ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประเด็นสุดฮอตในเวทีประชุมเศรษฐกิจโลก เวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) ในปีนี้ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-26 พ.ค. 2022 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผ่านมาหมาดๆ ต่างเห็นพ้องออกโรงเตือนวิกฤตอาหารโลกที่รุนแรงขึ้นจากพิษความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ปุ๋ยแพง พลังงานแพง และโลกร้อน หลายประเทศเริ่มระงับการส่งออก และใช้มาตรการกีดกันทางการค้า จุดชนวนสงครามการค้าในวงกว้างตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย
ทว่า ขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังตื่นตัวรับมือกับวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นซึ่งส่อเค้ารุนแรง ลุกลาม และลากยาวไปอีกปีสองปีข้างหน้าตามคำเตือนขององค์กรระหว่างประเทศ รัฐบาลของราชอาณาจักรไทยกลับใจเย็น สะท้อนจากคำให้สัมภาษณ์ของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่บอกว่าไม่มีอะไรน่าห่วง
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า เดวิด บีสลีย์ กรรมการบริหารโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ World Food Programme กล่าวว่า ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านอาหารที่ไม่ธรรมดา และสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ต้นทุนอาหาร ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และค่าขนส่งเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 เท่า จำนวนคนที่อดอยากได้เพิ่มขึ้นจาก 80 ล้านคน เป็น 276 ล้านคนในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา และการปิดท่าเรือต่างๆ ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวที่กำลังจะมาถึงในยูเครนในเดือน ก.ค. -ส.ค.นี้ หมายถึงการประกาศสงครามกับอุปทานอาหารทั่วโลก
ก่อนหน้านี้ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการ UN กล่าวว่า สงครามได้ทำให้ความไม่มั่นคงด้านอาหารในประเทศยากจนแย่ลง เนื่องจากราคาที่สูงขึ้น บางประเทศอาจเผชิญความอดอยากในระยะยาว หากการส่งออกของยูเครนไม่ฟื้นคืนสู่ระดับก่อนสงคราม ความขัดแย้งส่งผลทำให้การส่งออกอาหารจากยูเครนหยุดชะงัก เช่น ธัญพืชอย่างข้าวโพด ข้าวสาลี ส่งผลทำให้ราคาของอาหารโลกสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 30%
ขณะเดียวกัน กีตา โกปินาธ รองกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงความกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหารว่าเป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่ต้องมีการหารืออย่างเร่งด่วนเพราะเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งราคาอาหารที่แพงขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อค่าครองชีพ และเป็นปัญหาร้ายแรงสำหรับประเทศยากจน ทั้งเตือนว่าขณะนี้มีประเทศมากกว่า 20 ประเทศที่จำกัดการส่งออกอาหารและปุ๋ย ซึ่งซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อสูงและทำให้สิ่งต่างๆ แย่ลง
แต่เดิมราคาอาหารโลกมีการขยับปรับขึ้นอยู่แล้ว เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยิ่งทำให้ราคาอาหารปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากยูเครนและรัสเซียถือเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารชั้นนำของโลก โดยเฉพาะยูเครนที่ได้ฉายาว่าเป็น “ตะกร้าขนมปังแห่งยุโรป”
