xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

หม้อแปลงระเบิดสำเพ็ง ไฟลามลุก! เพราะสายรุงรัง? หรือเพราะ “หน่วยงาน” เช้าชามเย็นชาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ถือเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับกรณีเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่ตลาดสำเพ็ง เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2565 ส่งผลให้อาคารพาณิชย์ 4 ชั้นเสียหายทั้งหมด 6 คูหา ลามไหม้รถยนต์ที่จอดอยู่บริเวณใกล้เคียงเหลือเพียงซากเหล็ก มิหนำซ้ำ มีผู้เสียชีวิย 2 ราย จากการประเมินมีมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท 

ภายใต้เศษซากความเสียหายยังทิ้งร่องรอย สภาพสายสื่อสารรุกรังบนเสาใต้หม้อแปลง ซึ่งเป็นถือหนึ่งในเชื้อเพลิงทำให้ไฟไหม้ลามเข้าอาคารและไปบริเวณใกล้เคียง เป็นอุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่ทำให้ทุกภาคส่วนต้องกลับมาทบทวบเร่งรัดการจัดระเบียนสายไฟฟ้า-สายสื่อสาร ที่เป็นทัศนอุจาดอยู่ทั่วทุกพื้นที่

กระนั้นก็ดี แม้งานนี้จะมี “จำเลย” ชัดเจน แต่มีคำถามสำคัญตามมาว่า “จำเลยที่ 1” คือใคร เพราะสังคมลงความเห็นตรงกันว่า ความผิดไม่ได้อยู่ที่หม้อแปลงหรือสารสายสื่อสาร หารแต่เป็น “ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบ” ในเรื่องดังกล่าว

กล่าวสำหรับเหตุเพลิงไหม้สำเพ็งครั้งนี้ สาเหตุเบื้องต้นสันนิฐานว่าอาจเกิดจากหม้อแปลงสถานี SD12526 ซึ่งหม้อแปลงไฟฟ้ามีระบบที่ใช้น้ำมันเป็นตัวระบายความร้อน มีความเป็นไปได้ว่าเกิดสิ่งผิดปกติจนทำให้น้ำมันเกิดความร้อนสูงจนระเบิด

 นายโกศล ขาวสำอาง  ผู้อำนวยการไฟฟ้าเขตวัดเลียบ การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) เปิดเผยว่าระบบการป้องกันอันตรายของไฟฟ้า ปกติจะมีระบบป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ระบบป้องกันที่หม้อแปลงไฟฟ้า ตัดวงจรไฟฟ้าจากหม้อแปลงที่ส่งไปยังอาคารบ้านเรือน ส่วนที่ 2 คือ การตัดวงจรจากสถานีจ่ายไฟ

เหตุการณ์ไฟไหม้อาคารพาณิชย์ย่านสำเพ็งที่เกิดขึ้น ระบบป้องกันที่หม้อแปลงไม่ทำงาน แต่ระบบป้องกันที่สถานีตัดไฟแทน ดังนั้น อยู่ระหว่างตรวจสอบอย่างละเอียดว่าเกิดจากปัญหาของอุปกรณ์หรือส่วนใด โดยวิศวกรชำนาญการพิเศษของการไฟฟ้าจะเข้าตรวจสอบ พร้อมกับตำรวจและเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง

เหตุการณ์ไฟไหม้สำเพ็ง เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2565 พบว่ามีอาคารพาณิชย์ได้รับความเสียหาย 6 คูหา รถยนต์เสียหาย 1 คัน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท



สาเหตุเบื้องต้นอาจเกิดจากหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด โดยมีสายสื่อสารรุกรังบนเสาใต้หม้อแปลงเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิง ทำให้ไฟไหม้ลามเข้าอาคารและไปบริเวณใกล้เคียง
อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียนราคาแพง ซึ่ง นายวิลาศ เฉลยสัตย์  ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวยอมรับว่าหม้อแปลงบริเวณหน้าอาคารจุดเกิดเหตุมีปัญหา เช้าวันก่อนเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ของ กฟน. เข้ามาตรวจสอบหม้อแปลง ซึ่งโดยปกติอายุการใช้งานของหม้อแปลงขนาดมาตรฐานจะอยู่ที่ประมาณ 20 ปี ซึ่งหม้อแปลงตัวนี้ใกล้จะครบวาระที่จะต้องเปลี่ยน แต่เกิดเหตุสูญเสียขึ้นเสียก่อน

