ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่ว่าใครจะได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็น “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) คนใหม่” หลังปิดคูหาวันอาทิตย์ 22 พฤษภาคม 2565 ก็ล้วนแล้วแต่สะท้อนภาพ “การเมืองไทยในอนาคต” ได้เป็นอย่างดี
แน่นอน ผลการเลือกตั้งคงไม่พลิกโผจากผลสำรวจความเห็นหลากหลายสำนักโพลทั้ง “โพลดัง-โพลลับ” ไปจนถึงอัตราต่อรองได้-เสียใน “บ่อนใต้ดิน” เหลือแค่ให้ลุ้นว่า จะชนะเท่าไรเท่านั้น....แต่นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญ
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันว่า ความสลักสำคัญของผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รวมไปถึงสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ไม่เพียงแต่ชี้วัดความนิยมในพื้นที่เมืองหลวงของพรรคการเมืองต่างๆ เท่านั้น ยังสามารถหยั่งกระแสฉายภาพกว้าง “การเมืองใหญ่” ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในอีกไม่ถึงปีข้างหน้าด้วย
ตลอดระยะเวลาการหาเสียงเลือกตั้ง กทม.ที่ผ่านมา ก็ตอกย้ำให้เห็นว่า ไม่ว่าการเลือกตั้งระดับใด “กลยุทธ์การเมือง” ก็ยังเหนือเรื่อง “นโยบาย-วิสัยทัศน์-ความสามารถ” เหตุเพราะบรรยากาศการเลือกตั้งถูก “ฉาบ” ด้วยการต่อสู้ของ 2 ขั้วการเมืองมากกว่านโยบาย หรือการแก้ไขปัญหาพื้นที่
แม้ว่าตัวผู้สมัครเอง จะหยิบยกนโยบายมาเกทับบลัฟกัน พร้อมๆ กับขายความโดดเด่นของตัวเองผ่านสโลแกน ป้ายหาเสียง หรือสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ตามหน้าที่
แต่ดูเหมือนกลุ่ม “กองเชียร์” จะพยายามแบ่งฝักฝ่ายผู้สมัครเป็น 2 ขั้วชัดเจน คือ ขั้วตรงข้ามรัฐบาล กับอีกขั้วหนึ่งที่สนับสนุนรัฐบาล
สำหรับขั้วตรงข้ามรัฐบาล แม้จะดูมีการนำเสนอนโยบายมากกว่า แต่ก็เจือไปด้วยการประกาศทวงคืนอำนาจจากคณะรัฐประหาร หลังจากที่ไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มานานนับ 10 ปี ขณะที่อีกฝั่งที่อิงอยู่กับอำนาจรัฐปัจจุบัน กลับเลือกจุดพลุมุกคลาสสิก “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” มาใช้ช่วง 2 สัปดาห์สุดท้าย
ผลการเลือกตั้ง เต็มไปด้วยอารมณ์ร่วม และการตัดสินใจด้วยเหตุผลทางการเมือง ที่กลายเป็นลดความสำคัญด้อยค่า “ตัวบุคคล-นโยบาย” ไปโดยปริยาย
ดูอย่างผู้สมัครโปรไฟล์ดีหลายคนที่แทบไม่ติด “กระแส” อย่าง “เจ๊รส” รสนา โตสิตระกูล ที่ขายความเป็นอิสระตัวจริง และไม่มีริ้วรอยทางการเมือง ก็ไม่ได้รับการยอมรับอย่างที่ควรจะเป็น เหตุเพราะไร้ฐานเสียงการเมือง
