ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มีรายงานข่าวว่ายักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ Shopee จะปลดพนักงานมากถึง 50% โดยเลิกจ้างทั้งในส่วนของ ShopeeFood ทีมบริการส่งอาหาร และ ShopeePay ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทีมบริการชำระเงินออนไลน์ นับเป็นการปรับลดคนฟ้าผ่าครั้งที่ 2 ของ Shopee นั่นหมายความว่าไทยจะได้รับผลกระทบครั้งนี้ด้วย
และข่าวการปลดพนักงานของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่อย่าง shopee ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าเกิดอะไรกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
โดยข้อมูลยืนยันจากกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ซี กรุ๊ป (SEA Group) บริษัทแม่ของเครือ Shopee ที่ตั้งอยู่ประเทศสิงค์โปร์ จะดำเนินการเลิกจ้างลูกจ้างในต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยเป็นการเลิกจ้างลูกจ้าง จำนวน 300 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างที่อยู่ในสังกัด 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ช้อปปี้เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ช้อปปี้ฟู้ด จำกัด โดยบริษัทฯ ได้เรียกลูกจ้างเข้ามาพบเป็นรายบุคคลเพื่อแจ้งการเลิกจ้าง และให้การเลิกจ้างมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป
สำหรับ ซี กรุ๊ป (SEA Group) บริษัทแม่ของเครือ Shopee จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ปี 2021 ทางกลุ่มบริษัททำรายได้รวม 9,955 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.48 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 128% จากปี 2020 ที่เผชิญสถานการณ์โรคระบาด จำแนกเป็น 1. ธุรกิจ E-Commerce (EC) 5,123 ล้านดอลลาร์ (แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้า Shopee) 2. ธุรกิจ Digital Entertainment (DE) 4,320 ล้านดอลลาร์ (แพลตฟอร์มเกี่ยวกับเกม Garena) และ 3. ธุรกิจ Digital Financial Services (DFS) 469 ล้านดอลลาร์ (แพลตฟอร์มชำระเงิน Shopee Pay)
โดยรายได้หลักมาจากธุรกิจ DE บริษัทลูกอย่าง Garena ที่ทำเรื่องเกม ส่วนธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Shopee ประสบปัญหา เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อซึ่งส่งผลติพฤติกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์ ซึ่งแม้อยู่ในช่วงขาดทุนแต่ปรับตัวขึ้นในไตรมาส 1 ปี 2022 เมื่อเทียบจากจำนวนออร์เดอร์ปีต่อปี เพิ่มขึ้นมาที่ 71.3% ทำรายได้ที่ 1.9 พันล้านดอลลาร์
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดเผยรายชื่อบริษัทในไทย ที่มีทุนจดทะเบียนสูงสุด 5 อันดับแรกที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก Shopee อยู่ในชื่อบริษัท ประกอบด้วย บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 50,000 ล้านบาท, บริษัท เอสคอมเมิร์ซ (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท (บริการ Fulfillment), บริษัท ช้อปปี้ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท (บริการขนส่งสินค้า), บริษัท ช้อปปี้เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 900 ล้านบาท (บริการชำระเงิน Shopee Pay) และบริษัท ช้อปปี้ฟู้ด จำกัด ทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาท (บริการส่งอาหาร Shopee Food)
และทุกบริษัทอยู่ในสภาวะขาดทุนสะสม เช่น ช้อปปี้ (ประเทศไทย) มีจำนวนขาดสุทธิสะสมตั้งแต่ปีที่จดทะเบียน ปี 2015 กว่า 20,000 ล้านบาท เพราะ Shopee ต้องเผาเงินอัดโปรโมชั่นดึงดูดลูกค้า แข่งขันกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซคู่แข่งอย่าง Lazada
