คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
พระเจ้ากุสตาฟที่สามแห่งสวีเดน ได้รับการยกย่องว่าเป็น “Enlightened Despot” อันหมายถึง กษัตริย์ผู้เผด็จอำนาจและทรงใช้อำนาจไปภายใต้ภูมิปัญญาแห่งยุคแสงสว่าง (the Enlightenment) ซึ่งนักคิดนักปรัชญาส่วนใหญ่ในสาย “Enlightenment” ไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบสาธารณะ แต่ต้องการให้กษัตริย์ปกครอง แต่ปกครองภายใต้ภูมิปัญญาสมัยใหม่ สาเหตุที่นักคิดนักปรัชญาในสาย “Enlightenment” ไม่ต้องการระบอบสาธารณรัฐ เพราะพวกเขาเห็นว่า ระบอบสาธารณรัฐเป็นของโบราณ ที่เกิดมาตั้งแต่สมัยโรมัน และมาฟื้นฟูอีกทีในบางนครรัฐของอิตาลีในศตวรรษที่สิบสอง
ดังนั้น เมื่อพระเจ้ากุสตาฟที่สามยึดอำนาจจากนักการเมืองในปี ค.ศ. ๑๗๗๒ และในช่วงต้นๆของรัชสมัย พระองค์ได้ทรงเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างในสวีเดน และหนึ่งในนั้นคือการออกกฎหมายให้เสรีภาพในการเผยแพร่สิ่งพิมพ์ (freedom of press) ทำให้ วอลแตร์ หนึ่งในนักคิดแห่ง “Enlightenment” ของฝรั่งเศสยกย่องพระองค์อย่างยิ่ง (ดู H. Arnold Barton, “Gustav III of Sweden and the Enlightenment” Eighteenth-Century Studies , Autumn, 1972, Vol. 6, No. 1 (Autumn, 1972), pp. 1-34)
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพของพระเจ้ากุสตาฟที่สาม แม้ว่าบุคลิกภาพร่างกายของพระองค์จะไม่ดูน่าเกรงขามสง่างามเท่าไรนัก เพราะพระองค์เป็นคนผอมและดูสำอาง และค่อนข้างอ่อนแอตั้งแต่เกิด แต่เมื่อพระองค์ได้ทรงตรัสต่ออภิชนรัฐสภาที่เคยเฟื่องฟูใน “ยุคแห่งเสรีภาพ” (the Age of Liberty) กระแสพระราชดำรัสของพระองค์ก็ทรงทำให้คนเหล่านั้นหัวหดไปตามๆ กัน
โดยข้อความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสมีใจความว่า “เสรีภาพ อันเป็นสิ่งสูงสุดของสิทธิ์ของความเป็นมนุษย์ ได้ถูกทำให้แปรเปลี่ยนไปเป็นความฉ้อฉลแห่งการใช้อำนาจของพวกอภิชนที่เหนือที่จะรับได้...และใช้อำนาจและเสรีภาพที่มีอยู่ไปเพียงเพื่อสร้างเสียงข้างมากของพวกตน เพื่อเป็นข้ออ้างในการปกป้องตัวเองจากการกระทำที่ไร้ยางอายและไร้ขื่อแปของฝ่ายตรงข้าม....และหากมีใครในที่นี้สามารถปฏิเสธว่าสิ่งที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไปไม่เป็นความจริง ก็ขอให้ผู้นั้นลุกขึ้นมา”
จะสังเกตเห็นได้ว่า ในพระราชดำรัสดังกล่าวนี้ พระองค์ได้ชี้ให้เห็นถึงความเลวร้ายของอภิชนทั้งสองฝ่ายในรัฐสภา ฝ่ายหนึ่งทำทุกอย่างที่จะให้ได้มาซึ่งเสียงข้างมาก ไม่ว่าจะฉ้อฉลเพียงใด และเมื่อได้เสียงข้างมากแล้วก็จะอ้างความชอบธรรมของการครองเสียงข้างมากและสิทธิเสรีภาพของรัฐสภา อีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นฝ่ายค้าน ก็ไม่ต่อสู้ตามกติกาและทำทุกอย่างได้อย่างไร้ยางอาย !
