xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ไฟเขียว”เหมืองโปแตช อุดรฯ ปลุกผีโรงปุ๋ยแห่งชาติแก้ปุ๋ยแพง “ธงเขียว”สะบัดต้านจะ “แผ่ว” หรือจะ “พุ่ง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การเร่งผลักดันเมกะโปรเจกต์เหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท ของบริษัทเอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด เครืออิตาเลียนไทย ในการขอรับประทานบัตรจากกระทรวงอุตสาหกรรม มีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่า งานนี้เป็นการฉวยโอกาสของ “ครม.ลุง” ในช่วงโค้งอันตรายที่เสถียรภาพรัฐบาลกำลังง่อนแง่นเต็มทนหรือไม่ แม้จะมีคำอธิบายว่า เพื่อแก้ปัญหา “ปุ๋ยราคาแพง” ก็ตาม 

การซื้อใจ “กลุ่มสามมิตร” ที่ค้ำเก้าอี้ “นายกฯลุง” ด้วยการเปิดไฟเขียวให้เดินหน้าโครงการเหมืองโปแตซ อุดรธานี ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภาพออกมาจึงไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยผ่านไปได้โดยง่าย เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีกระแสต่อต้านสูงด้วยมีความวิตกกังวลในเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแรงต้านจาก “ธงเขียว” ที่ผ่านมาก็แข็งแกร่งเหลือหลาย

การหยิบฉวยจังหวะที่ราคาปุ๋ยเคมีแพงหูฉี่อันเป็นผลพวงจากความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย มาสมอ้าง เพื่อเดินหน้าโครงการ ทั้งยังคาดหวังเรียกคะแนนจากการปลุกปั้น “โครงการปุ๋ยแห่งชาติ” ซึ่งจะต่อยอดจากโครงการเหมืองโปแตซ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีกลิ่นอายของการหาเสียงเพื่อเอาใจพี่น้องเกษตรกรสำหรับการเลือกตั้งสมัยหน้า เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ขณะที่กระแสคัดค้านก็ดูเหมือนจะแผ่วลงไม่น้อยตามกาลเวลา

ในการขอประทานบัตรจากกระทรวงอุตสาหกรรมของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด หลังได้รับสิทธิสำรวจแร่โปแตชในจังหวัดอุดรธานี นั้น เป็นการดำเนินงานตามขั้นตอนตามที่  นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2565 ว่าที่ผ่านมาบริษัทฯ มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งมีมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น การควบคุมวิธีการทำเหมืองให้มีความมั่นคงแข็งแรงไม่ให้เกิดการทรุดตัวที่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างที่อยู่อาศัยบนผิวดิน รวมทั้งมาตรการการจัดการกองเกลือ ฝุ่นเกลือ และน้ำเค็มของโครงการ

ส่วนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ทางตัวแทนกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ร้อยละ 63 เลือกที่จะให้มีการพัฒนาโครงการทำเหมืองบางพื้นที่อย่างมีเงื่อนไข กล่าวคือ มีมาตรการเพื่อลดกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน มีการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่มาใช้พัฒนาชุมชนอย่างเหมาะสม และผู้ได้รับผลกระทบจะต้องได้รับค่าชดเชยที่เหมาะสม

สำหรับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 ล่าสุดเมื่อเดือน เม.ย. 2559 จัดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 2,000 คน มีผู้ไม่เห็นด้วยประมาณ 100 คน แต่ไม่ได้เป็นการลงมติ จึงไม่มีผลต่อการพิจารณาดำเนินโครงการ และในปี 2562 คณะกรรมการกำหนดเงินค่าทดแทนได้พิจารณากำหนดกรอบวงเงินค่าทดแทนกรณีมีการทำเหมืองใต้ดินให้แก่เจ้าของที่ดิน วงเงินรวม 1,200 ล้านบาท ซึ่งบริษัท เอเชีย แปซิฟิคฯ เป็นผู้รับผิดชอบ

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า พื้นที่เหมืองแร่โปแตช ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิคฯ ที่ได้สำรวจแล้วมีจำนวน 4 แปลง อยู่ในพื้นที่ อ.เมือง และอ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี มีพื้นที่เหมืองใต้ดินประมาณ 26,446 ไร่ และพื้นที่บนดินประมาณ 1,681 ไร่ หากเหมืองแร่โปแตชเปิดดำเนินการได้ คาดการณ์ว่า จะสามารถสกัดโปแตชเซียมคลอไรด์ได้ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี จะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าแร่โปแตชเพื่อใช้ผลิตปุ๋ยจากต่างประเทศได้ จากปัจจุบันไทยนำเข้าแร่โปแตชประมาณปีละ 800,000 ตัน มีมูลค่านำเข้าสูงถึง 7,600-10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ มีอีก 2 บริษัทที่ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแล้ว คือ บริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) จ.ชัยภูมิ และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด จ.นครราชสีมา แต่ยังไม่ได้เปิดการทำเหมือง

