ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เปิดประเด็นฮือฮาว่า คนไทย “เหมือนถูกโดนปล้น” จากค่ากลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 10 เท่า ของ “นายกรณ์ จาติกวณิช” หัวหน้าพรรคกล้า ทำเอารัฐบาลก้นร้อนไปตามๆ กัน เพราะเป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะแม้ว่า ข้อมูลของนายกรณ์จะไม่ตรงกับที่กระทรวงพลังงานชี้แจง แต่ค่ากลั่นลิตรละ 5 บาทกว่าเมื่อเทียบกับต้นปีนี้อยู่ที่บาทกว่าๆ หรือเฉลี่ยก่อนหน้าที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่ 2 บาทกว่าๆ ต่อลิตร ยังไงก็ต้องบอกว่าสูง
โดยข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนคือ การที่ “กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน” รวยกันอู้ฟู่ ผลประกอบการไตรมาส 1/2565 ที่ออกมากำไรสวยงาม โรงกลั่นที่ทำกำไรต่ำสุดคือ 1.5 พันล้านบาท ส่วนโรงกลั่นที่ทำกำไรได้สูงสุดพุ่งทะยานถึง 7 พันล้านบาทกันเลยทีเดียว
แล้วก็ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น หากแต่หลายประเทศก็เผชิญกับปัญหานี้ ไม่เว้นแม้แต่ “สหรัฐอเมริกา”
อันที่จริงเรื่องค่ากลั่นที่เพิ่มขึ้นสูงมากนั้น เป็นเรื่องที่ “กระทรวงพลังงาน” ศึกษาและหาทางแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง ด้วย “การคิดค่าการกลั่นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากในทางเทคนิค” โดยเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2565 กระทรวงพลังงานได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาศึกษา โจทย์ใหญ่ใจความก็คือ หาทางลดค่ากลั่น หรือเจียดเงินจากค่ากลั่นนำมาเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อช่วยเหลือประชาชน
นอกจากนั้น คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงวิกฤต” ขึ้นมา โดยมี นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาประเด็นเรื่อง “ค่าการกลั่นน้ำมัน” ที่กำลังเป็นข้อกังขาในสังคมว่า โรงกลั่นฉวยโอกาสขึ้นค่าการกลั่นแพงเกินไปหรือไม่ โดยขีดเส้นภายในเดือนมิถุนายนนี้ต้องได้คำตอบ
เหตุที่ต้องตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมา และมอบดาบให้กระทรวงพาณิชย์ไปดำเนินการ เพราะกระทรวงพลังงานไม่ได้ควบคุมค่าการกลั่น แต่ใช้วิธีติดตามและประเมินสถานการณ์พลังงานกำหนดเป็นข้ออ้างอิงเท่านั้น กบง.จึงหวังให้กระทรวงพาณิชย์ ใช้เครื่องมือด้านกฎหมาย อย่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เข้ามาดูแลโครงสร้างราคาค่าการกลั่นพอเหมาะพอควรหรือไม่ มากไปหรือน้อยไป ส่วนที่เกินไปเอาไปลดราคาน้ำมันได้ไหม
แต่ท่าทีล่าสุดของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กลับ “โบ้ยบ้าย” เมื่อวันก่อนว่า กระทรวงพาณิชย์ดูแลน้ำมันแค่เรื่องการปิดป้ายแสดงราคาที่ปั๊มน้ำมัน และมาตรวัดหัวจ่าย ตาม พ.ร.บ.ชั่งตวงวัด เป็นหลักเท่านั้น ก็เห็นได้ชัดว่า ไม่ได้ต่างอะไรกับ “การปัดสวะ” ที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า รมว.พาณิชย์ นอกจากจะเป็นประธานกรรมการ กกร. แล้ว ยังดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ส่วนปลัดกระทรวงพาณิชย์นอกจากเป็นรองประธานกรรมการ กกร. แล้วยังดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ขณะที่อธิบดีกรมการค้าภายใน ซึ่งเป็นเลขาธิการของสำนักงานคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (สำนักงาน กกร.) ก็เป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) อีกด้วย