หรือรายของ “ผู้พันปุ่น” น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.จากค่ายไทยสร้างไทย ภายใต้การนำของ “หญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ได้รับการยอมรับในหลายนโยบาย จนผู้สมัครรายอื่นออกปากชม แต่คะแนนกลับไม่มา อาจเป็นเพราะภาพความเป็นตัวแทนขั้วการเมืองไม่เด่นชัด
กลยุทธ์ “ไม่เลือกเราเขามาแน่” เคยใช้ได้ผลหลายครั้งในอดีต เห็นชัดๆ คงเป็นครั้งเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หนล่าสุด ที่ “ชายหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ปาดหน้าเข้าวินเอาชนะ “เสี่ยจูดี้” พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย ที่มีคะแนนนำมาโดยตลอด อย่างไม่น่าเชื่อ
ครั้งนี้มุก “ไม่เลือกเราเขามาแน่” ถูกงัดมาใช้ภายใต้ชื่อ “โหวตเชิงยุทธศาสตร์(Strategic Vote)” โดยมีการเรียกร้องให้ “เทเสียง” เลือกผู้สมัครคนเดียวในขั้วเดียวกัน
หรือถ้าอธิบายในเชิงวิชาการก็คือ เป็นการเรียกร้องให้ “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” สละเจตจำนงอิสระของตนเองในการเลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง และไปเลือกผู้สมัครที่ถูกกำหนดให้เป็นตัวแทนของขั้วการเมืองนั้นแทน เพื่อระดมคะแนนเสียงให้มากเพียงพอในการเอาชนะการเลือกตั้ง
คนที่ชัดเจนที่สุดเห็นจะเป็น “ดร.เสรี วงษ์มณฑา” ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด ซึ่งทราบกันดีกว่าเคยมีบทบาทสำคัญใน “ม็อบนกหวีด” กลุ่ม กปปส. ที่ออกมาระบุว่า ระบุว่า “ถึงเวลาที่สลิ่มต้องตัดสิน Strategic Vote แล้วนะคะ 3, 4, 6, 7 รวมใจกันเลือกเบอร์เดียวที่มีทางจะทำให้เขาคนนั้นที่เราคิดว่าไม่น่าจะอิสระจริงได้ชัยชนะ อย่าดื้อดึงดันที่จะเลือกคนที่เราชอบให้เสียงแตกแล้ว ให้เขาชนะนะคะ...”
สำหรับผู้สมัคร 4 เบอร์ที่ “ดร.เสรี” ระบุถึง ล้วนแล้วแต่เป็นขั้วที่อิงมาทาง “รัฐบาลประยุทธ์” ที่ ณ วันนี้ถูกขนานนามว่าเป็น “สลิ่ม”
โดยมี “กำนันเทือก” สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส.ออกมาขยายความในทำนองเดียวกันว่า “เห็นผู้สมัครหลายคน ทั้งเปิดเผย และไม่เปิดเผย มีความสัมพันธ์ มีความใกล้ชิด เคยได้ประโยชน์จากระบอบทักษิณ ผมไม่อยากให้คนเหล่านี้มาเป็นผู้ว่าฯ กทม. เพื่อที่จะสร้างรากฐานทางการเมืองไว้รองรับการกลับมาของระบอบทักษิณ ผมกลัวเรื่องนี้”
ปลุก “ผีทักษิณ” ขึ้นมาหลอกหลอน หวังผลให้มวลชนคล้อยตาม ทว่า ดูเหมือนผู้สมัครทั้ง 4 เบอร์ ที่อาจจะเห็นด้วยกับไอเดียเลือกเชิงยุทธศาสตร์ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่มีใครยอมลงให้ใคร เพราะไม่มีตัวชี้วัดได้ว่า เบอร์ไหนจะมีโอกาสมากที่สุด
และยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง “เซเลปบริตี้สายสลิ่ม” เองก็ “เสียงแตก” กระจัดกระจายประกาศสนับสนุนผู้สมัครแตกต่างกันไป จนทำให้การลงคะแนนเชิงยุทธศาสตร์ไม่เกิดขึ้นจริง
