"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
สังคมไทยในยามนี้มีภาพภาวะผู้นำทางการเมืองสองแบบที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ภาพหนึ่งเป็นภาวะผู้นำระดับชาติที่สะท้อนภาพแห่งความสิ้นหวัง ส่วนอีกภาพหนึ่งเป็นภาพภาวะผู้นำระดับท้องถิ่นที่ฉายแสงแห่งความหวัง ภาวะผู้นำแห่งความสิ้นหวังปรากฏและดำรงอยู่หลายปีแล้ว ขณะที่ผู้นำแห่งความหวังเพิ่งอุบัติขึ้นมาในช่วงต้นปีนี้
ผู้นำและทีมนำในการบริหารประเทศมีบทบาทสำคัญยิ่งในการกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง ผู้คนอยู่ดี กินดี ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ในยามที่ประเทศเผชิญปัญหาและตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก ผู้นำแห่งความหวังย่อมไม่พร่ำบ่น ครวญครางว่าเป็นความโชคร้ายของตนเอง หรือกล่าวโทษทุกอย่างว่าเป็นสาเหตุของปัญหา ยกเว้นตนเอง หากแต่ต้องเผชิญปัญหาด้วยความกล้าหาญและเดินหน้าเข้าไปจัดการปัญหานั้นด้วยความมุ่งมั่น
การแก้ปัญหาที่ซับซ้อนของประเทศ เช่น ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การผูกขาดทางเศรษฐกิจ การบุกรุกที่ดินสาธารณะ ยาเสพติด มลพิษทางอากาศ อุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นต้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ด้วยการอาศัยอำนาจหน้าที่และการบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว ระเบียบกฎหมายสร้างขึ้นไม่ยาก และเป็นเพียงองค์ประกอบหรือกลไกหนึ่งในการแก้ปัญหา เป็นการใช้อำนาจแห่งการลงทัณฑ์เพื่อห้ามป้องกันและห้ามปรามไม่ให้ประชาชนกระทำพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาในสายตาของผู้บัญญัติกฎหมาย ทว่าในหลายเรื่องหลายเหตุการณ์ กฎหมายบางอย่างนอกจากไม่สามารถแก้ปัญหาได้แล้ว กลับยิ่งทำให้ปัญหามีความซับซ้อนยิ่งขึ้น มากไปกว่านั้น ระเบียบกฎหมายบางอย่างกลับสร้างปัญหาใหม่เพิ่มซ้ำเติมเข้าไปอีก
ผู้นำแห่งความสิ้นหวังมักคิดว่า การใช้อำนาจหน้าที่ทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวจะสามารถแก้ปัญหาได้ แต่มักจะเผชิญความจริงที่ตรงข้ามกับความคิดของตนเองเสมอ ในที่สุดก็จำนนต่อปัญหา สิ้นปัญญาไม่ทราบว่าควรทำอะไรต่อไป ปัญหาจึงดำรงอยู่และสะสมพอกพูนมากขึ้นตามกาลเวลา ครั้นเมื่อมีผู้คนถามไถ่ว่าแก้ปัญหาไปถึงไหนแล้ว การตอบสนองที่มักเกิดขึ้นคือ การเบี่ยงเบนความสนใจสาธารณะไปสู่เรื่องอื่น การโยนความผิดไปยังปัจจัยอื่นหรือบุคคลอื่น และการเกิดอารมณ์ขัดเคืองและอาการกราดเกรี้ยวต่อผู้ถาม ผู้นำแบบนี้เป็นภาพที่คุ้นตาของคนไทยมากว่าแปดปีแล้ว