ดังนั้น พาณิชย์จึงรับทราบสถานการณ์พลังงานในประเทศเป็นอย่างดี สามารถเสนอ กกร.พิจารณาใช้อำนาจตาม มาตรา 25 ตาม พ.ร.บ.ว่า ด้วยราคาสินค้า และบริการฯ กับสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซปิโตรเลียมเหลวได้ทันที เนื่องจากน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซปิโตรเลียมเหลว ถูกกำหนดเป็นสินค้าควบคุมอยู่แล้ว
เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนลอยมาทันทีในทำนองเปรียบเปรยว่า “มาม่าไม่ให้ขึ้น แต่ค่ากลั่นไม่ให้ลด” ซึ่งเป็นคำกล่าวที่สะท้อนภาพการบริหารงานออกมาได้อย่างชัดเจน ทำให้ประชาชนที่แบกภาระค่าน้ำมันพุ่งกระฉูดอยู่ในเวลานี้ต้องส่ายหน้าไปตามๆ กัน ทั้งๆ ที่สองเรื่องมีความสัมพันธ์ โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เจอสองเด้งจากวิกฤติการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน
อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่า แนวทางหารือเรื่องค่าการกลั่นนอกจากการขอความร่วมมือให้โรงกลั่นลดกำไรค่ากลั่นลงเพื่อช่วยลดราคาน้ำมันสำเร็จรูปแล้ว ยังมีการหยิบยกเรื่องการเรียกเก็บภาษี (tax) ค่าการกลั่นในลักษณะเดียวกันกับ ภาษีลาภลอย หรือ windfall tax แต่แนวทางนี้ต้องมีการแก้กฎหมายซึ่งใช้เวลานาน และเสี่ยงต่อการทำผิดกฎการค้าเสรีที่รัฐเชิญชวนต่างชาติมาลงทุนตั้งโรงกลั่นในประเทศ ส่วนอีกแนวทางคือใช้อำนาจตามพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ ตามาตรา 14 ให้โรงกลั่นนำส่งส่วนเกินจากอัตราปกติเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อมาอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศ ซึ่งดูทรงแล้วจากท่าทีของ “นายกฯลุง” ก็คงใช้แนวทาง “ขอความร่วมมือ” ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุด
มีรายงานข่าวว่า เบื้องต้นจากการหารือกัน โรงกลั่นทั้ง 6 แห่งในปัจจุบันคือ TOP-PTTCG-IRPC-BCP-SPRC-ESSO ยินดีให้ความร่วมมือ โดยเม็ดเงินที่จะช่วยรัฐบาล คาดว่าจะอยู่ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท
หากย้อนกลับมาดูข้อมูลและตัวเลขค่ากลั่นน้ำมันที่ปรากฏออกมาจะเห็นว่า ประเทศไทยมีโรงกลั่น 6 โรง ส่วนใหญ่เป็นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กระบวนการคือซื้อน้ำมันดิบจากต่างประเทศ เข้าสู่กระบวนการการกลั่น และขายน้ำมันที่กลั่นแล้ว บางส่วนขายในประเทศ บางส่วนส่งออกต่างประเทศ แล้วปล้นอย่างไร? พรรคกล้ามีข้อมูลเปรียบเทียบค่าการกลั่น เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2563 เทียบกับเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2564 เทียบกับเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2565 ดังนี้
ปี 2563 ราคาน้ำมันดิบอ้างอิงจากราคาน้ำมันดูไบ อยู่ที่ 8.10 บาทต่อลิตร เป็นต้นทุนของโรงกลั่นที่ต้องซื้อน้ำมันดิบเข้ามา เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการการกลั่น เฉลี่ยออกมาเป็นราคาน้ำมันสำเร็จรูป 8.98 บาทต่อลิตร หักลบกันกลายเป็น ค่าการกลั่น 0.88 บาทต่อลิตร
ปี 2564 ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจาก 8.10 บาทต่อลิตร เป็น 14.01 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันสำเร็จรูป 14.88 บาทต่อลิตร แต่ส่วนต่างหรือค่าการกลั่นใกล้เคียงเท่าเดิม คือ 0.87 บาทต่อลิตร
