ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
กำแพงเมืองจีนเป็นหมุดหมายหนึ่งของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปจีน เป็นหนึ่งในโบราณสถานที่คนแทบทั่วโลกรู้จักดี หลายคนตั้งเป้าหมายว่าจะไปเห็นด้วยตาสักครั้งหนึ่งในชีวิต ว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ยิ่งใหญ่สมคำเล่าลือจริงหรือไม่
อันที่จริงแล้วคำว่า “กำแพงเมืองจีน” นี้เป็นคำที่ไทยเราเรียกกันเองเพื่อให้เข้าใจง่าย ว่าหากเอ่ยถึงคำนี้แล้วย่อมหมายถึงกำแพงยักษ์ที่อยู่ที่เมืองจีน เป็นกำแพงที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า The Great Wall แต่จีนไม่ได้เรียกอย่างที่ฝรั่งเรียก หากแต่เรียกว่า วั่นหลี่ฉังเฉิง (万里长城) และชาวจีนมักเรียกกันสั้นๆ ว่า ฉังเฉิง (长城)
คำว่า วั่นหลี่ฉังเฉิง แปลตรงตัวได้ว่า กำแพงยาวหมื่นลี้ คำว่า ลี้ นี้เป็นเสียงจีนแต้จิ๋ว มาจากคำจีนกลางว่า หลี่ อันเป็นพยางค์ที่สองของชื่อกำแพง ส่วนคำว่า วั่น แปลว่า หมื่น ในกรณีนี้อาจหมายถึงหนึ่งหมื่นหรือหมายถึงยาวยิ่งนักก็ได้ และคำว่า ฉังเฉิง แปลว่า กำแพงยาว
เมื่อคำเรียกเป็นเช่นนี้เราก็จะเห็นได้ว่า คำว่า กำแพงเมืองจีน ที่ไทยเราเรียกกันจึงเป็นคำเรียกที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงให้หมายถึงกำแพงดังกล่าว โดยไม่ยึดติดกับความหมายของคำ เพราะหากยึดติดแล้วก็จะมีปัญหาตามมา ด้วยว่าจีนในวันนี้ยังมีกำแพงโบราณหลงเหลืออยู่มากมาย และต่างก็สามารถเป็นกำแพง (ของ) เมืองจีนได้ทั้งนั้น
และเพราะก็เหตุนี้ บทความชิ้นนี้จึงตั้งชื่อให้เฉพาะเจาะจงว่า กำแพงหมื่นลี้ ตามที่จีนเรียก เพื่อให้รู้ว่าเป็นกำแพงยักษ์หรือ The Great Wall อย่างที่ฝรั่งเรียกกัน ส่วนกำแพงอื่นๆ ที่ไม่ใช่กำแพงยักษ์และเป็นกำแพงที่อยู่ใน “เมืองจีน” นั้นจะมีชื่อเรียกเฉพาะอยู่แล้ว และคงไม่นำมากล่าวถึงในที่นี้ เว้นแต่ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ
คำว่า ลี้ หรือ หลี่ เป็นหน่วยวัดความยาวของจีน โดย 1 หลี่ เท่ากับ 0.5 กิโลเมตร ดังนั้น หากกำแพงยาวหนึ่งหมื่นลี้ก็จะยาวเท่ากับ 5,000 กิโลเมตร
แต่ก็ควรกล่าวด้วยว่า ความยาวที่ว่านี้เป็นไปโดยประมาณการ เพราะหากวัดกันจริงๆ แล้วอาจได้ตัวเลขไม่ตรงตามนั้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้วัดด้วยว่าใช้เกณฑ์ใด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกำแพงนี้ไม่เพียงจะเลี้ยวลดคดเคี้ยวเท่านั้น หากแต่ยังมีหลายแห่งที่เป็นกำแพงสาขา ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกำแพงหมื่นลี้เช่นกัน ความยาวที่ว่ามาจึงประมาณโดยใกล้เคียง
