xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ดรามา “กม.คาร์ซีท” จับปรับ 2,000 ความปลอดภัยที่คนธรรมดาต้องจ่ายเพิ่ม?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  หลังทำคลอด พ.ร.บ. จราจรทางบก ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2565 กำหนดให้ผู้โดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปีต้องนั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย (คาร์ซีท) หากฝ่าฝืนปรับ 2,000 บาท แม้เป็นมาตรฐานความปลอดภัยที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ แต่ในเมืองไทยต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่ และเกิดคำถามว่าความจำเป็นเพียงใด เป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชนหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจซบเซาเช่นนี้ รวมไปถึงกรณีที่ครอบครัวมีลูกหลายคน หรือคนที่ไม่พร้อมจะทำอย่างไร? 

ขณะที่ในฝั่งสนับสนุนก็ตั้งประเด็นทิ่มใจเช่นกันว่า “ในเมื่อเราซื้อรถยนต์ในราคาหลักแสนหลักล้าน ถ้าจะมีอุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับลูกในราคาหลักพัน แล้วทำไมถึงคิดว่าไม่จำเป็นและเป็นภาระล่ะ”

แน่นอนว่ามีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยทันที

อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงที่ต้องรับรู้ร่วมกันก็คือ องค์การอนามัยโลก ประกาศสนับสนุนการใช้ที่นั่งนิรภัยในรถยนต์สำหรับเด็ก (คาร์ซีท) ซึ่งสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 70% รวมทั้งในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี 2560 มีมติเห็นชอบ 12 เป้าหมายโลกสำหรับการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน โดยเป้าหมายที่ 8 กำหนดให้มีการเพิ่มสัดส่วนการใช้เข็มขัดนิรภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสารยานยนต์หรือใช้อุปกรณ์รัดตึงนิรภัยสำหรับเด็กที่ได้มาตรฐานให้ใกล้เคียงร้อยละ 100

ทั้งนี้ 96 ประเทศทั่วโลก มีกฎหมายบังคับใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก อาทิ อังกฤษ มีข้อบังคับให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี หรือมีความสูงน้อยกว่า 135 ซม.ต้องนั่งคาร์ซีท, ฝรั่งเศสบังคับให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี และมีความสูงน้อยกว่า 135 ซม. ต้องใช้คาร์ซีทสำหรับเด็ก หรือญี่ปุ่นกำหนดให้ใช้คาร์ซีทแบบหันหน้าไปทางด้านหลัง (Rear-Facing Car Seat) จนกว่าเด็กจะอายุครบ 2 ปี ส่วนคาร์ซีทแบบหันไปทางหน้ารถยนต์ (Forward Facing Car Seat) ให้ใช้สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 มีสาระสำคัญ ดังนี้ “มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2560 เรื่อง มาตรการ เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ลงวันที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2560

และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน มาตรา 123 ภายใต้บังคับมาตรา 123/1 ในขณะขับรถยนต์ ผู้ที่อยู่ในรถยนต์ต้องปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(1) ผู้ขับขี่ ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะขับรถยนต์
(2) คนโดยสาร

(ก) คนโดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าและที่นั่งแถวตอนอื่น ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัย ไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะโดยสารรถยนต์

(ข) คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ

(ค) คนโดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องรัดร่างกายด้วย เข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใด

ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือคนโดยสารมีเหตุผลทางสุขภาพอันไม่สามารถรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัย ไว้กับที่นั่งได้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง แต่บุคคลนั้นต้องมีวิธีการป้องกันอันตราย ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ

ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กและที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตรายตาม (2) (ข) และวิธีการ ป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ให้เป็นไปตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด

พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565” มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท”

สำหรับ พ.ร.บ.จราจรทางบกฉบับล่าสุด จะมีผลบังคับใช้ในอีก 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือในวันที่ 5 ก.ย. 2565

