xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

แม้เป็นที่ทราบกันอยู่มาก่อนบ้างแล้วว่า พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกับรัฐบาลอย่างเต็มที่ แต่ด้วยการมีอดีตบางอย่างร่วมกัน จึงมีสายสัมพันธ์เดิมเชื่อมโยงอยู่บ้าง แม้จะเบาบางลงไปมากก็ตาม ทำให้ที่ผ่านมาพรรค ศท. มีความลังเลสับสนในการแสดงจุดยืนทางการเมือง จะเป็นรัฐบาลก็ไม่ใช่ เป็นฝ่ายค้านก็ไม่เชิง ครั้นพรรค ศท. ประสบกับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเขต 4 จังหวัดลำปาง การเปลี่ยนแปลงบางอย่างก็ปรากฏออกมา


แกนนำพรรค ศท. ได้สรุปบทเรียนจากการเลือกตั้งว่า ความพ่ายแพ้เกิดจากท่วงทำนองที่ไม่ชัดเจนของพรรคว่าเป็นพรรคฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ทำให้ประชาชนสับสน ประกอบกับมีประชาชนจำนวนมากเสื่อมความนิยมในรัฐบาล ด้วยเหตุนี้ ผู้นำพรรคจึงตัดสินใจประกาศแยกทางกับรัฐบาลอย่างเป็นทางการ เพื่อทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติอย่างเต็มที่ หรืออีกนัยหนึ่งเท่ากับเป็นการประกาศตัวว่าจะไม่สนับสนุนรัฐบาลอีกต่อไป โดยกำหนดสถานภาพตนเองเป็นฝ่ายค้านนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ความสงสัยในใจผู้คนก็ยังคงดำรงอยู่ว่า การประกาศแยกตัวจากรัฐบาลชองพรรคศท. มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด เพราะที่ผ่านมาสิ่งที่พรรค ศท. พูดกับการกระทำดูเหมือนไม่สอดคล้องกันเท่าไรนัก ในการพูดต่อสาธารณะ ผู้นำพรรคมักพูดในลักษณะวิพากษ์การทำงานของรัฐบาล แต่การกระทำกลับสนับสนุนรัฐบาล ดังเช่น การลงมติรับ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ดังนั้น จึงเลี่ยงไม่ได้ที่สังคมจะยังคลางแคลงใจและไม่ค่อยเชื่อถือเท่าที่ควร

การแสดงจุดยืนต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังเกิดขึ้น จึงเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญของพรรคนี้ หากพรรคยังใช้ท่าทีแบบเดิม นั่นคือด้านหนึ่งวิจารณ์ แต่อีกด้านหนึ่งกลับสนับสนุนรัฐบาล ความน่าเชื่อถือก็จะยิ่งตกต่ำลงไปอีก และอาจทำให้พื้นที่ทางการเมืองของพรรคนี้หดแคบลง ดังนั้นหากต้องการสร้างตัวตนและความน่าเชื่อถือทางการเมืองขึ้นมาใหม่ สิ่งที่สำคัญคือ การพูดและการกระทำต้องสอดคล้องกัน ดูหมือนว่า ผู้นำของพรรคก็คงตระหนักถึงจุดนี้ตามสมควร จึงให้สมาชิกพรรคลาออกจากการเป็นวิปฝ่ายรัฐบาลก่อนการอภิปรายเพียงไม่กี่วัน เพื่อแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ของการตัดความสัมพันธ์อย่างเป็นรูปธรรมจากรัฐบาล

เช่นนั้นแล้ว จึงมีแนวโน้มสูงว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ สมาชิกพรรค ศท. จะลงมติในทิศทางเดียวกับฝ่ายค้าน หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงก็ย่อมสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อเสถียรภาพของรัฐบาลประยุทธ์ค่อนข้างมากทีเดียว รัฐบาลจะสั่นคลอนยิ่งขึ้นไปอีก หากผู้นำพรรค ศท. ซึ่งมีเจตจำนงสูงยิ่งในการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบางคนสามารถโน้มน้าวจูงใจให้ ส.ส. พรรคเล็ก ๆ มาร่วมปฏิบัติการทางการเมืองในทิศทางเดียวกับตนเอง