ถ้าหากนึกภาพไม่ออกว่าความยาวดังกล่าวยาวแค่ไหน ก็ขอให้นึกถึงความยาวจากเหนือสุดของประเทศไทยที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ไปจนถึงใต้สุดที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีความยาวรวมแล้ว 1,650 กิโลเมตร (บางที่ว่า 1,640 กิโลเมตร) ความยาวของกำแพงเมืองจีนก็จะยาวเท่ากับวิ่งไปกลับเหนือสุดกับใต้สุดของประเทศไทยได้ 1 รอบครึ่ง รวมแล้วเท่ากับ 4,950 กิโลเมตร ขาดอีก 50 กิโลเมตรก็จะครบ 5,000 กิโลเมตร
คิดง่ายๆ ว่า ถ้าคุณอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้แสลม จะวิ่งแบบที่เคยวิ่งแล้ว คุณตูนก็คงต้องวิ่งจากเบตงขึ้นไปถึงแม่สายแล้ววิ่งกลับลงมาเบตงหนึ่งรอบ จากนั้นก็วิ่งกลับขึ้นไปที่แม่สายอีกทีก็จะเท่ากับความยาวของกำแพงเมืองจีน ถึงแม้ตอนที่คุณตูนวิ่งการกุศลเมื่อปี 2560 (2017) จะมีระยะทางเท่ากับ 2,191 กิโลเมตรก็ตาม เพราะคุณตูนไม่ได้วิ่งตรงๆ แบบที่ว่า
ลำพังแค่ความยาวของกำแพงเมืองจีนดังกล่าว เราก็คงพอเห็นภาพความยิ่งใหญ่ของกำแพงอยู่แล้ว แต่ความยิ่งใหญ่ไม่ได้วัดกันเฉพาะที่ความยาวเท่านั้น หากยังวัดกันด้วยรูปแบบของกำแพงในแต่ละจุดแต่ละแห่งอีกด้วย กล่าวคือ นอกจากความยาวแล้วความยิ่งใหญ่ของกำแพงเมืองจีนยังรวมไปถึงป้อมปราการ ความกว้างที่ไม่เท่ากันในแต่ละช่วง ความสูง ความชัน หรือที่ตั้งของกำแพง ซึ่งมีทั้งที่ตั้งอยู่บนภูเขาสูงและที่ราบ ซ้ำที่ราบบางแห่งยังสร้างเป็นค่ายคูประตูหอรบ ฯลฯ ที่ล้วนทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า สร้างได้อย่างไร?
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า กำแพงเมืองจีนหากไม่ถูกก่อด้วยอิฐขนาดเขื่องแล้วก็จะเป็นหินขนาดใหญ่ ซึ่งแต่ละก้อนมีน้ำหนักมาก ภาพที่จินตนาการได้ก็คือ มนุษย์ที่สร้างกำแพงนี้จะต้องแบกอิฐแบกหินขนาดที่ว่าขึ้นบนภูเขาด้วยความยากลำบากเพียงใด ทั้งนี้ยังมินับตอนที่ก่ออิฐถือปูนว่าจะต้องใช้แรงงานอีกเท่าไร และแรงงานแต่ละคนต้องทนทุกข์ทรมานจากความหนาวเหน็บบนภูเขาสูงกันอย่างไร
ผมยังไม่รู้ลืมแม้จนทุกวันนี้ ว่าตอนที่เดินขึ้นกำแพงเมืองจีนครั้งแรกเมื่อปี 1991 นั้นลมหนาวบนภูสูงที่พัดไม่หยุดได้ทำเอาหูทั้งสองข้างของผมหนาวเหน็บมากๆ คือหนาวจนรู้สึกว่าใบหูสองข้างแทบจะแตกเป็นเสี่ยงๆ เลยทีเดียว และทำให้รู้ซึ้งถึงคำกล่าวที่ว่า “ยิ่งสูงยิ่งหนาว” ก็ในคราวนั้นเอง ครั้นขึ้นไปถึงจุดสูงสุดที่กำหนดไว้แล้ว ภาพที่เห็นอยู่เบื้องหน้าไกลออกไปก็คือ กำแพงที่ทอดตัวยาวพาดผ่านเหนือภูเขาลูกแล้วลูกเล่า เหมือนกับงูขนาดใหญ่ที่เลื้อยยาวไปไกลสุดลูกหูลูกตา จนไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลง ณ ที่ใด
แม้จะพอเห็นภาพกำแพงเมืองจีนได้บ้างแล้วว่ายิ่งใหญ่เพียงใด แต่คำถามต่อไปจึงไม่ได้มีเพียงแค่ว่ากำแพงนี้สร้างได้อย่างไรเท่านั้น คำถามที่สำคัญกว่านั้นก็คือ สร้างทำไม?