หลังครม. ไฟเขียวเดินหน้าโครงการ สำนักข่าวอินโฟเควสต์ รายงานว่า หุ้นของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เพิ่มขึ้นมาจากหุ้นละ 1.85 บาทเป็น 2.22 บาทหรือ 20% มีมูลค่าการซื้อขาย 284.94 ล้านบาทเมื่อเวลา 15.30 น. ของวันเดียวกัน ซึ่งบมจ.อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้ถือหุ้นหลักในบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ในสัดส่วน 90% อีก 10% ถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง



เหมืองแร่โปแตชของบริษัทเอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด
 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอ โดยขั้นตอนจากนี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จะไปเร่งออกประทานบัตร เพื่อเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หรือ 1 ปี และประเมินว่าจะมีปริมาณการผลิตตลอดอายุโครงการ 25 ปี อยู่ที่ 33.67 ล้านตัน มูลค่าการลงทุนเบื้องต้นประมาณ 36,000 ล้านบาท ที่ผ่านมาบริษัทเอเซีย แปซิฟิคโปแตช ยื่นขอประทานบัตรมาแล้วแต่รอขั้นตอนการอนุมัติจาก ครม.และการออกใบประทานบัตรเพื่อดำเนินการทำเหมือง

การออกแรงดันโครงการเหมืองแร่โปแตช เพื่อต่อยอดสู่การตั้งโรงงานแม่ปุ๋ยหรือโครงการปุ๋ยแห่งชาติ เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาให้ความสำคัญหลังจากราคาปุ๋ยพุ่งกระฉูดจากผลพวงสงครามความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย ตามที่  นายอดิทัต วะสีนนท์  รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์สื่อก่อนหน้านี้ว่า ไทยมีแผนที่จะสร้างโรงงานแม่ปุ๋ย หรือโครงการปุ๋ยแห่งชาติ โดยจะใช้วัตถุดิบที่ผลิตขึ้นในประเทศนำมาเป็นส่วนผสมสำคัญในการผลิตปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยโพแทสเซียม ลดการพึ่งพาโพแทสเซียมคลอไรด์จากต่างประเทศทั้งหมด

สำหรับโพแทสเซียมคลอไรด์ได้มาจากการสกัดแร่โพแตช ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีเหมืองแร่โปแตซอยู่ 3 ราย ประกอบด้วย  บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา  ได้รับประทานบัตรเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2558 มีอายุ 25 ปี ปริมาณการผลิต 2.15 ล้านตัน/อายุโครงการ แผนการผลิต 100,000 ตัน/ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาน้ำใต้ดินเข้ามาในอุโมงค์ก่อนถึงชั้นแร่

 บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) อยู่ใน ต.บ้านตาล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ได้รับประทานบัตรเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2558 มีอายุ 25 ปี ปริมาณการผลิต 17.33 ล้านตัน/อายุโครงการ แผนการผลิต 1,100,000 ตัน/ปี โครงการได้ทดลองทำเหมืองโดยก่อสร้างอุโมงค์ถึงชั้นแร่แล้ว แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงการ และอีกแห่งคือ  บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด อยู่ใน ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี  ที่ครม.เพิ่งเห็นชอบการขอประทานบัตร

ทั้งนี้ ในปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) ประเทศไทยมีการนำเข้าปุ๋ยเคมีโปแตชเซียมทั้งหมด 789,594 ตัน โดยแหล่งนำเข้าจากแคนาดา 301,895 ตัน, เบลารุส 193,075 ตัน, อิสราแอล 88,895 ตัน, รัสเซีย 6,838 ตัน และนับตั้งแต่ปี 2557-2564 ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีกว่า 5,170,374 ตัน มูลค่า 63,507 ล้านบาท

จังหวะในการผลักดันโครงการเหมืองโปแตช อุดรธานี สอดรับกับสถานการณ์ราคาปุ๋ยเคมีภายในประเทศปรับสูงขึ้น โดย  ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมฯ ได้อนุมัติให้มีการปรับราคาปุ๋ยหน้าโรงงานหลายสูตรตามที่ผู้ผลิตและผู้นำเข้าเสนอมา เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลกจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะสงครามรัสเซียและยูเครน ราคาพลังงานเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่ง และค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ซึ่งจะทำให้ราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมีในฤดูกาลเพาะปลูกใหม่นี้มีราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20-30% จากต้นปี