นายโมฮัมเหม็ด อัล-จาดาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประเทศซาอุดีอาระเบีย ชี้ว่า ประเด็นความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง แต่ประชาคมโลกกลับประเมินวิกฤตต่ำเกินไป โลกยังไม่ได้ให้ความสนใจอย่างจริงจังมากพอกับปัญหานี้ ทั้งที่วิกฤตอาหารจะสร้างปัญหามากมายไม่เพียงแต่ในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงพื้นที่อื่นๆ ของโลกด้วย โดยภูมิภาค MENA นั้นเผชิญความเสี่ยงอย่างยิ่ง เนื่องจากพึ่งพาการนำเข้าอาหารจำนวนมาก และมีประชากรคิดเป็นสัดส่วนถึง 26% ของโลก
การรุกรานยูเครนของรัสเซีย ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวสาลีและธัญพืชจำนวนมหาศาลที่ประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลางและแอฟริกาต้องพึ่งพา โดยรัสเซียและยูเครนส่งออกข้าวสาลีรวมกันแล้วประมาณ 1 ใน 3 ของโลก, ส่งออกข้าวโพดเกือบ 20% และส่งออกน้ำมันดอกทานตะวัน 80% ทั้งสองประเทศเป็นผู้จัดหาอุปทานอาหารส่วนใหญ่ให้กับภูมิภาค MENA สำหรับสัญญาข้าวสาลีที่ซื้อขายในตลาดล่วงหน้านั้นได้พุ่งขึ้นกว่า 30% แล้ว นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มเปิดปฏิบัติการโจมตียูเครนในช่วงปลายเดือนก.พ. ที่ผ่านมา
ในระหว่างที่บรรดาผู้นำทางเศรษฐกิจ การเมือง และองค์กรระหว่างประเทศ หยิบประเด็นเรื่องวิกฤตการขาดแคลนอาหารและการระงับการส่งออกสินค้าอาหารของหลายประเทศขึ้นมาหารือในเวที WEF เป็นจังหวะเวลาเดียวกันกับทาง รัฐบาลอินเดีย ได้สั่งจำกัดการส่งออก น้ำตาล เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาน้ำตาลในประเทศแพงขึ้น โดยจะจำกัดการส่งออกไว้ที่ 10 ล้านตันในปีการผลิตนี้ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนก.ย. 2565 จากเมื่อปีที่แล้วอินเดียเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลกรองจากบราซิล
การสั่งจำกัดการส่งออกน้ำตาล เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลอินเดียสั่งห้ามส่งออก ข้าวสาลี จากเดิมอินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีอันดับสองของโลก ตั้งเป้าจะส่งออกข้าวสาลีจำนวน 10 ล้านตันในปีนี้ ทว่าเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาอินเดียเผชิญวิกฤตคลื่นความร้อนส่งผลกระทบต่อการผลิตข้าวสาลีและผลิตผลการเกษตรอื่นๆ ทำให้ราคาข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้นจนรัฐบาลประกาศหยุดส่งออกชั่วคราว ส่งผลให้ราคาข้าวสาลีในตลาดต่างประเทศพุ่งสูงไปอีก ซ้ำเติมราคาเดิมที่สูงอยู่แล้วจากวิกฤตยูเครน โดยผ่านมาไม่ถึงครึ่งปีราคาข้าวสาลีพุ่งขึ้นประมาณ 60% ในตลาดโลก ทำให้ต้นทุนการทำอาหารทุกอย่างสูงขึ้น ตั้งแต่ขนมปังไปจนถึงบะหมี่สำเร็จรูป
ขณะที่ อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออก น้ำมันปาล์ม รายใหญ่ที่สุดของโลก เพิ่งมีคำสั่งจำกัดการส่งออกน้ำมันปาล์ม และล่าสุดคือ มาเลเซีย สั่งระงับการส่งออก เนื้อไก่ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.นี้ เป็นต้นไป เนื่องจากไม่เพียงพอต่อบริโภคภายในประเทศ ส่วนอีกหลายประเทศก็จำกัดการส่งออกสินค้าอาหารเช่นกัน
นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า หากพิจารณาจากนโยบายที่หลายประเทศนำมาใช้ ทั้งห้ามส่งออกอย่างเด็ดขาด หรือจำกัดจำนวนส่งออก ทำให้เห็นแนวโน้มของการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น จนหลายฝ่ายในที่ประชุม WEF เรียกร้องให้นานาประเทศหันมาเจรจาพูดคุยกันอย่างจริงจังเพื่อหลีกเลี่ยงชนวนเหตุที่อาจทำให้เกิดสงครามการค้า
