xs
xsm
sm
md
lg

ปมปัญหานโยบายกัญชาเสรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

กัญชาเป็นพืชที่มีประโยชน์จริงในการบำบัดรักษาโรคได้หลายอย่าง มีงานวิจัยมากมายที่พิสูจน์ในเรื่องนี้อย่างชัดเจนแล้ว แต่กัญชาก็มีสารที่ส่งผลกระทบต่อจิตประสาทจริงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะหากใช้ในปริมาณที่มากเกินไป เมื่อกัญชามีทั้งคุณและโทษเช่นนี้ การใช้กัญชาจึงควรทำด้วยความระมัดระวัง และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องควบคุมกำกับการใช้ไม่ให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสังคม


รัฐบาลไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขประกาศถอดกัญชาออกจากชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ผลที่ตามมาคือ การใช้กัญชาเป็นไปอย่างเสรีปราศจากการควบคุมใด ๆ ทั้งสิ้น ทำให้ประเทศไทยมีสถานะเป็นประเทศเดียวในโลกที่รัฐอนุญาตให้ประชาชนปลูกและใช้กัญชาอย่างเสรี สำหรับประเทศอื่นบางประเทศ แม้รัฐอนุญาตให้ประชาชนใช้กัญชาได้ แต่ก็มีมาตรการควบคุมการใช้อย่างชัดเจน เพื่อป้องกันผลกระทบทางลบ อันเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบของรัฐต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชน

ผลการปลดล็อกกัญชาของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข จากพรรคภูมิใจไทย ทำให้สามารถนำส่วนต่างๆ ของพืชกัญชา กัญชง มาพัฒนาและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และยารักษาโรคอย่างถูกกฏหมาย หากส่วนผสมมีสาร THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 สิ่งที่ตามมาและเกิดขึ้นทันทีเมื่อเป็นกัญชาเสรีคือ มีผลิตภัณฑ์ผสมกัญชาจำนวนมากออกสู่ท้องตลาด ประชาชนทุกคนสามารถปลูก ขาย ดื่ม กิน สูบได้ตามความปรารถนา มีคนจำนวนไม่น้อยลองซื้อกิน ลองดื่ม หรือลองสูบ บางคนอาจไม่ได้รับผลกระทบอะไร แต่บางคนเมาจนไปเรียนหนังสือหรือทำงานไม่ได้ และบางคนอาการหนักถึงขั้นญาติต้องพาเข้าโรงพยาบาล

นอกจากผลกระทบต่อประชาชนภายในประเทศที่เป็นผู้บริโภครายบุคคลแล้ว สิ่งที่รัฐอาจคาดไม่ถึงคือ ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารที่ส่งออกไปต่างประเทศด้วย เพราะว่าในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ยังมีกฎหมายห้ามใช้กัญชา เป็นไปได้ว่า ประเทศเหล่านั้นจะมองผลิตภัณฑ์อาหารของไทยด้วยความหวาดระแวง และมีมาตรการที่ควบคุมการนำเข้าจากไทยที่เข้มงวดมากขึ้น ดีไม่ดี บางประเทศอาจถึงขั้นชะลอหรือระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากประเทศไทยก็เป็นได้ เรียกได้ว่า การเปิดเสรีกัญชาอย่างสุดขั้วครั้งนี้ สร้างปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งให้แก่ประเทศไทย

คำถามคือ ทำไมทั้งที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า กัญชายังมีด้านที่เป็นโทษอยู่ แต่รัฐบาลไทยกลับไม่มีการเตรียมมาตรการควบคุมการใช้กัญชาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่จะประกาศปลดล็อกให้ใช้กันอย่างเสรี หากจะบอกว่า เตรียมการไม่ทัน หรือคิดไม่รอบคอบ ก็ดูเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมไปหน่อย มีเหตุผลอะไรบ้างที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข จากพรรคภูมิใจไทยทำเรื่องนี้ด้วยความรีบเร่ง

รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข แถลงเรื่องการปลดล็อกกัญชาตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ( https://www.hfocus.org/content/2022/05/25185) มีสาระโดยสรุปว่า การผลักดันเรื่องของกัญชาเป็นไปเพื่อบรรเทาทุกข์ด้านโรคภัยไข้เจ็บ และเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ ทั้งยังยืนยันอย่างหนักแน่นว่า จะปลดล็อกในวันที่ 9 มิถุนายน ไม่มีการเลื่อนเวลา แม้ว่ามีการเสนอให้ชะลอการปลดล็อกออกไปแล้วก็ตาม เหตุผลที่รัฐมนตรีผู้นี้กล่าวในการแถลงวันนั้นคือ “จะมาคำนึงถึงโทษของกัญชา ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงได้ กับผลประโยชน์มหาศาลที่ประชาชนได้รับทั้งทางเศรษฐกิจ และการแพทย์ แล้วชะลอออกไป ก็จะเป็นการแลกที่ขาดทุนไม่คุ้มค่า” การกล่าวเช่นนี้ สะท้อนว่า รัฐมนตรีให้น้ำหนักกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกัญชาเสรี มากกว่าโทษหรือผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นจากกัญชาอย่างชัดเจน

ยิ่งกว่านั้น ยังได้อ้างหลักปรัชญาการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปลดล็อกกัญชาไว้ว่า “ในระบบประชาธิปไตย เสรีภาพควบคู่กับการรักษาสิทธิของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือเสรีภาพของประชาชนเป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อน สิ่งที่ไม่มีกฎหมายห้ามไว้ถือว่าทำได้ การออกกฎหมายใด ๆ มาจำกัดสิทธิจะทำเมื่อมีเหตุจำเป็น หรือเมื่อการใช้เสรีภาพนั้นไปกระทบสิทธิของผู้อื่นเท่านั้น” การอ้างแบบนี้ทำให้สร้างความแปลกใจพอสมควร เพราะเป็นการอ้างปรัชญาการเมืองแบบเสรีนิยมแบบดั้งเดิม แต่ไม่ทราบว่ารัฐมนตรีจะยึดหลักการนี้อย่างคงเส้นคงวาในประเด็นอื่น ๆ หรือไม่ เช่น สุราเสรี สมรสเท่าเทียม หรือยึดเฉพาะเรื่องกัญชาเท่านั้น

ยิ่งกว่านั้น ข้อความที่กล่าวตามทำให้เกิดความสงสัยบางอย่าง เพราะมีนัยว่า รัฐมนตรีอาจยังไม่ทราบชัดเจนว่า กัญชาอาจมีผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ชัดเจนมากนัก จึงต้องคอยเฝ้าระวัง ก่อนที่จะออกกฎหมายหรือมาตรการมาควบคุมภายหลัง ดังเห็นได้จากสาระที่แถลงว่า “สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นหลังการใช้กฎหมายใหม่ คือ การรณรงค์พร้อมเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง หากมีการใช้เสรีภาพเกินขอบเขตจนเกิดผลกระทบต่อประชาชน ย่อมต้องมีการออกกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองสิทธิและความสงบสุขของสังคมตามมา เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ สุรา หรือการขับรถยนต์”

การกล่าวในลักษณะเช่นนี้ ดูไปแล้วก็ยิ่งอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมยังต้องเฝ้าระวังผลกระทบภายหลังการใช้กัญชาอีก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทั้งรัฐและสังคมก็ทราบผลกระทบทางลบของกัญชาอย่างชัดเจนอยู่แล้ว จนต้องกำหนดเป็นพืชต้องห้ามตามกฎหมาย ดังนั้น การกล่าวว่า ต้องเฝ้าระวังผลกระทบหลังการปลดล็อก ดูจะเป็นการกล่าวที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผลมากนัก เรื่องนี้หากใส่ใจอย่างจริงจังและทำด้วยความรอบคอบ ด้วยองค์ความรู้ที่มีอยู่ทั้งด้านสาธารณสุข สังคม และพฤติกรรมของคนไทย ก็น่าจะสามารถประเมินได้ไม่ยากว่า มีผลกระทบอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นหลังการเปิดเสรี และเมื่อประเมินแล้ว ก็ควรกำหนดมาตรการเอาไว้ให้พร้อม และประกาศใช้ทันทีในวันที่มีการปลดล็อกกัญชา แต่กลับปล่อยให้เกิดภาวะสูญญากาศไม่มีการควบคุมกำกับ คำถามคือ การไม่เตรียมมาตรการควบคุมเป็นเพราะขาดความรอบคอบ ขาดความรู้ หรือมีเจตนาอื่นใดแอบแฝง