ในบทความ Gustav III of Sweden: The Forgotten Despot of the Age of Enlightenment (พระเจ้ากุสตาฟที่สามแห่งสวีเดน: กษัตริย์แห่งยุคภูมิธรรมที่ถูกลืม” ของ เอ ดี ฮาร์วี (A. D. Harvey) ที่เพิ่งเขียนขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ นี้ได้ประเมินรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๗๗๒----ที่เกิดขึ้นหลังจากที่พระเจ้ากุสตาฟที่สามทรงนำการยึดอำนาจรัฐจากฝ่ายอภิชนรัฐสภา----ว่า รัฐธรรมนูญที่พระเจ้ากุสตาฟที่สามทรงร่างขึ้นด้วยพระองค์เองนั้นได้ทำให้ระบอบการเมืองการปกครองของสวีเดนเดินไปตามแนวทางของระบอบการปกครองของอังกฤษในช่วงเวลาเดียวกัน
คงเป็นที่ทราบกันดีสำหรับนักประวัติศาสตร์ที่พอรู้เรื่องการเมืองอังกฤษและนักนิติศาสตร์ที่พอรู้ประวัติศาสตร์การเมืองอังกฤษว่า อังกฤษเข้าสู่การเริ่มต้นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. ๑๖๘๘ ภายใต้กระแส “การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์” (the Glorious Revolution) อันเป็นการปฏิวัติที่ไม่มีการเสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด แต่ก่อนหน้าที่สวีเดนจะเกิดรัฐประหารและมีรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๗๗๒ การเมืองการปกครองของสวีเดนเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแต่ในนาม แต่ในทางปฏิบัตินั้น แตกต่างไปจากระบอบการปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของอังกฤษเป็นอย่างยิ่ง ในสายตาของฮาร์วี รัฐธรรมนูญฉบับของพระเจ้ากุสตาฟที่สามทำให้ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดนเข้าร่องเข้ารอยเหมือนอังกฤษมากขึ้นกว่าสมัยที่การเมืองการปกครองสวีเดนอยู่ในยุคที่เรียกว่า “ยุคแห่งเสรีภาพ” ที่ดำเนินไปเป็นเวลาถึงห้าสิบปีด้วยซ้ำ (the Age of Liberty)
อย่างที่เคยกล่าวไปแล้วว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญสวีเดน ค.ศ. ๑๗๗๒ รัฐสภาสวีเดนยังคงมีอำนาจในการยับยั้งกฎหมายและการออกกฎหมายเก็บภาษีใหม่ที่เสนอโดยฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งอำนาจในการให้การยินยอมในการประกาศสงครามที่สวีเดนเป็นฝ่ายรุก แต่แน่นอนว่า ความแตกต่างระหว่างอังกฤษกับสวีเดนหลังรัฐประหารก็คือ พระมหากษัตริย์สวีเดนทรงใส่ใจในกิจการการบริหารราชการแผ่นดินมากกว่า และมีพระราชอำนาจมากกว่าพระมหากษัตริย์อังกฤษ เพราะพระมหากษัตริย์ของอังกฤษทรงมอบหมายให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถมากกว่าพระองค์ไปบริหารราชการแผ่นดิน แต่สำหรับพระเจ้ากุสตาฟที่สาม แม้ว่าพระองค์จะทรงมอบหมายให้คณะรัฐมนตรีไปทำหน้าที่ดังกล่าว แต่พระองค์ก็มักจะใส่ใจติดตามการบริหารงานของคณะรัฐมนตรีเหล่านั้นด้วยตัวพระองค์เองเป็นประจำทุกวัน