ปี 2565 ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจาก 14.01 บาทต่อลิตร เกือบเท่าตัว เป็น 25.92 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันสำเร็จรูป 34.48 บาทต่อลิตร เท่ากับค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นมาเป็น 8.56 บาทต่อลิตร
“เท่ากับว่าค่าการกลั่น เพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า ทั้งที่ต้นทุนการกลั่นไม่ได้เปลี่ยนเลย วัตถุดิบสูงขึ้น ราคาขายก็สูงขึ้น แต่ส่วนต่างส่วนกำไรของเหล่าโรงกลั่นของไทยนั้นเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า ราคาที่เพิ่มขึ้นนี้คือภาระของประชาชน ภาระการชดเชยของกองทุนน้ำมันฯ ที่ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องติดลบเป็นหนี้มากถึงขนาดนี้ และไม่มีคำอธิบายว่าทำไมรัฐบาลถึงปล่อยให้มีการฟันกำไรในระดับที่สูงมากอย่างนี้ในช่วงที่ประชาชนและประเทศชาติเดือดร้อนอยู่” นายกรณ์ ตั้งคำถาม และให้ข้อมูลว่า โรงกลั่นมีทั้งของคนไทยและต่างชาติ โดย บมจ.ปตท.ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจมีกำลังการกลั่น 70% ของกำลังการผลิต
หัวหน้าพรรคกล้า เสนอว่า ควรมีการกำหนดเพดานค่ากลั่นที่เหมาะสมเพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้ ไม่เอากำไรเกินควร และเก็บภาษีลาภลอย (Windfall tax) เพราะราคาน้ำมันในตลาดสิงคโปร์มีราคาที่ปรับสูงขึ้น ยังไม่นับรวมสต๊อกน้ำมันที่ซื้อมาในราคาที่ถูกขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นรวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการได้กำไรจากส่วนต่างตรงนั้น การเก็บภาษีลาภลอยเป็นการช่วยทำให้เอากำไรที่ได้กำไรเกินควรมาเติมเงินให้กองทุนน้ำมันเพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งพรรคกล้าได้ร่างกฎหมายภาษีลาภลอยขึ้นมาแล้ว จะล่าชื่อสนับสนุนเพื่อยื่นให้รัฐบาลและสภาฯ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงาน โดย นายสมภพ พัฒนอริยางกู โฆษกกระทรวงพลังงาน ออกมาโต้และแจกแจงสูตรค่าการกลั่นน้ำมันว่า จากการตรวจสอบโครงสร้างค่าการกลั่นน้ำมันของประเทศไทย โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พบว่าค่าการกลั่นเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค. - พ.ค. 2565) อยู่ที่ 3.27 บาทต่อลิตร และในเดือน พ.ค. 2565 ค่าการกลั่นอยู่ที่ 5.20 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงขึ้นจากในสภาวะปรกติก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เคยอยู่ที่ประมาณ 2.00 - 2.50 บาท แต่ค่าการกลั่นที่สูงขึ้นนี้ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าการกลั่นในตลาดโลกที่เริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดและปัญหาความไม่สงบระหว่างรัสเซีย - ยูเครน
สำหรับค่าการกลั่นน้ำมันคือ กำไรเบื้องต้นของโรงกลั่นน้ำมันก่อนหักค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าบำรุงรักษาโรงกลั่น เป็นต้น กำไรของโรงกลั่นยึดโยงกับต้นทุนราคาน้ำมันดิบและราคาขายน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นได้ ซึ่งค่าการกลั่นเป็นการบริหารจัดการธุรกิจของแต่ละโรงกลั่น
