xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เงินเฟ้อ-น้ำมันแพงยังน่าห่วง โควิดคืนชีพ ท่องเที่ยวเสี่ยงฟุบ เตรียมรับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ทำท่าว่าจะโงหัวขึ้นทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยหลังสถานการณ์โควิด-19 สร่างซา ทว่า ฝันร้ายก็วนกลับมาเมื่อทั้งโลกต้องเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ ราคาพลังงานแพงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังลากยาว ซ้ำร้ายการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ สั่นสะเทือนโลกทั้งใบรวมถึงไทยเพราะสหรัฐฯถือเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง ขณะที่ความหวังปลุกท่องเที่ยวอาจสะดุดเมื่อโรคโควิด-19 กลับมาระบาดหนักอีกรอบ  

ต้องบอกว่าข่าวดียังไม่มีมา สภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมยังอยู่ในอาการน่าเป็นห่วง โดยล่าสุดสมาคมค้าปลีกร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีก (Retail Sentiment Index - RSI) ประจำเดือนมิ.ย. 2565 ในภาพรวมพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก ลดลงมาอยู่ที่ 48.9 ปรับลดลง 4.4 จุด เมื่อเทียบกับดัชนีเดือนพ.ค.ที่ 53.3 จุด ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม ซึ่งเป็นผลพวงจากภาวะค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นซ้ำเติมกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ ผู้ประกอบการไม่เชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ แม้ว่ามีแนวโน้มสัญญาณดีจากการออกไปทำเศรษฐกิจนอกบ้านเพิ่มมากขึ้นแต่ความถี่ในการจับจ่ายลดลง

 นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ผลการสำรวจรอบนี้พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของยอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จ 6.5 จุด อยู่ที่ระดับ 52.2 เป็นการเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางของเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อภาคค้าปลีกและบริการจากการราคาน้ำมันแพงทำให้ต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้น การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงจากความเชื่อมั่นที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สมาคมฯจึงมีข้อเสนอขอให้ภาครัฐออกนโยบายกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ดูแลราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและงบลงทุนภาครัฐ หนุนฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการอย่างต่อเนื่อง

 ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อยังพุ่งขึ้นไม่หยุด ตามที่นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย (CPI) เดือน มิ.ย. 2565 เท่ากับ 107.58 สูงขึ้น 1.40% เมื่อเทียบจากเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 7.66% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักยังคงเป็นราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 61.83  

เมื่อเจาะดูรายสินค้า พบว่ากลุ่มพลังงาน มีอัตราการเติบโตของราคา 39.97% ส่วนกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีอัตราเติบโตของราคา 6.42% คิดเป็นสัดส่วน 61.83% และ 34.27% ของอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิ.ย.นี้ ตามลำดับ ส่วนสินค้าอื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ของใช้ส่วนตัว ยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และค่าโดยสารสาธารณะ ปรับขึ้นเล็กน้อย สำหรับสินค้าที่ราคาปรับลดลง เช่นกลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลง 2.73% กลุ่มผลไม้สด ลดลงร้อยละ 2.53 ตามปริมาณการผลิตที่ค่อนข้างมาก

สนค. ยังประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อไตรมาส 3/2565 จะยังคงขยายตัวในระดับเดียวกันกับไตรมาส 2 แต่ตัวเลขเงินเฟ้อทั้งปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ ยังคงยืนคาดการณ์เดิมว่าเคลื่อนไหวในกรอบ 4-5%


สอดรับกับการรายงานของ Krungthai Compass ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มิ.ย. พุ่งต่อเนื่องที่ 7.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปัจจัยหลักจากราคาพลังงานปรับขึ้น หมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ และกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ 2.51% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2565 คาดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.1% จากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังในภาพรวมสูงขึ้นตลอดทั้งปี

เช่นเดียวกันกับ  KKP Research ปรับคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยเป็น 6.6% ในปี 2565 และ 3.1% ในปี 2566 และคาดการณ์ว่าแรงกดดันในปัจจุบันจะทำให้ ธปท.ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 3 ครั้งในปี 2565 และขึ้นอีก 4 ครั้งในปี 2566 ซึ่งการปล่อยให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน จะทำให้การควบคุมเงินเฟ้อทำได้ยากขึ้น และ ธปท. อาจต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าเดิมซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โถมทับกับปัญหาเงินเฟ้อที่นำไปสู่ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวหรือเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้เศรษฐกิจเสี่ยงได้รับผลกระทบในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ส่งสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย ราคาพลังงานโลกเริ่มปรับเข้าสู่ขาลง ตามที่หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ รายงานเมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนต์ปรับลดลงรายวันมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 65 ซึ่งเป็นผลจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางหลายประเทศเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อ ขณะที่จีนเข้มคุมโควิดที่เมืองเซี่ยงไฮ้หลังพบการแพร่ระบาด ทำให้ตลาดกังวลภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับลดลง