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาค้นคว้าของฮาร์วี เขากล่าวว่า ไม่มีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงภูมิธรรม (the Enlightened Despot) พระองค์ใดจะสนพระทัยและทรงชื่นชอบที่จะเสียเวลาไปกับพิธีการแห่งราชสำนักเท่ากับพระเจ้ากุสตาฟที่สาม ! ไม่ว่าจะเป็นการเฝ้าแหน และทั้งพิธีการเข้าเฝ้าและกราบบังคมทูลลา อีกทั้งพระองค์ยังใช้เวลามากมายไปกับการเล่นไพ่และบทสนทนาต่างๆ หรือถึงขนาดคุยไปด้วยและถักลายประดับชุดเสริมทรงของสตรีในราชสำนักของพระองค์ไปในเวลาเดียวกัน แต่งานอดิเรกที่พระองค์โปรดปรานคือการละคร พระองค์ไม่ทรงเพียงสร้างและแสดง แต่ทรงเขียนบทละครเองด้วย
แต่กระนั้น ในส่วนของการบริหารราชการแผ่นดิน พระองค์ทรงเป็นผู้นำด้านขวัญกำลังใจในการช่วยขับเคลื่อนทุกสิ่งทุกอย่างที่รัฐบาลของพระองค์ดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปและการรักษาเสถียรภาพเงินตรา ซึ่งพระองค์ได้คนดีมีฝีมืออย่าง โยฮัน คลิเยนครันท์ซ (Johan Liljencrantz: ๑๗๓๐-๑๘๑๕)ผู้เชี่ยวชาญในด้านการคลังเป็นรัฐมนตรีคลังและพาณิชย์ และในการบริหารการคลังของคลิเยนครันท์ซ เขาต้องเผชิญกับแรงเสียดทานจากฝ่ายตรงข้าม อันได้แก่ฝ่ายอภิชนและธนาคารแห่งสวีเดน แต่เขาก็ได้รับการแรงสนับสนุนจากพระเจ้ากุสตาฟ ซึ่งพระองค์มักจะอยู่เบื้องหลังบรรดารัฐมนตรีของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนโดยตรงอย่างเปิดเผยหรือลับๆกับผู้ประสานงานระดับกลางๆก็ตาม
จากการศึกษาของฮาร์วีย์ กล่าวได้ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับพระมหากษัตริย์พระองค์อื่นๆ ที่สืบราชสันตติวงศ์ในยุโรป พระเจ้ากุสตาฟทรงเป็นผู้ที่มีอัจฉริยภาพทางด้านภาษาอย่างยิ่ง บทละครพระราชนิพนธ์ของพระองค์ได้รับการยกย่องในสวีเดนก่อนหน้าที่สวีเดนจะมีมหากวีเอกอย่างสตรินด์เบิร์จในอีกร้อยปีต่อมา โดยเฉพาะบทละครพระราชนิพนธ์ชิ้นเอก อันได้แก่ “Siri Brahe” ได้รับความนิยมทั่วไปในยุโรป จนได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมันและอิตาเลียน และด้วยอัจฉริยภาพทางภาษาของพระองค์ทำให้พระองค์ทรงเป็นนักวาทศิลป์ที่สามารถยิ่ง
โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับ นโปเลียน ในปี ค.ศ. ๑๗๙๙ หลังจากที่เขาได้ทำรัฐประหาร และต้องกล่าวต่อหน้ารัฐสภา นโปเลียนใช้วิธีตะคอกคำรามเพื่อสร้างความกลัว ในขณะที่พระเจ้ากุสตาฟทรงสามารถใช้วาทศิลป์สยบอภิชนรัฐสภาได้โดยไม่ต้องตะคอกขู่เข็ญอย่างนโปเลียน
แต่กระนั้น จุดอ่อนประการหนึ่งของพระองค์ก็คือ พระองค์กลับไม่สามารถบริหารจัดการสร้างแรงบันดาลใจให้คนเหล่านั้นเคารพพระองค์ได้อย่างจริงจัง ซึ่งฮาร์วีกล่าวว่า เหตุผลประการหนึ่งน่าจะมาจากการที่พระองค์ทรงมีลักษณะที่สลับซับซ้อนและดูเจ้าเล่ห์จอมวางแผน ซึ่งแน่นอนว่า พระมหากษัตริย์ที่ทรงกล้าทำรัฐประหารและสามารถทำสำเร็จเป็นที่นิยมชมชื่นของประชาชนก็ย่อมหลีกเลี่ยงการมีบุคลิกภาพหรือภาพลักษณ์แบบนี้ยาก !!
ข้อมูลที่ทำให้ฮาร์วีลงความเห็นเช่นนั้นต่อพระเจ้ากุสตาฟ มาจากการค้นคว้ารายงานที่ข้าราชการการทูตของอังกฤษที่อยู่ในกรุงสต๊อคโฮล์มในช่วงเวลาดังกล่าวได้บันทึกไว้ โดยในบันทึกได้รายงานไว้ว่า “พระเจ้ากุสตาฟไม่มีผู้ที่พระองค์สามารถไว้วางใจได้อย่างสนิทใจ พระองค์ทรงมีศิลปะเป็นพิเศษในการแบ่งแยกความไว้เนื้อเชื่อใจที่พระองค์มีต่อผู้คนต่างๆไป ตลอดชีวิตของพระองค์เต็มไปด้วยฉากแห่งการวางแผนและความแคลงใจ”