และประเด็นที่สังคมให้ความสนใจมากที่สุดคงหลีกไม่พ้น กรณีคนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งคาร์ซีท หรือที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หากฝ่าฝืนปรับ 2,000 บาท ทั้งนี้ เพื่อป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุระหว่างสัญจรบนท้องถนน 

จนกลายเป็นดรามาคาร์ซีท ออกกฎหมายซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งในประเด็นนี้ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอกรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยืนยันว่ารัฐออกกฏเพื่อความปลอดภัย กฎหมายดังกล่าวมีใจความสำคัญคือ ป้องกันไม่ให้เด็กได้รับบาดเจ็บหรือเป็นอันตรายหากเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยการจัดที่นั่งที่เหมาะสม ระบุใจความสำคัญในการป้องกันไว้ 3 รูปแบบ คือ ผู้ปกครองต้องจัดที่นั่งนิรภัย หรือ Car Seat สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ขวบ หรือมีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร หรือต้องจัดหาที่นั่งพิเศษ สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ขวบ หรือมีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร หรือหาวิธีป้องกันสำหรับเด็กที่โดยสารบนรถ

และหากตีความข้อกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ไม่ได้บังคับตายตัวว่าจะต้องใช้เพียงที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ Car Seat เพียงอย่างเดียว แต่ยังระบุว่าจัดหาที่นั่งสำหรับเด็ก เช่น การจัดให้เด็กนั่งและคาดเข็มขัดนิรภัยให้ หรืออาจใช้วิธีการป้องกันอื่นๆ เช่น การนำเด็กมานั่งตักและคาดเข็มขัดนิรภัยให้ทั้งตัวเด็กและผู้ปกครอง แต่อย่างไรก็ตาม ลักษณะและวิธีการป้องกันดังกล่าวต้องรอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่างข้อกำหนดให้ชัดเจนว่า การติดตั้งหรือจัดหาที่นั่งแต่ละแบบนั้นจะมีรูปแบบอย่างไร แบบไหนที่สามารถนำมาใช้ได้หรือไม่ได้

ในช่วงแรกกองบัญชาการตำรวจนครบาลจะเน้นรูปแบบการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองทราบและหาวิธีการป้องกันตามข้อกฎหมาย แจะไม่ได้เป็นรูปแบบของการตั้งด่านตรวจหรือจับปรับ แต่หากเป็นเหตุซึ่งหน้า อาจจะตักเตือนประชาสัมพันธ์ให้แก้ไขให้ถูกต้องเท่านั้น

ส่วนกรณีเป็นรถโดยสาร รถแท็กซี่ รถประจำทาง หรือรถโรงเรียน กฎหมายดังกล่าวจะถูกบังคับใช้ไปด้วยหรือไม่ ต้องรอความชัดเจนจากกรมการขนส่งทางบกออกประกาศว่ารถชนิดใดที่จะถูกบังคับใช้ตามกฎหมายนี้ และรถประเภทใดที่ได้รับข้อยกเว้น

อย่างไรก็ดี คาร์ซีท เป็นอุปกรณ์เสริมเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในขณะที่เดินทาง ซึ่งไม่ได้มีติดมากับรถ สนนราคามีตั้งแต่หลักร้อยไต่ระดับหลักหมื่นขึ้นอยู่กับแบรนด์และวัสดุอุปกรณ์ ลักษณะคาร์ซีทรองรับสรีระของเด็ก มีเข็มขัดนิรภัยในตัว ดังนั้น กรณีเกิดอุบัติเหตุ อวัยวะสำคัญๆ ของเด็กจะถูกเซฟตี้ไว้ด้วยเข็มขัดล็อก 4 หรือ 8 จุด ลดโอกาสที่ร่างของเด็กจะพุ่งตามไปแรงกระแทกของรถ ซึ่งเป็นความปลอดภัยสำหรับเด็กโดยเฉพาะ

