ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การปลดล็อกกัญชาเสรีที่ถือเป็นผลงานโบแดงของพรรคภูมิใจไทย ด้านหนึ่งนำมาซึ่งประโยชน์มหาศาลทั้งในเชิงการแพทย์และเชิงพาณิชย์ แต่ต้องไม่ลืมว่าในระยะเปลี่ยนผ่านที่อะไรต่อมิอะไรยังไม่ลงตัวย่อมนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ นาๆ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีเสียงเตือนและท้วงติงด้วยความห่วงใยเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพและสังคม โดยเฉพาะในช่วง “สุญญากาศ” ระหว่างรอทำคลอด “ร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา พ.ศ....” ที่คงไม่เสร็จในเร็ววัน
คำท้วงติงที่ห่วงใยด้วยความบริสุทธิ์ใจก็มี แต่พวกฉวยโอกาสทางการเมืองฟาดพรรคภูมิใจไทยเพื่อเก็บแต้มผสมโรงปั่นกระแสก็ใช่น้อย งานนี้ “หมอหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) คงต้องเหนื่อยหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเสียงทักท้วงเป็นห่วงเป็นใหญ่ส่วนใหญ่ก็มาจาก สายหมอ เป็นหลัก
ก่อนที่เรื่องราวจะบานปลายใหญ่โตและกระแสตีกลับซัด พรรคภูมิใจไทยให้เสียรังวัด ก็มีการโยนข้อเสนอจาก “นายคำนูณ สิทธิสมาน” สมาชิกวุฒิสภา ด้วยว่ากัญชามีคุณอนันต์และมีโทษมหันต์ เพื่ออุดช่องโหว่อ้าซ่าสุญญากาศนโยบายปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดประเภท 5 ที่มีอยู่ตั้งแต่ 9 มิ.ย.ก่อนที่ร่างกฎหมายกัญชากัญชงฯจะแล้วเสร็จ รมว.สาธารณสุข สามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 มาตรา 44 และ 45 ประกาศให้กัญชาเป็น ‘สมุนไพรควบคุม’ เพื่อคุ้มครองเด็ก เยาวชน และสังคมจากการใช้กัญชาในทางที่ผิด และเป็นการพิสูจน์โดยการกระทำว่าช่องโหว่สุญญากาศนี้มิใช่เกิดจากความจงใจเพื่อผลอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่มีการตั้งข้อสังเกตและข้อสงสัยกัน
คล้อยหลังจากนั้น น.พ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ตอบรับข้อเสนอของ ส.ว.คำนูณ ว่ากรมฯ กำลังรวบรวมข้อมูลข้อกฎหมายต่างๆ ในส่วนของกัญชาจัดทำเป็นร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา ) เพื่ออุดช่วงโหว่ หัวใจหลักคือจำกัดการครอบครองช่อดอกกัญชาทั้งระดับบุคคลและวิสาหกิจชุมชนเพื่อป้องกันการเสพหรือใช้เพื่อสันทนาการ
ถึงตอนนี้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุมไปเรียบร้อยแล้ว โดยนายอนุทินได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ซึ่งจะกำหนดอายุ กลุ่มคน และสถานที่ในการใช้ เช่น ผู้ที่จะเข้าถึงกัญชาได้ต้องมีอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป มีผลตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. 2565 เป็นต้นมา ถือเป็นการควบคุมหรือจำกัดปริมาณการครอบครองเพื่อป้องกันการใช้กัญชาที่ไม่เหมาะสม จากเดิมที่มีแค่ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ที่ควบคุมเรื่องควันและกลิ่นกัญชาเป็นเหตุรำคาญเท่านั้น
ภายใต้กระแสที่แสดงความห่วงใยต่างๆ นาๆ นั้น จุดพีคสุดอยู่ตรงที่การให้สัมภาษณ์ของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ว่าสำนักการแพทย์ พบผู้ป่วยจากการเสพกัญชาเกินขนาดใน กทม. หลังการปลดล็อกกัญชา จำนวน 4 ราย เสียชีวิต 1 ราย เป็นชายวัย 51 ปี ผู้ป่วยที่พบอายุน้อยสุด 16 ปี
ตามมาด้วยแนวคิดของนายชัชชาติ ที่ว่าจะร่างประกาศให้โรงเรียนในสังกัด กทม.ปลอดกัญชา เพราะมองว่าเด็กยังไม่สมควรที่จะได้รับสารกัญชาเข้าไปในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นในขนมหรืออาหาร ส่วนสถานที่ราชการอื่นต้องรอการหารือ ทั้งนี้ กทม.คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ไม่ได้มีแนวคิดสวนทางกับกระทรวงสาธารณสุข แต่อย่างใด
ประเด็นเรื่องการมีคนตายจากการเสพกัญชาเกินขนาด ทำให้ “หมอหนู” ตั้งคำถามกลับว่ากรณีเช่นนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นแต่เหตุใดจึงมีรายงานเคสนี้ ต้องการอะไร ยืนยันว่าคนที่เข้ามาทำงานการเมืองยึดประชาชนเป็นที่ตั้งทุกคน