ทั้งนี้ สนพ. มีวิธีการคำนวณจากส่วนต่างของราคา ณ โรงกลั่น (เฉพาะส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิล) ของน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักด้วยสัดส่วนของปริมาณการผลิตของประเทศ กับราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 3 แหล่ง (น้ำมันดิบดูไบ โอมาน และทาปิส) การนำเอาราคาน้ำมันดิบมาหักจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปชนิดเดียวโดยตรง ไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นค่าการกลั่นได้ เนื่องจากโรงกลั่นมีผลิตภัณฑ์หลายประเภทที่ได้จากน้ำมันดิบซึ่งมีราคาต่างกันดังนั้นค่าการกลั่นน้ำมันซึ่งเผยแพร่หรือส่งต่ออยู่นี้ น่าจะเกิดจากความคลาดเคลื่อนในการคำนวณค่าการกลั่นเพราะจากการตรวจสอบค่าการกลั่นที่คำนวณโดย สนพ. ในเดือน พ.ค. 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 5.20 บาทต่อลิตร และช่วง10 ปีที่ผ่านมาค่าการกลั่นน้ำมันเฉลี่ยในระดับปกติจะอยู่ที่ประมาณ 2.00 - 2.50 บาทต่อลิตร
สำหรับในช่วงปี 2563 - 2564 ค่าการกลั่นน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 0.70 บาทต่อลิตร และ 0.89 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับปกติ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันลดลงเนื่องจากมีการจำกัดการเดินทาง ส่งผลให้ค่าการกลั่นอ่อนตัวอยู่ในระดับที่ต่ำ จึงไม่สามารถนำข้อมูลในช่วงปี 2563 และ 2564 มาเปรียบเทียบได้เนื่องจากเป็นสภาวะที่ไม่ปกติและอาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการสื่อความได้
ส่วนสถานการณ์ปัจจุบัน ค่าการกลั่นที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันอ้างอิงของทุกผลิตภัณฑ์ปรับสูงขึ้นจากความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่หลายประเทศทั่วโลกผ่อนคลายมาตรการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 และความตึงเครียดทางการเมืองจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน หลายประเทศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกทำให้อุปทานในตลาดตึงตัว ประกอบกับประเทศจีนลดการส่งออกเพื่อสำรองไว้ใช้ในประเทศ ค่าการกลั่นที่สูงขึ้นนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เพียงแต่เฉพาะประเทศไทย
การออกมาแจกแจงถึงที่มาที่ไปของสูตรค่ากลั่นน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมกับโต้ว่าตัวเลขค่ากลั่นไม่ได้สูงถึง 8 บาทกว่าต่อลิตรอย่างที่ส่งต่อข้อมูลกันให้ว่อนโลกโซเซียลของโฆษกกระทรวงพลังงานข้างต้น เพื่อหวังสยบกระแส แต่เอาเข้าจริง เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทรวงพลังงานเองกำลังสาละวนแก้ปัญหา
ตามที่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ออกมายอมรับว่ากระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สบค.) และกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน อยู่ระหว่างหารือแนวทางลดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นน้ำมัน หรือลดค่าการกลั่นน้ำมันลง โดยยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะลดได้กี่บาทต่อลิตร เพราะฝั่งโรงกลั่นก็ต้องใช้เวลาในการวางแผน ซึ่งเกณฑ์ราคาที่เหมาะสมต้องเป็นธรรมกับผู้บริโภค
ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้ประกาศอัตราค่าการกลั่นเฉลี่ยล่าสุด วันที่ 2 มิ.ย. 2565 อยู่ที่ 5.72 บาท/ลิตร จากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 105-110 เหรียญ/บาร์เรล และในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดเฉลี่ยอยู่ที่ 110 เหรียญ/บาร์เรล บนสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ในกรอบ 33.3-34.3 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