ผู้นำการเมืองที่อยู่ในอำนาจอย่างยาวนาน เมื่อทำงานเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าไม่สามารถแก้ปัญหาเดิมที่เคยดำรงอยู่ได้ พร้อมทั้งยังสร้างปัญหาใหม่อีกหลายประการระหว่างอยู่ในตำแหน่ง รวมทั้งไม่สามารถสร้างและขับเคลื่อนวิสัยทัศน์แห่งความหวังในการพัฒนาประเทศได้ ก็ย่อมเสื่อมความนิยมลงเป็นธรรมดา และกลายเป็นผู้นำแห่งความสิ้นหวัง เมื่อได้รับการสนับสนุนจากประชาชนน้อยลง ก็ยิ่งทำให้ขอบเขตของอำนาจที่เคยสามารถใช้ได้อย่างกว้างขวางในระยะแรกของการมีอำนาจหดตัวและจำกัดลง พลังอำนาจและคำสั่งที่เคยมีความน่าเกรงขามอยู่บ้างในระยะแรก ก็เริ่มถูกเมินเฉย ละเลย และอ่อนแอลงตามลำดับ โดยเฉพาะในกลุ่มข้าราชการที่ต้องนำนโยบายไปปฏิบัติ
แม้ความเป็นอนิจจังของอำนาจและความนิยมของผู้นำการเมืองของประเทศไทยเกิดขึ้นเป็นเวลาหลายปีแล้ว หากพิจารณาด้วยเหตุและผลบริสุทธิ์ตามหลักการบริหาร หลักการปกครอง และหลักวิชาการ ผู้นำแห่งความสิ้นหวังไม่น่าจะรักษาอำนาจและตำแหน่งของตนเองเอาไว้ได้ยาวนานดังที่เป็นอยู่ การที่ผู้นำแบบนี้สามารถรักษาตำแหน่งสูงสุดในการบริหารประเทศได้ยาวนานในยุคเทคโนโลยีดิจิตัลแห่งศตวรรษที่ 21ได้ ถือว่าเป็นความมหัศจรรย์พันลึกทางการเมืองประการหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งต้องมีปัจจัยเบื้องหลังที่สลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนหลายอย่างเกื้อหนุนและค้ำยันเอาไว้ อาทิ ความเหลื่อมล้ำของอำนาจทางการเมือง การได้รับการสนับสนุนและปกป้องจากภาคีเครือข่ายชนชั้นนำ ข้าราชการระดับสูงและนักธุรกิจผูกขาด ชนชั้นกลางและสื่อมวลชนที่มีอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมแบบเข้มข้น หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากลุ่มขวาจัด และนักการเมืองแนวปฏิบัตินิยมแบบฉวยโอกาส
เหตุผลที่กลุ่มเหล่านี้ยังคงสนับสนุนผู้นำแห่งความสิ้นหวังที่ไร้ความสามารถเช่นนี้เอาไว้มีหลายประการ บางกลุ่มอาจได้ประโยชน์จากความไร้ความสามารถในการแก้ปัญหาของผู้นำในทางใดทางหนึ่ง เพราะการคงอยู่ของปัญหาหลายอย่างคือที่มาของทรัพยากรและความมั่งคั่งของคนกลุ่มเหล่านั้น อย่างปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น เป็นแหล่งขุมทรัพย์อันมีค่ายิ่งของข้าราชการระดับสูงบางส่วนและนักการเมืองบางคน เฉกเช่นเดียวกับปัญหายาเสพติด และปัญหามลพิษทางอากาศ หากปัญหาเหล่านี้ถูกขจัดออกไปด้วยผู้นำทางการเมืองที่ทรงประสิทธิภาพ ขุมทรัพย์ก็ย่อมมลายหายไป
ยิ่งกว่านั้น ปัญหาบางอย่างหล่อเลี้ยงและสร้างความชอบธรรมในการดำรงอยู่และการใช้งบประมาณให้กับหน่วยราชการบางแห่ง การหมดสิ้นลงของปัญหาอาจหมายถึงการสิ้นสุดลงของหน้าที่การงาน บทบาท งบประมาณ และความก้าวหน้าในงาน คนจำนวนไม่น้อยมีวิธีคิดแบบนี้ จึงย่อมยินดีที่ผู้นำไม่สามารถแก้ปัญหาได้ สิ่งที่พวกเขาดำเนินการคือ สร้างตัวชี้วัดบางอย่าง ที่ไม่มีสะท้อนการแก้ปัญหาที่แท้จริง ทำงานให้บรรลุตัวชี้วัด แต่ไม่บรรลุการแก้ปัญหา จากนั้นนำการบรรลุตัวชี้วัดมาแสดงและอวดอ้างว่าเป็นความสำเร็จ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการเสนอของบประมาณและขยายบทบาทของหน่วยงานตนต่อไป