เมื่อ “คนทำงาน” ปะทะ “คนทำงาน” ในวันถัดมาก็มีมือประสานให้นายอนุทิน ต่อสายคุยกับนายชัชชาติ “....ได้ทำความเข้าใจกันแล้ว วันนี้ท่านก็มีสปิริตดีก็ให้ข่าวบอกว่าไม่ได้เสียชีวิตจากการเสพกัญชา”
นายอนุทินย้ำเตือนมาตลอดเรื่องของกัญชาว่าเราเตือนไปทุกรูปแบบแล้ว เป้าหมายคือต้องการให้ใช้ทางการแพทย์ ส่วนการเสพ การพี้ ปุ้น เพื่อสุขภาพหรือเปล่า เตือนมาตลอดว่า การสูบกัญชาเป็นสิ่งที่ไม่ควร ในโรงเรียนสูบบุหรี่ยังถูกตี ถ้าสูบกัญชาคงถูกไล่ออก เราสามารถหลีกเลี่ยงการสูบกัญชาได้ เพราะเรื่องนี้ไม่ต่างกับการดื่มสุราหรือการสูบบุหรี่ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะขาดไม่ได้ หากทุกคนใช้ด้วยเจตนารมณ์เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพและด้านการแพทย์ มันจะไม่เกิดปัญหาอะไรที่ต้องกังวล แต่ที่เป็นเรื่องเป็นราวเพราะมีการใช้ในทางที่ผิด เช่น การเสพที่ไม่ได้เกี่ยวกับการรักษาโรค ซึ่งไม่ใช่เจตนารมณ์ของการทำให้กัญชาเสรี
“เราพยายามทำความเข้าใจการใช้กัญชาอย่างถูกต้องในทางการแพทย์มากว่า 3 ปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาปล่อยให้เสรี โดยยังไม่ศึกษาอะไรเลย ตั้งใจเพื่อให้เกิดสุขภาพที่ดีแก่ประชาชน เสริมสร้างรายได้ โดยไม่มีการเมืองอะไรทั้งสิ้น การที่มีคนความพยายามนำเรื่องนี้ไปบวกกับการเมือง และดิสเครดิตนโยบายของพรรคภูมิใจไทย คงต้องให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน” นายอนุทิน ย้ำชัดอีกครั้ง
อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระบุในทำนองเดียวกันว่า ถ้าใช้กัญชาทางการแพทย์ไม่มีผลกระทบ จากการรวบรวมข้อมูลการใช้กัญชาของ สปสช. ในส่วนของน้ำมันกัญชาสูตร อ.เดชา จำนวน 51,000 คน และตำรับยาที่มีส่วนผสมของกัญชาศุขไสยาศน์ 2,100,000 ครั้ง ก็พบว่าไม่มีเสียชีวิต หรือไม่ได้รับผลกระทบจากกัญชา ย้ำว่าหากประชาชนใช้ถูกวัตถุประสงค์ เช่น เพื่อทางการแพทย์ อยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ก็ไม่ได้รับผลกระทบ แต่หากผิดวัตถุประสงค์เพื่อสันทนาการ ก็อาจได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองของ อย. และร้านอาหารที่น่าเชื่อถือ
สำหรับข้อห่วงใยที่หลายภาคส่วนสะท้อนออกมา นอกจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ที่มีข้อเสนอออกมาก่อนนี้แล้ว เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ออกแถลงการณ์ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะว่า กัญชาเป็นพืชที่มีสารแคนาบินอยด์หลายชนิด โดยเฉพาะสาร THC ซึ่งอาจส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ และไม่ควรใช้เพื่อการสันทนาการ เพราะอาจทำให้เกิดโทษรุนแรงได้ แต่ในขณะนี้ยังไม่มีมาตรการกำกับดูแลการใช้กัญชาอย่างรัดกุม
มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมีข้อเสนอแนะ ไม่ใช้กัญชาในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปี โดยเด็ดขาด เพราะมีผลต่อการพัฒนาการของสมองทั้งในแม่และเด็ก, ไม่ใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น อาการทางจิต และระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย, ไม่ใช้ช่อดอกของกัญชาเพื่อผสมในอาหารและเครื่องดื่ม หากมีการผสมส่วนใด ๆ ของกัญชา ในอาหารและเครื่องดื่ม ต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้าอย่างชัดเจน
นอกจากนั้น ผู้ที่ใช้กัญชาไม่ควรขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักร ในระยะ 6 ชั่วโมงหลังใช้กัญชา เพราะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้สูง เช่นเดียวกันกับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคจิตประสาท โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ขอให้ปรึกษากับแพทย์ ที่ให้การรักษาก่อนใช้กัญชาเสมอ เพราะอาจมีผลต่อยาและการรักษาที่ได้รับอยู่