ด้าน นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) (กลุ่มฯโรงกลั่นฯ) อธิบายว่า ค่าการกลั่นไม่ได้คำนวณจากส่วนต่างราคาของน้ำมันเบนซินและดีเซลเทียบกับราคาน้ำมันดิบอ้างอิงเท่านั้น แต่ต้องนำส่วนต่างราคาเฉลี่ยของน้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิดตามสัดส่วนการผลิตที่โรงกลั่นผลิตได้ ซึ่งรวมถึงก๊าซหุงต้ม หรือน้ำมันเตาที่มีราคาต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบมาคำนวณรวมทั้งหมดเทียบกับราคาน้ำมันดิบที่ซื้อจริง ซึ่งรวมค่าพรีเมียมของน้ำมันดิบหรือราคาส่วนเพิ่มเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดิบอ้างอิง และค่าใช้จ่ายในการขนส่งจากแหล่งผลิตมายังประเทศไทย เช่น ค่าขนส่งน้ำมันดิบทางเรือ ค่าประกันภัย เป็นต้น รวมถึงต้องหักลบต้นทุนค่าพลังงานความร้อน ค่าน้ำและค่าไฟที่ใช้ในการกลั่นอีกด้วย
ทั้งนี้ ค่าการกลั่นที่คำนวณได้ดังกล่าวยังไม่สะท้อนกำไรที่แท้จริงของโรงกลั่น เนื่องจากยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและภาษี เป็นต้น เมื่อนำค่าการกลั่นมาหักลบกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงกำไร/ขาดทุน จากการบริหารความเสี่ยงด้านราคาและสต๊อกน้ำมัน จึงจะสะท้อนกำไรสุทธิที่โรงกลั่นน้ำมันได้รับจริง
ประธานกลุ่มฯโรงกลั่น ยืนยันว่ากำไรที่แท้จริงของโรงกลั่นไม่ได้สูงตามราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาแต่อย่างใด อีกทั้งโรงกลั่นยังต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่ผันผวน ซึ่งเป็นไปตามวงจรธุรกิจที่มีทั้งขาขึ้นและขาลง ดูได้จากช่วงแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ความต้องการใช้น้ำมันลดลง กลุ่มโรงกลั่นขาดทุนสต๊อกน้ำมันในปี 2563 เป็นจำนวนเงินรวมสูงกว่า 30,000 ล้านบาท
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ค่ากลั่นน้ำมันที่เพิ่มขึ้นก็คือกำไรอันงดงามของโรงกลั่น ซึ่งสวนทางกลับภาระของกองทุนน้ำมันที่ติดลบเพิ่มขึ้นทุกวันจากการเข้ามาอุ้มราคาเพื่อช่วยเหลือประชาชน เสียงเรียกร้องต่อรัฐบาลคือขอให้ดึงกำไรจากค่ากลั่นน้ำมันโดยใช้เครื่องมือและกฎหมายที่มีอยู่มาโปะกองทุนน้ำมันเพราะแนวโน้มวิกฤตพลังงานดูท่าจะลากยาว
ปัญหาอีกอย่างของกองทุนน้ำมันคือ ยังกู้เงินไม่ได้ ตามที่ “นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าการกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ถึงข้อติดขัดในการกู้เงินของกองทุนน้ำมันฯ วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจต้องส่งเรื่องให้สำนักงานกฤษฎีกาตีความ เนื่องจากสถานะของกองทุนน้ำมันฯ ไม่เป็นนิติบุคคล จึงไม่สามารถกู้เงินได้ ส่วนกรณีจะขอใช้งบกลางเพื่อเสริมสภาพคล่องนั้น ตามกฎหมายกองทุนน้ำมันฯสามารถขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลได้
ส่วนมาตรการตรึงราคาน้ำมันนั้น นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่ากระทรวงพลังงาน จะพยายามดูแลราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับราคา 34.94 บาทต่อลิตร (ไม่เกิน35บ./ลิตร)ไปจนถึงสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ หากราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกยังอยู่ระดับปัจจุบันไม่พุ่งสูงไปแตะระดับ 180-190 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลหรือน้ำมันดิบไม่ขยับสูงไปกว่า 120 เหรียญฯต่อบาร์เรล ยอมรับว่าภายในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้กองทุนน้ำมันฯจะติดลบระดับแสนล้านบาท
สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 12 มิ.ย. 2565 ติดลบ 91,089 ล้านบาท เป็นบัญชีน้ำมัน 54,574 ล้านบาท บัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบ 36,515 ล้านบาท ซึ่งจะดูแลราคาพลังงานถึงสิ้นปีหรือไม่ ขึ้นกับการกู้เงินและเงินอุดหนุนจากรัฐบาลมาตรา 6 (2) ของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา “นายดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภายหลังการหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรี และทีมเศรษฐกิจรัฐบาล เพื่อออกมาตรการลดค่าครองชีพ และช่วยเหลือราคาน้ำมันแพง ที่ทำเนียบรัฐบาล นานกว่า 1 ชั่วโมงว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือหลายมาตรการ และจะเสนอให้ครม.เห็นชอบสัปดาห์หน้า
โดย “มาตรการส่วนแรก” เป็นการต่อมาตรการลดค่าครองชีพเดิม ที่กำลังจะสิ้นสุดอายุมาตรการ โดยจะดำเนินการถึงสิ้นเดือนกันยายน 2565 เบื้องต้นประกอบด้วยการตรึงราคาค่าก๊าซ NGV สำหรับแท็กซี่ การให้ส่วนลดในการซื้อก๊าซหุงต้ม สำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การให้ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่ แผงลอย ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ส่วน “มาตรการใหม่” ประกอบด้วย ขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดอยู่ที่ 1.4 บาทต่อลิตร รวมทั้ง “ขอความร่วมมือ” โรงกลั่นน้ำมันให้นำส่ง “กำไรส่วนต่าง” ที่เกิดจากการกลั่นน้ำมัน เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2565 คาดว่าจะเก็บเงินเข้ากองทุนได้ประมาณเดือนละ 6,000 - 7,000 ล้านบาท แยกเป็น
หนึ่ง - กลุ่มน้ำมันดีเซล จะนำเงินกำไรส่วนต่างที่เก็บได้ ประมาณเดือนละ 5,000 - 6,000 ล้านบาท จะขอความร่วมมือให้ส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุน
สอง - กลุ่มน้ำมันเบนซิน จะนำเงินกำไรส่วนต่างที่เก็บได้ ประมาณเดือนละ 1,000 ล้านบาท มาลดราคาให้ผู้ใช้น้ำมันเบนซินในทันที คาดว่าจะสามารถลดราคาน้ำมันดีเซลหน้าปั๊มได้ประมาณลิตรละ 1 บาท
ขณะเดียวกันกระทรวงพลังงานยังขอความร่วมมือโรงแยกก๊าซที่มีต้นทุน LPG ที่จำหน่ายเป็นวัตถุดิบในภาคปิโตรเคมี ซึ่งมีกำไรส่วนเกิน ซึ่งจะดึงเงินกำไรส่วนเกินออกมา 50% เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่าจะได้เงินเข้ากองทุนอีกเดือนละ 1,500 ล้านบาท พร้อมทั้งมีมาตรการขอความร่วมมือภาคเอกชนช่วยประหยัดพลังงาน เช่น ปิดไฟป้ายโฆษณา และให้ห้างสรรพสินค้าปิดแอร์ก่อนปิดห้าง 1 ชั่วโมง ซึ่งกระทรวงพลังงานจะจัดทำรายละเอียดเสนอที่ประชุมครม.เห็นชอบต่อไป
...เอาเป็นว่า งานนี้ คงต้องติดตามกันต่อไปว่า รัฐบาลจะแก้ไขสถานการณ์ “น้ำมันแพง” อย่างไร “ในระยะยาว” เพราะจะทำแค่ “ขอความร่วมมือ” อย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้ หากแต่ต้องมีการศึกษารายละเอียดในแง่มุมของกฎหมายเพื่อประโยชน์โดยรวมของประชาชนและประเทศชาติ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรงๆ คือ “กระทรวงพลังงาน” ส่วน “กระทรวงพาณิชย์” นั้น คง “หมดหวัง” กระมัง เพราะ “เจ้ากระทรวง” รีบปัดสวะให้พ้นตัวไปเป็นที่เรียบร้อย...หรือถ้า “เปลี่ยนใจ” ก็จะเป็นพระคุณยิ่ง