ทั้งนี้ เฟด สาขาแอตแลนตา เผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัว 2.1% ในไตรมาส 2/2565 จากเดิมที่บ่งชี้ว่ามีแนวโน้มหดตัว 1.0% ขณะที่ไตรมาส 1/2565 หดตัว 1.6% นั่นแสดงว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยเนื่องจากการหดตัวของเศรษฐกิจ 2 ไตรมาสติดต่อกัน ขณะที่ดัชนีการผลิตของสหรัฐฯ ดิ่งสู่ระดับ 53.0 ในเดือน มิ.ย. ต่ำสุดในรอบสองปี กระทบการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานที่ปรับลดลงเช่นกัน

 การถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมากหรือน้อยย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งพึ่งพาการส่งออกเป็นหนึ่งในเสาหลักเศรษฐกิจสำคัญ โดยสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย ซึ่งในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่า 15,503 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 15.96% ของการส่งออกไทยทั้งหมด  

หากตลาดส่งออกไปยังสหรัฐฯ มีปัญหา ต้องถือเป็นปัจจัยลบเข้ามาซ้ำเติมวิกฤตราคาพลังงานที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ แม้ว่าราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มลดลงตามคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งการแก้ปัญหาราคาน้ำมันของรัฐบาลที่เอาเงินกองทุนน้ำมันไปช่วยพยุงราคา กระทั่งสถานะกองทุนน้ำมัน ณ วันที่ 3 ก.ค. 2565 ติดลบประมาณ 107,601 ล้านบาทนั้น ทำให้คนไทยต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงไปอีกสักระยะเพื่อเอาเงินเข้ากองทุน ขณะที่แผนกู้เงินมาเติมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันยังไม่มีความคืบหน้า เช่นเดียวกันกับการเจรจาขอความร่วมมือจากโรงกลั่นให้เจียดกำไรเข้ากองทุนที่ส่อเค้าเหลว

 การแก้ไขปัญหาพลังงานที่ดูเหมือนจะตีบตันไปเสียทุกทาง “รัฐบาลลุง” ก็ทำได้เพียงออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเฉพาะกลุ่ม ส่วนการดึงสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เข้ามาช่วยแก้ปัญหาก็ทำได้เพียงการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อจัดทำแผนรองรับวิกฤตกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ ซึ่งแปลความหมายได้ว่ายังไม่มีทางออกที่ชัดเจน  

อย่างไรก็ตาม  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันถึงฝีมือการบริหารของรัฐบาลทำได้ดีพอสมควร พลังงานยังไม่ขาดแคลน แต่ราคาน้ำมันสูงขึ้น ปัญหาหลายด้านที่รุมเร้า รัฐบาลกำลังเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมา 2 ชุด เพื่อบริหารสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและเร่งรัดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

“ผมและครม.เข้าใจความลำบากของประชาชนขอให้พี่น้องมั่นใจว่าประเทศไทยเรามีแผนยุทธศาสตร์รองรับสถานการณ์ ทั้งระยะสั้น 3 เดือน ระยะกลาง 6 เดือน ระยะยาว 1 ปี เพื่อให้เราเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะไม่เกิดการขาดแคลน ทั้งด้านพลังงานและอาหาร” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า ทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกยังผันผวน ปรับลดบ้าง ปรับขึ้นบ้าง และแม้ราคาน้ำมันตลาดโลกจะปรับลดลงกว่า 10 เหรียญ แต่ไทยก็ยังไม่สามารถลดราคาน้ำมันให้ได้ทันที เพราะยังมีภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เข้าไปชดเชยราคาในช่วงที่ผ่านมา จะต้องแบ่งเบาภาระกองทุนน้ำมันก่อน

สถานการณ์ราคาพลังงานโลกยังผันผวนต่อเนื่อง แต่ที่แน่ๆ และสัญญาณชัดว่ากลับมาเป็นปัญหาใหญ่อีกระลอกก็คือ  การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ซึ่งชมรมแพทย์ชนบท ได้เผยแพร่เอกสารคำสั่งจากปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการด่วนที่สุด ถึง ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขต ให้เตรียมพร้อมรับโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยแจ้งให้สถานพยาบาลเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องด้วยการสำรวจความพร้อมด้านยา เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ สำรองเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก เตรียมพร้อมและซักซ้อมระบบส่งต่อผู้ป่วย เร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้บุคลากรและประชาชนให้ครอบคลุมด้วยความสมัครใจ วางแผนควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดในพื้นที่