การแก้ปัญหาบางอย่าง เช่น ปัญหามลพิษทางอากาศ ย่อมกระทบกับผลประโยชน์ของกลุ่มทุนขนาดใหญ่จำนวนมาก ผู้นำแห่งความสิ้นหวังที่มุ่งหวังเพียงยืดอำนาจของตนเองออกไป ย่อมไม่เลือกการแก้ปัญหานี้อย่างถึงรากถึงโคน อย่างมากที่จะทำคือ การพูดสนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อม และการขอร้องให้ทุกคนช่วยกันเท่านั้น ไม่มีทางที่จะเข้าไปขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง บทที่เขาเลือกแสดงคือ การพูดโดยไม่ใส่ใจการปฏิบัติ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีในสายตาของชนชั้นกลางในเมืองบางส่วนที่ยังคงนิยมเขาอยู่
ผู้นำแห่งความสิ้นหวังยังคงได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนำทางความคิดทางสังคมและสื่อมวลชนชนชั้นกลางที่มีอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมเข้มข้น การที่กลุ่มนี้ไม่เลิกสนับสนุนผู้นำแห่งความสิ้นหวัง ทั้งที่พวกเขาจำนวนมากก็ตระหนักดีว่า ผู้นำเสื่อมคุณค่าด้อยราคาลงไปแล้วนั้น เป็นเพราะในบรรดาบุคคลที่สังกัดความเชื่อเดียวกันกับพวกเขา ไม่มีบุคคลอื่นที่ดูดีกว่า เพื่อมาแทนที่ผู้นำแห่งความสิ้นหวังคนปัจจุบันได้ โดยเฉพาะเรื่องภาพลักษณ์ของความซื่อสัตย์ ซึ่งพวกเขารู้สึกว่าเป็นจุดแข็งของบุคคลนี้ท่ามกลางข่าวอื้อฉาวของคนแวดล้อมใกล้ชิด
เป็นเรื่องธรรมดามาก ที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมเข้มข้นจะขับเคลื่อนประเด็นและวิพากษ์การเมืองด้วยอารมณ์ความรู้สึกนำเหตุผล เพราะนั่นเป็นธรรมชาติหรือจุดร่วมของกลุ่มคนที่สมาทานความเชื่อเข้ามาเป็นของตนเอง ซึ่งเกิดขึ้นในระดับสากล กลุ่มเหล่านี้มักแสดงอารมณ์รักชาติอย่างท่วมท้น จนหลายครั้งเข้าข่ายคลั่งชาติ ทั้งที่พวกเขาเองก็ยังนิยามความคิดเกี่ยวกับชาตินิยมไม่ชัดเจนนัก ขณะเดียวกันก็มักแสดงอารมณ์เกลียดชังอย่างฝังลึกถึงกระดูกต่อบุคคลและกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีความคิดแตกต่างจากพวกเขา โดยเฉพาะในประเด็นชาติ ลำดับชั้นของอำนาจในสังคม ค่านิยม วัฒนธรรม และบทบาทและสถานภาพของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนบางกลุ่ม
กล่าวถึงที่สุด ที่ว่าสังคมไทยเกิดวิกฤตผู้นำนั้น ที่จริงเป็นวิกฤตของผู้นำในกลุ่มอนุรักษ์นิยมมากกว่าเป็นวิกฤตของผู้นำสังคม อันที่จริงมีผู้นำทางการเมืองหลายคนที่ส่อแววเป็นผู้นำแห่งความหวัง ทว่าด้วยเงื่อนไขของระบบการเลือกตั้ง โครงสร้างของกลุ่มคนที่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี และการทำหน้าที่แบบพิสดารขององค์กรอิสระ ทำให้ผู้นำทางการเมืองหลายคนถูกทำลายโอกาสและถูกกีดกันออกจากการเมือง