 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ถอดบทเรียนเหคุเพลิงไหม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เกิดในระยะเวลาไล่เรี่ยกัน โดยระบุว่ากรณีไฟไหม้สำเพ็งต้นเพลิงน่าจะมาจาก 3 ส่วน คือ 1.หม้อแปลงที่มีควัน 2.สายสื่อสารติดไฟ และ 3.ตัวอาคารมีเชื้อเพลิงเยอะ และบทเรียนจากเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ กทม. จะไปดูการจัดระบบสายสื่อสารที่รกรุงรังและอยู่ติดกับหม้อแปลงไฟฟ้า เบื้องต้นจะเร่งประสานเจ้าของสายสื่อสารเข้ามาตัดสายตายที่ไม่ได้ใช้งานออกไป เพื่อความเป็นระเบียบและความปลอดภัย นำร่องในพื้นที่ย่านเยาวราชถือเป็นการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสหลังเกิดเพลิงไหม้ ส่วนการนำลงดินต้องใช้เวลา เพราะจะต้องใช้งบประมาณ

ทั้งนี้ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สำรวจหม้อแปลงทั้งหมดโดยเฉพาะจุดเสี่ยงในกรุงเทพฯ ชั้นในที่มีอยู่ 400 กว่าลูก และจากเดิมมีการบำรุงรักษาการไฟฟ้านครหลวง จะดำเนินการทุก 1 ปี ซึ่งนับจากนี้จะปรับรูปแบบเพิ่มความถี่ในการบำรุงรักษาเป็นทุก 6 เดือนแทน

รวมทั้ง เตรียมหารือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพื่อดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์เพลิงไหม้สำเพ็ง ชนวนนำไฟอย่างดีคือสายสื่อสารยุ่งเหยิงที่อยู่ใกล้กับหม้อแปลงไฟ

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เปิดเผยบทเรียนจากกรณีเพลิงไหม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ มี 2 ส่วน คือ ฝ่ายชุมชน และผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งฝ่ายชุมชน คือ ประชาชนไม่ได้แจ้งเหตุมายังสถานีดับเพลิงโดยตรงแต่แจ้งไปที่อาสาสมัครชุมชนก่อน รวมถึง ไม่นำถังแดงไปใช้ในการดับเพลิง หากสามารถฝึกชุมชนให้ดูแลตัวเองได้ระดับหนึ่งน่าจะดีขึ้น รวมถึงสายไฟฟ้าในชุมชนชำรุดขาดการบำรุงรักษาทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร อีกทั้งชุมชนยังเกิดความสับสน เมื่อเกิดเหตุไม่ทราบจะอพยพไปที่ไหน ดังนั้น การฝึกซ้อมเป็นเรื่องสำคัญ

นอกจากนี้ ฝ่ายผู้ปฏิบัติงาน ยังมีส่วนที่ต้องปรับปรุง เนื่องจากไม่มีผู้บัญชาการเหตุการณ์ ผู้ที่ลงพื้นที่ในชุมชนไม่มีความคุ้นเคยในชุมชน ต้องมีการสรุปแนวทางการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น มีกรอบการปฏิบัติงานทั้งในส่วนของผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) และผู้อำนวยการเขต โดย ผอ.สปภ. เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ต้องประสานงานกับอาสาสมัครให้ดี ผู้อำนวยการเขต ต้องมาดูแลผู้ได้รับความเสียหาย การทำบัญชีผู้เสียหาย การจัดบริการเบื้องต้น

เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ปรับปรุงและเตรียมความพร้อมรับมืออุบัติภัยไม่คาดฝันในอนาคต