เพราะการสร้างกำแพงที่มีขนาดและความยาวเช่นนั้น เห็นได้ชัดว่าจะต้องใช้แรงงานตลอดจนทรัพยากรมากมายมหาศาลเพียงใด แน่นอนว่า แรงงานนั้นต้องเป็นเรือนแสนอยู่แล้ว ส่วนทรัพยากรในการสร้างก็ยากที่ประมาณการได้ ที่สำคัญ กำแพงเมืองจีนที่มีขนาดและความยาวดังกล่าว มิได้สร้างเสร็จในยุคเดียวสมัยเดียวหรือโดยจักรพรรดิองค์หนึ่งองค์ใด หากแต่ใช้เวลาก่อสร้างขยายออกไปเป็นระยะๆ ตลอดหลายพันปีที่ผ่านมา
เหตุฉะนั้น คำถามที่ว่าจีนสร้างทำไม? คำตอบที่เป็นสูตรสำเร็จของจีนก็คือ จีนสร้างเพื่อป้องกันการรุกรานของชนต่างชาติพันธุ์ หรือที่เรียกกันว่า ชนชาติที่มิใช่ฮั่น (Non-Han peoples) หรือชนชาติที่มิใช่จีน ชนชาติเหล่านี้โดยหลักแล้วมีอยู่ไม่กี่ชนชาติ แต่ทว่าแต่ละชนชาติยังสามารถแยกเป็นอนุชนชาติลงไปได้อีก ชนชาติเหล่านี้จึงมีอยู่มากมาย โดยเมื่อหลายพันปีก่อนสามารถนับได้หลายร้อยชนชาติเลยทีเดียว
แม้คำตอบจะเป็นเช่นนั้นก็ตาม แต่หากศึกษาลึกลงไปแล้วก็จะพบว่า จีนเองก็เคยเป็นฝ่ายรุกรานชนชาติที่มิใช่จีนมาก่อนเช่นกัน บางกรณีจีนเป็นฝ่ายเริ่มด้วยซ้ำไป คือรุกรานเพื่อขยายดินแดนของตนให้กว้างไกลออกไป ซึ่งก็หมายความว่าจีนได้ยึดครองดินแดนของชนชาติที่มิใช่จีนนั้นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ย่อมทำให้ชนชาติที่มิใช่จีนผูกใจเจ็บเป็นธรรมดา
ชนชาติใดตั้งตัวได้ก็จะโจมตีจีนเป็นการเอาคืน ชนชาติที่ตั้งตัวไม่ได้ก็จะถูกจีนกลืนไปหลังจากที่จีนยึดครองไปนานนับร้อยนับพันปี แต่หากถามว่า มีชนชาติใดที่ไม่เคยมีเรื่องบาดหมางกับจีนมาก่อนแล้วบุกตีจีนบ้างไหม? คำตอบคือ มีเช่นกัน ถ้าเป็นกรณีนี้ กำแพงเมืองจีนที่สร้างขึ้นก็จะปกป้องจีนได้เป็นอย่างดี
ด้วยประวัติความเป็นมาที่ยาวนานก็ดี ลักษณะการสร้างในเชิงสถาปัตยกรรมก็ดี หรือความยาวและขนาดของกำแพงก็ดี ทำให้กำแพงเมืองจีนได้รับการรับรองให้เป็นมรดกโลกในปี 1987 โดยข้อความที่ระบุถึงเหตุผลและความสำคัญของกำแพงเมืองจีนมีดังนี้
“ก.ค.ศ.220 (ก.ค.ศ. ย่อมาจาก ก่อนคริสต์ศักราช) ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิฉินสื่อ (จิ๋นซีฮ่องเต้) ป้อมปราการต่างๆ ได้ถูกเชื่อมอย่างเป็นระบบเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อต้านการรุกรานที่มีมาจากทางเหนือ การก่อสร้างมีมาอย่างต่อเนื่องจนถึงสมัยราชวงศ์หมิง (1386-1644) จนมหากำแพง (the Great Wall) นี้ได้กลายเป็นสิ่งก่อสร้างทางการทหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก ความสำคัญที่บรรสานกันทั้งในทางประวัติศาสตร์และยุทธศาสตร์ของกำแพงนี้ จึงทรงความหมายในเชิงสถาปัตยกรรมอย่างยิ่ง”