้วยกองกำลังทหารที่มากมายมหาศาลจะสามารถเอาชนะฉู่ได้ไม่ยาก แต่ฉู่ก็โต้กลับว่า ถึงจะใช้กำลังมากมายเช่นนั้นก็ยากที่จะเอาชนะฉู่ได้ ด้วยฉู่มีกำแพงเหลี่ยมขวางกั้นและมีฮั่นสุ่ย (แม่น้ำฮั่น) เป็นคูเมือง

คำจีนของคำว่า “กำแพงเหลี่ยม” คือ ฟังเฉิง (方城) โดยทั่วไปแล้วคำว่า ฟัง หมายถึง เหลี่ยม ทิศ หรือวิธีการ สุดแท้แต่บริบทที่ใช้ ในที่นี้ใช้ในบริบทที่เป็นเรขาคณิต เพราะกำแพงมักสร้างล้อมรอบเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรืออาจมากกว่าสี่เหลี่ยม ส่วนคำว่า เฉิง แปลว่า กำแพง ในที่นี้จึงเรียก ฟังเฉิง ว่า กำแพงเหลี่ยม

สำหรับรัฐฉีกับรัฐฉู่นั้น เป็นหนึ่งในรัฐที่ทรงอิทธิพลในขณะนั้น รัฐทั้งสองนี้มีมาตั้งแต่ยุควสันตสารท และดำรงอยู่เรื่อยมาจนถึงยุครัฐศึก ฐานะและเสถียรภาพของรัฐทั้งสองรวมถึงรัฐอื่นๆ อีกไม่กี่รัฐจึงเป็นรัฐมหาอำนาจในขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม จากบันทึกดังกล่าวทำให้รู้ว่า ราวกลางศตวรรษที่ 7 ก.ค.ศ. จีนได้สร้างกำแพงขนาดใหญ่ไว้ป้องกันตนเองแล้วและเรียกว่า ฟังเฉิงกำแพงนี้ถูกสร้างล้อมรอบเขตแดนของรัฐเป็นรูปทรงเหลี่ยมเรขาคณิต

ทั้งนี้ควรกล่าวด้วยว่า แต่เดิมรัฐต่างๆ ทั้งก่อนหน้าและระหว่างนั้นได้มีการสร้างกำแพงป้องกันตนเองอยู่เช่นกัน แต่เป็นกำแพงที่สร้างโดยใช้ไม้มาขัดเป็นตาราง (lattice) เพื่อป้องกันการรุกรานของบรรดาชนเผ่าต่างๆ ในขณะที่ชนเผ่าอื่นบางชนเผ่าก็สร้างกำแพงแบบนี้ป้องกันการรุกรานจากชนชาติจีนด้วยเช่นกัน

จนในราวศตวรรษที่ 4 ก.ค.ศ.ซึ่งตรงกับยุครัฐศึก รัฐทรงอิทธิพลอย่างรัฐฉิน เจ้า และเอียนจึงได้สร้างกำแพงที่แข็งแรงมากขึ้นเพื่อปกป้องดินแดนของตน โดย สื่อจี้ (บันทึกประวัติศาสตร์) ซึ่งเป็นบันทึกประวัติศาสตร์จีนเล่มแรกนั้น ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า รัฐฉิน“ได้สร้างกำแพงยาวเหยียดเพื่อเผชิญหน้ากับการรุกรานของพวกชนเผ่าต่างๆ”ขึ้นมา

ส่วนรัฐเอียนในช่วงที่ขยายดินแดนไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ (แมนจูเรียในปัจจุบัน) ด้วยการผลักดันชนชาติหูตะวันออก (ตงหู) ให้ถอยร่นออกไป “นับพันลี้” แล้วสร้างกำแพงยาวเหยียดเพื่อป้องกันการรุกรานของชนเผ่าต่างๆ ขึ้นมา

ในขณะที่รัฐเจ้าก็สร้างกำแพงด้วยเช่นกัน แต่ที่แตกต่างออกไปก็คือ กำแพงของเจ้าที่สร้างอย่างหยาบๆ นั้น กลับเป็นกำแพงที่สร้างขนานกันสองชั้น ซึ่งเท่ากับทำให้เจ้ามีกำแพงป้องกันอยู่สองแนว

โดยสรุปแล้วกำแพงเหล่านี้ยังไม่มีคำเรียกขานที่แน่นอน คงได้แต่อธิบายว่าเป็นกำแพงที่มีขนาดใหญ่และยาวมากกว่าที่มีอยู่แต่เดิมเท่านั้น กำแพงเหล่านี้เองที่กลายเป็นที่มาของ “มหากำแพง” (The Great Wall) หรือ ฉังเฉิง เมื่อมันถูกสร้างให้ยาวเหยียดออกไปไกลนับเป็นหมื่นลี้ในสมัยราชวงศ์ฉิน (ก.ค.ศ.221-206) จนคำว่า ฉังเฉิง กลายเป็นชื่อเรียกกำแพงนี้มาจนทุกวันนี้ อันเป็นกำแพงเดียวกันกับที่ไทยเราเรียกว่า กำแพงเมืองจีน

