xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ตำรวจขู่! ค้างจ่ายใบสั่ง ออกหมายจับ ผู้พิพากษาแย้ง! เป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สถิติปี 2564 มีการออกใบสั่งมากกกว่า 10 ล้านใบ แต่มีผู้มาจ่ายค่าปรับใบสั่งเพียง 10% เท่านั้น ส่วนความผิดที่ฝ่าฝืนมากที่สุด อันดับ 1 ขับรถเร็ว อันดับ 2 ฝ่าฝืนสัญญาณไฟ

สะท้อนให้เห็นว่าผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรจำนวนมาก “เพิกเฉย” และ “ละเลย” ที่จะการปฎิบัติตามกฎหมาย อีกทั้งที่ผ่านมาพบผู้กระทำผิดมีจำนวนมาก แถมมีพฤติการณ์ทำผิดซ้ำๆ เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนและปัญหาจราจร 


ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติยกระดับเอาผิดผู้ฝ่าฝืนกฎหมายจราจรต่อเนื่อง ตั้งแต่คุมเข้มตั้งแต่เพิ่มโทษปรับ ตัดแต้ม พักใบขับขี่ ล่าสุด ออกแนวทางการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดกฎจราจร และไม่มาชำระค่าปรับภายในระยะเวลา

หากกระทำผิดแล้วได้ใบสั่ง แต่ไม่ชำระค่าปรับ จะออกใบเตือน 1 ครั้ง หมายเรียก 2 ครั้ง ก่อนขออนุมัติศาลออกหมายจับ ซึ่งผลกระทบที่ตามมาคืออาจถูกตำรวจจับกุมตัว มีประวัติอาชญากรรม กระทบทำนิติกรรม สมัครงาน เดินทางไปต่างประเทศ

โดยมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. 2565 และสามารถตรวจสอบย้อนหลังใบสั่งที่ยังไม่หมดอายุความ (ระยะเวลา 1 ปี) โดยเน้นกรณีกระทำผิดช้ำบ่อยครั้งก่อน

 พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก  รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวถึงแนวทางการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดกฎจราจร และไม่มาชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด พบมีจำนวนมาก และมีพฤติการณ์ทำผิดซ้ำๆ ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหาผู้กระทำความผิดด้านการจราจรแล้วไม่มาชำระค่าปรับ จนกลายเป็นพฤติกรรมเคยชิน บางรายกระทำผิดช้ำสูงถึง 59 ครั้ง พฤติกรรมเหล่านี้เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนและปัญหาจราจร และเพื่อลดผลกระทบจึงกำหนดมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ดังนี้

1. เจ้าพนักงานจราจรออกใบสั่งให้ผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ทั้งแบบซึ่งหน้าและตรวจจับด้วยกล้องระยะเวลาเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

2.กรณีผู้กระทำความผิดไม่มาชำระค่าปรับ เมื่อพ้นระยะเวลาจะออกใบเตือน จัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับภายใน 15 วัน และต้องชำระค่าปรับภายใน 15 วัน นับแต่วันรับแจ้ง

3. กรณีพ้นระยะในใบเตือนแล้วยังไม่มาชำระค่าปรับ นอกจากส่งข้อมูลไปยังกรมการขนส่งทางบก เพื่อดำเนินมาตรการงดออกเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปีแล้ว พนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกให้มาชำระค่าปรับ หากไม่มาพบตามหมายเรียกทั้ง 2 ครั้ง พนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องขออนุมัติศาลในเขตพื้นที่เพื่อออกหมายจับ

4. กรณีถูกออกหมายเรียก หรือหมายจับ จะถูกแจ้งข้อหาตามใบสั่ง และแจ้งความผิดข้อหาตามมาตรา 155 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ม.141 (ชำระค่าปรับในเวลาที่กำหนดในใบสั่ง) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ในขั้นตอนนี้ผู้ต้องหาต้องเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเองที่สถานีตำรวจที่ออกหมายเรียก หมายจับ ไม่สามารถชำระผ่านช่องทางอื่นๆได้

5. ผลกรณีถูกออกหมายจับในคดีอาญาจะถูกบันทึกในฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมตามหมายจับ, หากบุคคลที่มีหมายจับเดินทางออกนอกประเทศจะถูกจับ และเกิดความยากลำบาก, ถูกบันทึกในทะเบียนประวัติซึ่งอาจส่งผลต่อการประกอบอาชีพการทำงาน กรณีหน่วยงานสอบถามประวัติคดีอาญา และเกิดความยากลำบากและความน่าเชื่อถือในการทำนิติกรรม

และ 6.กรณีผู้ต้องหามาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเองหรือถูกจับกุม และยินยอมเปรียบเทียบปรับให้คดีอาญาเลิกกัน

ทั้งนี้ ความมุ่งหวังของการบังคับใช้กฎหมายที่แท้จริงของการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรและไม่มาชำระค่าปรับ คือต้องการลดปัญหาการจราจรและอุบัติเหตุ โดยมีแนวทางให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพเข้มข้นมากขึ้น

