xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กรุงเทพฯ ติดอันดับ Work ไร้ Balance มีคนตายทุกวัน เพราะทำงานหนัก!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปี 2565 กรุงเทพฯ รั้งท้ายเมือง Work-Life Balance แย่สุดในโลก พบว่าประชากรชาวกรุงเทพฯ ชั่วโมงทำงานสูงมาก ทำงานหนักเกินไป บั่นทอนสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ มิหนำซ้ำในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการทำงานนับแสนราย 

ผลสำรวจจาก Kisi บริษัทซอฟต์แวร์เกี่ยวกับเรื่อง Work-Life Balance หรือสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน ทำการจัดอันดับเมืองที่มี Work-Life Balance ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2022 พบว่า กรุงเทพฯ ประเทศไทย ติดอันดับ 96 จาก 100 อันดับเมืองที่มี Work-Life Balance ดีที่สุดในโลกของปีนี้ จากปี 2564 กรุงเทพฯ อันดับ 49 เรียกว่าร่วงลงมารั้ง TOP 5 เมือง Work ไร้ Balance เลยทีเดียว

 โดยเมืองรั้งท้าย เรื่อง Work-Life Balance ประกอบด้วย 96.กรุงเทพฯ ประเทศไทย 97.เซาเปาโล บราซิล 98.กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย 99.ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ 100.เคปทาวน์ แอฟริกาใต้

ส่วนเมืองขณะที่เมืองที่ Work-Life Balance ดีสุดในโลก 5 อันดับแรก ประกอบด้วย1.ออสโล นอร์เวย์ 2.เบิร์น สวิตเซอร์แลนด์ 3.เฮลซิงกิ ฟินแลนด์ 4.ซูริค สวิตเซอร์แลนด์ และ 5.โคเปนเฮเกน เดนมาร์ก 

สำหรับเกณฑ์พิจารณาจัดลำดับ Work-Life Balance จะทำการเก็บข้อมูลของแต่ละเมือง 3 หมวด คือ ความหนักของงาน (Work Intensity) สังคมและสถาบัน (Society and Institutions) และความน่าอยู่ของเมือง (City Liveability) โดยในแต่ละด้านจะมีการเก็บข้อมูลในมิติต่างๆ ซึ่งกรุงเทพฯ ได้คะแนนต่ำในเรื่องต่อไปนี้ การทำงานจากระยะไกลได้, ทำงานหนักเกินไป, วันหยุดขั้นต่ำน้อย, ค่าครองชีพสูง, ความสุข วัฒนธรรม และการพักผ่อน, ความปลอดภัย, พื้นที่กลางแจ้ง และคุณภาพอากาศ

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยรายงานการศึกษาตีพิมพ์ในวารสาร Environment International ที่เผยแพร่เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2564 ระบุว่าการทำงานล่วงเวลา ส่งผลต่อสุขภาพระยะยาวและเป็นหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรหลายแสนคนต่อปี และนำไปสู่พฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพ และทำให้ชีวิตไร้สมดุล

กลุ่มคนที่ทำงาน 55 ชั่วโมงขึ้นไปในแต่ละสัปดาห์ มีความเสี่ยงต่อการเป็น  “โรคหลอดเลือดสมอง”  สูงขึ้นประมาณร้อยละ 35 และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจาก “โรคหัวใจ”  สูงขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับคนที่ทำงานสัปดาห์ละ 35 - 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

นั่นคือ ผลการศึกษาที่ WHO ระบุไว้

ข้อมูลในปี 2559 ยังพบว่ามีประชากรโลกจำนวนกว่า 745,000 คน เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ ซึ่งล้วนเป็นผลสืบเนื่องจากการทำงานยาวนานหลายชั่วโมงเกินไปในแต่ละวัน โดยแนวโน้มการเสียชีวิตของคนทำงาน ตั้งแต่ปี 2543 - 2559 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 42 และโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นร้อยละ 19

และงานศึกษายังพบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 72 เป็นผู้ชายในวัยกลางคนหรือมากกว่า โดยผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึง ญี่ปุ่น จีน และออสเตรเลีย

ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่น ประชากรจำนวนหนึ่งกำลังเผชิญกับการทำงานหนักจนตาย มีชื่อเรียกว่า  โรคคาโรชิ (Karoshi)  เกิดจากการทำงานหนักจนพักผ่อนไม่เพียงพอ เครียด อ่อนเพลีย จนเกิดความผิดปกติต่อร่างกายและอารมณ์ นำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งสาเหตุการตายส่วนใหญ่มักมาจากภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง และฆ่าตัวตาย ข้อมูลเชิงลึกระบุว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ทำงานเป็นเวลานานติดต่อกัน 60 - 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือมากกว่านั้น

