xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เส้นชัย 8.5 แสนคะแนน ซิวเก้าอี้ “พ่อเมือง กทม.” ปลุกเลือกเชิงยุทธศาสตร์ ทางเดียวสกัด “ชัชชาติ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ป้อมพระสุเมรุ

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับถอยหลังศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) ที่หากเป็นม้าแข่ง ก็ถือว่าเป็นช่วงโค้งสุดท้าย หรือที่ศัพท์ในวงการเรียกว่า “โค้งวัดเบญจฯ” กำลังเข้าสู่ทางตรงในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนวันกาบัตร 22 พ.ค.65 นี้

เชื่อว่าบรรยากาศหาเสียงเลือกตั้งคงดุเดือดร้อนแรงทั้งสมรภูมิ “ออนกราวนด์-ออนไลน์” เรียกว่า ผู้สมัครมีเท่าไร ต้องใส่ให้หมด

หากว่ากันตามเนื้อผ้าก็เป็นรู้กันว่า “เดอะทริป” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีคะแนน “ยืนหนึ่ง” นำคู่แข่งรายอื่นค่อนข้างห่าง จนทำท่าจะนำแบบม้วนเดียวจบเข้าป้ายซิวเก้าอี้ “พ่อเมืองหลวง” สบายๆ

แม้ว่าที่ผ่านมา “ชัชชาติ” จะถูกเปิดแผลบ่อยครั้ง แต่เรตติ้งก็ยังไม่ยุบให้เห็น ทั้งประเด็นความไม่อิสระจริง เพราะยังมีสายสัมพันธ์กับทางพรรคเพื่อไทยอยู่ หรือกรณีที่เป็น รมว.คมนาคม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และได้ลงนามอนุมัติให้เปิดสายการบินเอกชนประมาณ 40 สายการบินในระยะเวลาเพียง 1 ปี อันเป็นเหตุให้ ICAO ปักธงแดง ให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินในภายหลัง

หรือล่าสุดเรื่องยื่นไปที่คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบเรื่องส่งกลิ่นสมัยเป็นวิศวที่ปรึกษาจุฬาฯ เข้ามีส่วนในการประเมินโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ จนเป็นเหตุทำให้รัฐเสียหายมหาศาล
ขณะที่ผู้สมัครรายอื่นๆ จากทั้งหมด 29 ราย (ถูกตัดสิทธิ์ 2 ราย) ที่อยู่ในแผงตัวเต็งพอมีลุ้นสอดแทรกได้ ก็มีอาทิ “บิ๊กวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง, “เฮียโรจน์” วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, “พี่เอ้” สุชชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, “พี่ธี” สกลธี ภัททิยกุล, “ผู้พันปุ่น” น.ต.ศิธา ทิวารี และ “เจ๊รส” รสนา โตสิตระกูล
จากผลโพลล่าสุดของ “สถาบันพระปกเกล้า” ระบุว่า อันดับ 1 ชัชชาติ 42.4%, อันดับ 2 ยังไม่ได้ตัดสินใจ 18.2%, อันดับ 3 สุชัชวีร์ 12%, อันดับ 4 พล.ต.อ.อัศวิน 6.7%, อันดับ 5 วิโรจน์ 5.7%, อันดับ 6 สกลธี 5.7%, อันดับ 7 รสนา 2.7%, อันดับ 8 โฆสิต สุวินิจจิต 2.3% และอันดับ 9 ไม่ประสงค์ลงคะแนน 2%

อย่างไรก็ดีโพลสถาบันพระปกเกล้าคำนวณจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพียง 702 ตัวอย่างเท่านั้น ใกล้เคียงกับโพลหลายๆ สำนัก ที่มักใช้กลุ่มประมาณมากกว่า 1 พันตัวอย่างเล็กน้อย
จะมีก็เพียงโพลที่จัดทำโดยสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ใช้กลุ่มเป้าหมายถึง 20,377 ตัวอย่าง โดยผลการสำรวจที่ออกมาเมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ปรากฎว่า ชัชชาติ มาเป็นอันดับ 1 ที่คะแนน 27.93%, อันดับ 2 สุชัชวีร์ 21.95%, อันดับ 3 พล.ต.อ.อัศวิน 14.68%, อันดับ 4 วิโรจน์ 10.16%, อันดับ 5 น.ต.ศิธา 7.41%, อันดับ 6 สกลธี 3.50%, อันดับ 7 รสนา 2.44% โดยมีส่วนที่ยังไม่ตัดสินใจ 10.18% และไม่ใช้สิทธิ์ (No Vote) / ไม่เลือก (Vote No) 1.52%

สำหรับการเลือกตั้ง กทม.ครั้งนี้ มีสิทธิเลือกตั้งใน กทม.คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 4.7 ล้านคนเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งคาดการณืกันอีกว่า จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิราว 70% หรือประมาณ 3.3 ล้านคน
จากจำนวนผู้สมัครมีชื่อที่ลงแข่ง ทำให้คาดว่าคะแนนจะกระจายกันพอสมควร ทำให้งวดนี้คะแนนผู้ชนะอาจไม่จำเป็นต้อง “ทะลุล้าน” เหมือนการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.หนหลังๆ

