xs
xsm
sm
md
lg

ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตอนที่ ๑๑ : สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า หกแผ่นดินแห่งการพลัดพราก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล (Citizen data sciences)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงดำรงพระชนม์ชีพผ่านหกแผ่นดิน (รัชกาลที่ 4-รัชกาลที่9) แห่งการพลัดพรากและได้เฝ้าพระเจ้าแผ่นดินถึง ๗ พระองค์ (รัชกาลที่ ๔-รัชกาลที่ ๑o) (โปรดอ่านได้จากบทความสมเด็จหกแผ่นดินผู้ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน ๗ พระองค์ https://mgronline.com/daily/detail/9640000088285)

การที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงขึ้นและทรงตกทั้งยังทรงประสบกับความสูญเสียและการพลัดพรากตลอดเวลาทำให้ทรงดำรงไว้อยู่ในความไม่ประมาท การเตรียมพระองค์สำหรับเหตุการณ์ต่างๆ ในพระชนม์ชีพคือการออมและการลงทุน ความประหยัดมัธยัสถ์และความขยันหมั่นเพียรของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทำให้ราชสกุลมหิดลมีทรัพย์สินมั่นคงและส่งผลให้มีทรัพย์สินในพระองค์สืบทอดมาถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงปรารภว่าทรงเปลี่ยนชื่อจนจะจำชื่อตัวเองไม่ได้อยู่แล้ว

พระนามแรกคือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยมหรือสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ทรงใช้พระนามนี้จนสิ้นรัชกาลที่ 4

พระนามที่สอง คือ พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตนั้น สมเด็จฯ มีพระชนมายุแค่ ๖ พระชันษา พระนามนี้ทรงใช้ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อนที่จะทรงรับราชการเป็นพระภรรยาเจ้า

พระนามที่สาม คือ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เป็นพระนามหลังจากที่ได้มีการสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของไทยในปี พ.ศ. ๒๔๒๙

พระนามที่สี่ คือ สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงใช้พระนามนี้ตลอดรัชกาลที่ ๖-๗ ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระนามที่ห้า คือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงใช้พระนามนี้เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จขึ้นครองราชสมบัติและใช้มาจนกระทั่งสมเด็จฯ เสด็จสวรรคตในตอนต้นของรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

ตลอดพระชนม์ชีพ สมเด็จฯ ทรงต้องพบกับการพลัดพรากและความสูญเสียใดบ้าง

ในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต

ในปี พ.ศ. ๒๔๒๒ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ พระราชธิดาพระองค์โตสิ้นพระชนม์หลังประสูติไม่ถึงหนึ่งเดือน

ในปี พ.ศ. ๒๔๒๓ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระเชษฐภคินีร่วมพระครรโภทร เสด็จสวรรคตด้วยเหตุการณ์เรือล่มพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี พระราชธิดา และพระราชบุตรในพระครรภ์

ในปี พ.ศ. ๒๔๒๔ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน ขัตติยราชกุมารี พระราชธิดาพระองค์ที่สองสิ้นพระชนม์หลังประสูติเพียงไม่กี่เดือน

ในปี พ.ศ. ๒๔๓๘ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรกของไทย พระราชโอรสองค์โตของสมเด็จฯ เสด็จทิวงคตกะทันหันด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย เหตุการณ์คราวนั้นทำให้ทรงเสียพระทัยมากจนประชวรหนัก

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี พระราชธิดาพระองค์ที่ ๔ สิ้นพระชนม์เมื่อราว 10 พระชันษา

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ (2442) พระราชโอรสพระองค์ที่สอง สิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษา ๑๗ ปี

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา พระราชมารดาของสมเด็จสิ้นพระชนม์

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสวามีเสด็จสวรรคต

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระขนิษฐาร่วมพระครรโภทรเสด็จสวรรคต สมเด็จฯ ทรงเป็นแม่งานจัดถวายพระเพลิงพระศพ