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานราคาปุ๋ยเคมีสูตรสำคัญ ตั้งแต่ ม.ค.-พ.ค. ว่าปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปุ๋ยยูเรียสูตร 46-0-0 ราคาขายปลีกท้องถิ่นเดือนพ.ค. อยู่ที่ 27,200 บาทต่อตัน, แม่ปุ๋ยสูตร 18-46-0 ราคาขายปลีกท้องถิ่น เดือน พ.ค. อยู่ที่ 25,204 บาทต่อตัน และปุ๋ยสูตร 16-20-0 ราคาขายปลีกท้องถิ่นเดือนพ.ค.อยู่ที่ 20,313 บาทต่อตัน

เว็บไซต์ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) หรือที่เรียกว่า “โครงการอุดรโพแตช” ระบุว่า บริษัทได้สำรวจพบแร่โพแตชคุณภาพดี 2 แหล่ง คือ แหล่งอุดรใต้ และแหล่งอุดรเหนือ โดยมีแผนที่จะพัฒนาแหล่งอุดรใต้เป็นอันดับแรก จากการสำรวจแหล่งแร่โพแตชในพื้นที่โครงการ พบว่าแหล่งแร่วางตัวในแนวค่อนข้างราบที่ความลึกจากผิวดินประมาณ 300-400 เมตร โดยมีความหนาของชั้นแร่เฉลี่ย 3-4 เมตร และมีความสมบูรณ์เฉลี่ยร้อยละ 23.50 ถือเป็นแหล่งแร่โพแตชที่มีคุณภาพที่ดีแหล่งหนึ่งของโลก ระยะเวลาการทำเหมือง 21 ปี และระยะการปิดเหมืองและฟื้นฟูสภาพเหมือง 2 ปี มีกำลังการผลิตแม่ปุ๋ยโพแตชสูงสุด 2 ล้านตัน/ปี

สำหรับพื้นที่คำขอประทานบัตรของโครงการอยู่ในพื้นที่ครอบคลุม 5 ตำบล คือ ตำบลโนนสูง ตำบลหนองไผ่ ตำบลหนองขอนกว้าง อำเภอเมือง และตำบลห้วยสามพาด ตำบลนาม่วง อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี ที่ตั้งโครงการอยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดอุดรธานีทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 15-20 กิโลเมตร มีเนื้อที่รวมทั้งหมดประมาณ 26,446 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่โรงแต่งแร่ประมาณ 1,250 ไร่ (ประมาณ 2 ตารางกิโลเมตร) และส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่เหมืองใต้ดินที่มีระดับความลึกประมาณ 350 เมตร พื้นที่โครงการไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางประวัติศาสตร์หรือพื้นที่อนุรักษ์

 บริษัทคาดว่าผลประโยชน์โครงการ จะเสริมสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตแม่ปุ๋ยโพแทสเซียม สำหรับใช้ในประเทศและส่งออก ลดการสูญเสียเงินตราจากการนำเข้าแร่โพแทสปีละประมาณ 7,000 ล้าน และมีรายได้จากการส่งแร่โพแตชปีละประมาณ 18,000 ล้านบาท (คำนวณจากราคาโพแตชตันละ 400 เหรียญสหรัฐฯ และอัตราแลกเปลี่ยน 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ) รัฐมีผลตอบแทนกว่า 29,500 ล้านบาท ตลอดอายุโครงการ เป็นต้น 




การคัดค้านเหมืองโปแตชในอดีตที่ดำเนินไปอย่างแข็งขัน
สำหรับโครงการเหมืองแร่โปแตช อุดรธานี ตั้งไข่มาตั้งแต่ปี 2524 โดยบริษัทบริษัท ไทยอะกริโก โปแตซ จำกัด ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตแร่โพแตชในบริเวณจังหวัดอุดรธานีจากกระทรวงอุตสาหกรรม

ถัดมา เดือน พ.ค. 2542 บริษัท APPC ยื่นรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และได้รับการอนุมัติในเดือนธันวาคม 2543 จากนั้น เดือน พ.ค. 2546 บริษัท APPC ยื่นคำขอประทานบัตรเหมืองใต้ดิน ตาม พ.ร.บ. แร่ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2549 ต่อมาในเดือน มิ.ย. 2549 บริษัท สินแร่เมืองไทย จำกัด ในเครือบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อกิจการของ APPC

ในเดือน ก.ย. 2549 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นจากต่างชาติมาเป็นคนไทยทั้งหมด และ APPC ทำหนังสือถึง สผ.ขอยกเลิก EIA ฉบับเดิม และจัดทำรายงานฉบับใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม

ต่อมา เดือน ม.ค. 2557 คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมติให้ความเห็นชอบ EIA

อย่างไรก็ตาม เป็นที่รับรู้กันว่า โครงการเหมืองโปแตช อุดรธานี ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการคัดค้านมากที่สุดจากชุมชนในนามกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี โดยมีเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ หนุนเสริม เนื่องจากเกรงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรมอันเป็นเศรษฐกิจหลักของชุมชนจากปัญหาการขยายตัวของดินเค็มและน้ำเค็มจากการแต่งแร่ รวมทั้งความเค็มของกองเกลือจำนวนมหาศาล รวมทั้งผลกระทบด้านสุขภาพจากมลพิษขณะทำเหมือง ฝุ่นเกลือ ฯลฯ และผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