เอาแค่ในหมู่ “แกนนำนกหวีด” เองก็เห็นไม่ตรงกัน โดย “ดร.เสรี”, ถาวร เสนเนียม และ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม เป็นต้น สนับสนุน “บิ๊กวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
ขณะที่ “กำนันเทือก”, ณัฐฏพล-ทยา ทีปสุวรรณ, พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา, อัญชะลี ไพรีรักษ์, นิติพงษ์ ห่อนาค, เกลือ เป็นต่อ เป็นต้น ประกาศสนับสนุน “เสี่ยจั้ม” สกลธี ภัททิยกุล
หรือชัดๆ กับกรณีที่มีกลุ่มผู้สมัคร ส.ก.จากพรรคพลังประชารัฐบางส่วน ต้องหนีตายจ้าสาละหวั่น ออกมาประกาศสนับสนุน “สกลธี” เหตุเพราะถูก “ขาใหญ่ในพรรค” งัดกลยุทธ์เลือกเชิงยุทธศาสตร์ บีบให้ไปสนับสนุน “อัศวิน” ซึ่งมีทีม ส.ก.รักษ์กรุงเทพ อยู่แล้ว จนเกิดความทับซ้อนกัน และก็เท่ากับยอมแพ้ ทั้งที่ลงทุน-ลงแรงหาเสียงมานานแรมปี
นอกจากนี้ยังมีเสียงที่แตกไปที่ “พี่เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณภักดี ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ และ “เจ๊รส-รสนา” อีกส่วนหนึ่ง ทำเอาเสียงในขั้วนี้ที่ว่ากันตามจริง จากผลเลือกตั้งในพื้นที่ กทม.ที่มีน้อยกว่าอยู่แล้ว กระจัดกระจาย จนปล่อยให้ 2 ตัวเต็งจากขั้วตรงข้ามรัฐบาล ขึ้นไปอยู่หัวตาราง
เพราะระดับ “แกนนำ” ยังไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เสียงแตกมั่วซั่ว จน “แฟนคลับ-สาวก” ก็งงตาแตก ไม่รู้งานนี้จะฟังใครดี เลือกกาไม่ถูก
คงเป็นไปตามที่ “เสี่ยคึก” เพทไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช ที่หลังหลุดจากตำแหน่งก็สถาปนาตัวเป็น “เซียนข้างบ่อน” ฟันธงว่า ยุทธศาสตร์แบบไม่เลือกเราเขามาแน่ “แป้ก” เชื่อว่าคะแนนของผู้สมัครแต่ละคน จะแชร์กันเองในกลุ่มฐานคะแนนของแต่ละขั้ว อยู่ที่ใครจะมีฝีมือดึงคะแนนเสียงในขั้วตัวเองได้มากกว่ากันผู้สมัครคนอื่นๆ ผู้สมัครคนนั้นก็จะเป็นผู้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้ ซึ่งสมารถฟันธงได้ว่า ขั้วเอาทักษิณ จะได้เปรียบขั้วไม่เอาทักษิณ เพราะมีตัวแชร์คะแนนน้อยกว่า
เช่นเดียวกับ “ดร.เสรี” ผู้จุดประเด็นก็ออกมาทำใจแล้วว่า “เสียงแตก” จนดันยุทธศาสตร์ที่ว่าไม่ขึ้น
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เห็นภายใต้ความพยายามเรียกร้องให้เกิด “โหวตเชิงยุทธศาสตร์” ก็คือ วาระการเมือง ความขัดแย้ง-เห็นต่าง มากดทับวิสัยทัศน์-ความสามารถ-นโยบาย ของผู้สมัครฯอย่างสิ้นเชิง
ด้วย “เซเลปฯสลิ่ม” ต่างโพสต์ หรือให้สัมภาษณ์แสดงความเห็น เพื่อสนับสนุนผู้สมัครของตัวเอง โดยเบนเป้าหมายไปที่การต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” เต็มๆ
