xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ส่องความรวยธุรกิจพลังงาน Q1/65 กลุ่มปตท.โกยกำไร 2.7หมื่นล้าน บางจากอู้ฟู่ 4.3 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ราคาพลังงานโลกที่แพงขึ้นรับการฟื้นตัวเศรษฐกิจหนุนส่งให้กลุ่มธุรกิจพลังงานทำกำไรอย่างงดงาม โดย 6 บริษัทกลุ่มปตท. ทำกำไรในไตรมาสแรกของปี 2565 กว่า 2.7 หมื่นล้านบาท รับอานิสงส์ราคาน้ำมันดิบพุ่งจากสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนดันกำไรจากสต๊อกน้ำมันและค่าการกลั่น เช่นเดียวกันกับบางจากมีกำไรสุทธิ 4,356 ล้านบาท 

การทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทในกลุ่ม ปตท. 6 บริษัท ประกอบด้วย บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP), บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR), บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล ( PTTGC), บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC), บมจ.ไทยออยล์ (TOP), บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC)  มีกำไรสุทธิรวม 27,572.63 ล้านบาท ลดลง 24% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไร 36,278.62 ล้านบาท

บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ที่ทำกำไรสุทธิที่ 3.8 พันล้านบาท ทางบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด ชี้ว่าเป็นผลประกอบการที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งได้รับอานิสงค์จากการปรับดีขึ้นของอัตรากำไรน้ำมันต่อลิตร ปริมาณการขายทั้งน้ำมันและ Non-oil และค่าใช้จ่าย/ลิตรที่ลดลง ขณะที่แนวโน้มไตรมาส 2/2565 ยังคงแข็งแกร่งจากกำไรสต็อกน้ำมันที่เกิดจากการปรับราคาดีเซลขึ้น 5 บาท/ลิตร ปริมาณการขายน้ำมันและกาแฟที่เพิ่มขึ้นในช่วงไฮซีซั่น และการผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางที่มากขึ้น

 นายพิจินต์ อภิวันทนาพร  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เผยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2565 ของ OR และบริษัทในกลุ่มมีรายได้จากการขายและบริการ 177,291 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,452 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.3% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกโดยเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ขายของทั้งกลุ่มธุรกิจ Mobility และกลุ่มธุรกิจ Global เพิ่มขึ้น

สำหรับ EBITDA ในไตรมาส 1 อยู่ที่ 6,467 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,049 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 46.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยเพิ่มในทุกกลุ่มธุรกิจ ซึ่งกลุ่มธุรกิจ Mobility จากภาพรวมกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นจากทั้งธุรกิจตลาดพาณิชย์และธุรกิจขายปลีกน้ำมัน

ในขณะที่กำไรขั้นต้นของการขายน้ำมันดีเซลผ่านสถานีบริการชะลอตัวจากการลดภาระภาคประชาชนในการชะลอการปรับราคาหน้าสถานีบริการ ส่งผลให้ไตรมาส 1/2565 นี้ OR มีกำไรสุทธิจำนวน 3,845 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,491 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 63.3% คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.32 บาท สูงกว่าไตรมาสก่อน 0.12 บาท หรือเพิ่มขึ้น 60.0% แต่เมื่อเปรียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนพบว่า ในไตรมาส 1/2565 OR มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,845 ล้านบาท ลดลง 3.9% จากไตรมาส 1/2564 ที่มีกำไรสุทธิ 4,003.20 ล้านบาท

ด้านไทยออยล์ นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 1/2565 บริษัทมีกำไรสุทธิ 7,182.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 3,360.00 ล้านบาท โดยในไตรมาส 1 ปี 2565 กลุ่มไทยออยล์มีกำไรขั้นต้น จากการผลิตของกลุ่มรวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันอยู่ที่ 23.6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และด้วยปริมาณวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตของกลุ่มไทยออยล์อยู่ที่ 303,000 บาร์เรลต่อวัน ทำให้กลุ่มไทยออยล์มีรายได้จากการขายและ EBITDA จำนวน 114,506 ล้านบาท และ 13,034 ล้านบาท ตามลำดับ

ส่วน บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2565 บริษัทมีกำไรสุทธิ 4,211.66 ล้านบาท หรือ 0.93 บาท/หุ้น ลดลง 57% จากงวดเดียวกันปี 64 ที่มีกำไร 9,694.86 ล้านบาท หรือ 2.16 บาท/หุ้น โดยไตรมาสนี้ บริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงานปกติ อยู่ที่ 6,236 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 29% จากช่วงเดียวกันปี 64 โดยมี Adjusted EBITDA ในไตรมาสนี้อยู่ที่ 14,273 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาส 1/64