จากข้อมูลของ สถาบัน Peterson Institute for International Economics หรือ PIIE ระบุว่า ปัจจุบันมีประเทศที่มีนโยบายห้ามส่งออกอาหาร 14 ประเทศ ได้แก่
อาร์เจนตินา ระงับการส่งออก น้ำมันถั่วเหลือง, อาหารที่มีส่วนประกอบของถั่วเหลือง ถึง 31 ธ.ค.2566
แอลจีเรีย ระงับการส่งออก พาสต้า, ข้าวสาลี, น้ำมันพืช, น้ำตาล ถึง 31 ธ.ค.2565
อียิปต์ ระงับการส่งออก น้ำมันพืช, ข้าวโพด ถึง 12 มิ.ย 2565
อินเดีย ระงับการส่งออก ข้าวสาลี ถึง 31 ธ.ค. 2565
อินโดนีเซีย ระงับการส่งออก น้ำมันปาล์ม, น้ำมันเมล็ดปาล์ม ถึง 31 ธ.ค. 2565
อิหร่าน ระงับการส่งออก มันฝรั่ง, มะเขือม่วง, มะเขือเทศ, หัวหอม ถึง 31 ธ.ค. 2565
คาซัคสถาน ระงับการส่งออก ข้าวสาลี, แป้งสาลี ถึง 15 มิ.ย. 2565
โคโซโว ระงับการส่งออก ข้าวสาลี, ข้าวโพด, แป้ง, น้ำมันพืช, เกลือ, น้ำตาล ถึง 31 ธ.ค. 2565
ตุรกี ระงับการส่งออก เนื้อวัว, เนื้อแกะ, เนื้อแพะ, เนย , น้ำมันปรุงอาหาร ถึง 31 ธ.ค. 2565
ยูเครน ระงับการส่งออก ข้าวสาลี, ข้าวโอ๊ต, ข้าวฟ่าง, น้ำตาล ถึง 31 ธ.ค. 2565
รัสเซีย ระงับการส่งออก น้ำตาล, เมล็ดทานตะวัน ถึง 31 ส.ค. 2565 และ ข้าวสาลี, แป้งสาลี, ข้าวไรย์ (ข้าวไรย์ พืชชนิดหนึ่งในตระกูลข้าวสาลี ลักษณะคล้ายคลึงกันกับข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์), ข้าวบาร์เลย์, ข้าวโพด ถึง 30 มิ.ย. 2565
เซอร์เบีย ระงับการส่งออก ข้าวสาลี, ข้าวโพด, แป้ง, น้ำมัน ถึง 31 ธ.ค. 2565
ตูนิเซีย ระงับการส่งออก ผลไม้, ผัก ถึง 31 ธ.ค. 2565
คูเวต ระงับการส่งออก ผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่, ธัญพืช, น้ำมันพืช
จากรายชื่อทั้ง 14 ประเทศล่าสุด รัสเซีย ยูเครน คือหนึ่งในผู้ส่งออกธัญพืชและเมล็ดพืชที่มีความสำคัญมากที่สุด 5 อันดับแรกของโลก เช่น ข้าวบาร์เลย์ น้ำมันดอกทานตะวัน และข้าวโพด ขณะที่อินเดียม่ใช่ประเทศเดียวที่ระงับการส่งออกข้าวสาลี ยังมี อียิปต์ คาซัคสถาน โคโซโว และเซอร์เบีย รวมอยู่ด้วย
เพจ BIOTHAI ซึ่งเกาะติดในประเด็นวิกฤตอาหารโลก ระบุว่า Antony Blinken รัฐมนตรีต่างประเทศ สหรัฐ กล่าวในที่ประชุมใหญ่ขององค์การสหประชาชาติเมื่อเร็วๆ นี้ว่า โลกกำลังเผชิญหน้าวิกฤตความมั่นคงทางอาหารครั้งใหญ่ที่สุดในยุคของเรา ขณะที่ผู้ว่าการธนาคารธนาคารแห่งอังกฤษแถลงด้วยถ้อยคำที่รุนแรงกว่าในช่วงเวลาเดียวกันว่า ราคาอาหารกำลังพุ่งขึ้นในระดับก่อหายนะ แต่น่าแปลกที่ในประเทศไทย ผู้บริหารประเทศ แม้แต่คณะกรรมการที่ตั้งชื่อใหญ่โตว่า "คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ" กลับวางเฉยและไร้บทบาทในการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคน
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์กรพันธมิตร เผยแพร่รายงานประจำปี Global Report on Food Crises 2022 เมื่อต้นเดือน พ.ค. 2565 ที่ผ่านมาว่าผู้คนประมาณ 193 ล้านคนใน 53 ประเทศหรือดินแดน ประสบปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารเฉียบพลันในช่วงวิกฤตหรือระดับที่เลวร้ายกว่านั้น โดยมีผู้คนกว่าครึ่งล้านคนในเอธิโอเปีย มาดากัสการ์ตอนใต้ ซูดานใต้ และเยเมน ที่จัดอยู่ในประเภทภัยพิบัติด้านอาหารเฉียบพลันที่รุนแรงที่สุด และจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดปัญหาที่นำไปสู่การดำรงชีพที่อดอยากและความตายจากความหิวโหย