โดย “ผู้สันทัดกรณี” ประเมินว่า เส้นชัยรอบนี้อยู่ที่ “8.5 แสนคะแนน” หรือมากกว่า 25% ของผู้ออกมาใช้สิทธิ์เล็กน้อย ก็จะได้ครอง “อาณาจักรเสาชิงช้า” เป็นผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่
และด้วยคะแนนที่ทิ้งห่างตามโพลทุกสำนัก การสู้กันแบบ “ตัวต่อตัว” ยากที่จะพลิกสถานการณ์เอาชนะ “ชัชชาติ” ได้

จนเริ่มมีเสียงปลุกกระแส “ลงคะแนนเชิงยุทธศาสตร์” กระหึ่มขึ้นเรื่อยๆ

ตามคิวที่ เสรี วงษ์มณฑา ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด ที่ถือเป็น “สลิ่มตัวแม่” ได้ออกมาโยนความเห็นว่า

"ถึงเวลาที่สลิ่มต้องตัดสิน Strategic vote แล้วนะคะ 3, 4, 6, 7 รวมใจกันเลือกเบอร์เดียวที่มีทางจะทำให้เขาคนนั้นที่เราคิดว่าไม่น่าจะอิสระจริงได้ชัยชนะ

อย่าดื้อดึงดันที่จะเลือกคนที่เราชอบให้เสียงแตกแล้วให้เขาชนะนะคะ

ประโยค "ไม่เลือกเรา เขามาแน่" ต้องเอามาพิจารณาว่า "เรา" นั้นควรจะเป็นเบอร์อะไร แล้วเรารวมใจกันลงคะแนนให้คนนั้นกันให้ชนะเลยนะคะ

เมื่อสลิ่มตัดสินใจร่วมมือกันลงคะแนนให้ใครคนใดใน 4 คนนี้ แล้วคะแนนอีก 3 คนได้น้อย ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน อย่าเสียใจ อย่าน้อยใจนะคะ เราจำเป็นต้องทำค่ะ"
ก่อนหน้านี้มีการจัดกลุ่มผู้สมัครตัวเต็งออกเป็น 2 ขั้ว ขั้วหนึ่งเป็นทีมฝ่ายค้าน-ไม่เอาประยุทธ์ หรือที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ประกอบด้วย “ชัชชาติ-วิโรจน์-ศิธา” อีกขั้วเป็นกลุ่มที่อิงกับรัฐบาลประยุทธ์ หรือบางความเห็นจัดให้เป็น “ฝ่ายสลิ่ม” ประกอบด้วย “สุชัชวีร์-อัศวิน-สกลธี-รสนา”
โดย Strategic vote หรือแปลเป็นไทยว่า ลงคะแนนทางยุทธศาสตร์ เบอร์ 3-4-6-7 ของ “ดร.เสรี” คือกลุ่มหลังนั่นเอง

ขณะที่ฝ่าย “ชัชชาติ-วิโรจน์-ศิธา” ดูแล้วไม่มีแนวโน้มที่จะร่วมใช้กลยุทธ์เลือกตั้งทางยุทธศาสตร์ ทั้ง “วิโรจน์” จากพรรคก้าวไกล ไม่มีทีท่าที่จะยอมลงให้ “ชัชชาติ” ที่มองได้ว่าเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทย เพราะมีผลไปถึงการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งมีฐานแฟนคลับเดียวกัน ฐานเดิมของพรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นแชมป์ป๊อปปูลาร์โหวตในพื้นที่ กทม ที่

เช่นเดียวกับ “ศิธา” ที่มีร่างเงาของ “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย อยู่ ก็มีรายการ “ไม่เผาผี” กับทั้งชัชชาติ หรือพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว

นอกจากไม่เกื้อหนุนกันแล้ว ซีก “ชัชชาติ-วิโรจน์-ศิธา” ดูจะช่วงชิงตัดคะแนนกันเองอีกด้วย ยิ่ง “วิโรจน์-ศิธา” ได้คะแนนมากเท่าไร ก็ไม่เป็นผลดีต่อ “ชัชชาติ” เท่านั้น

สถานการณ์ใกล้เคียงกับการเลือกตั้งซ่อมเขตจตุจักร-หลักสี่ ที่ “เดอะอ๊อบ” สุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย ชนะได้เป็น ส.ส. โดยมี “เสี่ยเพชร” กรุณพล เทียนสุวรรณ ของพรรคก้าวไกล เข้ามาเป็นที่ 2 โดยที่ช่วงโค้งสุดท้ายบรรยากาศหาเสียงของ “เพื่อไทย-ก้าวไกล” ดุเดือดเลือดพล่าน บลัฟกันแรงเสียยิ่งกว่าขั้วตรงข้าม

และจากผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.จตุจักร-หลักสี่ ที่ถือเป็นการหยั่งเสียงการเมืองใน กทม.ที่อัพเดทที่สุด ก็สะท้อนว่า เส้นทาง “ชัชชาติ” อาจจไม่ได้ราบรื่นไร้อุปสรรคอย่างที่เห็น กล่าวคือ ในการเลือกตั้งที่กินพื้นที่ 2 เขตนั้น ปรากฎว่าพรรคก้าวไกลสามารถคว้าได้อย่างน้อยเขตละ 1 หมื่นคะแนน

50 เขตๆ ละ 1 หมื่นคะแนน ก็เท่ากับ 5 แสนคะแนน ซึ่งแน่นอนเสียงที่เลือกพรรคก้าวไกลนั้น เป็นคะแนนในฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยเพียวๆ

ขณะที่คะแนนของพรรคเพื่อไทย ที่พอเทียบเคียงเป็นฐานของ “ชัชชาติ” ได้ ก็ไปได้คะแนนเยอะที่เขตหลักสี่ ส่วนที่เขตจตุจักร แม้จะได้หลักหมื่นคะแนนเช่นกัน แต่ก็แพ้ให้กับพรรคก้าวไกล

ทำนองเดียวกับผลโพลของพรรคการเมืองที่ระบุตรงกันว่า ในส่วนของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) นั้น ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลมาแรงในหลายเขต อาจซ้ำรอยสมัยเลือกตังใหญ่ที่ได้ ส.ส.กทม.มาถึง 10 คน

ว่ากันว่า เป็นเพราะพรรคก้าวไกลมีฐานเสียงที่ชัดเจน คะแนนจึงไม่สวิงไปที่ผู้สมัครฯ เจ้าอื่นเท่าไร

จึงพออนุมานได้ว่า “วิโรจน์” จะเป็นตัวตัดคะแนน “ชัชชาติ” โดยตรง แล้วยังมี “ศิธา” จากพรรคไทยสร้างไทย ที่มีฐานเสียงใกล้เคียงกัน แม้อาจจะไม่เปรี้ยงปร้าง แต่ด้วยเครดิตของ “เจ๊หน่อย” ที่มีดีกรีเป็น “เจ้าแม่นครบาล” ก็คงไม่ยอมเสียฟอร์มง่ายๆ

ตามรูปการณ์ที่ว่า หากซีก “สุชัชวีร์-อัศวิน-สกลธี-รสนา” สามารถ “ฮั้ว” กันได้สำเร็จ แบบไม่หมิ่นเหม่ผิดกฎหมาย ก็มีโอกาสที่จะปาดหน้า “ชัชชาติ” เข้าป้ายได้เหมือนกัน

คำถามมีว่า ใน 4 คนในฝ่ายอนุรักษ์นิยม จะเทคะแนนไปที่ใคร เพราะคงไม่มีใครยอมใครอย่างที่ผู้เสนอไอเดียว่าไว้
เพราะตัว “พี่เอ้-สุชัชวีร์” ที่ลงในสีเสื้อ “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ ก็สามารถอ้างผลโพลของหลายสำนักที่ระบุว่า ตัวเองมีคะแนนมาเป็นที่ 2 และยังมีเดิมพันสูงในการกู้ศรัทธาในพื้นที่ กทม.ให้กับต้นสังกัด

อีกทั้งส่วนตัว “พี่เอ้” ก็วางเส้นทางทางการเมืองไว้ไกลเกินกว่า จะมายอมยกธงขาวตั้งแต่สนามแรก

ขณะที่ “อัศวิน” เองก็คงไม่ยอมลงง่ายๆ มีพันธกิจ “ต้องไปต่อ” สะสางงานใน กทม.ที่ตัวเองครองอำนาจมากว่า 5 ปี 5 เดือน และดูจะมั่นใจใน “โพลส่วนตัว” ว่ามีคะแนนไม่ห่างจาก “ชัชชาติ” อย่างที่หลายโพลระบุ

ส่วน “สกลธี-รสนา” ก็มีต้นทุนจากคะแนนโพลที่ห่างจากหัวตารางเกินไป

เป็นหน้าที่ของ “โหวตเตอร์” หมู่มวลผู้สนับสนุนหรือ “ชาวสลิ่ม” ที่จะเห็นดีกับกลยุทธ์ “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” จนเกิดปรากฏการณ์ “ใจตรงกัน” หรือไม่

สำคัญที่จะเลือกใครในกลุ่ม “สุชัชวีร์-อัศวิน-สกลธี-รสนา” เป็นตัวเลือกทางยุทธศาสตร์
หากมองในมุมที่ “สุชัชวีร์-อัศวิน-สกลธี” แปดเปื้อนการเมืองเกินไป คำตอบสุดท้ายอาจเป็น “รสนา” ที่ชูภาพ “อิสระตัวจริง” ก็เป็นตัวเลือกที่ไม่ขี้เหร่.


กำลังโหลดความคิดเห็น