สำหรับ คาร์ซีท แบ่งเป็น 3 กลุ่มอายุ คือ กลุ่มอายุ แรกเกิด - 2 ปี ต้องใช้ที่นั่งนิรภัยนั่งเบาะหลัง หันหน้าเด็กไปหลังรถ กลุ่มอายุ 3 - 7 ปี ใช้ที่นั่งที่มีเข็มขัดนิรภัยภายในยึด 5 จุดติดกับเบาะหลัง หันหน้าไปหน้ารถ และกลุ่มอายุ 6 -7 ปีจะใช้เก้าอี้เสริมคาดยึดเข็มขัดจากตัวรถ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยข้อมูลว่าคาร์ซีทสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี จากระบบบูรณาการข้อมูลการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือ ปี 2560-2564 พบเด็กอายุแรกเกิด - 6 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 1,155 ราย จำนวนนี้มี 221 ราย เสียชีวิตขณะโดยสารรถยนต์ เฉลี่ยปีละ 44 ราย และจากระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ ของกระทรวงสาธารณสุข 3 ปีที่ผ่านมา พบกลุ่มเด็กอายุแรกเกิด - 6 ปี ที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิต มีการใช้เบาะนิรภัยเพียง 3.46%

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี อธิบายว่าทำไมต้องให้เด็กนั่งคาร์ซีท เพราะการให้เด็กนั่งและคาดเข็มขัดตรงที่นั่งข้างคนขับทำให้เด็กเสี่ยงอันตรายมากกว่าเบาะหลัง 2 เท่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือการอุ้มเด็กไว้บนตักไม่ได้ช่วยสร้างความปลอดภัย นอกจากนี้ ข้อมูลราชวิทยาลัยกุมารแพทย์พบว่า การเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้เด็กที่โดยสารเสียชีวิตปีละ 140 ราย

พร้อมกันนี้ได้เสนอไปยังภาครรัฐ องค์กร ประชาสังคม ชุมชน หน่วยงานบริการสุขภาพเด็กต้องเตรียมมาตรการช่วยเหลือการเข้าถึงที่นั่งนิรภัย คือ 1.ให้ความรู้ประชาชนอย่างทั่วถึง 2.สนับสนุนการซื้อ เพราะข้อมูลชี้ชัดว่าการลดอุบัติเหตุของเด็ก ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐที่ต้องดูแลคนพิการใน 10 - 20 ปีข้างหน้าได้ ฉะนั้นเป็นการลงทุนมีความคุ้มทุนเพื่อลดการสูญเสีย และ 3.มาตรการลดต้นทุนผู้ขาย ลดภาษีการนำเข้า รวมถึงองค์กร ชุมชนต้องเห็นความสำคัญ หาผลิตภัณฑ์ราคาถูกลงเพื่อทำคลังยืมคืน เนื่องจากที่นิรภัยเป็นสินค้าต้องใช้ตามอายุ หากไม่เกิดอุบัติรุนแรง ก็สามารถนำมาเวียนใช้ได้

“ครอบครัวต้องปรับเปลี่ยนทัศคติ ร่วมกันเรียกร้องหน่วยงานเกี่ยวข้องสนับสนุนให้ท่านเข้าถึงที่นั่งนิรภัยได้ใน 120 วัน แทนที่การทำให้เลื่อนออกไป ลองคิดดูว่าผู้ขับและผู้นั่งข้างได้คาดเข็มขัดนิรภัย แต่ลูกท่านไม่ได้คาดหรือคาดแล้วก็ไม่พอดี ท่านจะยอมคาดเข็มขัดในขณะที่ลูกไม่มีระบบยึดเหนี่ยวอย่างไร ดังนั้น ทัศคติต่างๆ เพราะสิ่งที่ครอบครัว ต้องปรับเพื่อร่วมมือ เรียกร้องให้รัฐ องค์ชุมชน หน่วยบริการสุขภาพเด็ก เกิดความร่วมมือและรับผิดชอบร่วมกัน” รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าว 

