xs
xsm
sm
md
lg

ดูความเที่ยงตรงและน่าเชื่อถือของ Poll ได้อย่างไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ในระบอบประชาธิปไตย ความคิดเห็นของประชาชนมีความสำคัญ เพราะเป็นปัจจัยนำเข้าสำคัญในการนำมาตัดสินใจทางการเมืองและการกำหนดนโยบายของประเทศ ด้วยความจริงที่ว่า ความคิดเห็นมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรม จึงทำให้บุคคลและองค์การสาธารณะที่มีอำนาจในการตัดสินนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลในการคาดการณ์และการกำหนดยุทธศาสตร์ขององค์การตนเองให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น

วิธีการหนึ่งที่ทำให้ทราบถึงความคิดเห็นของประชาชนได้อย่างถูกต้องและครบถ้วนคือ การสำรวจความคิดเห็นด้วยระเบียบวิธีวิจัย หรือการทำโพลนั่นเอง


โพลที่ได้รับความสนใจจากสังคมมากคือโพลการเมือง สังคมไทยมีการทำโพลการเมืองเป็นจำนวนมาก ทั้งโดยสำนักวิชาการและพรรคการเมือง โพลส่วนมากที่นำมาเผยเปิดต่อสาธารณะเป็นโพลที่ทำโดยสำนักวิชาการในนามองค์การ ซึ่งมีการใช้ระเบียบวิธีวิจัยเป็นฐานในการสำรวจ หากสำนักวิชาการนั้นมีความเป็นอิสระ ก็จะให้ความสำคัญและเข้มงวดกับหลักการทางวิชาการอย่างมาก และผลสำรวจที่ออกมาก็สามารถสะท้อนภาพความจริงทางการเมืองในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี แต่มีบางกรณีที่พรรคการเมืองว่าจ้างนักวิชาการหรือบริษัทเอกชนทำโพล และจัดทำผลสำรวจให้เป็นไปในทางบวกต่อผู้ว่าจ้าง จากนั้นนำผลสำรวจเผยแพร่ต่อสาธารณะ โพลลักษณะนี้มีลักษณะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ และไม่น่าเชื่อถือแต่อย่างใด และหากนักวิชาการคนใดที่ไปรับทำโพลแบบนี้ก็ย่อมเป็นการละเมิดจรรยาบรรณทางวิชาชีพอย่างรุนแรง

ในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสาร ทำให้สำนักข่าวหลายแห่งก็นิยมทำโพลทางสื่อออนไลน์ของตนเองด้วย แต่การทำโพลแบบนี้เป็นการทำตามสะดวก ขาดพื้นฐานของหลักวิชาการ อย่างดีก็เป็นเพียงการสะท้อนความคิดเห็นของคนกลุ่มหนึ่งที่ติดตามข่าวสารข้อมูลในสื่อนั้น ๆ แต่ไม่สามารถนำมาอ้างอิงเป็นตัวแทนประชากรในภาพรวมของสังคมได้ ส่วนอย่างแย่คือ การนำผลโพลดังกล่าวมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยอ้างว่าผลโพลของตนเองเป็นตัวแทนประชากรในภาพรวม ซึ่งเป็นการก่อให้เกิดมายาคติ และเข้าใจว่าภาพที่บิดเบือนเป็นความจริง

มีโพลอีกจำนวนหนึ่งที่ดำเนินการโดยนักวิชาการที่เป็นปัจเจกบุคคลหรือบริษัทเอกชน ซึ่งถูกว่าจ้างโดยพรรคหรือนักการเมือง แต่ไม่ได้นำผลสำรวจมาแถลงต่อสาธารณะ เป็นโพลที่ดำเนินการภายในของแต่ละองค์การ เพื่อนำผลสำรวจมาเป็นฐานข้อมูลในวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความนิยมแก่พรรค หรือใช้ในการตัดสินใจว่าจะส่งบุคคลใดลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค พรรคการเมืองบางพรรคก็ทำโพลแบบนี้เป็นระยะ เพื่อสำรวจความนิยมของพรรค ส.ส. และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. และจะทำมากขึ้นในช่วงที่มีการเลือกตั้ง