สำหรับสถานการณ์ปัญหาสายสื่อสารรุงรังสร้างทัศนอุจาด นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่าที่ผ่านมาทำการนำสายสื่อสายลงใต้ดินไม่สำเร็จเพราะค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งหากต้องการจัดสายไฟลงดินทั้งหมดในกรุงเทพฯ ต้องใช้งบประมาณ 20,000 ล้านบาท และทางบริษัทโทรคมนาคม สายอินเทอร์เน็ตต้องจ่ายค่าเช่า จากการนำสายลงดิน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงทางเอกชนอาจจะจ่ายไม่ไหว จึงได้มีการหารือกันเพื่อให้สามารถเอาสายสื่อสารลงดินได้ และคิดค่าใช้จ่ายในราคาถูกเพื่อให้ทางเอกชนจ่ายได้ โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้รัฐบาล และ กสทช. จะสนับสนุน

ภาพถ่ายสภาพหม้อแปลงพื้นที่สำเพ็งก่อนระเบิด ปรากฎชัดมีสายสื่อสารรุงรังไม่เป็นระเบียบ
สำหรับปี 2565 ก.ดีอีเอส ตั้งเป้าจะดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารบริเวณกรุงเทพฯ ชั้นในตามถนนสายหลัก นำร่องใน 39 จุด และการนำสายไฟลงดินทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งอาจใช้เวลา 3 ปี

ต้องยอมรับว่ามีความพยายามลบภาพความยุ่งเหยิงของสายไฟ – สายสื่อสาร มาอย่างยาวนานต่อเนื่อง ภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจในการจัดการแก้ปัญหา ที่ผ่านมารัฐบาลโดย  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะให้เร่งจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ที่รกรุงรังในหลายพื้นที่ส่วนกลางและในระดับภูมิภาค

มีการหารือร่วมระหว่างหน่วยงานหลัก อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้กำหนดแผนบูรณาการการจัดระเบียบสายสื่อสารทั่วประเทศ รวมถึงการนำสายสื่อสายลงใต้ดิน ภายในระยะเวลา 3 ปี (2565 - 2567) แบ่งเป็น

1. การจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปี 2565 ระยะทาง 456 กิโลเมตร หลังจากนั้นดำเนินการส่วนที่เหลืออีก 936 กิโลเมตร

2. การจัดระเบียบสายสื่อสารตามแผนการจัดระเบียบสายสื่อสาร ซึ่งจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยได้กำหนดรายละเอียดเส้นทางจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสำหรับปี 2565 - 2567 ไว้รวมระยะทาง 6,000 กิโลเมตร หรือประมาณ ปีละ 2,000 กิโลเมตร

ในพื้นที่อื่นๆ พบการหม้อแปลงที่มีสายสื่อสารรุงรังไม่ต่างกัน ซึ่ง กฟน. สำรวจพบจุดเสี่ยงพื้นที่ในกรุงเทพฯ ชั้นใน หม้อแปลง 400 กว่าลูก
นอกจากนี้ มีแนวทางการจัดระเบียบสายสื่อสารแบบ Single Last Mile (การใช้ทรัพยากรร่วมกัน) ให้มีการใช้ผู้ให้บริการโครงข่ายเพียงรายเดียว (Single Last Mile) เป็นผู้ดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารเพื่อลดการซ้ำซ้อน ซึ่งเป็นรูปการจัดระเบียบสายสื่อสารแบบการใช้โครงข่ายปลายทางร่วมกัน โดยให้ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการในพื้นที่นำร่อง และกำหนดให้หน่วยงานผู้ได้รับสิทธิ์เป็นผู้บริหารจัดการในส่วนของโครงข่ายสายปลายทางที่มีเพียงรายเดียว (Single Last Mile Provider) โดยผู้ให้บริการทุกรายจะต้องไปเช่าใช้ ซึ่งจะทำให้จำนวนสายสื่อสารปลายทางมีจำนวนลดลง ทำให้ลดสภาพสายสื่อสารที่รกรุงรังบนเสาไฟฟ้าลงได้

