xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไหวไหมคนไทย ดอกเบี้ยลอยตัว หนี้ท่วมหัว บ้านปรับขึ้นราคา ค่าผ่อนรถเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  สึนามิดอกเบี้ยขาขึ้นที่มาพร้อมเงินเฟ้อพุ่งกระฉูด ส่งผลสะเทือนต่อปวงชนชาวไทยถ้วนหน้า ใครที่ดิ้นรนอยากมีบ้านเป็นของตัวเองก็ต้องถามใจจะผ่อนไหวไหมเมื่อแบงก์พาณิชย์เลิกโปรดอกเบี้ยคงที่หันปล่อยกู้ดอกเบี้ยลอยตัว ส่วนคนที่อยากถอยรถป้ายแดงก็ต้องพร้อมควักผ่อนเพิ่ม เตือนภัยจุดชนวนระเบิด “หนี้ครัวเรือน” ฉุดเศรษฐกิจโตช้า-ซึมยาว  


สัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่ม 0.25% ในการประชุมครั้งหน้า แม้ว่า  นายปิติ ดิษยทัต  ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะให้คำสัญญามั่นเหมาะว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ กนง.จะดูข้อมูลและยืดหยุ่น ถอนคันเร่งที่พอเหมาะและถูกจังหวะ take off อย่างราบรื่นเพื่อให้เศรษฐกิจเคลื่อนไปได้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามการขึ้นดอกเบี้ยย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าไม่มากก็น้อย

 น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล  รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่าเงินเฟ้ออาจพุ่งสูงสุดในไตรมาส 3/2565 ซึ่งจะทำให้ กนง.อาจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง เข้าหาระดับ 1.0% ภายในสิ้นปีนี้เทียบกับ0.5% ในปัจจุบัน แต่คาดว่า ธปท.จะยังไม่ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของฝั่งเงินฝากและเงินกู้ตามในทันทีเนื่องจากสภาพคล่องส่วนเกินยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อส่งผลให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นและหนี้อาจเติบโตเฉลี่ยปีละ 3-4%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นจะกระทบบางผลิตภัณฑ์ เช่น สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ผ่อนระยะยาว แต่ผู้กู้ซื้อบ้านและกู้ซื้อรถน่าจะเป็นกลุ่มที่มีความทนทานต่อภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้ เพราะดอกเบี้ยไม่ได้ปรับขึ้นมากนัก

ขณะเดียวกัน KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ออกบทวิเคราะห์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และผลกระทบต่อภาวะหนี้ครัวเรือนของไทย ว่าเมื่อเงินเฟ้อกลับมาจนนโยบายการเงินต้องกลับมาตึงตัวอย่างรวดเร็วเช่นในปัจจุบันและอัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับสูงขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากหนี้ที่อยู่ในระดับสูงรวมทั้งเศรษฐกิจไทยที่มีหนี้ในระดับสูงเช่นกัน โดยกลุ่มที่มีความน่ากังวลมากที่สุด คือ หนี้ในภาคครัวเรือนที่ในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นเกิน 90% ของ GDP และสูงเป็นลำดับที่ 11 ของโลก ซึ่งเกิดจากภาคครัวเรือนมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย

KKP Research ประเมินว่าในสถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ชัดเจนขึ้นและกำลังจะเข้าสู่ “วัฏจักรเศรษฐกิจขาลง” ที่ยาวนาน โดยผลกระทบจะเกิดจากภาระหนี้ที่จะปรับสูงขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ย โดยสัดส่วนหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ดอกเบี้ยแบบผันแปร เช่น สินเชื่อสำหรับธุรกิจ ซึ่งอยู่ในระดับประมาณ 34% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด และหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นจะทำให้การบริโภคเติบโตช้าลง หนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจะเห็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจชัดเจนในช่วงหลังจากนั้นประมาณ 3-5 ปี ขณะที่การกระตุ้นการบริโภคด้วยหนี้จะถึงทางตัน หากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะใช้คืนหนี้ หรือ Deleverage โดยเริ่มชำระหนี้คืนจนหนี้ต่อ GDP เริ่มปรับตัวลดลง จะทำให้แรงส่งต่อการบริโภคหายไปประมาณ 1.3% และเศรษฐกิจเติบโตแบบชะลอลงไปประมาณ 0.7% หรือทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้ช้าและซึมยาว

สำหรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนในภาพรวม ณ สิ้นปี 2564 ตามข้อมูลของแบงก์ชาติ พบว่าสัดส่วนหนี้ส่วนใหญ่ของครัวเรือน 3 อันดับแรก ยังคงเป็นเงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีสัดส่วน 34.5% ของหนี้ครัวเรือนรวม, เงินกู้เพื่อการประกอบธุรกิจ สัดส่วน 18.1% ของหนี้ครัวเรือนรวม และเงินกู้เพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ สัดส่วน 12.4% ของหนี้ครัวเรือนรวม

อย่างไรก็ตาม ตามเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น ภาคธุรกิจที่เจอผลกระทบจังเบอร์คงหนีไม่พ้นอสังหาริมทรัพย์ทั้งแนวราบและแนวตั้ง เป็นอีกดอกซ้ำเติมเพิ่มจากต้นทุนราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นมาก่อนหน้า ฉุดกำลังซื้อช่วงครึ่งปีหลังนี้อย่างไม่ต้องสงสัย แต่มุมมองอีกด้านในระยะสั้นช่วงเดือนสองเดือนนี้ที่แบงก์ยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพราะรอดูการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ก่อนนั้น ก็อาจช่วยกระตุ้นการตัดสินใจให้ลูกค้ารีบซื้อ
ในมุมมองของ * นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประเมินว่าปีนี้ กนง. คงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 2-3 ครั้ง รวมขึ้นไม่เกิน 0.5% ขณะที่บอร์ด ธอส. มีมติให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด หากตลาดขึ้น 0.25% ธอส.จะขึ้นเพียง 0.5% และรอบปรับดอกเบี้ยของ ธอส.อาจเป็นช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 เนื่องจากธอส.มีฐานะการเงินแข็งแกร่งสามารถนำกำไรส่วนเกินมาอุ้มลูกค้าตามนโยบายรัฐบาลได้

  ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์  รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส. ประเมินว่า ค่าต้นทุนก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นจากราคาวัสดุก่อสร้างรวมทั้งเงินเฟ้อและค่าแรงงานสูงขึ้น ท่ามกลางค่าครองชีพสูง รายได้ฟื้นตัวช้าจะฉุดกำลังซื้อและขอสินเชื่อยากขึ้น การตัดสินใจซื้อบ้านอาจชะลอเวลาออกไป แต่กระแสดอกเบี้ยขาขึ้นช่วงเดือนก.ค.นี้อาจส่งผลด้านบวกจากความพยายามรีบซื้อรีบทำสัญญา แต่หลังจากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ทำสัญญาซื้อก่อนหน้าและการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น

สัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยและเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของแบงก์พาณิชย์ เริ่มเห็นเป็นกระแสข่าวผ่านสื่อต่างๆ แล้ว เช่น  ธนาคารซีไอเอ็มบี  กรณี กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% แบงก์จะคิดดอกเบี้ยเพิ่มสำหรับลูกค้าใหม่กรณีวงเงินสินเชื่อบ้าน 1 ล้านบาท จากผ่อนจ่ายเดือนละ 4,500 บาท จะปรับขึ้นเป็น 4,750 บาทต่อเดือน หรือยอดผ่อนชำระเพิ่มขึ้น 4-5% ส่วนลูกค้าเดิมจะหักดอกเบี้ยเพิ่มทำให้ยอดหักเงินต้นลดลงลูกหนี้ต้องผ่อนนานขึ้น ส่วนแคมเปญดอกเบี้ยคงที่ของแต่ละแบงก์ก็คงถอดโปรหันมาเน้นปรับดอกเบี้ยลอยตัวตามเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้นแทน