จุดอ่อนหรือข้อผิดพลาดของพระองค์อีกประการหนึ่งก็คือ พระองค์ไม่ทรงตระหนักถึงความสำคัญของข้าราชการผู้จงรักภักดีเท่าที่ควร อย่างเช่น เมื่อรัฐมนตรีคลังอย่างลิลเยนครันท์ซทักท้วงถึงการที่รัฐบาลใช้งบประมาณแผ่นดินมากเกินไป พระองค์กลับเบื่อและไม่สนใจในคำท้วงติงนั้น หรือในกรณีที่กองทัพของพระองค์ร้องเรียนมาในปัญหาขาดแคลนเสบียงสนับสนุน พระองค์กลับโยนความผิดให้กับ โยฮัน โทลล์ (Johan Christian Toll: ๑๗๔๓-๑๘๑๗) นายทหารคู่ใจในการทำรัฐประหารปี ค.ศ. ๑๗๗๒ ของพระองค์
โทลล์เป็นนายทหารที่ถือว่ามีความสามารถหาตัวจับยาก โทลล์เป็นผู้ทำให้แผนยุทธศาสตร์การยึดอำนาจโดยการโจมตีอย่างรวดเร็วฉับพลันไม่ให้ทันได้ตั้งตัว (coup de main) สัมฤทธิ์ผล ในการยึดค่ายทหารที่สำคัญทางตอนใต้ที่ “Kristianstad"
ฮาร์วีกล่าวถึงโทลล์ว่า เขาเป็นผู้บัญชาการทหารที่มีประสิทธิภาพและถือว่าเป็นคนที่ซื่อสัตย์มากที่สุดในบรรดา “คนของพระองค์” นับตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๗๒ เป็นต้นมา ! แต่ในปี ค.ศ. ๑๗๘๘ พระองค์กลับทำให้เขาต้องกลายเป็น “แพะรับบาป” ไปเสียเฉยๆ
จะว่าไปแล้ว นายทหารคู่ใจบางคนก็เห็นเค้าลางอะไรบางอย่างเกี่ยวกับพฤติกรรมของพระองค์ นั่นคือ บารอน เจคอบ แมกนัส สเปรงต์ปอร์เตน (Jacob Magnus Sprengtporten: ๑๗๒๗-๑๗๘๖) ผู้เป็นเสนาธิการวางยุทธศาสตร์การโจมตีอย่างรวดเร็วฉับพลันไม่ให้ทันได้ตั้งตัว (coup de main) ในการก่อการรัฐประหาร สเปรงต์ปอร์เตนไม่สามารถทนทานต่อพฤติกรรมของพระองค์ต่อไป เขาตัดสินใจลาออกในปี ค.ศ. ๑๗๗๔ สิบสี่ปีก่อนหน้าที่โทลล์จะกลายเป็นแพะในปี ค.ศ. ๑๗๘๘ และก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี ค.ศ. ๑๗๘๖ เขาได้ระบายความในใจโดยเขียนจดหมายถึงพระเจ้ากุสตาฟที่สาม โดยตำหนิพระองค์ว่า “ทรงใจอ่อนโดยเฉพาะกับพวกบริวารสอพลอ และเข้าข้างอย่างไม่มีเหตุผลกับคนที่พระองค์พอพระทัย”
อย่างไรก็ตาม ปัญหาทำนองนี้ย่อมจะเกิดขึ้นกับผู้ปกครองหรือผู้นำทางการเมืองเสมอ แต่จะเกิดขึ้นได้มากที่สุดสำหรับผู้นำที่เป็นกษัตริย์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กษัตริย์ที่ทรงยึดอำนาจทางการเมืองมาเป็นของตนและปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลจากสถาบันทางการเมืองอื่นที่มีประสิทธิภาพและอำนาจอย่างพอเพียง
บทเรียนสำคัญประการหนึ่งจากการเมืองสวีเดนนับตั้งแต่ “ยุคแห่งเสรีภาพ” (the Age of Liberty) จนถึงช่วงภายใต้การนำของพระเจ้ากุสตาฟที่สาม นั่นคือ การสวิงอย่างสุดโต่งของอำนาจทางการเมืองภายใต้กระแสประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการเหวี่ยงไปในทางคณะอภิชนนักการเมืองในรัฐสภา (the Few) ที่ครองอำนาจเต็มในช่วงหนึ่ง และการเหวี่ยงกลับมาเป็นเอกบุคคล (the One) ทรงพระราชอำนาจกษัตริย์อย่างพระเจ้ากุสตาฟ
ทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดสภาวะถ่วงดุลโดยไม่ชะงักงัน และสามารถปล่อยให้อำนาจแต่ละฝ่ายทำหน้าที่ของมันไปได้อย่างราบรื่นและถูกต้องชอบธรรม ซึ่งกว่าสวีเดนจะเรียนรู้และพัฒนาสภาวะดังกล่าวได้ ก็ย่อมต้องใช้เวลา และที่สำคัญทุกภาคส่วนจะต้องเข้าใจถึงหลักการผสมผสานของอำนาจในส่วนต่างๆ เป็นสำคัญ