สำหรับผู้ปกครองและสถานศึกษา ควรดูแลให้เด็กและเยาวชนห่างไกลจากกัญชา รวมถึงประชาชน ควรร่วมสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากอันตรายของกัญชา และขอให้ภาครัฐและภาคสังคมมุ่งให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้กัญชา และอันตรายที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งเร่งออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดให้มีมาตรการและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในการติดตามดูแลการใช้กัญชาอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดสวัสดิภาพที่ดีแก่ประชาชนและสังคม
ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวัง และพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่ากัญชาถือเป็นสมุนไพรมีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่หากใช้ไม่ถูกต้อง ใช้เกินความจำเป็น หรือมีสาร THC เกิน 0.2% อาจทำให้เกิดอาการวิกฤติที่ส่งผลต่อระบบสาธารณสุข และเศรษฐกิจของประเทศได้
ผู้จัดการ กพย. เน้นย้ำว่า กัญชามีทั้งประโยชน์และโทษ ข้อมูลที่จำเป็นในการกำกับดูแลกัญชา-กัญชง โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบผลข้างเคียงของกัญชา เช่น ง่วงนอน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตับอักเสบ ผิวผดผื่น อุจจาระร่วง อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า ก้าวร้าว
ด้านประโยชน์ของกัญชาตามคำแนะนำในการใช้กัญชาทางการแพทย์ ปี 2564 โดยกรมการแพทย์ ระบุว่า กัญชารักษา 6 โรค/ภาวะ 1.ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด 2.โรคลมชักที่รักษายาก 3.ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 4.ภาวะปวดประสาท 5.ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อย 6.เพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยระยะสุดท้าย และพบหลักฐานเชิงประจักษ์ในการช่วยควบคุมอาการแต่ไม่ได้รักษาให้โรคหายขาดอีก 4 โรค คือ โรคพาร์กินสัน, โรคอัลไซเมอร์, โรควิตกกังวลทั่วไป และโรคปลอกประสาทอักเสบ ซึ่งควรใช้ตามแพทย์สั่ง ประกอบกับแจ้งยาที่ใช้ส่วนตัว พร้อมศึกษาค้นหาข้อมูลของผลิตภัณฑ์เพื่อการใช้ที่ถูกต้อง และเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด
หมออีกคนที่ยกเคสในต่างประเทศมาสะท้อนถึงความห่วงใยคือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" ในประเด็นรายงานการเสียชีวิตจากการกินคุกกี้กัญชาในต่างประเทศ เมื่อปี 2014 ความว่า "วารสารทางการแพทย์และสาธารณสุข MMWR ฉบับวันที่ 24 กรกฎาคม 2015 ได้รายงานกรณีศึกษาผู้เสียชีวิตในสหรัฐอเมริกาหลังจากกินคุกกี้กัญชา เหตุเกิดเมื่อมีนาคม 2014 ฝ่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมของรัฐโคโลราโดได้รับรายงานว่ามีผู้ชายอายุ 19 ปี ที่เสียชีวิตหลังจากกินผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม จึงไปทำการสอบสวนภาวะดังกล่าว ทบทวนผลการชันสูตรศพ และรายงานของตำรวจ
เรื่องราวที่เกิดขึ้นคือ ผู้เสียชีวิตรายนี้ได้รับคุกกี้กัญชาจากเพื่อน หลังจากกินไปเพียง 1 ชิ้น เวลาผ่านไป 30-60 นาทีต่อมาก็ไม่ได้รู้สึกอะไร จึงได้กินเพิ่ม หลังจากนั้น 2 ชั่วโมง พบว่ามีอาการพูดจาตะกุกตะกักผิดๆ ถูกๆ และมีอาการและพฤติกรรมดุร้ายขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป 3 ชั่วโมงครึ่งหลังที่กินคุกกี้ชิ้นแรก และหลังกินเพิ่มไป 2 ชั่วโมงครึ่ง ผู้เสียชีวิตก็ได้กระโดดจากระเบียงชั้น 4 ของอาคาร และเสียชีวิต ซึ่งผลชันสูตรศพหลังเสียชีวิตไป 29 ชั่วโมง พบว่ามีปริมาณกัญชาเกินขนาดและน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่ภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นและนำไปสู่การเสียชีวิต
การใช้กัญชาเกินขนาดนั้นรู้กันว่ามีอันตรายอาจถึงชีวิตตามมาแน่ๆ และภยันตรายที่เป็นภัยเงียบที่หลายฝ่ายเป็นห่วงกังวลกันมากในเวลานี้คือ การนำกัญชาไปใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร อาจนำมาซึ่งข่าวเศร้ารายวัน โดยเฉพาะในกลุ่ม “แพ้กัญชา” ซึ่งไม่ต่างกับผู้ที่แพ้ถั่วหรือแพ้อาหารทะเล
กรมอนามัย ได้เตรียมรับมือกับเรื่องนี้ โดยได้ออกประกาศ กรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 โดยประกาศนี้ครอบคลุมถึงตลาด สถานที่จำหน่ายอาหาร สถานที่สะสมอาหาร และการจำหน่ายในที่หรือทางสาธารณะ ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข 2535