ส่วน  แบงก์กรุงศรีอยุธยา  กลุ่มลูกค้าเดิมคงหักดอกเบี้ยมากขึ้นผ่อนเงินต้นได้น้อยลงเช่นกัน ส่วนลูกค้าใหม่ ดอกเบี้ยกู้เพิ่มขึ้นแน่แต่รอดู กนง.ก่อน และแน่นอนแบงก์จะปรับดอกเบี้ยเป็นแบบลอยตัวแทนการคิดดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว ซึ่งแบงก์ประเมินว่าอาจมีผลกระทบต่อตลาดและความสามารถในการผ่อนชำระของลูกหนี้ลดลง

เช่นเดียวกับ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต, กสิกรไทย ที่ต่างปรับดอกเบี้ยลอยตัว ยกเลิกดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยแบบคงที่รับดอกเบี้ยปรับขึ้น ขณะที่แบงก์รัฐอย่างออมสินยังกัดฟันตรึงดอกเบี้ยทุกผลิตภัณฑ์ให้นานที่สุด

 การถอดโปรดอกเบี้ยคงที่และทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยซื้อบ้าน ส่งผลกระทบต่อลูกค้าที่ต้องผ่อนส่งค่างวดเพิ่มขึ้น คำนวณคร่าวๆ ตามที่นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์สื่อ คือดอกเบี้ยขึ้น 1% ทำให้เพิ่มภาระผ่อน 7-8% หากกนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จะมีผลต่อค่างวดเพิ่มขึ้น 2% ต่อปี รวมทั้งการขอสินเชื่อทำให้ได้วงเงินกู้น้อยลง 

นอกเหนือจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ธุรกิจอสังหาฯยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนค่าก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยทยอยปรับขึ้นราคามก่อนหน้า โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส. ชี้ว่า สัญญาณการปรับขึ้นราคาที่อยู่อาศัยใหม่เริ่มเห็นตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา จากดัชนีราคาที่อยู่อาศัยที่มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น โดยตัวเลขดัชนีบ้านเดี่ยวใน กทม.และปริมณฑลในไตรมาส 1/2565 มีค่าเท่ากับ 125.8 ลดลง -0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบตัวเลขดัชนีของไตรมาส 1/2565 กับไตรมาส 4/2564 ค่าดัชนีราคาบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น 0.7%

ส่วนดัชนีราคาทาวน์เฮาส์ กรุงเทพฯ- ปริมณฑล ไตรมาส 1/2565 มีค่าดัชนีเท่ากับ 129.0 ลดลง -0.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2564 ค่าดัชนีกลับปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% ขณะที่ตัวเลข ดัชนีราคาห้องชุดใหม่ ที่อยู่ระหว่างการขายในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 1/2565 มีค่าดัชนีเท่ากับ 151.7 จุด ลดลง -0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตร 4/2564 จะพบว่าดัชนีราคาห้องชุดใหม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% สะท้อนให้เห็นว่าราคาห้องชุดใหม่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนค่าก่อสร้างใหม่ที่บริษัทอสังหาฯ ต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มประมาณ 7-10% ซึ่งครึ่งปีหลังผู้ประกอบการอาจทยอยปรับราคาที่อยู่อาศัยใหม่อย่างต่ำ 5%

 นายวงศกรณ์ประสิทธิ์วิภาต  กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) มองว่าการปรับขึ้นราคาที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะส่งผลกระทบต่อกำลังและการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคชัดเจนมากขึ้นโดยกลุ่มที่อยู่อาศัยในตลาดกลาง-ล่าง และกลุ่มบ้านราคาถูก เช่น บ้านหลังแรก เพราะลูกค้ามีโอกาสถูกปฏิเสธสินเชื่อมากขึ้นนอกจากนี้ การขยับราคาบ้านในกลุ่มนี้ยังอาจมีผลให้การซื้อขายชะลอตัวลง

 เมื่อรายได้หดหาย ค่าครองชีพสูง ดอกเบี้ยก็ปรับขึ้น เยี่ยงนี้ ต้องถามใจคนไทยว่ายังไหวกันไหม 


กำลังโหลดความคิดเห็น