จากที่กล่าวมาทำให้เห็นว่า กำแพงเหลี่ยมหรือ  ฟังเฉิง ของรัฐฉู่นั้นอาจถือเป็นเบาะแสแรกของกำแพงเมืองจีน โดยหลังจากที่รัฐทรงอิทธิพลอื่นๆ ได้สร้างกำแพงที่ยาวเหยียดตามๆ กันแล้ว จนถึงสมัยฉินสื่อฮว๋างตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้) ที่ได้สร้างขยายต่อไปอีกจนมีความยาวนับหมื่นลี้ก็ยังไม่ปรากฏคำเรียกที่เป็นทางการของกำแพงนี้ มีแต่การเรียกที่แตกต่างกันไป

ตราบจนสมัยราชวงศ์ฮั่น คำเรียกอย่างเป็นทางการจึงปรากฏขึ้น โดยใน  ฮั่นซู: ตี้หลี่จื้อ (สมุดฮั่น: บันทึกภูมิประเทศ)  ซึ่งเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฮั่นได้กล่าวไว้ในตอนหนึ่งว่า  “อาณาจักรของฉู่เย่กง (เจ้าพระยาเย่แห่งรัฐฉู่) มีมหากำแพง (ฉังเฉิง) แต่เรียกว่า กำแพงเหลี่ยม (ฟังเฉิง)”  

 ดังนั้น คำว่า ฉังเฉิง หรือกำแพงใหญ่จึงปรากฏครั้งแรกในสมัยฮั่น โดยเรียกกำแพงเหลี่ยม (ฟังเฉิง) ของรัฐฉู่ว่า มหากำแพง (ฉังเฉิง)  

อนึ่ง  ฉู่เย่กงหรือเจ้าพระยาเย่แห่งรัฐฉู่นี้ ก็คือ ตัวอย่างขุนนางที่ตั้งตนเป็นใหญ่ในยุควสันตสารทและยุครัฐศึก ดังที่บทความนี้ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ เป็นการตั้งตนเป็นใหญ่ในขณะนั้นราชวงศ์โจวยังคงมีกษัตริย์เป็นผู้นำสูงสุด แต่ขุนนางเหล่านี้ (ซึ่งเป็นขุนนางของโจว) ต่างก็มองไม่เห็นหัวกษัตริย์ของตน เวลาจะทำหรือใช้อำนาจในทางใดจะใช้นามกษัตริย์เพื่ออ้างความชอบธรรม ว่าเป็นโดยประสงค์ของกษัตริย์ ทั้งๆ ที่กษัตริย์ไม่ทรงรู้เรื่องด้วย

ในประการต่อมา ขุนนางจีนในเวลานั้นได้มีการแบ่งชั้นยศกันแล้ว โดยแบ่งจากสูงไปหาต่ำคือ กง โหว ป๋อ จื่อ และหนัน  ซึ่งเทียบได้กับตำแหน่งขุนนางของยุโรปได้เป็น ดุ๊ก (Duke) มาร์ควิส (Marquis) เอิร์ลหรือเคาน์ท (Earl or Count) วิสเคาน์ท (Viscount) และบารอน (Baron)  ตามลำดับ และหากเทียบกับของไทยในสมัยราชาธิปไตยแล้วก็คือ เจ้าพระยา พระยา พระหรือจมื่น หลวง และขุน  ตามลำดับ

ที่เทียบกันข้างต้นเป็นไปโดยประมาณการ ในความเป็นจริงหาได้เทียบกันได้โดยสนิทไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าในกรณีจีนนั้นเป็นตำแหน่งที่มีมาเมื่อกว่า 3,000 ปีก่อน ในขณะที่ของยุโรปและไทยยังไม่ถึง 1,000 ปี และเมื่อพิจารณารายละเอียดแล้วก็มีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย

ควรกล่าวด้วยว่า เฉพาะกรณีไทยแล้วตำแหน่งขุนนางที่ปรากฏโดยทั่วไปคือ เจ้าพระยา พระยา พระหรือจมื่น หลวง ขุน หมื่น พัน และทนาย จะมีก็แต่สมเด็จเจ้าพระยาที่เป็นตำแหน่งพระราชทานเป็นกรณีพิเศษ และปรากฏก็แต่ในบางรัชกาลเท่านั้น

 จากตำแหน่งที่ต่างระดับกันเหล่านี้ สองตำแหน่งแรกคือกงและโหวถือเป็นตำแหน่งสูงที่ใกล้ชิดกับราชสำนักมากที่สุด ผู้ดำรงตำแหน่งทั้งสองนี้จึงมักถูกส่งไปปกครองรัฐต่างๆ เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะยังความมั่นคงให้แก่ราชวงศ์ และโจวก็เรียกระบบนี้ว่า เฟิงเจี้ยน หรือที่นักวิชาการในยุคสมัยใหม่แปลว่า ศักดินานิยม (Feudalism)  


กำลังโหลดความคิดเห็น