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวรรคต ก่อนสวรรคตได้ทรงให้สมเด็จฯ ไปเข้าเฝ้าและรับสั่งฝากพระราชธิดาพระองค์เดียวอายุไม่ถึงหนึ่งวันคือสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีให้สมเด็จป้าฯ ทรงเลี้ยงดูแล

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชโอรสองค์สุดท้อง สิ้นพระชนม์ต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จฯ ณ วังสระปทุม

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงษ์สนิท พระราชธิดาบุญธรรมที่ทรงเลี้ยงมาเนื่องจากเจ้าจอมมารดา หม่อมราชวงศ์ เนื่อง สนิทวงศ์ ถึงแก่อนิจกรรมและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอุ้มมาพระราชทานให้สมเด็จฯ พร้อมตรัสว่าให้มาเป็นลูกแม่กลาง สิ้นพระชนม์ลง

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สละราชสมบัติที่ประเทศอังกฤษ

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ พระราชโอรสบุญธรรมที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ประสูติเพราะเจ้าจอมมารดา หม่อมราชวงศ์ เนื่อง สนิทวงศ์ ถึงแก่อนิจกรรมและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอุ้มมาพระราชทานให้สมเด็จฯ พร้อมตรัสว่าให้มาเป็นลูกแม่กลาง ถูกต้องโทษคดีการเมืองและถูกจำคุก ณ บางขวาง และถูกถอดพระราชอิสริยยศลงมาเป็นนักโทษชายรังสิต ทำให้สมเด็จฯ เสียพระทัยและคับแค้นพระทัย ถึงกับตรัสว่า ลูกตายยังไม่เสียใจ นี่รังแกกันถึงเพียงนี้

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชธิดาพระองค์ที่สามสิ้นพระชนม์ และรัฐบาลไม่จัดถวายพระเพลิงพระบรมศพออกงานพระเมรุมาศให้ สมเด็จฯ ต้องทรงออกค่าใช้จ่ายในการออกพระเมรุมาศเองทั้งหมด

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต ณ ประเทศอังกฤษ

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระราชนัดดาองค์โตเสด็จสวรรคต โดยต้องพระแสงปืน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จฯ ในเวลานั้นทรงไม่มีพระสัญญา หรือทรงลืมเรื่องต่างๆ ไปจนหมดสิ้นแล้ว ตามที่ได้ทรงอธิษฐานว่าขอให้ลืม ข้าหลวงในวังสระปทุมต้องพากันช่วยปิดข่าวมิให้ทรงทราบการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ดังกล่าว

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย พระราชธิดาบุญธรรมที่สมเด็จฯ ทรงหวังว่าจะได้จัดการถวายพระศพของสมเด็จก็สิ้นพระชนม์ไปก่อนสมเด็จ

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสบุญธรรม สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคหอบหืด ณ วังวิทยุ

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกา เสด็จสวรรคตที่วังสระปทุม ในยามดึก โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงถวายบังคมกราบพระบาทที่ปลายเตียงพระแท่นบรรทม และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร พระราชธิดาบุญธรรมพระองค์สุดท้ายที่ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่เป็นผู้รับหน้าที่ในการจัดการพระศพ

ในตลอดเวลาหกแผ่นดินแห่งการพลัดพราก สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ไม่เคยทรงประมาท ทรงประหยัดมัธยัสถ์ ทรงอดออมและทรงลงทุนไว้ทำให้ราชสกุลมหิดล มีทรัพย์สินในพระองค์ที่นำมาทรงใช้เป็นประโยชน์สำหรับประเทศชาติและประชาชนตราบจนทุกวันนี้

ภาพการเสด็จออกงานครั้งสุดท้ายของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเมื่อคราวพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ เฉลียงพระตำหนักใหญ่วังสระปทุม โดยทรงรับการถวายดอกไม้ธูปเทียนแพ


กำลังโหลดความคิดเห็น