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาและมีเงื่อนไขเกื้อหนุน ผู้นำทางการเมืองใหม่ที่อยู่นอกสังกัดกลุ่มอนุรักษ์นิยมเข้มข้นก็ปรากฏตัวขึ้นมา และกลายเป็นผู้นำแห่งความหวังของผู้คนนับล้านคนที่เลือกเขาไปไปบริหารมหานคร ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้นำในระดับการเมืองท้องถิ่น ทว่า กรุงเทพมหานครเป็นท้องถิ่นที่เป็นหัวใจของประเทศไทย การปรากฎตัวของผู้นำแห่งความหวังใหม่จึงไม่เพียงเป็นสัญญาณว่า ประชาชนส่วนของเมืองหลวงต้องการเปลี่ยนแปลงผู้นำระดับท้องถิ่นเท่านั้น หากแต่ยังสร้างผลกระทบต่อความปรารถนาในการเปลี่ยนแปลงผู้นำระดับชาติของประชาชนทั่วประเทศอีกด้วย ความต้องการเปลี่ยนแปลงผู้นำแห่งความสิ้นหวังระดับประเทศ นับวันจะทรงพลังและขยายตัวไปยังผู้คนในต่างจังหวัดมากขึ้นตามลำดับ และมีแนวโน้มแสดงออกมาเป็นรูปธรรมในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
เพียงไม่กี่วันที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา ก็มีการเปรียบเทียบภาวะผู้นำของผู้ว่าคนใหม่กับนายกรัฐมนตรีอย่างเข้มข้นในหลายมิติ ที่เห็นได้ชัดอยู่อย่างหนึ่งคือ ผู้ว่ากรุงเทพฯ คนใหม่ มีความเข้าใจอย่างชัดเจนว่า การทำงานให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่สามารถอาศัยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างแข็งขันและกระตือรือร้นของบรรดาข้าราชการและประชาชนด้วย ดังนั้น การกำหนดท่วงทำนองและการสื่อสารของผู้ว่าคนใหม่จึงเน้นย้ำการสื่อสารเชิงบวก สื่อสารด้วยเหตุผล สื่อสารอย่างชัดเจนเพื่อความเข้าใจร่วมกัน สื่อสารเพื่อสร้างมิตรให้เกียรติแก่ผู้คน สื่อสารเพื่อเสริมสร้างพลัง สร้างแรงดลใจ และแสวงหาการร่วมมือจากประชาชนทุกฝ่าย รวมทั้งการสื่อสารแบบสองทางด้วยการรับฟังความคิดเห็นอย่างจริงจัง เพียงเปรียบเทียบเกี่ยวกับท่วงทำนองและเป้าหมายการสื่อสารของผู้ว่ากรุงเทพฯ กับผู้นำระดับประเทศ ก็เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ราวกับว่าบุคคลทั้งสองอยู่ในยุคสมัยที่แตกต่างกัน คนหนึ่งมีจิตสำนึกและตระหนักถึงกาลเวลาแห่งปัจจุบันและอนาคต ส่วนอีกคนหนึ่งแสดงการสื่อสารออกมาราวกับมีจิตสำนึกที่หลงติดอยู่ในอดีตอันยาวไกล
ในยุคปัจจุบันและอนาคต ผู้นำทางการเมืองไม่ว่าในระดับใดก็ตาม หากมุ่งมั่นและมีเจตนารมณ์อย่างแรงกล้าในการแก้ปัญหาประเทศและพัฒนาสังคมอย่างจริงจัง ก็ต้องเริ่มสื่อสารด้วยเนื้อหาและท่วงทำนองที่มุ่งสร้างความร่วมมือจากประชาชน และต้องปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับสิ่งที่สื่อสารออกไปด้วย ในไม่ช้าความเชื่อถือศรัทธาก็จะเพิ่มขึ้นอย่างไม่อาจประมาณได้ เมื่อได้รับความศรัทธาจากประชาชน การแก้ปัญหาต่าง ๆ ก็มีความเป็นไปได้มากขึ้น ไม่ว่าปัญหานั้นจะซับซ้อนหรือยากเพียงใดก็ตาม ผู้นำแห่งความหวัง ประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับประเด็นต่าง ๆ ก็จะสานพลังร่วมกันขับเคลื่อนแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ และทำให้มีความเป็นไปได้สูงในการสร้างเมืองที่น่าอยู่และสังคมที่พึงปรารถนาในอนคตได้สำเร็จภายในระยะเวลาที่ไม่ยาวนานจนเกินไป