โพลที่เผยแพร่ต่อสาธารณะมีที่มาจากหลายสำนัก ผลสำรวจสอดคล้องกันบ้าง แตกต่างกันบ้าง ส่งผลให้ผู้คนเกิดคำถามว่า จะเชื่อผลสำรวจของสำนักใดดี เท่าที่ปรากฏ การเชื่อผลสำรวจของโพลใดของคนบางกลุ่มขึ้นอยู่กับว่า ผลสำรวจสอดคล้องกับความคิดและจุดยืนทางการเมืองของพวกเขามากน้อยเพียงใด หากผลโพลออกมาไม่สอดคล้องกับความคิดของตนเอง คนกลุ่มนั้นก็มักออกมาแสดงความเห็นว่า ผลโพลของสำนักนั้นไม่น่าเชื่อถือ และมักชี้นิ้วตีตราว่าสำนักนั้นรับใช้การเมืองบางกลุ่ม หรือดีขึ้นมาหน่อยก็มักกล่าวในทำนองว่า โพลมีหลายสำนัก แต่ละสำนักมีผลแตกต่างกัน ดังนั้นต้องดูหลายโพลประกอบกัน ในทางกลับกัน หากผลสำรวจออกมาสอดคล้องกับความคิดจุดยืนของตนเอง ก็มักจะกล่าวในเชิงยอมรับผลสำรวจ และนำผลสำรวจไปใช้ประโยชน์ทางใดทางหนึ่งต่อกลุ่มตนเอง

การสำรวจความคิดเห็นในภาวะปกติทั่วไป เช่น สำรวจความนิยมของผู้นำการเมืองและพรรคการเมือง หรือ ทัศนคติของประชาชนต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ยากที่จะตรวจสอบได้ว่าผลสำรวจสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ เพราะไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่จะนำมาเปรียบเทียบในภายหลัง อย่างไรก็ตาม เราสามารถประเมินความน่าเชื่อของโพลเหล่านั้นได้โดยอาศัยเกณฑ์ 4 ประการ

ประการแรก ดูที่ตัวคำถามว่าเป็นคำถามที่มีการชี้นำความคิดหรือไม่ ถ้าโพลใดที่มีตั้งคำถามชี้นำ ก็ย่อมมีความน่าสงสัยในความเที่ยงตรงของโพล คำถามที่มีการชี้นำความคิดมักมีการเขียนประโยคโน้มน้าวก่อนที่จะมาถึงตัวคำถาม หรือเป็นคำถามที่มีการเขียนเหตุผลบางอย่างต่อท้ายตัวคำถาม เช่น “ขณะนี้ประเทศไทยต้องการความสงบ และรัฐบาลสามารถรักษาความสงบได้ ท่านจะสนับสนุนรัฐบาลหรือไม่” หรือ “ท่านสนับสนุนนายประยนต์ ผู้ซึ่งมีความซื่อสัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่” หรือ “ท่านคิดว่านายประจันทร์ ควรดำรงนายกรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่ เพราะเขาสร้างความสุขให้แก่คนไทย”