เช่นเดียวกับอีกฝ่ายก็หาเสียงกับ “เสื้อแดง-เสื้อส้ม” ที่พยายามประกาศจุดขายว่า หากเลือกตัวเอง ก็เท่ากับต่อต้าน “ระบอบประยุทธ์”
จนน่าตั้งคำถามว่า สรุปแล้วการสนับสนุนผู้สมัครรายใดนั้น เป็นเพราะเห็นความสามารถในการที่จะเข้ามาทำงานให้ประชาชน หรือเพียงเพราะหมกมุ่นกับชัยชนะเท่านั้น
อย่าลืมว่า เมืองไทยยังไม่มีระบบไพรมารีโหวตอย่างสมบูรณ์อย่างในต่างประเทศ หรือชัดก็ที่สหรัฐอเมริกา ที่มีการเสนอตัวในพรรคเดียวกันหรือขั้วเดียวกัน ก่อนจะหยั่งเสียงเป็นรอบๆ ใครคะแนนไม่ถึง ก็ตกรอบหรือประกาศถอนตัวไป เพื่อส่งคนที่มีคะแนนนิยมมากที่สุดไปวัดกับคู่แข่งแบบตัวต่อตัว
แล้วเอาเข้าจริง เสียงโหวตใน กทม.ก็มีสถิติ มีโพลให้ประเมิน หากจะใช้วิธี “โหวตเชิงยุทธศาสตร์” จริง ก็ต้องวางแผนตกผลึกกันตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้สมัครลงสมัครยั้วเยี้ย จนคะแนนแตกกระสายซ่านเซ็นเช่นนี้
สำคัญอีกที่ “ขั้วสลิ่ม” พยายามดันไอเดีย “โหวตเชิงยุทธศาสตร์” ยังหยิบยกมาใช้ช่วงโค้งสุดท้าย ที่มีแนวโน้มว่าไม่สามารถสู้กับผู้สมัครอีกขั้วได้ หรือเรียกว่างัดขึ้นมาตอน “จนตรอก” แถมยังชักแม่น้ำ-หาข้ออ้าง แบบไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนโยบาย เพียง “วาระการเมือง” กล่อมสาวก ยัดเยียดให้คน “เลือกข้าง”
มองได้ว่าเป็นการดูแคลนประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เพื่อประโยชน์ทางการเมือง สนองอุดมการณ์การเมืองของตัวเองเพียงอย่างเดียว จนทำให้การเลือกตั้งก็เป็นแค่พิธีกรรม “ประชาธิปไตยจอมปลอม”
แต่ก็เชื่อเหลือเกินว่า แม้กลยุทธ์ “โหวตเชิงยุทธศาสตร์” จะไม่ประสบความสำเร็จในสนาม กทม. ก็จะยังเป็น “มุกคลาสสิก” ที่จะถูกงัดมาใช้อีกในวันข้างหน้า โดยเฉพาะการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง
อีกทั้งอาจจะใช้กันรุนแรงขึ้น โดยฝ่ายหนึ่งก็บอกเป็นการต่อต้านการคืนชีพของ “ระบอบทักษิณ” ขณะที่อีกฝ่ายก็จะโพนทะนาว่า เพื่อสกัดกั้นปิดสวิทซ์ “ระบอบประยุทธ์”
คะเนด้วยสายตาแล้วต้องยอมรับว่า “ทีมลุง-ขั้วสลิ่ม” อยู่ในจุดที่เสียปรียบสุดกู่ จนแคมเปญเข้าเป้าคราวก่อน “เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่” คงไม่ได้ผลอีกแล้ว บวกความสะเปะสะปะ ไร้การวางแผน-วางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ในฝ่ายเดียวกัน
เปรียบให้เห็นภาพ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วันนี้ก็ไม่ต่างจาก “อัศวิน” ที่โดนไล่อัดเละบนเวทีดีเบตผู้ว่าฯกทม. เหตุเพราะประเด็นหลักย่อมพูดถึงการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เมื่อทั้ง 2 คนอยู่ในตำแหน่ง ครองอำนาจ มาอย่างยาวนาน ก็คงพูดได้ไม่เต็มปากว่า ทำไมไม่แก้ หรือแก้ไม่ได้