 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์  ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 ทั่วโลกหลายประเทศพบรายงานสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4/BA.5 เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยุโรป สหรัฐอเมริกา ดังนั้น ผู้เดินทางไปต่างประเทศที่อาจมีการผ่อนคลายเรื่องหน้ากากแล้ว ยังแนะนำให้สวมหน้ากากเพื่อป้องกันการติดเชื้อเพื่อไม่ให้นำเชื้อกลับมาติดกลุ่มเสี่ยงที่บ้าน สำหรับประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษาผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากผ่อนคลายมาตรการต่างๆ คาดว่าช่วง 10 สัปดาห์นับจากนี้ไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ย. จะเป็นช่วยพีคของเวฟในการเจอผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล

ทางด้าน  รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล (หมอนิธิพัฒน์)  หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กเผยตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดจริงราวๆ วันละ 50,000 ราย ซึ่งสวนทางกับตัวเลขรายวันที่รายงาน ถึงเวลาที่ต้องบอกความจริงว่าสถานการณ์เริ่มตึงมือมากว่าสัปดาห์แล้ว ผู้ป่วยโควิดที่จำเป็นต้องรับเข้าโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนน้อยที่ป่วยจากโควิดโดยตรง ส่วนใหญ่ป่วยจากโรคอื่นที่มีการติดเชื้อโควิดร่วมด้วย

หมอนิธิพัฒน์ ยังบอกว่า บุคลากรด่านหน้าต้องกลับมาทำงานหนักจากเดิมกว่าเท่าตัว ต้องวิ่งวุ่นหาเตียงกันเป็นระวิง เป็นสภาพที่กำลังเกิดขึ้นในโรงพยาบาลใหญ่หลายแห่งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สวนทางกับตัวเลขรายวันที่แจ้งว่ายังมีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดเหลืออีกมาก ซึ่งเป็นแค่กรอบจำนวนเตียงที่จะขยายขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขแต่ที่มีใช้งานอยู่จริงเริ่มร่อยหรอเต็มที และที่ว่าจะขยายได้ก็นำไปใช้ผู้ป่วยอื่นที่ไม่ใช่โควิดจนแทบไม่เหลือแล้ว

ต้องบอกว่าโควิด-19 สายพันธุ์  “โอมิครอน” สายพันธุ์ย่อย BA.5  นอกจากจะติดง่ายแล้วยังแพร่เชื้อได้แม้ในพื้นที่โล่ง ตามที่ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Anan Jongkaewwattana” ถึงความน่ากังวลของ BA.4/BA.5 โดยยกตัวอย่างจากนักวิจัยชาวออสเตรเลียว่า Dr. Cynthia เป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยาของออสเตรเลีย ทวิตโชว์ผล ATK เป็นบวก ว่าเธออาศัยอยู่ที่บ้านคนเดียวกับสุนัข ไม่มีกิจกรรมใดที่ไปพบปะผู้คนในพื้นที่ปิด เธอเชื่อว่าเธอติดโควิดจากการพาสุนัขออกไปเดินเล่นนอกบ้าน

ขณะที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงว่า ขณะนี้พบโควิด โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 แล้วถึง 51.58% เพิ่มขึ้นจาก 2 สัปดาห์ก่อน ที่พบจากประมาณ 6.7% และ 44.3% คาดว่า อีกไม่นานจะแทนที่ตัวเก่าคือ BA.2 ซึ่งขณะนี้พบ 47.15% โดยรวมแล้วอาการโอมิครอนของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ BA.4/ BA.5 ชัดกว่าผู้ป่วยที่ติดโอมิครอนรุ่นแรก โดยอาการที่พบมากกว่า 50% ของผู้ป่วย คือ อ่อนเพลีย, ไอ, ไข้, ปวดศีรษะ และน้ำมูกไหล ตามลำดับ

 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ  หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงการระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้ ว่านักเรียนจะเป็นผู้ขยายและกระจายการระบาดของโรคมากขึ้น เช่นเดียวกันกับโรคทางเดินหายใจอื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ การระบาดของโรคจะพบสูงมากในช่วงเปิดเทอมหรือฤดูฝน เด็กนักเรียนจะรับเชื้อและติดต่อกันง่าย ส่วนความรุนแรงของโรคในเด็กนักเรียนและวัยรุ่นน้อยมาก แต่จะติดต่อกันเองและนำเชื้อกลับบ้านทำให้เกิดการติดต่อทั้งครอบครัว ซึ่งจะโยงไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุ

น่ากังวลอย่างยิ่งว่าการหวนกลับมาระบาดในวงกว้างของโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการที่กำลังฟื้นตัวจากการคลายล็อก แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต้องออกแรงบูทท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังนี้แบบเต็มสตรีม โดย  นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กำลังเตรียมเสนอแผนต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ. คิกออฟโครงการ Booster Shot อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีนี้ ทั้งตลาดในและต่างประเทศ ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณรวม 1,035.75 ล้านบาท

แนวทางการส่งเสริมการตลาด จะเน้นรูปแบบการทำโปรโมชั่นร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการโดยตลาดในประเทศจะร่วมกับสายการบิน เพิ่มจำนวนที่นั่งสายการบิน 1 ล้านที่นั่ง เพื่อช่วยให้ทุกเส้นทางบินมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 70% ส่วนโรงแรม จะเพิ่มจำนวนห้องพักที่อยู่ในระบบฐานภาษี 1 ล้านห้อง มีเป้าหมายเพิ่มอัตราการเข้าพักให้โรงแรมทั่วประเทศเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 55% สำหรับรถทัวร์พร้อมไกด์นำเที่ยว มีเป้าหมายผู้โดยสาร 1 ล้านคน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือน ส.ค. นี้ คู่ขนานไปกับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 ส่วนต่อขยายที่เพิ่มสิทธิให้ใหม่อีก 1.5 ล้านสิทธิ และโครงการทัวร์เที่ยวไทย เฟส 2 ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้จะสิ้นสุดเดือนต.ค. 2565 ขณะที่โครงการใหม่ที่นำเสนอนี้จะสิ้นสุด 31 ธ.ค. 2565




สำหรับตลาดต่างประเทศนั้น จะเน้นการเพิ่มจำนวนที่นั่งเครื่องบินให้สามารถกลับมาได้ไม่ต่ำกว่า 50% เมื่อเทียบกับปี 2562 และจะขอยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าทั้งในส่วน tourist visa และ visa on arrival (VOA) รวมทั้งขยายระยะเวลาวันพำนักทั้ง 2 รูปแบบเป็น 45 วัน รวมถึงสนับสนุนสายการบินเพิ่มความถี่และเปิดเส้นทางบินใหม่ ร่วมกับเอเย่นต์ทัวร์ให้บริการเที่ยวบินชาร์เตอร์ไฟลต์

ในปี 2562 ประเทศไทยมีจำนวนที่นั่งเครื่องบินที่ทำการบินเข้ามารวม 56.28 ล้านที่นั่ง มีจำนวนเที่ยวบิน 2.49 แสนเที่ยวบิน สำหรับปีนี้ ณ เดือนมิ.ย. 2565 มีจำนวนที่นั่งบินรวม 17.33 ล้านที่นั่ง คิดเป็น 31% ของปี 2562 มีจำนวนเที่ยวบิน 7.25 หมื่นเที่ยวบิน คิดเป็น 29% ของปี 2562 หากจะทำให้ที่นั่งกลับมาให้ได้ไม่ต่ำกว่า 50% หรือต้องมีประมาณ 28.14 ล้านที่นั่ง ต้องเร่งให้ได้เพิ่มอีก 10.81 ล้านที่นั่ง

ททท.เชื่อมั่นว่า การบูทท่องเที่ยวตลอดครึ่งหลังของปีนี้ คาดคนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 5.56 แสนล้านบาท มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 7-10 ล้านคน สร้างรายได้ 8.44 แสนล้านบาท และมีรายได้รวมที่ 1.5 ล้านล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปี 2562 หรือก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด โดยตัวเลขครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2565) มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.12 ล้านคน และจำนวนคนไทยเที่ยวไทยประมาณ 78 ล้านคน-ครั้ง

“.... หากตัวเลขหลุดเป้าเราจะเสียโอกาสทางเศรษฐกิจประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 ล้านคน เช่นเดียวกับตลาดในประเทศเราประเมินว่าหากไม่มีบูสเตอร์ชอตจะได้ประมาณ 110 ล้านคน-ครั้ง หลุดเป้าไป 50 ล้านคน-ครั้ง ซึ่งจะทำให้เสียโอกาสทางเศรษฐกิจประมาณ 2.1 แสนล้านบาท” นายยุทธศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ เพื่อหวังบูทท่องเที่ยวให้ฟื้นคืนชีพ

 แต่โจทย์นี้ก็คงยากเย็นแสนเข็ญไม่ใช่น้อยในช่วงภาวะเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย และการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4/ BA.5 หวนกลับมาให้น่าห่วงกังวลอีกครั้ง 


กำลังโหลดความคิดเห็น