นอกจากนั้น กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ยังหวั่นความเสี่ยงจากดินทรุด เหมืองถล่ม อุบัติเหตุจากการทำเหมือง ความเสี่ยงจากการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งจะกระทบต่อวิถีชีวิตท้องถิ่น ความเสี่ยงที่ชุมชนไม่สามารถควบคุมได้ เพราะบริษัทสามารถดำเนินการเหมืองแร่ใต้ดินที่อยู่ลึกเกิน 100 เมตร โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของที่ดิน

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่ ครม. จะเห็นชอบให้บริษัทยื่นขอประทานบัตรต่อกระทรวงอุตสาหกรรม กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี นำโดย  นางพิกุลทอง โทธุโย  กรรมการกลุ่มฯ พร้อมสมาชิกกว่า 20 คน ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ อุดรธานี เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2565 ขอคัดค้านการออกประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชของบริษัทฯ พร้อมสำเนารายชื่อผู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช 2,586 ราย, สำเนาข่าวศาลปกครองอุดรธานี เป็นคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น และบริษัทฯได้ยื่นอุทธรณ์ อยู่ระหว่างรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และสำเนาบันทึกการประชุมสภา อบต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม เมื่อ 25 ก.ย. 2558 ที่มีมติไม่เห็นด้วยโครงการเหมืองแร่โปแตช 12 ต่อ 9 เสียง

หลังจาก ครม. ไฟเขียวออกประทานบัตร เพจข่าวอุดรวันนี้ UDONTODAY รายงานว่า ที่บ้านโนนสมบูรณ์ บ้านสังคม ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี พื้นที่ศูนย์กลางต่อต้านเหมืองแร่โปแตชกว่า 21 ปี ไม่พบป้ายต่อต้านเหมืองแร่โปแตช ที่เคยติดอยู่ทางเข้าออกทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กหน้าบ้าน บางส่วนเหลือเพียงซากที่ใช้งานมานานแล้ว มีเพียงธงสีเขียวต่อต้านเหมืองโปแตช ที่นำมาติดบริเวณหน้าบ้านกันใหม่เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยติดคู่กับธงต้านอันเดิม บ่งบอกถึงการต่อสู้มาอย่างยาวนาน

ที่บ้านของนางมณี บุญรอด อายุ 75 ปี แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ก็นำธงสีเขียวสัญลักษณ์ต่อต้านเหมือนแร่โปแตช ผืนใหม่มาเปลี่ยนธงผืนเดิมที่เก่าแล้วเช่นกัน

 นางมณี แกนนำกลุ่มฯ เผยว่า ต่อสู้กับเหมืองโปแตชมากว่า 21-22 ปี จะเกิดหรือไม่เกิดเหมืองบอกไม่ได้ เพราะอำนาจอยู่กับเขา แต่พื้นที่อยู่กับเรา เราก็ยังยืนยันว่าไม่เอา หากรัฐบาลจะเอาก็ไปทำในพื้นที่รัฐบาล ชาวบ้านที่นี่อยู่ดีกันอยู่แล้ว เมื่อ ครม.เห็นชอบให้ดำเนินการต่อ ก็ต้องมาเริ่มทำประทานบัตรใหม่อีก เพราะฉบับเก่าโมฆะไปแล้ว ถ้ามาก็คงมาถามประชาชน เราก็จะยืนยันว่าเราไม่เอา 

“ราวปี 2560 ชาวบ้านได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง ท่านมีคำพิพากษาชั้นต้นว่า ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการต่อสู้ ที่ผ่านมาการขอประทานบัตรลัดขั้นตอน การทำประชาคมก็ปิดกั้นกลุ่มอนุรักษ์ฯ ฝ่ายเขา (บริษัท) ก็ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ถึงวันนี้ยังไม่มีคำพิพากษาออกมา ตั้งแต่นั้นเราก็ไม่เคลื่อนไหวชุมนุม แต่ยังนัดหมายพูดคุยกันอยู่ไม่ขาด กิจกรรมการหาทุนดำนารวม บุญกุ้มข้าวใหญ่ ระดมทุนไว้ต่อสู้ก็ทำเหมือนเดิม” แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าว

 ดูทรงการศึกหนุน-ต้านเหมืองแร่โปแตซ อุดรฯ ที่สงบลงชั่วคราวคงถึงเวลาเปิดวอร์ยกใหม่อีกครั้ง ส่วนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป เพราะต้องยอมรับว่า สถานการณ์ ณ ขณะนี้ เปลี่ยนไปจากเดิมพอสมควร 


กำลังโหลดความคิดเห็น