นอกจากนี้ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 WHO ยังระบุว่าการทำงานจากที่บ้าน ซึ่งใช้ชั่วโมงในการทำงานมากกว่า เฉลี่ยแล้วเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10 รวมถึง ภาวะเศรษฐกิจซบเซา ก่อให้เกิดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคที่กล่าวมากขึ้น ซึ่งยังไม่รวมถึงภาวะเครียดจากการทำงานอีกด้วย

สอดคล้องกับข้อมูลจากองค์การแรงงานสากล (ILO) และองค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยผลสำรวจพบว่าในแต่ละปี มีคนทั่วโลกเสียชีวิตโดยมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการทำงานเกือบ 2 ล้านคน โดยปัจจัยที่ทำให้คนเสียชีวิตจากการทำงานมีหลายอย่าง ตั้งแต่ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินไป พักผ่อนไม่เพียงพอ ป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน มลภาวะในที่ทำงาน เป็นต้น

การทำงานงานหนักยังส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ทำร้ายต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่, การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ขาดการออกกำลังกาย ฯลฯ

 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์  อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่าคนทำงานหนักเกินไป เสี่ยงเป็น “โรคเบาหวาน” ซึ่งสาเหตุที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของพฤติกรรมการรับประทานอาหารของหวาน ของมัน ของทอด โดยเฉพาะเมื่อทำงานหนัก เกิดความเครียดร่างกายต้องการของหวานเติมเต็ม เพราะว่าสามารถบรรเทาความเครียดได้ของหวานที่มีน้ำตาลสูงจะสามารถช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลและอะดรีนาลีน ที่จะหลั่งออกมาในเวลารู้สึกเครียด เมื่อคุณเครียดมากจึงทานมากขึ้น ซึ่งวิธีนี้เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นแถมยังทำลายสุขภาพเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้คนจำนวนหนึ่งเผชิญอยู่กับภาวะจำยอม ด้วยภาระในชีวิตมิอาจหลีกเลี่ยงการโหมงานหนักได้ แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชีวิตแตกต่างออกไป ซึ่งมีผลสำรวจระบุว่าคนรุ่นใหม่กว่าครึ่งยินดีว่างงานมากกว่าทำงานที่ไม่มีความสุข โดย Randstad บริษัทจัดหางานอันดับสองของโลกสำรวจคน 35,000 คนใน 34 ตลาดอาชีพ เผยแพร่ผลสำรวจ Workmonitor global ระบุว่า คนเจน Y และเจน Z สัดส่วน 56% จัดอันดับความสุขเป็นสิ่งสำคัญในการทำงาน และระบุว่าจะตัดสินใจลาออกออกจากงาน หากงานรบกวนชีวิตส่วนตัว

นอกจากนี้ เว็บไซต์บลูมเบิร์กเผยผลสำรวจความเห็นชาวอเมริกันช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2564 ระบุว่าการทำงานที่บ้าน (work from home) ช่วยประหยัดค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายรายวัน โดยบางรายระบุว่าปีที่ผ่านมาสามารถประหยัดค่าเดินทางไปได้เดือนละกว่า 500 ดอลลาร์ (ประมาณ 15,000 บาท) ทั้งยังทำให้หลายคนใกล้ชิดครอบครัวมากขึ้น โดยผู้ตอบสอบถาม 39% ซึ่งเป็นคนเจน Y หรือ ยุค millennials ช่วงอายุระหว่าง 20 - 39 ปีระบุว่า จะลาออกหากบริษัทให้กลับไปทำงานที่ออฟฟิศหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด

Flex Jobs เว็บไซต์จัดหางานในสหรัฐฯ เผยผลสำรวจความคิดเห็นพนักงานที่ทำงานจากบ้าน ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างเป็นพนักงานบริษัทเอกชน 2,100 ช่วงเดือน เม.ย. 2564 พบว่ามากกว่าครึ่งต้องการทำงานที่บ้านต่อไป แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศว่าประเทศพ้นจากภาวะวิกฤตโรคระบาดไปแล้วก็ตาม

 อย่างไรก็ดี ผลการวิจัยจาก Owl Labs ระบุว่าพนักงานที่ไม่ได้เข้าออฟฟิศหรือเข้าบ้างแต่ไม่ตลอด มีความสุขมากกว่าพนักงานที่เข้าออฟฟิศตลอดถึง 22% เพราะมีความเครียดน้อยลง มีสมาธิมากขึ้น มีสมดุลในการทำงานและชีวิต ทำให้สามารถสร้างประสิทธิผลได้มากกว่า

และยังมีข้อมูลสนับสนุนจาก Prodoscore บริษัทผู้ผลิตซอฟแวร์ติดตามพนักงานยังบอกว่า ข้อมูลจากผู้ใช้ 30,000 รายแสดงให้เห็นว่า พนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น 5% ในช่วงที่ทำงานจากบ้าน กลายเป็นว่า WFH กลายเป็นปัจจัยหนุนให้การทำงานดีขึ้นในหลายมิติ 


กำลังโหลดความคิดเห็น