ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “รู้ไหมอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลกคืออะไร โสเภณี หากไม่มีเราแม้แต่สวรรค์ก็ไม่สมบูรณ์ ช่วยเคารพเราบ้าง” ประโยคทรงพลังที่ “คังคุไบ” พูดในภาพยนต์อินเดียกระแสแรง เรื่อง “Gangubai Kathiawadi” หรือชื่อไทยเรื่อง “หญิงแกร่งแห่งมุมไบ” ออนแอร์ทาง Netflix เป็นการสะท้อนอย่างตรึงอารมณ์ว่าทุกอาชีพมีศักดิ์ศรีในตัวเอง
“คังคุไบ” ปลุกกระแสในเมืองไทย เกิดปรากฎการณ์อำนาจละมุนโดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย เต็มไปด้วยผู้คนสวมสะบัดส่าหรีเลียนแบบ “คังคุไบ” โดยเฉพาะบรรดาคนดังที่อินจัด “เกาะกระแส” ชนิดที่ว่าเสื้อผ้าหน้าผมไม่เหมือน “คังคุไบ” ตรงไหนให้เอาปากกามาวง ซึ่งในมุมหนึ่งเป็นการตอกย้ำถึงแก่นของภาพยนตร์ที่ต้องการสื่อสารเรื่องพลังและความแข็งแกร่งของผู้หญิง ขณะเดียวกันกระแส “คังคุไบฟีเวอร์” ได้จุดชนวนคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์ค้าประเวณี “โสเภณีเมืองไทย” ตลอดจนอาชีพ “Sex worker” ในเมืองไทยไปพร้อมๆ กันด้วย รวมทั้งเรียกร้องให้สังคม ตลอดรวมถึงผู้คนที่ตบเท้าออกมาโคฟเป็นหญิงโสเภณีผู้ทรงอิทธิพลอย่าง “คังคุไบ” ให้ใส่ใจบรรดา “Sex worker” ในเมืองไทยบ้าง เพราะเต็มไปด้วยปัญหาสารพัดสารพัน โดยเฉพาะการล่อลวง-บังคับให้ขายบริการทางเพศ หรือการใช้ความรุนแรง เป็นต้น
กล่าวสำหรับภาพยนต์เรื่อง Gangubai Kathiawadi (คังคุไบ กฐิยาวาฑี) หรือที่ภาษาไทยใช้ชื่อว่า “หญิงแกร่งแห่งมุมไบ” เป็นหนังอินเดียยุคใหม่สร้างขึ้นมาจากนิยายเรื่อง Mafia Queen of Mumbai เขียนโดย ฮุสเซน ไซดี” (Hussain Zaidi) อิงมากจากชีวิตจริงของ Gangubai Harjeevandas คังคุไบ ฮาร์จีวันดัส) โสเภณีคนดังแห่งเมืองมุมไบ
เนื้อหาย่อๆ บอกเล่าของ “คังคุไบ” ตั้งแต่ในวัยเยาว์ที่เติบโตมากับความฝันอยากเป็นนักแสดง แต่หล่อนกลับถูกสามีหลอกไปขายให้กับซ่องโสเภณีในมุมไบ ตั้งแต่อายุ 16 ปี เพื่อแลกกับเงินไม่กี่ร้อยบาท ทว่า คังคุไบ มิยอมแพ้ต่อโชคชะตา เธอต่อสู้ฟันฝ่าจากโสเภณี ไต่เต้าขึ้นมาเป็นแม่เล้า จนกลายเป็นหญิงเจ้าของซ่องผู้ร่ำรวย และเป็นผู้ทรงอิทธิพลจนได้ชื่อว่า “ราชินีมาเฟียแห่งมุมไบ”
สำหรับในประวัติศาสตร์ไทยก็มีการกล่าวถึงโสเภณี หรือหญิงงามเมืองไว้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่ง “เทพชู ทับทอง” ได้เคยเขียนความเป็นมาของโสเภณีในอดีต ไว้ในหนังสือ “หญิงโคมเขียว” ว่า อาชีพเก่าแก่นี้มีเรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ มีแหล่งประจำอยู่ที่ย่านสำเพ็ง กลายเป็นที่มาของชื่อ “ผู้หญิงสำเพ็ง” หรือ “หญิงหยำฉ่า” ซึ่งใช้เป็นคำแสลงเรียกหญิงโสเภณีจนถึงทุกวันนี้
มาถึงสมัยรัชกาลที่ 5-6 โสเภณีมีชื่อใหม่ว่า “หญิงโคมเขียว” เพราะสำนักโสเภณีเหล่านี้มักจะแขวนโคมกระจกสีเขียวไว้เป็นเครื่องหมาย พอค่ำก็เปิดไฟหรือจุดตะเกียงในโคมให้ลูกค้ารู้กัน แหล่งที่ขึ้นชื่อมากเรียกว่า “ตรอกเต๊า” มีสำนักตั้งกันเรียงรายตลอดตรอก