และแต่แม้ Shopee จะขาดทุนต่อเนื่อง ก็ยังสร้างช่องทางรายได้ใหม่ อย่าง Shopee Food บริการส่งอาหาร ซึ่งมีคู่แข่งในตลาด 3 รายหลักคือ Grab, LINE MAN และ Food Panda แน่นอนว่า การเข้าสู่สังเวียน Food delivery ซึ่งต้องเผาเงินเพื่อทำโปรโมชันจูงใจลูกค้าเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ Shopee ไทย จะปรับลดคนใน ShopeeFood ซึ่งไม่ใช่ธุรกิจหลัก แถมมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง เปิดบริการอย่างเป็นทางการในไทยปลายปี 2021 และ ShopeePay ซึ่งการเปิดรับคนจำนวนมาก มีการทำตลาดไทยมาเกือบ 10 ปี
สำหรับ Shopee Food บริษัทจดทะเบียนปี 2017 และเริ่มมีรายได้เข้ามาในปี 2018 เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการช่วงปลายปี 2021 ขาดทุนสุทธิสะสมอยู่ 86 ล้านบาท โดยปี 2021 มีรายได้รวม 4.07 แสนบาท ซึ่งมีการจ้างพนักงานเข้ามารับผิดชอบจำนวนมากเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง
ShopeeFood ถือเป็นน้องใหม่ในตลาด Food Delivery เมืองไทย ให้บริการใน อินโดนีเซีย เวียดนามที่ มาเลเซีย และไทย โดย ShopeeFood คิดค่า GP 5% ขณะที่ Grab Food, LINE MAN คิดค่า GP 15 - 18% Foodpanda คิดค่า GP 20% โดยสัดส่วนยอดขาย Grab Food คิดเป็น 45% LINE MAN 20% Foodpanda 15% และอีก 10% เป็น TrueFood, Robinhood และ ShopeeFood
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ปี 2564 มูลค่าตลาดของการสั่งอาหารไปส่งยังที่พัก หรือ Food Delivery เติบโตกว่า 46.4% และปี 2565 จะมีมูลค่าราว 7.9 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 4.5% ทั้งนี้ ภายใต้สภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ปี 2565 ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในธุรกิจ Food Delivery มีแนวโน้มเผชิญโจทย์ท้าทายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับราคาอาหารและค่าจัดส่งของผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจ Food Delivery ทำได้จำกัด ท่ามกลางต้นทุนที่เร่งตัวขึ้น โดยหากร้านอาหารมีการปรับขึ้นราคาอาหารหรือค่าจัดส่ง กลุ่มตัวอย่างราว 53% มีแนวโน้มจะปรับพฤติกรรมหันมาลดค่าใช้จ่ายในด้านอาหารลง และบางส่วนจะหันมาทำอาหารรับประทานเองมากขึ้น
สำหรับ Shopee Pay หรือชื่อเดิม Airpay นับเป็นหนึ่งธุรกิจบุกเบิกของ Sea ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากบริการเติมเกมของบริษัท ต่อยอดไปสู่บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือ, ซื้อตั๋วภาพยนตร์ รวมถึงใช้ชำระสินค้าบริการต่างๆ Shopee Pay ยังขาดทุนสะสม ตั้งแต่ปี 2015 ตัวบริษัทขาดทุนสะสม 324 ล้านบาท และต้องเจอคู่แข่งทั้ง Rabbit LINE Pay และ TrueMoney อีกทั้ง การใช้งานโมบายแบงก์กิ้งในไทย ทำให้ความจำเป็นในการใช้งาน อี-วอลเล็ต น้อยลงเช่นกัน Shopee จึงตัดสินใจลดจำนวนพนักงานในส่วนธุรกิจ
และไม่ใช่ครั้งแรกที่ Shopee ประกาศปลดพนักงานฟ้าฝ่า ปี 2022 Shopee ประกาศหยุดให้บริการในประเทศอินเดียหลังเริ่มธุรกิจในปี 2021 และประกาศถอนตัวออกจากตลาดฝรั่งเศสเช่นกันในปีเดียวกัน
โดยการเลิกจ้างของ Shopee เกิดขึ้นหลังจากบริษัททำรายได้มากกว่าประมาณการรายได้รายไตรมาสล่าสุด ซึ่งแรงหนุนจากการพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และละตินอเมริกา ทำให้หุ้นพุ่งขึ้นมากกว่า 5% ในการซื้อขายล่วงหน้า
Sea Group ประเมินว่า หลังจากการจัดสรรต้นทุนของสำนักงานใหญ่ ทาง Shopee จะอยู่ในเส้นทางที่จะบรรลุ EBITDA (กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) เป็นเชิงบวกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวันภายในปี 2566
