ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - Bitkub สตาร์ทอัพยูนิคอร์นพันล้านอาจฝันสลายในชั่วข้ามปีเมื่อบิ๊กดีลซื้อขายหุ้นให้ “ยานแม่ SCBX” ผ่านมาหลายเดือนแล้วยังลุ้นระทึก คาดภายในเดือนมิถุนายนนี้มีคำตอบจะล้มดีลหรือไม่ ขณะที่ราคาเหรียญ KUB Coin ช่วง 6 เดือน หล่นวูบกว่า 80% เม่าน้อยเจ็บหนัก แต่ผู้เล่นรายใหญ่อย่าง PROEN และ TVD กลับมีสัญญารับประกันราคาซื้อคืนไม่ต่ำกว่าราคาทุน สะท้อนธรรมาภิบาลสองมาตรฐาน?ิ
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลคริปโตเคอเรนซียังผันผวนอย่างรุนแรง จาก ราคาที่พุ่งแรงสู่ดวงจันทร์ หรือ go to the moon เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมากลับเข้าสู่เทรนด์ขาลงแดงเถือกทั้งกระดานในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลกลางหลายประเทศต่างออกกฎคุมเข้ม สะเทือนถึงซูเปอร์ดีลที่บิทคัพทำกับกลุ่มแบงก์ไทยพาณิชย์ผ่านทางยานแม่ SCBX อย่างช่วยไม่ได้
นักลงทุนขาใหญ่ในตลาดคริปโตฯ อย่าง นายไมเคิล โนโวแกรทซ์ มหาเศรษฐีนักลงทุนคริปโตเคอเรนซี และผู้บริหารบริษัทกาแล็กซี ดิจิทัล โฮลดิงส์ คาดการณ์ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีแนวโน้มผันผวนและเผชิญกับแรงกดดันต่อไปอีกอย่างน้อยจนถึง 2-3 ไตรมาสข้างหน้าตามทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฉุดสภาพคล่องในตลาดสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งรวมถึงตลาดคริปโตเคอเรนซี จากที่ก่อนหน้านี้บิทคอยน์และสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ ได้รับปัจจัยบวกจากเฟดที่ใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ขณะนี้เฟดเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้นักลงทุนต้องหันมาประเมินความเสี่ยงอีกครั้ง เมื่อตลาดซบเซานักลงทุนหน้าใหม่ที่เข้ามาปลุกความคึกคักก็ลดน้อยลง
ไม่เพียงแต่เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อที่ส่งผลให้คริปโตฯ ผันผวนหนัก หน่วยงานรัฐบาลยังส่งสัญญาณคุมการลงทุนในคริปโตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ให้ความเห็นว่าคริปโตเคอเรนซี ไม่ได้อิงมูลค่ากับสิ่งใดและควรได้รับการควบคุมดูแลเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนนำเงินออมออกมาซื้อคริปโตฯ เพื่อเก็งกำไร และป้องกันผลกระทบต่อระบบการเงินในวงกว้าง
ในทำนองเดียวกัน ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกกฎคุมการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของแบงก์พาณิชย์ไทยไม่เกิน 3% ของกองทุน และห้ามใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมาซื้อขายสินค้าและบริการ รวมทั้งห้ามการโฆษณาและชักชวนเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการลงทุนจากความผันผวนของราคาคริปโตฯ ที่ไม่แน่นอน และความเสี่ยงในการฟอกเงินหรือถูกโจรกรรม
ก.ล.ต.ยังออกหลักการปรับปรุงแนวทางกำกับดูแลโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มีลักษณะพร้อมใช้หรือ “Utility Token พร้อมใช้” ทั้งในตลาดแรกและตลาดรองเพื่อเพิ่มการคุ้มครองแก่นักลงทุน โดยสาระสำคัญหลักอยู่ตรงที่ผู้เสนอขายที่ต้องการนำ “Utility Token พร้อมใช้” เข้าศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. และจะต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) โดย “Utility Token พร้อมใช้” ดังกล่าวจะต้องไม่เข้าข่ายเป็นการนำไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ
นอกจากนั้น ยังให้มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการของ “Utility Token พร้อมใช้” ในตลาดแรกอย่างต่อเนื่อง และห้ามไม่ให้ผู้เสนอขายหรือบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องถือ “Utility Token พร้อมใช้” เกินกว่ากำหนด และไม่ให้กระจายโทเคนแก่บุคคลอื่นภายในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อป้องกันการเกิดความไม่เป็นธรรม
สำหรับ “Utility Token พร้อมใช้” ที่เสนอขายไปก่อนการบังคับใช้ประกาศฉบับนี้ทั้งที่ยังไม่เข้าศูนย์ซื้อขายฯ และที่เข้าไปแล้ว ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับศูนย์ซื้อขายฯ ที่กำหนดไว้ด้วย
อาจกล่าวได้ว่าระบบนิเวศน์ที่ดึงดูดการลงทุนในตลาดคริปโตฯ เจอกฎคุมเข้มจากหน่วยงานรัฐมากขึ้น อีกทั้งคริปโตก็ไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่าเป็น “หลุมหลบภัย” ในสถานการณ์เงินเฟ้ออย่างเช่นเวลานี้เหมือนอย่างที่คาดการณ์เอาไว้
ไม่นับความเสี่ยงและความผันผวนที่ควบคุมได้ยากอย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับเหรียญ LUNA ซึ่งประมาณการว่ามีนักลงทุนทั่วโลกเสียหายจากเหรียญ LUNA และเหรียญ UST กว่า 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 1,578,000 ล้านบาท ภายในช่วงเวลาของวิกฤตการณ์ราคาเหรียญ LUNA ดิ่งเหว 1-2 สัปดาห์ ซึ่งต่อมาทีมงานแพลตฟอร์มเทอร์รา (Terra) แห่งเกาหลีใต้ ผู้พัฒนาเหรียญ LUNA ได้สร้างแพลตฟอร์มเทอร์รา 2.0 (Terra 2.0) ปัจจุบันมูลค่าเหรียญ LUNA 2.0 อยู่ที่ประมาณ 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ/เหรียญ จากราคาช่วงแรกที่เปิดตัวเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่ 650-700 ดอลลาร์สหรัฐฯ/เหรียญ ขณะที่เสียงเตือนระวังประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ
วกกลับมายังไทย ไฮไลต์ที่ “เม่าน้อย” รอคอยความชัดเจนยังคงเป็นซูเปอร์ดีลการซื้อขายหุ้น Bitkub ของ “ยานแม่ SCBX” ท่ามกลางราคาของเหรียญ KUB Coin ที่ปักหัวดิ่งลงหาก้นเหวไม่เจอ จากราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 580 บาทต่อเหรียญ มาถึงวันนี้ราคาสวิงลงมาต่ำร้อย แม้ว่า นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด จะพยายามสร้างภาพจับไม้จับมือกับผู้นำประเทศและนักลงทุนใหญ่ในงานประชุมระดับโลกจากการได้รับเชิญขึ้นพูดบนเวที World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็ตาม
สำหรับความคืบหน้าของซูเปอร์ดีล SCBX ซื้อหุ้น Bitkub มีรายงานข่าวว่า ปัจจุบันทีมผู้บริหารเอสซีบีเอ็กซ์ และที่ปรึกษาทางการเงินยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะและการประเมินทรัพย์สิน (Due Diligence) ของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ผู้ทำธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทย (Digital Asset Exchange) ซึ่งเอสซีบี เอ็กซ์ เคยประกาศว่าจะซื้อหุ้นสัดส่วน 51% ในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ มูลค่ารวมประมาณ 17,850 ล้านบาท จากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ที่มี ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา เป็นผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ตามรายงานทีมผู้บริหารเอสซีบีเอกซ์ และที่ปรึกษาทางการเงินจะทำ Due Diligence เสร็จสิ้นในเดือน มิ.ย. 2565 นี้ และจะนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ของเอสซีบีเอกซ์ พิจารณาต่อไป ดังนั้น ณ เวลานี้ เอสซีบีเอ็กซ์ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะซื้อหุ้นของบิทคับ ออนไลน์ ตามดีลเบื้องต้นที่ตกลงกันไว้หรือไม่ ต้องรอผลสรุปของการทำ Due Diligence เสียก่อน เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการพิจารณาว่าราคาที่ตกลงกันนั้นเหมาะสมหรือไม่ และเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปประการหนึ่งก็คือภาพรวมของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกมีความผันผวนสูงมาก ราคาปัจจุบันลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงที่ประกาศดีล ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่เอสซีบีเอ็กซ์จะต่อรองขอลดราคาซื้อหุ้นบิทคับ ออนไลน์ ลงจากราคาเดิมที่ตกลงกัน ทั้งยังต้องดูระเบียบข้อกฎหมายจากหน่วยงานกำกับทั้ง ธปท. และ ก.ล.ต. มาประกอบด้วย
ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว “ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ตอบคำถามสั้นๆ เมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค.65 ว่า “ขณะนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดใดๆ ได้”
อย่างไรก็ดี กระบวนการซื้อขายหุ้นระหว่างบิทคับฯ กับ SCBX ที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ เป็นปัจจัยกดดันราคาเหรียญ KUB Coin ดิ่งเหวโดยนักลงทุนรายย่อยได้แต่แบกรับความสูญเสียได้ไร้อำนาจการต่อรองใดๆ แต่สำหรับนักลงทุนรายใหญ่กลับมีสัญญารับประกันราคาซื้อคืน ล่าสุด ในกรณีของ บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ PROEN และ บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) หรือ TVD
เริ่มจากเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2565 บมจ.โปรเอ็น คอร์ป ตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด (Bitkub) เพื่อวัตถุประสงค์การเป็นพาร์ทเนอร์ในการเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรม (Validator Node) แบบ PoSA (Proof of Stake Authority) ในระบบการตรวจสอบธุรกรรมบล็อกเชน (Block chain) ของ Bitkub (Bitkub Blockchain Technology Co., Ltd.) จำนวน 2.5 แสนเหรียญ ในราคาลงทุนเฉลี่ยเหรียญละ 291 บาท (ประมาณ 72.9 ล้านบาท)
แต่ในช่วงที่ผ่านมา ราคาเหรียญ KUB ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยลบต่างๆ ที่เข้ามากดดันจนหลุดต่ำกว่า 100 บาทต่อ 1 เหรียญเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2565 หลังจากที่เคยทำราคาสูงสุดไว้ที่ประมาณ 580 บาท โดยในวันดังกล่าวราคา KUB หล่นไปถึง 95.02 บาทลดลง 484.98 บาท หรือกว่า 83.62% จากจุดสูงสุดของราคาเหรียญ และเมื่อวันที่ 31พ.ค. ที่ผ่านมา ราคาเหรียญเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 112 บาทต่อ 1 เหรียญ นั่นทำให้มูลค่าลงทุนของ PROEN ลดลงไปประมาณ 179 บาท หรือกว่า 159% ส่งผลให้นักลงทุนที่ถือหุ้น PROEN ตัดสินใจเทขายหุ้นออกมา เนื่องจากกังวลว่าบริษัทจะได้รบผลกระทบจากการลงทุนในเหรียญ KUB จนราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาเคลื่อนไหวต่ำกว่า 7.00 บาทต่อหุ้น จากที่เคยทะยานขึ้นที่ระดับ 10.00 บาทต่อหุ้น ในช่วงเดือน มี.ค. 2565
ผู้บริหารบริษัทต้องออกมาชี้แจงเมื่อวันที่ 31พ.ค. ที่ผ่านมา ว่าการร่วมลงทุนกับ Bitkub นั้นมีข้อตกลงในการยืนยันการรับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำเมื่อครบกำหนดภายในวันที่ 31 พ.ค. 2566 ในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาที่บริษัทลงทุน ซึ่งอ้างอิงกับราคาซื้อขายแลกเปลี่ยนบนศูนย์กลางซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล Bitkub ณ วันที่บริษัทลงทุน แต่หากราคาซื้อขาย ที่อ้างอิงของสินทรัพย์ดิจิทัล Bitkub สูงกว่าราคาขั้นต่ำที่รับประกัน ทางบริษัทสามารถตัดสินใจขายทำกำไรได้ ตามราคาแลกเปลี่ยน ณ วันนั้น จึงไม่ได้รับผลกระทบจากราคาเหรียญ KUB ในปัจจุบัน