สำนักโคมเขียวที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น คือ สำนักยี่สุ่นเหลือง เป็นซ่องมีระดับเป็นตึกใหญ่มีรั้วรอบขอบชิด อยู่ลึกเข้าไปจากถนนเจริญกรุงตรงข้ามกับตรอกเต๊า แขกที่มาเที่ยวส่วนใหญ่ค่อนข้างมีระดับ มีแม่เล้าเป็นหญิงวัยกลางคนคอยเป็นคนดูแลต้อนรับแขก ซ่องแห่งนี้จะสะอาด เงียบสงบ หญิงบริการก็จะได้รับการอบรมมาเป็นอย่างดี เพราะจะเลือกรับแต่แขกชั้นสูง มีทั้งเศรษฐีและขุนนางหนุ่มๆ มาใช้บริการ ต่างจากซ่องอื่นๆ ในย่านตรอกเต๊า
ทั้งนี้ ซ่องไทยมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 60 ในช่วงยุคสงครามเวียดนามที่มีทหารจีไอเข้ามาตั้งฐานทัพอยู่ในประเทศไทย โดยยกระดับจาก “ซ่อง” ธรรมดาทั่วไป ขึ้นไปตลาดบนด้วยรูปแบบคอกเทลเลาจน์ และอาบอบนวด หลังจากถนนเพชรบุรีตัดใหม่ตัดเสร็จในยุคนั้น สถานบริการอย่างอาบอบนวดก็ผุดขึ้นมาบนถนนสายนี้เต็มไปหมด กลายเป็นถนนโลกีย์ขึ้นมา
ส่วนปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้า บริการทางเพศ และมีการกำหนดโทษทางอาญา จาก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ทั้งนี้ รายงานของ UNAIDS ปี 2020 ระบุว่ามีจำนวนผู้ขายบริการทางเพศในประเทศไทย 145,000 คน ซึ่งตัวเลขที่แท้จริงยังที่ถกเถียงไม่แน่ชัด รายงานบางฉบับประเมินตัวเลขผู้ขายบริการทางเพศในประเทศไทยอาจมีถึง 8 แสน– 2.8 ล้านคนเลยทีเดียว
ที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ การค้าประเวณีในเมืองไทยผิดถูกตีตราทั้งในแง่กฎหมายและศีลธรรม แต่กลับพบเห็นการขายบริการได้ทุกซอกทุกมุมทั่วประเทศ เป็นช่องโหว่ให้คนมีสีแสวงหาผลประโยชน์เรียกรับเงินสินบน ซ้ำร้ายคนในธุรกิจเพศพาณิชย์ยังถูกลิดรอนในเรื่องสวัสดิการทางสังคม ไม่ได้รับสิทธิความคุ้มครองเหมือนอาชีพอื่นๆ
อย่างไรก็ดี เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน ในสังคมไทยมีการเรียกร้องให้พนักงานบริการได้รับสิทธิเท่าเทียมอย่างอาชีพทั่วไปในสังคมไทย มีการรวบตัวจัดตั้งองค์กรเรียกร้องสิทธิของกลุ่มคนอาชีพเทาๆ ตั้งแต่ มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือ SWING (Service Workers in Group Foundation) กับทบาทสำคัญการผลักดันเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีในไทย มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ (Empower Foundation) ที่กำลังเรียกร้องให้ sex worker มีส่วนร่วมทางการเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย และสิทธิมนุษยชน เล็งเห็นถึงปัญหาของ sex worker ซึ่งไม่ควรเป็นอาชีพที่ต้องปราบปราม แต่ควรทำความเข้าใจ มีศักดิ์ศรีได้รับการดูแลและคุ้มครองทางกฎหมาย
การเรียกร้องของคนกลุ่มเล็กๆ ในสังคมไทยเกี่ยวกับอาชีพขายบริการ เป็นเงาสะท้อนจากภาพยนตร์คังคุไบ โสเภณีผู้ทรงอิทธิพลที่กำลังบอกโลกว่า ทุกอาชีพมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของโสเภณีต้องไม่สูญเปล่า
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ในหลายประเทศเปิดกว้างเกี่ยวกับอาชีพโสเภณี เช่น นิวซีแลนด์ซึ่งรองรับอาชีพนี้ตั้งแต่ปี 2003 อนุญาตให้ชาวนิวซีแลนด์ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี รวมถึงชาวออสเตรเลีย และผู้ที่มีวีซ่าแบบอยู่อาศัย ประกอบอาชีพนี้ได้โดยสมัครใจ ขณะที่เนเธอร์แลนด์รองรับเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2000 โดยชาวเนเธอร์แลนด์ หรือประชากรในประเทศสหภาพยุโรป / ผู้มีวีซ่าอยู่อาศัย ที่อยากเป็น sex worker ต้องมีอายุมากกว่า 21 ปี ต้องขอใบอนุญาตในการประกอบอาชีพ sex worker ต้องผ่านการตรวจสุขภาพ ภายใต้กฎหมายท้องถิ่น เป็นต้น
มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นต่อคีย์แมสเสจจากภาพยนตร์ภาพยนต์คังคุไบ ระบุว่า “หลายประโยคในหนังเป็นสิ่งที่เอ็มพาวเวอร์ พูดมา 30 ปี...แต่เราชอบพลังของประโยคนี้ “ใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีอย่าได้กลัวใคร ไม่ว่าเป็นตำรวจ ส.ส. รัฐมนตรี แมงดา ไม่ต้องกลัวใครทั้งนั้น ในเมื่อผู้หญิงเป็นศูนย์รวมของอำนาจ มั่งคั่ง สติปัญญา อะไรทำให้ใครคิดว่าตัวเองเหนือกว่าเรา"
“ทุกอย่างต้องต่อสู้ เรียกร้องจึงจะได้มา ดังนั้นพลังที่คังคุไบมี คือ เพื่อนคนทำงานบริการอีก 4000 คนที่สนับสนุน เอ็มพาวเวอร์ก็เช่นกัน #งานบริการคืองาน #ยกเลิกกฎหมายค้าประเวณี”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีความพยาบามที่จะให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 และยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่แทน เพราะเห็นว่ากฎหมายเดิมขาดประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาค้าประเวณี โดยหัวใจสำคัญต้องการให้เป็นเสมือนกฎหมายทางเลือกในการผู้ประกอบอาชีพค้าประเวณีให้สามารถประกอบอาชีพได้โดยชอบด้วยกฎหมายภายใต้เงื่อนไขอย่างหนึ่ง เพื่อ “ควบคุม” และ “คุ้มครอง” ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการค้าประเวณีทั้งหมด แต่กฎหมายไม่ส่งเสริมประกอบกาชีพการค้าประเวณี แต่เป็นการอำนวยความสะดวกการประกอบอาชีพการค้าประเวณีตามความจำเป็น ให้สิทธิประโยชน์ให้ความคุ้มครองเท่าที่จำเป็น และส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพออกจากกระบวนการค้าประเวณีโดยง่าย
นายอัครวัฒน์ เลาวัณย์ศิริ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่าประเทศไทยมีความจำเป็นต้องคุ้มครองสิทธิของคนกลุ่มนี้ ทั้งตามพันธะกรณีระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการจัดการการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women - CEDAW) ที่รัฐบาลไทยไปลงนามรับรองไว้ รวมถึงรัฐธรรมนูญไทยฉบับ 2560 ในมาตรา 40 ว่าด้วยเสรีภาพในการประกอบอาชีพ
ตลอดจนประเด็นด้านสุขภาพ ไม่เฉพาะผู้ขายบริการเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ซื้อบริการและครอบครัวของคนเหล่านี้ จำเป็นต้องมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองให้ทั่วถึง โดยยึดหลักบูรณภาพในร่างกายและชีวิต อาทิ ผู้ขายบริการต้องสามารถปฏิเสธไม่รับลูกค้าบางประเภทหากเห็นว่าตนเองสุ่มเสี่ยงจะได้รับอันตราย การถูกเอารัดเอาเปรียบกรณีเป็นลูกจ้างในสถานบริการ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อรักษาความลับของข้อมูลส่วนบุคคล
...ถึงตรงนี้ แม้การค้าประเวณีถูกกฎหมายในประเทศไทยยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเป็นไปในทิศทางใด แต่เชื่อว่าหลังพ้นวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจเพศพาณิชย์จะเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจใต้ดินมูลค่าแสนล้านต่อไปอย่างแน่นอน เพียงแต่จะมีวิวัฒนาการไปในรูปแบบไหนเท่านั้นเอง.