นพ. สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ประกาศดังกล่าวมีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยกำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร มีการจัดเก็บใบกัญชาที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ จัดเก็บเป็นสัดส่วน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดเชื้อรา หรือเน่าเสียแทน สำหรับข้อกำหนดอื่นๆ ในประกาศยังคงเหมือนเดิม คือ สถานประกอบการกิจการอาหาร ต้องควบคุม กำกับ และต้องจัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพและต้องตระหนักด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เกี่ยวกับการจำหน่ายอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบของอาหาร
สำหรับเงื่อนไขที่ร้านอาหาร หรือผู้ขายอาหารต้องทำเมื่อขายอาหารที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ ประกอบด้วย การจัดทำข้อความที่แสดงข้อมูลเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา, แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาทั้งหมด, แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหาร ตามประเภทการทำประกอบหรือปรุงอาหาร เช่น อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู อาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่ม แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู, แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัย ในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ
นอกจากนั้น ยังต้องแสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง หากรับประทานอาหารที่ใช้ใบกัญชาทราบ ด้วยการระบุข้อความ เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น ขนม อาหารและเครื่องดื่ม, สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตรไม่ควรรับประทาน, หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที, ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) หรือสารแคนนาบิไดออล (CBD) ควรระวังในการรับประทาน, อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล อีกทั้งยังห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค
สำหรับข้อแนะนำทั่วไปสำหรับการใช้กัญชาผสมในอาหารอย่างไรให้ปลอดภัย ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ หัวหน้าสาขาวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำแนะนำข้อแรกคืออย่าใช้ช่อดอก เนื่องจากมีปริมาณของสาร THC สูง และอย่าให้ถึง 5 ใบต่อวันสำหรับผู้ไม่มีโรคประจำตัว ซึ่งแต่ละคนจะทนต่อสารไม่เท่ากัน ให้ลองให้ปริมาณที่น้อยที่สุดก่อน แล้วพักเพื่อสังเกตอาการ หากเริ่มมีอาการผิดปกติ ไม่แนะนำให้รอ ให้ไปโรงพยาบาลทันที เพราะฤทธิ์กัญชาจากการบริโภคมีฤทธิ์นาน
การใช้กัญชาโดยทั่วไป ผู้ใช้ต้องการรู้สึกถึงอาการเคลิ้มๆ เมาๆ แต่ถ้ามากเกินไปจะเห็นภาพหลอน กระวนกระวาย หงุดหงุด ใจสั่น มึนศรีษะ คลื่นใส้ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันแกว่ง ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อได้ ล้มหมดสติ ดังนั้น ก่อนลองเมนูกัญชา ก็ต้องพิจารณาให้ดี เลือกร้านที่เชื่อถือได้ สั่งเมนูที่ได้รับอนุญาตให้ใช้กัญชาที่ไม่ใช่ช่อดอก ส่วนขนมต้องทราบที่มาและปริมาณกัญชาที่ใส่ เป็นต้น
ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า กระบวนการปรุงสุกทำให้สาร THC ออกมาแตกต่างกัน เมนูที่ใช้น้ำมันกับความร้อน ทำให้สาร THC ละลายได้ดี เช่น พวก ผัด ทอด ควรใช้ใบกัญชาผสม 1 ใบต่อจาน ส่วนเมนูแกง ต้ม ใช้ใบกัญชาได้ 1-2 ใบต่อถ้วย ส่วนเมนูเครื่องดื่ม ใช้ได้ 1 ใบต่อแก้วขนาด 200 มิลลิลิตร
ส่วนการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมกัญชาให้ปลอดภัย ต้องเริ่มทานทีละน้อย เพราะแต่ละคนมีความไวต่อการรับสาร THC ไม่เท่ากัน เมนูที่ทานแต่ละมื้อ ไม่ควรเลือกเมนูที่ใช้น้ำมันปรุงใบกัญชาพร้อมกัน 2 เมนู โดยเลือกเมนูทอดกับต้ม หรือต้มกับผัด