ดังนั้น หลังจากราชกิจฯ ประกาศปรับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จราจรทางบกฉบับล่าสุด กำหนดให้เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้มีคาร์ซีทตลอดเวลาที่โดยสารรถ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท สิ่งสำคัญนับจากนี้ ประชาชนต้องเตรียมตัวหาอุปกรณ์ และปรับทัศนคติต่อความปลอดภัยของที่นั่งนิรภัย

 ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน” กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านการศึกษา ให้ความเห็นเอาไว้อย่างในสนใจผ่านคอลัมน์ “พ่อแม่ลูกปลูกรัก” ใน “ผู้จัดการออนไลน์” ว่า ในขณะที่ภาครัฐเองเมื่อประกาศใช้กฎหมายแล้ว ก็ไม่ใช่จบแค่นั้น เหมือนเรื่องอื่น ๆ ที่เคยเป็นมา ควรมีมาตราการที่พร้อมหาทางช่วยเหลือ สร้างการตระหนักรู้ ให้กับกลุ่มคนที่ไม่พร้อมด้วย เช่น ควบคุมกลไกเพื่อกำหนดราคาคาร์ซีทที่มีคุณภาพให้ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย ส่งเสริมให้บริษัทรถยนต์มีนโยบายให้คาร์ซีทเป็นอุปกรณ์สำหรับติดในรถยนต์ หรือเป็นทางเลือกให้ผู้ซื้อรถยนต์ ช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีปัญหาโดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม มีคาร์ซีทประจำชุมชน ประจำหมู่บ้าน ฯลฯ รวมไปถึงการทำให้ผู้คนได้ตระหนักในระดับปรับเปลี่ยนทัศนคติว่าเรื่องความปลอดภัยของเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น

“เรื่องแบบนี้ไม่ได้จบแค่ออกกฎหมาย ใครทำผิดก็จับกุม ต้องมีมาตรการประกอบอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่เปราะบางอย่างนี้ ยังมีเวลาให้ปล่อยชุดมาตรการประกอบออกมาอีกเกือบ 4 เดือน ก่อนกฎหมายจะมีผลบังคับใช้”ดร.สรวงมณฑ์กล่าว


และน่าจับตาอย่างยิ่งว่าหลังทำคลอดกฎหมายเกิดกระแสข่าวคาร์ซีทขึ้นราคาทันที ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐที่ต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ให้เกิดการฉกฉวยเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งทางด้าน ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่ากรมการค้าภายในได้หารือกับห้างค้าปลีกค้าส่งและแพลตฟอร์ม เพื่อติดตามสถานการณ์การจำหน่ายสินค้า คาร์ซีท เมื่อวันที่ 10 พ.ค.แต่ไม่พบมีการปรับขึ้นราคาจำหน่ายสินค้าคาร์ซีท รวมทั้ง ยังมีการจัดโปรโมชั่นลดราคาอย่างต่อเนื่อง และหากผู้ผลิตขอปรับขึ้นราคาจำหน่ายก็จะแจ้งให้กรมฯ ทราบก่อน

ทั้งนี้ กรมการค้าภายใน ได้กำหนดให้สินค้า คาร์ซีท เป็นหนึ่งในสินค้าที่ติดตามดูแล (วอทช์ ลิสต์) ประจำเดือน พ.ค. จะมีการติดตามสถานการณ์ราคาจำหน่ายอย่างใกล้ชิด กรณีที่มีการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร อาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือหากพบการฉวยโอกาสในลักษณะดังกล่าวประชาชนสามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ

นอกจากนั้น อีกประเด็นที่น่าขบคิดและชวนให้ตั้งคำถามร่วมกันก็คือ ประเทศไทยมี “กฎหมายหมวกนิรภัย” มาเกือบ 30 ปีแล้ว แต่ความจริงที่ปรากฏก็คือ คนไทยสวมไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์....เพราะฉะนั้น “คาร์ซีท” ก็คงไม่เว้นที่จะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น