ในยุคสมัยนี้ ส.ส. พรรคเล็ก ๆ เป็นตัวแปรสำคัญทางการเมือง เพราะส.ส. พรรคเล็กหลายคนมีจุดยืนทางการเมืองไม่แน่นอน บางครั้งสนับสนุนรัฐบาล แต่บางครั้งก็ไม่สนับสนุนรัฐบาล การตัดสินใจจะเป็นแบบใดขึ้นอยู่กับการประเมินผลประโยชน์ที่พวกเขาคาดว่าจะได้รับจากการตัดสินใจของตนเอง บางคนมีความประสงค์จะเล่นการเมืองต่อไป ก็ใช้เรื่องผลประโยชน์ต่ออนาคตทางการเมืองเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ บางคนคิดว่าตนเองไม่มีอนาคตทางการเมืองแล้วในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ก็ตัดสินใจโดยใช้เกณฑ์ผลประโยชน์เชิงรูปธรรมเฉพาะหน้าระยะสั้น หรือการรับ “กล้วย” กินจนอิ่มท้องแล้วเลิกราออกจากแวดวงการเมืองไป

นอกจาก ส.ส.จากพรรคเล็กแล้ว ยังมี ส.ส.อีกกลุ่มที่เป็นตัวแปรทางการเมืองคือ “ส.ส. งูเห่า” ซึ่ง ส.ส. เหล่านี้ส่วนใหญ่จะสังกัดพรรคฝ่ายค้าน แต่มีจุดยืนหรือลงมติที่สำคัญในสภาผู้แทนราษฎรตรงข้ามกับมติพรรคของตนเอง โดยหันไปสนับสนุนรัฐบาลแทน พรรคการเมืองที่มีชื่อเสียงในการเลี้ยงดูและดึงดูด ส.ส. พรรคฝ่ายค้านให้หันมาสนับสนุนรัฐบาลคือ พรรคภูมิใจไทย ที่ผ่านมาได้ดูด ส.ส.พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยหลายคนมาสังกัดพรรคของตนเอง ในแง่นี้ พรรคภูมิใจไทยจึงมีบทบาทสำคัญในการค้ำยันเสถียรภาพของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี และคาดว่าศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังเกิดขึ้น พรรคนี้ก็คงแสดงบทบาทอย่างเข้มแข็งในการรักษาสถานภาพของรัฐบาลต่อไป

สำหรับพรรคพลังประชารัฐ มีข่าวออกมาว่า ความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าพรรคกับนายกรัฐมนตรีจืดจางลงไปจากเดิม และวิเคราะห์กันว่า หัวหน้าพรรคเองก็ปรารถนาจะดำรงตำแหน่งนากรัฐมนตรีสักครั้งหนึ่งในชีวิตการเมืองของตนเอง การบรรลุเป้าหมายนี้ได้ มีอยู่ทางเดียวคือ การที่ ส.ส. ส่วนใหญ่ของพรรคลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และหัวหน้าพรรคก็จะขึ้นมารักษาการแทน และจากนั้นก็แสวงหาหนทางเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มตัวต่อไปในอนาคต

แต่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยที่หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐจะหักนายกรัฐมนตรีกลางสภา คาดว่า ส.ส. ส่วนใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ จะโหวตไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลที่ว่าหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐและนายกรัฐมนตรีมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งยาวนาน แม้ว่าจะจืดจางลงไป แต่การกระทำที่หักหน้า ที่จะสร้างตราประทับที่เลวร้ายทางการเมืองแก่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ถูกขับไล่กลางสภาผู้แทนราษฎรคงจะไม่เกิดขึ้น

แต่หากหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐมีความประสงค์อย่างแรงกล้าในการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีจริง และต้องทำให้บรรลุเป้าหมายนี้ให้ได้ วิธีการที่เลือกใช้ น่าจะมีความละมุนละม่อมมากกว่าการโหวตขับไล่ในสภาฯ นั่นคือ อาจมีการเจรจากันเพื่อให้นายกรัฐมนตรีลาออกก่อนมีการลงมติไม่ไว้วางใจ หรือ ลาออกหลังการลงมติไม่ไว้วางใจก็เป็นได้ แต่หากนายกรัฐมนตรีไม่รับข้อเสนอ การต่อสู้เพื่อช่วงชิงการสนับสนุนภายในพรรคพลังประชารัฐก็จะเป็นไปอย่างเข้มข้น เพราะในพรรคนี้ไม่ได้มีเพียงกลุ่มฝักฝ่ายที่สนับสนุนหัวหน้าพรรคเท่านั้น หากแต่ยังมีกลุ่มฝักฝ่ายที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีอยู่ไม่น้อยทีเดียวอีกด้วย