ขณะที่ บมจ.ทีวี ไดเร็ค หรือ TVD ก็เป็นอีกหนึ่งรายที่ประกาศเข้าลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคริปโตฯ และระบบที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล โดยให้เหตุผลว่าเป็นแผนงานส่วนหนึ่งในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจของ TVD ให้ปรับตัวได้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และเสริมประโยชน์จากการใช้ระบบที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลในการทำการตลาด และส่งเสริมการนำเสนอสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งเป็นแผนในการพลิกฟื้นธุรกิจของบริษัทให้พลิกกลับมาเป็นบวกได้อีกครั้ง หลังจากที่ผ่านมาเผชิญกับความท้าทายเข้ามาค่อนข้างมาก
ในส่วนของแผนการลงทุนบริษัทวางงบลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคริปโตรวมกว่า 80 ล้านบาท ซึ่งในช่วงแรกจะใช้เงินลงทุนราว 53 ล้านบาทใน 3 ส่วน ได้แก่ ซื้อเครื่องขุด Bitcoin จำนวน 25 เครื่อง กำลังการขุดราว 0.001 BTC/วัน โดยบริษัทเตรียมสถานที่และกำลังผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการอนุญาต ซึ่งได้รับอัตราค่าไฟในราคาที่ถูก รวมถึงจะมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อเสริมกำลังการใช้ไฟฟ้าในการรองรับการขุดเหมือง Bitcoin คาดว่าจะเริ่มได้ในช่วงไตรมาส 3/65
รวมทั้งการลงทุนเข้าเป็นสมาชิก Node Validator ของ Bitkub ซึ่งบริษัทได้เข้าทำสัญญาซื้อเหรียญ KUB Coin ที่ราคา 104.26 บาท/เหรียญ จำนวน 125,000 เหรียญ ใช้เงินทุนราว 13 ล้านบาท โดยบริษัทมั่นใจว่าเป็นราคาที่ต่ำและมีความเหมาะสม แม้จะยังมีความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคาเหรียญอยู่บ้าง แต่บริษัทได้ทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงรองรับในระดับ 12% หรือจำนวน 15,000 เหรียญ โดยรองรับราคาลดลงมาได้ต่ำสุดถึง 90 บาท และมีระยะเวลาสัญญา 1 ปี ส่วนงบลงทุนอีก 15 ล้านบาท จะใช้ในการลงทุนระบบ Proof of stake เพื่อรองรับ Node Validator ของ Bitkub โดยจะเริ่มดำเนินการในช่วงไตรมาส 3/65 ทั้งหมด
“การเข้าลงทุนใน Node Validator ของ Bitkub ไม่ได้คาดหวังการเก็งกำไร แต่มองประโยชน์ในการต่อยอดเข้ามาเสริมด้านการทำการตลาด ในการออกเหรียญ หรือ NFT ให้แก่ลูกค้า หรือการทำกิจกรรมทางการตลาดในแคมเปญต่างๆ และโอกาสการเข้าสู่ Metaverse ต่อไปในอนาคต” ทรงพล ชัญมาตรกิจ หรือ “เสี่ยซ้ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TVD ให้ความเห็น
อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขข้อตกลงการรับซื้อคืนไม่ต่ำกว่าราคาทุนของสองกรณีข้างต้น ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักลงทุนว่า การปรับสาระสำคัญของข้อตกลงที่ Bitkub จะรับประกันซื้อคืนในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาต้นทุนนั้น เป็นการดำเนินการแบบสองมาตรฐาน คือดูแลและอุ้มเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่หรือไม่ ขณะที่นักลงทุนรายย่อยเองก็ได้รับความเสียหายเช่นกันและมีจำนวนมากที่ติดดอยจากราคา KUB Coin ที่เคยปรับตัวขึ้นไปทำราคาสูงสุดถึง 580 บาท
การกระทำเยี่ยงนี้นอกจากจะเป็นการเอาเปรียบนักลงทุนรายย่อยแล้ว ยังเป็นกลยุทธ์หาพันธมิตรพยุงราคาเหรียญไม่ให้ตกต่ำ กระทั่งน่าสงสัยว่านอกจากเคสของ PROEN และ TVD ยังมีพันธมิตรธุรกิจอื่นที่มีเงื่อนไขรับซื้อคืนในราคาประกันหรือไม่
ใส้ในของบิทคับ มีปมที่ชวนกังขาอยู่ไม่น้อย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่การเข้าซื้อหุ้นบิทคัพ ออนไลน์ ของยานแม่เอสซีบีเอ็กซ์ จึงล่าช้ายืดเวลาเกินกำหนดหลายเดือน และเริ่มมีข่าวคราวการขอต่อรองราคาและอาจไปถึงขั้นล้มดีลหากคิดสะระตะแล้วไม่คุ้มค่าการลงทุน