ทั้งนี้ หากรวมการรับรู้ผลกำไรจากสต๊อกน้ำมันและรายการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับเป็นกำไรรวม 4,884 ล้านบาท ผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อประกันความเสี่ยง 8,568 ล้านบาทโดยเป็นการรับรู้ที่เกิดขึ้นแล้วจำนวน 2,573 ล้านบาท และที่ยังไม่เกิดขึ้นจำนวน 5,996 ล้านบาท ผลกำไรทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน 595 ล้านบาท กำไรจากตราสารอนุพันธ์ทางการเงิน 1,066 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิลดลงดังที่กล่าวข้างต้น

บริษัทมีรายได้จากการขายรวม 175,554 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 72% จากงวดเดียวกันปี 64 ตามรายได้จากการขายที่เป็นผลจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ได้ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นช่วยหนุน จากทั้งอุปสงค์ที่ฟื้นตัวภายหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย และสงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ขณะที่ปริมาณขายรวมของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากรับรู้ผลประกอบการของบริษัท allnex ภายหลังจากเสร็จสิ้นการเข้าซื้อกิจการในช่วงปลายไตรมาส 4/64

สำหรับ ปตท.สผ. (PTTEP) ซึ่งประกาศผลดำเนินงานไตรมาส 1/2565 มาก่อนหน้า นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ระบุว่า บริษัทมีรายได้รวม 68,890 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากไตรมาส 4 ปี 2564 ซึ่งมีรายได้ 66,222 ล้านบาท จากราคาขายผลิตภัณฑ์ในไตรมาสนี้ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยต่อวันเพิ่ม ส่งผลให้ ปตท.สผ. มีกำไรสุทธิที่ 10,519 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับในไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีกำไรสุทธิที่ 10,646 ล้านบาท

ขณะที่ IRPC ก็ทำกำไรเช่นกัน โดย  นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1/2565 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ 76,608 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาขายเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาดอยู่ที่ 4,105 ล้านบาท สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ทั้งน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานและปิโตรเคมีส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ประกอบกับต้นทุนราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี 9,891 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) จำนวน 6,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 113 และมีกำไรสุทธิ 1,501 ล้านบาท

แนวโน้มภาวะตลาดน้ำมันดิบในไตรมาส 2/2565 คาดว่าปริมาณการใช้น้ำมันของโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน จากการคาดการณ์ว่ามาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะยังคงยืดเยื้อและจะเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้น

ขณะที่บริษัทในเครือ ปตท. หลายบริษัทได้รับอานิสงส์จากราคาพลังงานโลกปรับขึ้น แต่สำหรับ GPSC กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 1/2565 บริษัทฯ มีรายได้ทั้งสิ้น 27,261 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสุทธิ 313 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 84% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2564 กำไรสุทธิปรับตัวลดลง 855 ล้านบาท หรือ ลดลง 73%

กำไรที่ลดลงมีปัจจัยหลักจากผลการดำเนินงานในส่วนของกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ลดลงจากราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากจากสถานการณ์ความขัดแยงระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้กำไรจากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมลดลง แม้ปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมคงที่ ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายไอน้ำให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ส่วนปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลดลงเล็กน้อย

 ไม่เพียงกลุ่ม ปตท. ที่ทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ ทางกลุ่มบางจากก็โกยกำไรอู้ฟู่ ตามที่นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทบางจากฯ (BCP) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 1/ 2565 ว่า บริษัท บางจากฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 69,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 และมีกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ที่ 4,356 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 148 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 91 จากช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยเป็นผลจากกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันที่ได้รับปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก 

ปัจจัยหนุนดังกล่าวยังส่งผลให้ค่าการกลั่นพื้นฐานปรับตัวสูงขึ้น ทำให้โรงกลั่นบางจากฯ มีการปรับเพิ่มอัตรากำลังการผลิตจนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาธุรกิจใหม่ก็ได้รับปัจจัยหนุนจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 367 เมื่อเทียบกับปี 2564

 ผลประกอบการที่ทำกำไรงดงามของกลุ่มบริษัทพลังงานในไตรมาสแรกของปีนี้ และจะเติบโตต่อเนื่องถึงไตรมาส 2/2565 ถือเป็นเส้นคู่ขนานกับค่าครองชีพของประชาชนที่พุ่งสูงขึ้นตามราคาน้ำมันและก๊าซ. 



กำลังโหลดความคิดเห็น