เช่นเดียวกัน พรรคพลังประชารัฐ ในสนามเลือกตั้งใหญ่ ก็คงไม่ต่างจากผู้สมัคร ส.ก.ของพรรค ที่ดูซังกะตาย-ไม่คึกคัก เพราะต้องมาหาเสียงในช่วงตกต่ำขาลง ทั้งที่เคยประสบความสำเร็จเป็นแชมป์ ส.ส.กทม.มาก่อน
สำคัญที่ทางพรรค ที่ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค เพิ่งประกาศว่า จะอยู่จนตาย ก็แทบไร้ความเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง มีเพียงแค่ข่าวทะเลาะเบาะแว้งกันในภายใน ต่างจากพรรคคู่แข่งอื่นๆ ที่เปิดอีเว้นท์กันอย่างคึกคัก
ทั้งพรรคเพื่อไทย ที่ช่วงนี้โหมตีปิ๊บ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย อย่างหนัก ปล่อยคิวเดินสายลงพื้นที่เป็นว่าเล่น ตามโจทย์แลนด์สไลด์ยึดคืนอำนาจรัฐ หรือพรรคไทยสร้างไทย ที่เป็น “เจ้าแม่อีเว้นท์” โดยเฉพาะช่วงหาเสียง กทม. รุกคืบโปรโมทพรรค จนติดหูติดตาชาวบ้าน เป็นพื้นที่โฆษณา “เจ๊หน่อย” ในฐานะแคนดิเดตนายกฯรอบหน้าไปในตัว
หรือเกลอเก่า พรรคสร้างอนาคตไทย ก็ขยับแรงขึ้นเรื่อย ไมม่เพียงแต่คู่หูหัวหน้า-เลขาฯพรรค อุตตม สาวนายน - สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ จะลงพื้นที่เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ในหลายพื้นที่ ล่าสุดเพิ่งตั้งกรรมการนโยบาย เตรียมลุยเลือกตั้งเต็มสูบ เร็วๆ นี้ก็จะเทียบเชิญ “จอมยุทธ์กวง” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาเป็นแคนดิเดตนายกฯอีก
กระทั่ง พรรคเศรษฐกิจไทย ที่เป็น “เครือข่ายลุงป้อม” และมี “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นคีย์แทน ก็ดูจะมีชีวิตชีวากว่าด้วยซ้ำ
อีกทั้งยังมีเพื่อนร่วมพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องพยายามกู้ชื่อกู้ศรัทธาคืนมา ขณะที่ “ค่ายเซราะกราว” พรรคภูมิใจไทย ก็นับวันยิ่งโตขึ้นเรื่อยๆ
หรือพรรคในปีกเดียวกัน “ไทยภักดี-รวมพลัง-กล้า” ที่ดูว่า จะทำให้สถานการณ์ของพรรคพลังประชารัฐ อุรุงตุงนัง ไม่ต่างจากสภาพสนาม กทม. ที่ไม้ตายอย่าง “ไม่เลือกเราเขาแน่” ยังไม่ได้ผล
อย่างไรก็ดี ไม่ว่า “เครือข่ายประยุทธ์” จะยังใช้พรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรคหลักเหมือนเดิม หรือจะรีแบรนด์หาพรรคใหม่ ก็คงพยายาม “ฝืน” ใช้ยุทธศาสตร์ “ไม่เลือกเราเขามาแน่” ในการเลือกตั้งใหญ่ต่อไป โดยใช้ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้กับ “ระบอบทักษิณ”
เพราะไม่เห็นทางอื่นที่จะมาต่อกรได้ โดยเฉพาะกติกาเลือกตั้งใหม่ที่ดูจะเข้าทาง “ขั้วทักษิณ” แทบทุกประตู
เมื่อฝ่ายอำนาจ-ฝ่ายการเมือง ยังมองประชาชนเจ้าของประเทศเป็นเพียง “หมากการเมือง” มีความสำคัญแค่ตอนหาเสียง และลงคะแนนเป็นประชาธิปไตย 4 วินาทีเท่านั้น
ใครชนะ-ใครแพ้ การเมืองไทยก็อยู่ในวังวนน้ำเน่าต่อไป.