ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ฉับพลันที่ “เจ๊เกียว - นางสุจินดา เชิดชัย” แห่ง “เชิดชัยทัวร์” ตัดสินใจเลิกธุรกิจรถทัวร์และประกาศขาย "เชิดชัยทัวร์” เพราะแบกรับภาวะขาดทุนไม่ไหวอีกต่อไป สปอร์ตไลท์ก็สาดแสงไปยังแวดวง “ธุรกิจรถโดยสาร” อีกครั้งเพราะเห็นได้ชัดว่าซมจาก “พิษโควิด” และ “สภาวะน้ำมันแพง” จนยากที่จะเดินหน้าต่อไปได้
“ฉันทำธุรกิจรถทัวร์มา 65 ปี เป็นธุรกิจครอบครัวของฉันเอง ตอนนี้รายได้ไม่มีเหลือเลย ถ้าหากฉันนำรถออกวิ่งทุกคันในตอนนี้ ฉันต้องรับภาระขาดทุนน้ำมันเดือนละ 4 ล้านบาท คงรับไม่ไหว” เจ๊เกียว ในฐานะนายกสมาคมผู้ประกอบการรถร่วมรถโดยสาร บขส. และเจ้าของอู่รถเชิดชัย บริษัท เดินรถเชิดชัยทัวร์ จำกัด ให้สัมภาษณ์หลังจากประกาศขายกิจการรถทัวร์เฉพาะรถสายยาว ในเส้นทางสายภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคอีสานเท่านั้น ส่วนกิจการการเดินรถโดยสารประจำทางสายสั้น โดยเฉพาะเส้นทางหลัก กรุงเทพฯ-โคราช (สาย 21) ยังดำเนินกิจการตามเดิม
ทั้งนี้ นางสุจินดา เปิดเผยว่า จากปัญหาราคาน้ำมันแพงประกอบกับการระบาดของโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆ เช่น ประชาชนใช้รถยนต์ส่วนตัว ใช้บริการรถตู้ มากกว่ารถโดยสาร ทำให้บริษัทเชิดชัยทัวร์ประสบปัญหาขาดทุนมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2562 เฉลี่ยเดือนละประมาณ 4 ล้านบาท ซึ่งทนแบกรับภาระเหล่านี้มาโดยตลอด สู่การตัดสินใจเลิกประกอบธุรกิจรถโดยสารประจำทาง (รถร่วม บขส.) โดยขายบริษัทเชิดชัยทัวร์พื่อไม่ให้กระทบธุรกิจอื่นๆ
ปัจจุบันบริษัทเชิดชัยทัวร์ มีรถอยู่กว่า 200 คัน วิ่งทั้งสายภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือ ซึ่งขณะนี้มีรถวิ่งอยู่แค่ 20 - 30% อีกประมาณ 70% ต้องหยุดวิ่ง จอดรถทิ้งไว้มานานกว่า 2 ปีแล้ว เพราะวิ่งไปก็ไม่คุ้ม
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียง “ค่ายเชิดชัยทัวร์” ของ “เจ๊เกียว” เท่านั้น เพราะภาพรวมของธุรกิจรถโดยสารอยู่ในช่วงขาลงและได้รับผลกระทบอย่างถ้วนทั่วมานาน โดย นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมารถโดยสาร บขส.ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจ ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลงไปมาก ประกอบกับราคาน้ำมันดีเซลในขณะนี้ที่เพิ่มมาอยู่ที่ 32 บาทต่อลิตร บขส.จำเป็นต้องปรับขึ้นค่าโดยสารประมาณ 10-11% ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าโดยสารปัจจุบันคิดที่ระดับราคาน้ำมันดีเซลที่ 24 บาท/ลิตร ซึ่งจะเสนอต่อที่ประชุมมาตรการเยียวยาผลกระทบราคาน้ำมันที่กระทรวงคมนาคม พิจารณาช่วยเหลือ ในวันที่ 12 พ.ค.นี้
“ปัจจุบันมีผู้โดยสารประมาณ 4 หมื่นคน/วัน วันหยุดเสาร์ อาทิตย์ อาจจะเพิ่มเป็น 5 หมื่นคน/วัน แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดที่มีถึง 6 หมื่นคน/วัน ช่วงเสาร์-อาทิตย์ เกือบ 8 หมื่นคน ซึ่งเชื่อว่าการเดินทางจะค่อยๆ ฟื้นตัว”
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส.เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้เป็นช่วงการต่อสัญญาเดินรถร่วมฯ บขส.ซึ่งมีระยะเวลาสัญญา 3 ปี โดยรอบล่าสุดครบกำหนดเดือน ธ.ค. 2564 ปีที่ผ่านมา โดย บขส.ได้ผ่อนผันขยายเวลาให้ผู้ประกอบการ 3 เดือนหรือจนถึงเดือน มิ.ย. 2565 เพื่อช่วยเหลือในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งนี้ เนื่องจากในการต่อสัญญาจะต้องนำรถไปตรวจเช็กสภาพกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เพื่อรับรองสภาพรถต่อภาษี ต่อ พ.ร.บ. มีประกันภัยชั้น 3 แล้ว ที่ผ่านมาช่วงโควิด 2 ปี รถจำนวนหนึ่งต้องจอดทิ้งไว้ ไม่ได้นำมาวิ่งให้บริการเพราะผู้โดยสารน้อย ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีค่าซ่อมบำรุงเพิ่ม รวมไปถึงยังมีเรื่องหนี้สินค่าขาที่ต้องชำระให้ครบก่อนต่อสัญญาด้วย ดังนั้น รถ 1 คัน ผู้ประกอบการอาจมีค่าใช้จ่ายเป็นหลักแสนบาทจึงจะสามารถต่อสัญญา
“ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่หมดอายุสัญญาช่วงเดือน ธ.ค. 2564 ซึ่ง บขส.ได้ผ่อนผันขยายเวลาต่อสัญญาให้ 3 เดือนหรือถึงเดือน มี.ค. 2565 ส่วนใหญ่ทยอยต่อสัญญาไปเกือบหมดแล้ว เช่น สมบัติทัวร์ นครชัยแอร์ เป็นต้น จะเหลืออีกไม่มาก เช่น กลุ่มรถตู้ที่อายุเกิน 11 ปี ซึ่งจะไม่ได้รับการผ่อนผันแล้ว เพราะตามกฎหมายผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนเป็นรถมินิบัสก่อน จึงจะต่อสัญญาได้ รวมถึงของนางสุจินดาด้วยที่มีปัญหาเนื่องจากมีรถค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดี กรณีที่มีผู้ประกอบการไม่สามารถทำการเดินรถต่อไปได้ และต้องหยุดวิ่ง บขส.จะเข้าไปดูแล จัดรถให้บริการประชาชนอย่างเพียงพอ ไม่ให้ ซึ่งตามปกติ สัญญาเดินรถ บขส.ในแต่ละเส้นทางจะมีผู้ประกอบการมากกว่า 1 ราย และ บขส.ร่วมเดินรถอยู่ด้วย ดังนั้น หากมีผู้ประกอบการรายใดหยุดวิ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารแน่นอน”นายสัญลักษณ์กล่าว
และแม้จะวางมือจากจากกิจการรถทัวร์ ทว่า “เจ๊เกียว - นางสุจินดา เชิดชัย” ในฐานะนายกสมาคมผู้ประกอบการรถร่วมรถโดยสาร บขส. ยังคงทำหน้าที่ต่อไป โดยล่าสุดได้เดินทางเข้าพบอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นข้อเสนอให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการเดินรถโดยสารที่ประสบปัญหาหลายด้าน และอยากให้ภาครัฐช่วย
อาทิ ขอปรับค่าโดยสารอีก 1 สตางค์ต่อกิโลเมตร หลังราคาน้ำมันดีเซลดีดขึ้น 32 บาทต่อลิตร เกินจากที่คำนวณไว้ 27 บาทต่อลิตร เรื่องค่าปรับต่างๆ การเก็บค่าธรรมเนียม ที่นั่งรถโดยสารแต่ละที่นั่งแต่ละเที่ยว รวมถึงการช่วยเหลือในด้านต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการเดินรถโดยสารอยู่ต่อได้
“อยากให้รัฐเห็นใจผู้ประกอบการเดินรถโดยสารที่ได้รับผลกระทบจากทุกด้าน มีหลายรายที่ทนแบกรับภาระไม่ไหวก็ต้องล้มหายตายไป ขณะที่บางรายจำเป็นจะต้องประกาศขายกิจการไปก็มี” นางสุจินดา เปิดเผย
ซึ่งอย่างก่อนหน้านี้ ปี 2562 กรณีสยามเฟิสท์ทัวร์ ได้เลิกทำธุรกิจรถทัวร์ หันไปลุยธุรกิจโลจิสติกส์ขนส่งพัสดุอย่างเต็มตัว แม้จะดำเนินการธุรกิจมายาวนานถึง 41 ปี แต่ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในธุรกิจ สะท้อนถึงวิกฤตธุรกินรถทัวร์ประสบภาวะขาลงตั้งแต่ก่อนโควิดจะแพร่ระบาดเสียด้วยซ้ำ
ขณะที่การปรับตัวของบริษัทรถทัวร์ดัง “นครชัยแอร์” อยู่ในในสังเวียนธุรกิจ 30 ปี แต่ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจเชียวกัน ตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ยอดผู้โดยสารลดลงกว่า 80% โดยมีการปรับกลยุทธ์ เป็นมากกว่ารถทัวร์ มีธุรกิจบริการส่งพัสดุด่วน ขนส่งของไปกับรถทัวร์ จุดเด่นคือเร็ว รถออกทุกวัน วันละหลายเที่ยวหลายเส้นทาง ให้บางเส้นทางต่างจังหวัดส่งพัสดุไปต่างจังหวัดได้เร็วถึงภายในวันเดียวกัน มีระบบเช็กสถานะการส่ง บริการดิลิเวอรี หรือเลือกมารับเองที่สถานี บริการฟู้ดดิลิเวอรีส่งอาหารข้ามจังหวัด เป็นต้น
สำหรับมูลค่าธุรกิจรถโดยสารอยู่ที่ราวๆ 1.4 หมื่นล้านบาท มีผู้ประกอบการอยู่หลายบริษัท อาทิ สมบัติทัวร์, นครชัยแอร์, บขส., เชิดชัยทัวร์, พรพิริยะทัวร์, บุษราคัมทัวร์, นิววิริยะยานยนต์ทัวร์, ทรัพย์ไพศาลทัวร์ ฯลฯ ซึ่งหลายแห่งประสบภาวะขาดทุนสะสมมานาน
สำหรับธุรกิจรถโดยสารคงไม่หยุดที่เชิดชัยทัวร์เพียงแห่งเดียวประกาศขายกิจการ เพราะมีข่าวลือว่ามีบริษัทรถทัวร์แบรนด์ดังขายกิจการให้กับนายทุนใหม่มูลค่ากว่า 1 พันล้านบาทเลยทีเดียว