โดบกรณีผู้กระทำผิดจะออกใบสั่ง 3 รูปแบบ ได้แก่ การเขียนใบสั่งเล่ม, ใบสั่งจากภาพกล้องวงจรปิดส่งไปทางไปรษณีย์ และใบสั่งจากเครื่อง E-TICKET และเมื่อออกใบสั่งไปแล้ว แต่ผู้กระทำผิดไม่มาชำระค่าปรับ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะออกหนังสือเตือน 1 ครั้ง หลังจากนั้นหากยังไม่ชำระค่าปรับอีก จะมีการแจ้งความดำเนินคดี และออกหมายเรียกไปยังผู้กระทำความผิด 2 ครั้ง หากไม่มาจ่ายอีก จะเสนอศาลเพื่อขออนุมัติออกหมายจับ
“เน้นย้ำว่ากรณีที่ท่านโดนใบสั่งแล้วไม่มาชำระค่าปรับ การดำเนินการครั้งนี้จะเป็นแนวทางไปสู่การออกหมายจับ” พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. กล่าว

และผลกระทบหลังออกหมายจับจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตหลายเรื่อง ซึ่งตำรวจจะประสานฝ่ายปกครอง ทำให้ผู้กระผิดเสียสิทธิในการทำนิติกรรมต่างๆ เพราะถูกนำชื่อไปสู่ทะเบียนกลาง ชื่อจะอยู่ในสารบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ใดก็ตาม ตำรวจสามารถเข้าจับกุมได้ ส่วนกรณีที่ต้องการเดินทางออกนอกประเทศ ข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทำให้เกิดความยากลำบากในการเดินทาง และมีชื่อในกองทะเบียนประวัติอาชญากร กระทบความเชื่อมั่นเมื่อต้องการสมัครงานใหม่

ขณะที่ **พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ** ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง (ผบก.ทล.) เปิดเผยว่าบางรายมีการกระทำความผิดซ้ำถึง 80 - 100 ครั้ง และไม่ชำระใบสั่งค่าปรับจราจร ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมทาง และเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น จึงมีการสั่งการให้ตรวจสอบและเร่งดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดหลายราย

รวมทั้ง มีการนำร่องโครงการการดำเนินคดีกับผู้เพิกเฉยต่อใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร ซึ่งในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พบวข้อมูลจากระบบ Police Ticket Management ปี 2564 จังหวัดเชียงราย มีผู้ครอบครองรถยนต์ที่กระทำความผิดและได้รับใบสั่งเกิน 10 ครั้ง จำนวนทั้งสิ้น 1,237 ราย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดของจังหวัดเชียงราย จำนวน 1.3 ล้านคน ถือได้ว่ามีผู้กระทำความผิดซ้ำในจำนวนไม่มาก พร้อมกันนี้จะมีการพัฒนาระบบ PTM หรือระบบจัดการใบสั่งออนไลน์ทั่วประเทศ สามารถตรวจสอบดำเนินคดีกับผู้ที่มีใบสั่งค้างชำระในสถานีตำรวจทั่วประเทศ คาดว่าจะเสร็จสิ้นเร็วๆ นี้

โดยหลักการสำคัญแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับโทษปรับ ค่าปรับไม่ใช่ค่าธรรมเนียมในการกระทำความผิด ค่าปรับกำหนดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้คนกระทำความผิด ต้องตระหนักว่าการขับรถโดยไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อตัวผู้ขับขี่เอง และเพื่อนร่วมทางที่ใช้ถนนร่วมกัน ดังนั้น การบังคับใช้กฎหมายป็นการสะท้อนให้ผู้ขับขี่เห็นว่ากำลังละเมิดกฎแห่งความปลอดภัยบนท้องถนน

โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลใบสั่งผ่านระบบออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ ptm.police.go.th/eTicket

 อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งจากใบสั่งจราจร ระบุว่า 50 เปอร์เซ็นต์แรก จะถูกส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกรณีของตำรวจนครบาล เงินส่วนนี้ก็ตกเป็นของกรุงเทพมหานคร และจะนำ 50 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือมาคิดเป็น 100 เปอร์เซนต์ใหม่ แบ่งรอบตัด 5 เปอร์เซนต์เข้าคลังเป็นรายได้แผ่นดิน แล้ว 45 เปอร์เซนต์สุดท้าย จะเป็นเงินรางวัลจราจร โดยตำรวจผู้ออกใบสั่งจะได้ส่วนแบ่งจากตรงนี้ 60 เปอร์เซ็นต์ และผู้สนับสนุน 40 เปอร์เซ็นต์ คิดคร่าวๆ คือค่าปรับ 100 บาท ตำรวจคนจับจะได้เงิน 27 บาท ซึ่งมีการกำหนดเพดานว่าตำรวจจราจร จะได้เงินส่วนแบ่งจากใบสั่ง ไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท 