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายของสำนักงานใหญ่ประกอบด้วยต้นทุนพนักงาน ค่าใช้จ่ายทั่วไปและการบริหาร เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารและค่าใช้จ่ายในการโฮสต์เซิร์ฟเวอร์ โดยค่าใช้จ่ายสำนักงานใหญ่ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนพนักงาน ซึ่งเพิ่มขึ้น 113.3 ล้านล้านดอลลาร์ สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขึ้นของบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 86.0 ล้านล้านดอลลาร์ เนื่องจากต้องการลงทุนในการเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและขยายการ
เว็บไซต์ Tech in Asia รายงานว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีในเอเชียได้มีการปลดพนักงานจำนวนมากในช่วงเดือน พ.ค. 2565 เนื่องจากขาดสภาพคล่อง การระดมทุนสำหรับสตาร์ทอัพในภูมิภาคนี้ลดลง โดยเงินทุนในภูมิภาคลดลง 7% ในไตรมาสแรกของปี 2565 เป็น 3.63 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.3 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของ Crunchbase นอกจากนี้ ตัวเลขลดลง 31% จากไตรมาสที่แล้ว ซึ่งการที่เงินทุนลดลงกลายเป็นที่มาของการปลดพนักงานของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการลดจำนวนที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่บริษัท EdTech ชื่อ Zenius, บริษัท FinTech ชื่อ LinkAja และบริษัทในเครือของ JD.com ในอินโดนีเซีย ซึ่งมีรายงานว่าแต่ละบริษัทปลดพนักงาน 200 คน
สำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Shopee ซึ่งเป็นรายได้หลักแม้จะมีตัวเลขขาดทุน แต่หลายปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์ม Shopee เติบโตแบบก้าวกระโดด นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คกPawoot Pom Pongvitayapanu ระบุว่า รายได้ของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ตั้งแต่ 2558-2564 พบว่า Shopee ขาดทุนรวม -20,146 ล้านบาท มากที่สุดเมื่อเทียบกับ อีก 2 เจ้า คือ Lazada ที่ ขาดทุนรวม -13,620 ล้านบาท และ JD Central ที่ขาดทุนรวม -5,596 ล้านบาท (5 ปี) ส่วนสาเหตุหลักที่คาดการณ์ว่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต้องยอมขาดทุน เนื่องจากต้องการสร้างตลาดให้คนหันมาใช้งานมากขึ้น และต้องการทำให้คู่แข่งมีผู้ใช้น้อยลง จากส่วนลดและการบริการที่ดีกว่าแพลตฟอร์มคู่แข่ง
“โมเดลการทำธุรกิจของ Shopee กับ Lazada ต่างกับ เพราะ Shopee ใช้วิธีระดมเงินจากนักลงทุน ขณะที่ Lazada มีนายทุนใหญ่เปรียบง่ายๆ เหมือนคนมีพ่อรวย ที่ Shopee หันมาลดพนักงานในส่วนงาน ShopeePay และ ShopeeFood เพราะต้องรัดเข็มขัด เนื่องจากที่ผ่านมาเขาขยายใหญ่มาก หันไปทำธุรกิจทั้งฟู้ดเดลิเวอรี่ และ Payment ดังนั้นการลดขนาดองค์กรในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวจึงเป็นการปิดเพื่อรักษาส่วนใหญ่ Shopee ต้องถอยกลับมาสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ” นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com วิเคราะห์ผ่านสื่อ
พอจะสรุปได้ว่การปลดพนักงานกว่า 50 % ของ Shopee เป็นการปรับลดคนให้เหมาะสมกับขนาดของธุรกิจ เป็นการจัดสรรทรัพยากรใหม่จัดลำดับความสำคัญ จ้างงานตามความจำเป็นเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ สะท้อนให้ถึงการขยายธุรกิจที่เร็วเกินไป และกลับมาโฟกัสธุรกิจที่กำไรเพื่อการเติบโตในอนาคต
สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง แม้จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าปี 2565 ธุรกิจ B2C E-commerce กลุ่มสินค้า แม้อาจขยายตัวราว 13.5% คิดเป็นมูลค่าตลาดราว 5.65 แสนล้านบาท แต่เป็นการขยายตัวที่ชะลอลงและต่ำสุดเทียบกับ 3 ปีก่อนที่ขยายตัวเฉลี่ย 40% ต่อปี
ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ค่าขนส่งสินค้าที่อาจจะแพงขึ้นตามราคาน้ำมันที่พุ่งสูง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาพรวมการเติบโตของธุรกิจ E-commerce อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้