โดยทุกหน่วยงานร่วมบูรณการแบ่งภารกิจหน้าที่ความรับผิดชอบชัดเจน เพื่อดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารตามเป้าหมายที่วางไว้ ตั้งแต่ สำนักงาน กสทช. กำหนดเส้นทางการจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานงานกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และกำกับการจัดระเบียบสายสื่อสาร

กฟน. กำกับดูแลการพาดสายสื่อสาร กำหนดเส้นทางการจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำกับการจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่รับผิดชอบของการไฟฟ้านครหลวง

กฟภ. กำกับดูแลการพาดสายสื่อสาร กำหนดเส้นทางการจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำกับการจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่รับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

และ กทม. อำนวยความสะดวกการจราจรในพื้นที่การจัดระเบียบสายสื่อสาร และประสานงานกับตำรวจ ดูแลและอนุญาตการใช้พื้นที่ทางเท้า รวมถึงการทำความเข้าใจกับประชาชน

ทั้งนี้ การนำสายไฟฟ้าลงดินไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นโครงการที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2527 ในสมัย  ผู้ว่าฯ เทียม มกรานนท์  โดยดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2525-2529) ภายใต้ชื่อโครงการ  “โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน” 

และได้เริ่มดำเนินการจริงๆ ในปี 2559 สมัยผู้ว่าฯ  ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร  โดยได้มีการเซ็นข้อตกลงร่วม (MOU) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหากพิจารณาถึงความล่าช้าของการจัดการนำสายไฟฟ้าทั้งหมดลงดินนั้น ต้องบอกว่าเพราะเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน และแต่หน่วยงานมีแบ่งประเภทสายแยกย่อย ดังนั้น การแก้ปัญหาเรื่องสายไฟฟ้า – สายสื่อสาย ต้องอาศัยการบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565  นายวิศณุ ทรัพย์สมพล  รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังประชุมหารือเรื่องแผนการนำสายไฟลงดิน ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การจัดระเบียบสายสื่อสาร จะมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่ กฟน. มีแผนเอาสายไฟฟ้าลงดิน ก็จะนำสายสื่อสารลงดินด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่วนที่ 2 คือการจัดระเบียบสายสื่อสารตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะได้นัดหารือร่วมกับ กสทช. เพื่อจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่ที่ยังมีเสาไฟฟ้าอยู่ โดยจะตั้งคณะทำงาน เพื่อประสานการทำงานร่วมกับ Operator การสื่อสารหลักๆ อย่างใกล้ชิด

สำหรับแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง ระยะทาง 236.1 กิโลเมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ 62 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 174.1 กิโลเมตร โดยมีหลักเกณฑ์การเลือกพื้นที่โครงการ ประกอบด้วย แนวถนนสายหลัก แนวรถไฟฟ้า ย่านธุรกิจและสถานที่สำคัญ และตามนโยบายของหน่วยงานผู้ดูแลพื้นที่ รูปแบบการก่อสร้าง ประกอบด้วย วิธีการดันท่อ (Pipe Jacking) ใช้สำหรับการก่อสร้างสำหรับวางบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าบนถนนจราจร วิธีการดึงท่อ (Horizontal Directional Drilling : HDD) ใช้สำหรับการก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าจากบ่อพักไปยังจุดจ่ายไฟต่างๆ วิธีการขุดเปิด (Open Cut) ใช้สำหรับการก่อสร้างบ่อพักและวางท่อร้อยสายไฟฟ้าบนทางเท้า

 สรุปได้ว่าภาครัฐอยู่ระหว่างการจัดระเบียบ “สายไฟ – สายสื่อสาร” การปรับทัศนียภาพสายรกรุงรังในเมืองไทยเป็นเรื่องที่ทำได้จริง เพียงแต่อาจจะใช้เวลานานมากเสียหน่อย ซึ่งไม่รู้ว่าต้องรอนานขนาดไหน เปลี่ยนผู้ว่าฯ กทม. กี่สมัย หรือเปลี่ยนรัฐบาลกี่ยุค เท่านั้นเอง! 



กำลังโหลดความคิดเห็น