ครั้นมาดูข้อความที่แถลงกัดมาของรัฐมนตรีที่ว่า “ขอให้พี่น้องประชาชนได้วางใจในนโยบายและความละเอียดรอบคอบของการดำเนินการของรัฐในเรื่องนี้และที่จะเกิดขึ้นต่อไป เพื่อให้พี่น้องประชาชนไม่เสียโอกาสในการได้รับประโยชน์มหาศาลจากกัญชา ทั้งในมิติทางการแพทย์และเศรษฐกิจ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญ”

สาระของความตอนนี้ เป็นการบอกว่า การปลดล็อกกัญชาทำไปด้วยความละเอียดรอบคอบแล้ว มาตรการเดียวที่ออกมาทันทีหลังจากนั้นคือ การออกประกาศของกรมอนามัยเรื่องการกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข แต่หากคิดว่าการประกาศเรื่องนี้เพียงรอบคอบเพียงพอแล้ว หากทำได้เพียงเท่านี้แล้วอ้างว่ารอบคอบอย่างเพียงพอแล้ว ก็สะท้อนว่า ผู้กำหนดนโยบายอาจมีข้อจำกัดในการคิดและวิเคราะห์ปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในการบริหารประเทศ แต่หากว่า แท้จริงแล้วมีศักยภาพทางปัญญาในการคิดและวิเคระห์มากกว่านี้ แต่จงใจไม่ทำ นั่นก็หมายความว่า อาจมีบางอย่างไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น ที่ไม่มีการเตรียมกำหนดมาตรการควบคุมกำกับ เพื่อรองรับผลกระทบจากกัญชาเสรี

ในตอนท้ายของการแถลงครั้งนั้น ยังมีการระบุว่า การปลดล็อกเป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญ เพื่อให้ประชาชนไม่เสียโอกาสในการได้รับประโยชน์มหาศาลจากกัญชาทั้งในมิติทางการแพทย์และเศรษฐกิจ คำถามคือ ระหว่างที่ยังไม่จากมาตรการควบคุมการค้าขายและใช้กัญชา ใครหรือกลุ่มใดมีศักยภาพและสามารถใช้โอกาส เพื่อเข้าถึงและได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลเหล่านั้น เป็นใครกัน ระหว่างประชาชนทั่วไป กับเป็นบริษัทเอกชนที่อยู่ในเครือข่ายของกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม ที่มีการปลูกกัญชาอยู่แล้วอย่างมหาศาลอยู่แล้วทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องนี้เป็นคำถามที่อยู่ในใจของคนจำนวนมากในสังคม และยิ่งระยะเวลาการออกมาตรการควบคุมการผลิตและการใช้กัญชาเนิ่นช้าไปเท่าไร ก็มีความเป็นได้ว่า บริษัทผลิตกัญชาก็ยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของปัญหาสังคม สุขภาพ และเศรษฐกิจของประชาชน

กล่าวได้ว่า การไร้มาตรการควบคุมกำกับหลังการเปิดเสรีกัญชา สะท้อนให้เห็นว่า การกำหนดนโยบายกระทำด้วยความเร่งรีบไม่รอบคอบ และขาดการประเมินผลกระทบอย่างรอบด้าน ทั้งด้านสังคม สุขภาพ และเศรษฐกิจในภาพรวม เป็นการกระทำที่ส่อให้เห็นถึงการเน้นมิติการเมืองเพื่อสร้างคะแนนนิยม และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจบางส่วนที่มีความคลุมเครือและน่าสงสัยเป็นหลัก


กำลังโหลดความคิดเห็น