เกณฑ์ประการที่สองคือ การสุ่มตัวอย่าง หากการสุ่มตัวอย่างเป็นไปตามหลักวิชาการที่เคร่งครัด โพลนั้นก็มีความน่าเชื่อถือ และสามารถนำผลสำรวจอนุมานไปสู่ประชากรในภาพรวมได้ การจะรู้ว่าการสุ่มตัวอย่างถูกต้องหรือไม่ เราอาจถามผู้ทำโพลโดยตรง แต่จะเป็นการดีกว่า หากผู้ทำโพลที่เผยแพร่ผลสำรวจของตนเองต่อสาธารณะทุกกลุ่มเขียนวิธีการสุ่มตัวอย่างของตนเองอย่างละเอียดเพื่อสร้างความโปร่งใส
เกณฑ์ประการที่สาม ดูข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มตัวอย่าง ให้ดูว่าโพลแต่ละสำนักมีการเผยแพร่ข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มตัวอย่างที่เราสามารถตรวจสอบกับฐานข้อมูลสาธารณะหรือไม่ ข้อมูลพื้นฐานที่ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบได้จากฐานข้อมูลสาธารณะเช่น ภูมิลำเนา เพศ และอายุ โพลที่โปร่งใสและน่าเชื่อถือ อย่างน้อยต้องมีการแสดงข้อมูลของตัวแปรทั้งสามทุกครั้งที่แถลงผลสำรวจ ส่วนโพลใดที่ไม่มีการแสดงข้อมูลดังกล่าว ก็เป็นโพลที่น่าสงสัยและไม่น่าเชื่อถือ และเราสามารถตัดสินความน่าเชื่อถือโพลได้ดียิ่งขึ้น หากสัดส่วนของกลุ่มตัวอย่างของโพลนั้นมีความใกล้เคียง หรือสอดคล้องกับสัดส่วนของประชากรจริงในฐานข้อมูล แต่หากโพลใด มีสัดส่วนของภูมิลำเนา เพศ และอายุ ไม่สอดคล้องกับสัดส่วนของประชากรจริง เราก็ควรตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของโพลนั้นเอาไว้ก่อน

ประการสี่ การตรวจสอบผลการสำรวจกับข้อมูลจริงเชิงประจักษ์ เกณฑ์ข้อนี้นำมาใช้อย่างดียิ่งกับการทำโพลเลือกตั้ง นั่นคือ หากผลโพลมีความสอดคล้อง หรือใกล้เคียงกับผลเลือกตั้งจริง ก็แสดงว่าโพลนั้นมีความน่าเชื่อถือสูง แต่หากผลโพลไม่สอดคล้องกับผลการเลือกตั้งจริง ก็แสดงว่าโพลนั้นไม่น่าเชื่อถือ ความคลาดเคลื่อนของผลสำรวจที่ยอมรับได้ในแวดวงวิชาการวิจัยทางสังคมศาสตร์คือไม่เกิน ±5 % และยิ่งความคลาดเคลื่อนน้อยเท่าไร ก็ยิ่งน่าเชื่อถือมากเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความคิดทางการเมืองของประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งผู้สมัครมีการรณรงค์หาเสียงเพื่อโน้มน้าวประชาชนให้เลือกตนเอง ดังนั้นระยะห่างระหว่างช่วงเวลาของการสำรวจ กับการแสดงพฤติกรรมจริง จึงเป็นตัวแปรที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความแปรผันของผลโพล หากช่วงเวลาการสำรวจห่างจากช่วงเวลาแสดงพฤติกรรมจริงมาก ผลของการสำรวจอาจแตกต่างค่อนขางมากจากผลแสดงพฤติกรรมจริง แต่หากช่วงเวลาการสำรวจใกล้กับวันแสดงพฤติกรรมจริง ผลสำรวจก็มีแนวโน้มสอดคล้องกับพฤติกรรมจริง

การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่ผ่านมา มีการดำเนินการกันหลายสำนัก แต่ผมจะขอหยิบยกตัวอย่างผลสำรวจของนิด้าโพล กับพฤติกรรมการเลือกตั้งจริงของประชาชนชาวกรุงเทพมหานครมาแสดงให้เห็น เพื่อดูว่านิด้าโพลมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียง

นิด้าโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง และการสำรวจครั้งสุดท้ายทำขึ้นระหว่างวันที่ 18-21 พฤษภาคม 2565 หรือประมาณ 1-3 วันก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งถือว่าเป็นการทำโพลที่มีช่วงเวลาใกล้เคียงกับการแสดงพฤติกรรมจริงของประชาชนอย่างยิ่ง ผลการสำรวจของนิด้าโพลสอดคล้องกับการแสดงพฤติกรรมของประชาชนอย่างชัดเจน มีความคลาดเคลื่อนเพียงไม่เกิน ± 3% เท่านั้น

ผลสำรวจของบุคคลที่มีความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุดคือ นายศิธา ทิวารี ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนเพียง -0.04 % เท่านั้น รองลงมาคือ นางสาวรสนา โตสิตระกูล ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนเพียง 0.48 % เช่นเดียวกันกับผู้สมัครอีกสองคนคือนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร และนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ที่มีความคลาดเคลื่อนเพียง 0.64 % และ 0.69 ตามลำดับ

ผลสำรวจของบุคคลที่มีความคลาดเคลื่อนเกิน ±1 % เล็กน้อย แต่ไม่เกิน ±3 คือ ผลคะแนนของนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผลสำรวจของนิด้าโพลต่ำกว่าสัดส่วนคะแนนที่นายชัชชาติได้รับจริงเพียง 1.91 % แต่ก็ไม่มีผลกระทบกับทิศทางในภาพรวมแต่อย่างใด ส่วนบุคคลที่ผลคะแนนจริงแตกต่างจากผลสำรวจมากที่สุดคือ พล. ต. อ. อัศวิน ขวัญเมือง และ นายสกลธี ภัทธิยกุล กรณีพล.ต.อ. อัศวิน คะแนนสำรวจสูงกว่าคะแนนจริง 2.69 % ส่วนกรณีนายสกลธี คะแนนสำรวจต่ำกว่าคะแนนจริง 1.95 % อย่างไรก็ตาม ความคลากเคลื่อนก็ไม่เกิน ±3 % เช่นเดียวกัน ความแปรผันของคะแนนของผู้สมัครสองคนนี้เกิดขึ้นในช่วงวันสุดท้ายของการเลือกตั้ง อันเนื่องมาจาก ผู้สมัครทั้งสองคนมีจุดยืนทางการเมืองอยู่ในขั้วเดียวกัน และแกนนำความคิดที่สนับสนุนผู้สมัครทั้งสองต่างรณรงค์ให้มีการลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ จึงทำให้เกิดการช่วงชิงคะแนนกันเอง และผู้สนับสนุนขั้วการเมืองกลุ่มนี้จำนวนมากเปลี่ยนใจจากการสนับสนุนพล. ต.อ. อัศวิน ไปสนับสนุนนายสกลธี ในวันเลือกตั้ง จึงทำให้คะแนนจริงของนายสกลธีเพิ่มขึ้น ขณะที่คะแนนจริงของพล.ต.อ. อัศวิน ลดลง

โพลเป็นการใช้หลักวิชาการเพื่อสำรวจความเป็นจริงของความคิดเห็นและพฤติกรรมของประชาชนโพลที่ดี ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนต่ำ จะสามารถสะท้อนความคิดเห็นและพฤติกรรมของประชาชนได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง ข้อมูลเกี่ยวกับความคิดเห็นของประชาชนเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตย ที่ผู้บริหารปกครองประเทศจะต้องรับฟังและนำมาเป็นแนวทางในการตัดสินใจ แต่ด้วยเหตุที่ มีโพลจำนวนหนึ่งในสังคมไทยที่ดำเนินการโดยขาดความเที่ยงตรงและมั่นคงในหลักวิชาการ ทำให้ผลโพลบิดเบือนจากความจริง อันนำไปสู่ความเข้าใจผิด การตัดสินใจพลาด และส่งผลกระทบทางลบต่อสังคม ดังนั้น การพิจารณาว่าโพลใดมีความน่าเชื่อถือจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะทำให้เราสามารถตัดสินใจและปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพ โดยตั้งอยู่บนฐานของข้อมูลข่าวสารที่เป็นความจริงนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น