เท่าที่ประเมิน ความประสงค์ในเป็นนายกรัฐมนตรีของหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐไม่แรงกล้าเพียงพอ จึงไม่กล้าขับเคลื่อนอย่างแตกหักเต็มกำลังเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ความอยากเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นเพียงความเพ้อฝันในจินตนาการ ที่ยากจะกลายเป็นความจริง หากไม่แตกหัก ทางเดียวที่อาจทำให้ความฝันของหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเป็นจริงได้คือ ความเห็นอกเห็นใจและการเสียสละของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องลาออกเพื่อเปิดทางให้ เท่านั้นเอง แต่นั่น เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้เช่น เพราะสำหรับนักการเมืองไทยแล้ว โดยเฉพาะคนที่เคยได้อำนาจจากการรัฐประหาร ไม่มีบุคคลใดลงจากอำนาจด้วยความเต็มใจหรือเสียสละ ทั้งหมดที่ลงจากอำนาจล้วนแล้วแต่เกิดจากแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกทั้งสิ้น

มีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลสามารถระดมเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ส. พรรคเล็ก จนชนะเสียงฝ่ายค้านในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของสภาฯชุดนี้ เพราะแรงเกาะเกี่ยวของการมีผลประโยชน์ร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาล ยังคงมีพลังเหนือกว่าแรงผลักของความแตกแยกนั่เอง

กระนั้นก็ตาม ในเวทีนอกสภา มีเรื่องราวที่แตกต่างออกไป ความนิยมและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลตกต่ำและลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะความล้มเหลวในการบริหารประเทศ ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะยิ่งตอกย้ำและขยายบาดแผลของความล้มเหลวยิ่งขึ้นไปอีก ซ้ำเติมความนิยมที่ต่ำอยู่แล้วให้ยิ่งดำดิ่งลงไปอีก ความตกต่ำของคะแนนนิยมและกระแสที่เชี่ยวกรากของความต้องการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีจากทุกฝ่ายในสังคมจะกลายเป็นกระแสกดดันต่อประเด็นการตีความวาระการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญของพลเอกประยุทธ์ ที่จะเกิดตามมาหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

นับจากนี้ไป พลวัตของการเมืองแห่งการรักษาอำนาจ และการเมืองแห่งการขับออกจากอำนาจ จะดำเนินไปอย่างเข้มข้นมากขึ้นทั้งในเวทีรัฐสภา เวทีองค์กรอิสระ เวทีสื่อสังคมออนไลน์ และเวทีท้องถนน ที่ผ่านมาเราเห็นปรากฏการณ์ต่าง ๆ มากมายที่พิสดาร ซึ่งอยู่นอกเหนือกรอบคิดปกติตามมาตรฐานทางการเมืองแบบประชาธิปไตย เช่น การคิดจำนวน ส.ส.แบบปัดเศษ การอยู่บ้านหลวงฟรี การแจกกล้วย การดำรงอยู่ของส.ส. งูเห่า การที่ ส.ส. ขอให้พรรคมีมติขับตนเองออกจากพรรค การเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งแบบฉับพลัน จากหารด้วย 100 เป็น หารด้วย 500 ตามความปรารถนาของผู้มีอำนาจ เป็นต้น

ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้และสถานการณ์หลังจากนั้น เราอาจจะเห็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่แปลกประหลาด ซึ่งประชาชนส่วนมากไม่เคยคาดคิดหรือจินตนาการมาก่อน อันเป็นปรากฏการร์ที่เกิดจากแรงปรารถนาอันสูงยิ่งเพื่อรักษาอำนาจของบรรดาชนชั้นนำทางการเมืองนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น