ปฏิเสธไม่ได้มาตรการฮาร์ดคอร์คุมวินัยจราจรที่ทางตำรวจบังคับใช้เกี่ยวกับค่าปรับจราจร แม้เจตนาดีแต่ตามมาซึ่งเสียงวิพากษ์จากประชาชน เกิดคำถามว่าการทำผิดกฎหมายจราจรค้างชำระค่าปรับ เป็นอาชญกรรมร้ายแรงถึงขั้นต้องออกหมายจับเลยอย่านั้นเหรอ ประชาชนจำนวนมากยังมองว่าเป็นการซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ เป็นช่องโหว่ให้ตำรวจนอกแถวรีดเงินจากประชาชน

แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นการขออนุมัติหมายจับในคดีความผิดตามใบสั่งจราจร พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่ออกโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นเรื่องยากในทางปฎิบัติ หากพิจารณาตามบทวิเคราะห์ในเชิงกฎหมายของ  นายสันติ ผิวทองคำ ผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระยอง ระบุความว่า

“หากพิจารณาจากข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกล่าวโดยสรุป (1) คดีความผิดตามใบสั่ง กฎหมายถือเป็นคดีความผิดลหุโทษ มีอายุความเพียง 1 ปี
(2) การดำเนินคดีกรณีไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถเป็นผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรตามภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิด หรือกล้อง CCTV หรือไม่ ตำรวจหรือพนักงานจราจรต้องให้โอกาสเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองโต้แย้งตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 140 ถึงมาตรา 141/1 เสียก่อน กรณีหาอาจขออนุมัติศาลออกหมายจับทันทีนั้นหาอาจทำได้ไม่

(3) กรณีตำรวจหรือเจ้าพนักงานจราจรประสงค์จะขอหมายจับต้องเข้ากล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน และพนักงานสอบสวนต้องรวบรวมพยานหลักฐาน และออกหมายเรียกเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองให้มาพบอย่างน้อย 2 ครั้ง และการส่งหมายเรียกต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ป.วิ.อาญา และต้องมั่นใจว่าเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองได้รับหมายเรียกแล้ว จงใจไม่ยอมไปพบพนักงานสอบสวน ตามที่กำหนด

(4) ศาลต้องพอใจกับพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนกล่าวคือพยานหลักฐานต้องเพียงพอเชื่อได้ว่าเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองเป็นผู้ขับขี่รถในวันเกิดเหตุและจงใจไม่ยอมไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกถึง 2 ครั้ง 2 คราว และคดีของพนักงานสอบสวนไม่ขาดอายุความ
ศาลจึงจะพิจารณาขออนุมัติหมายจับเจ้าของรถหรือผู้ครอบครอง ตามที่ร้องขอ กรณีหาอาจอนุมัติหมายจับตามใจเจ้าพนักงานตำรวจไม่
เพราะศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนในการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาแก่สังคม

(5) แม้ศาลอนุมัติหมายจับแก่เจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวน เจ้าพนักงานตำรวจ ก็ต้องติดตามตัวเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองมาแจ้งข้อหาให้ได้ภายใน 1 ปีนับแต่วันเกิดเหตุ และแม้จะพบตัวเจ้าของรถก็ไม่อาจควบคุมตัว หรือควบคุมขังได้เพราะเป็นเพียงคดีความผิดเล็กน้อย หรือลหุโทษ คงได้แต่เพียงสอบถามชื่อนามสกุล และแจ้งข้อหาให้ทราบแล้วต้องปล่อยตัวไปโดยพลันเท่านั้น
(6) จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการขออนุมัติศาลออกหมายจับในคดีความผิดตามใบสั่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกฎหมายมองว่าเป็นเพียงคดีความผิดที่มีโทษเพียงเล็กน้อยและเป็นคดีลหุโทษ จึงกำหนดเงื่อนไขไว้ค่อนข้างเคร่งครัด

ผู้ใช้รถใช้ถนนหรือเจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถ จึงไม่ควรกังวลกับข่าวที่แพร่ออกทางสื่อสารมวลชนดังกล่าวมากจนเกินไป
เพราะการอนุมัติหมายจับเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถในคดีความผิดตามใบสั่ง เป็นดุลพินิจของศาล หาใช่เป็นดุลพินิจของตำรวจไม่!?!”

 สำหรับมาตรการเข้มข้นเพื่อควบคุมวินัยจราจร อาจเป็นเพียงการกระตุ้นให้ผู้ขับขี่ตระหนักแม้เพียงสักนิดถึงความปลอดภัยบนท้องถนน แต่ในเชิงปฏิบัติอาจไม่เป็นผลเท่าใด หากตัวผู้ขับขี่ขาดจิตสำนักสาธารณะ ไร้ซึ่งความรับผิดชอบต่อตัวเองและผู้อื่น เพราะท้ายที่สุดแล้วมาตรการที่ดูเหมือนจะฮาร์ดคอร์ “ค้างจ่ายใบสั่งออกหมายจับ” ในเชิงปฏิบัติกลับไม่ใช่เรื่องง่าย! 


กำลังโหลดความคิดเห็น