เอฟเอโอและองค์กรพันธมิตร พบว่า ประชาชนที่เผชิญกบวิกฤตระดับ IPC/CH ระยะที่ 3 ขึ้นไป เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าระหว่างปี 2016 ถึง 2021 โดยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา แต่ปัญหาเหล่านี้รุนแรงมากขึ้นจากปัจจัยที่เป็นสาเหตุสำคัญตั้งแต่ความขัดแย้ง ไปจนถึงวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจไปจนถึงวิกฤตสุขภาพที่เกิดจากความยากจนและความไม่เท่าเทียมกัน เป็นต้น
ตัวขับเคลื่อนหลักที่อยู่เบื้องหลังความไม่มั่นคงด้านอาหารเฉียบพลันที่เพิ่มขึ้นในปี 2564 ได้แก่ ความขัดแย้ง (สาเหตุหลักที่ผลักดันให้ผู้คน 139 ล้านคนใน 24 ประเทศ/เขตปกครองเกิดความไม่มั่นคงด้านอาหารเฉียบพลัน เพิ่มขึ้นจากประมาณ 99 ล้านคนใน 23 ประเทศ/เขตแดนในปี 2020) สภาพอากาศสุดขั้ว (มากกว่า 23 ล้านคนใน 8 ประเทศ/ดินแดน เพิ่มขึ้นจาก 15.7 ล้านคนใน 15 ประเทศ/เขตแดน) และผลกระทบทางเศรษฐกิจ (ผู้คนมากกว่า 30 ล้านคนใน 21 ประเทศ/เขตปกครอง โดยส่วนใหญ่เป็นผลต่อเนื่องมาจากผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19)
David Beasley กรรมการบริหาร World Food Program ระบุว่า ความหิวโหยเฉียบพลันกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และสถานการณ์ทั่วโลกก็เลวร้ายลงเรื่อยๆ จากปัญหาความขัดแย้ง วิกฤตสภาพภูมิอากาศ โควิด-19 ตลอดจนราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นได้ก่อให้เกิดพายุแห่งภัยพิบัติที่สมบูรณ์แบบ และตอนนี้เรามีสงครามในยูเครนที่ทวีภัยพิบัติให้เลวร้ายลงมากขึ้นเป็นลำดับ
ด้าน นายเดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลก กล่าวระหว่างการประชุมประจำฤดูใบไม้ผลิ 2565 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก ช่วงกลางเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลทำให้ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลกระทบกลุ่มคนยากไร้มากที่สุด พร้อมเตือนว่า วิกฤตการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารครั้งนี้จะครอบคลุมระยะเวลาหลายเดือนและอาจจะยืดเยื้อไปจนถึงปี 2566
ธนาคารโลกได้ประกาศแผนรับมือวิกฤติความมมั่นคงด้านอาหารโลก โดยจะอัดฉีดงบประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์เข้าสู่โครงการในปัจจุบันและโครงการใหม่ ซึ่งงบประมาณดังกล่าวจะครอบคลุมด้านเกษตรกรรม, โภชนาการ, การคุ้มครองทางสังคม, น้ำ และการชลประทาน การส่งเสริมผลิตอาหารและปุ๋ย เพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบอาหาร เพื่อแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารตลอดช่วง 15 เดือนข้างหน้า
วกกลับมาดูมาตรการเตรียมรับมือของรัฐบาลไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตอบกลับข้อกังวลวิกฤตการขาดแคลนอาหารทั่วโลกว่า เราทราบสต๊อกของเราดีอยู่แล้วว่าอาหารที่สำคัญจำเป็นสำหรับการบริโภคในประเทศแต่ละตัวนั้นจะต้องมีสต๊อกกี่เดือน อะไรที่เกินสต๊อกเราก็ส่งออก อะไรที่จำเป็นต้องมีสต๊อกก็จะดูเป็นพิเศษ เป็นหลักในการบริหารจัดการในเรื่องสต๊อกอาหารสำหรับประเทศ ซึ่งยังไม่มีสัญญาณที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้
เป็นคำตอบที่ดูเบาปัญหาไปหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ชีวิตประชาชนคนไทยในยามนี้ต่างตกอยู่ในสถานการณ์อาหารแพงค่าแรงถูก ชักหน้าไม่ถึงหลังกันเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ต้นทุนการเพาะปลูกภาคการเกษตรพุ่งสูงขึ้นสวนทางกับราคาผลผลิตที่ตกต่ำโดยเฉพาะข้าวที่สินค้าส่งออกสำคัญ