xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช (69): Enlightened Monarch: ราชาหรือราชินีผู้ทรงภูมิปัญญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เครื่องแต่งกายประจำชาติที่ออกแบบโดยพระเจ้ากุสตาฟที่สาม
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร


ใน ค.ศ. ๑๗๗๒  พระเจ้ากุสตาฟที่สามแห่งสวีเดน (๑๗๔๖-๑๗๙๒) ได้ทรงทำรัฐประหารในปี ค.ศ. ๑๗๗๒ ยึดอำนาจจากอภิชนนักการเมืองฝ่ายรัฐสภาได้สำเร็จโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อเลย อีกทั้งปวงประชามหาชนต่างโห่ร้องยินดีแสดงความจงรักภักดีตอบรับการที่พระองค์ยึดอำนาจจากพวกอภิชนฝ่ายรัฐสภา หลังการยึดอำนาจเพียงหนึ่งสัปดาห์ พระองค์ได้ทรงออกนโยบายต่างๆ ที่สามารถกล่าวได้อย่างชัดเจนเต็มปากเต็มคำว่าเป็นนโยบายที่ “enlightened” (ทรงภูมิธรรม)  นั่นคือภายใต้หลักมนุษยธรรมและเน้นที่เสรีภาพของปัจเจกบุคคล ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวถึงนโยบายต่างๆ เหล่านี้ไปบ้างแล้ว

ในคราวที่แล้ว ผู้เขียนได้เล่าถึงการที่พระเจ้ากุสตาฟที่สามได้ทรงออกแบบเครื่องแต่งกายประจำชาติสำหรับคนชั้นสูงและคนชั้นกลางในปี ค.ศ. ๑๗๗๘ โดยมีจุดประสงค์จะลดทอนการจับจ่ายสั่งซื้อชุดเสื้อผ้าตามแฟชั่นเริ่ดหรูจากต่างประเทศ เพราะก่อนหน้าที่จะมีเครื่องแต่งกายประจำชาติ ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางสวีเดนมักจะนิยมซื้อเสื้อผ้าจากต่างประเทศ ซึ่งพระองค์เห็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองและเสียงบดุลทางการค้า อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเสียหายให้แก่สังคมเพราะมันจะส่งผลให้ประเทศยากจนตามมา แม้ว่าจะพระองค์จะออกแบบเครื่องแต่งกายดังกล่าวนี้ขึ้นมา แต่ก็มิได้ทรงออกเป็นกฎหมายบังคับแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นพระราชดำริเท่านั้น

ดังที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า การออกแบบเครื่องแต่งกายประจำชาติสวีเดนของพระเจ้ากุสตาฟที่สามทำให้ผู้เขียนนึกถึงอะไรที่คล้ายๆ กันนี้ในบ้านเรา เช่น เสื้อราชปะแตนและชุดพระราชทาน ซึ่งในแง่หนึ่งก็ทำให้ข้าราชการหรือชนชั้นสูงมี  “เครื่องแบบ” หรือ “ชุดแต่งกาย” ที่สามารถใช้เป็นชุดทางการได้ และก็อาจจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายได้ด้วย หากสามารถทำให้ไม่ต้องเสียเงินไปซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นจากต่างประเทศลงได้ แต่ก็อาจจะมีคนโต้แย้งว่า “การมีเครื่องแบบประจำชาติ”  ก็ทำให้มีผู้ต้องเสียเงินซื้อผ้าและสั่งตัดชุดดังกล่าวอยู่ดี และแน่นอนว่าอาจจะต้องแพงกว่าการสั่งตัดหรือซื้อชุดธรรมดา !
 
แม้ว่าจะต้องมีการเสียเงินเสียทอง แต่ที่แน่ๆ ก็คือ เงินนั้นยังอยู่ในประเทศ เพราะมันคงเป็นเรื่องยากและประหลาดอย่างยิ่งหากจะมีใครต้องไปสั่งตัด  “เครื่องแบบหรือชุดประจำชาติ”  จากประเทศอื่นที่ไม่ใช่ประเทศของคนชาตินั้นเอง แม้ในหมู่นักวิชาการไทยที่จบจากต่างประเทศ หากจะต้องสวมชุดครุยวิทยะฐานะจากสถาบันต่างประเทศ ก็ยังไม่สามารถจ้างตัดในเมืองไทยได้ เพราะมันไม่สามารถทำได้เหมือนของต้นตำรับ โดยเฉพาะผ้าและสีและฝีมือการตัดเย็บ หากจะลงทุนสั่งผ้าแบบเดียวกันจากเมืองนอกเพื่อให้ช่างไทยตัด ราคาค่าผ้าเฉพาะที่จะตัดของคนเราคนเดียวก็ย่อมจะส่งให้ต้นทุนแพงโข แม้ว่าค่าฝีมือจะถูกกว่า แต่หากเมื่อตัดออกมาแล้วก็ไม่สามารถเหมือนได้ จะลงทุนเช่นนั้นไปทำไม สู้ไปซื้อจากเมืองนอกหรือวัดขนาดแล้วสั่งซื้อจากเมืองนอกไปเลยเสียจะคุ้มกว่า

 ครั้นจะมีใครแย้งอีกว่า ถ้าพระเจ้ากุสตาฟที่สามต้องการประหยัดจริงๆ ทำไมต้องออกแบบ “เครื่องแต่งกายประจำชาติ” ให้คนชั้นสูงและคนชั้นกลางต้องเสียเงินไปตัดชุด สู้ปล่อยให้แต่งกันอย่างเสรี จะไม่ประหยัดกว่าหรือ ?

คำตอบก็คือ ก็ไม่ใช่เพราะปล่อยเสรีดอกหรือ ที่คนเหล่านั้นจำนวนไม่น้อยใช้เงินซื้อเสื้อผ้าตามแฟชั่นต่างประเทศ จนเงินไหลออกไปปีๆหนึ่งไม่น้อยเลยทีเดียว ! 

ขณะเดียวกัน พระองค์ก็มิได้ออกกฎหมายบังคับให้คนชั้นสูงและคนชั้นกลางต้องใส่ชุดประจำชาติ แต่เป็นเพียงพระราชดำริและทรงมีเหตุผลที่ดีในการชักชวนคนเหล่านั้นให้ไตร่ตรอง และแน่นอนว่า ด้วยสถานะของการเป็นองค์พระมหากษัตริย์ อีกทั้งเป็นศูนย์รวมใจและสัญลักษณ์ของความเป็นสวีเดน ทรงสามารถเป็นผู้นำในการสวมใส่ชุดประจำชาติ ซึ่งแม้ว่าจะต้องมีราคาต้นทุนอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าคุ้มค่าที่ทำให้บ้านเมืองมีเอกลักษณ์ของความเป็นชาติได้ ซึ่งหลายๆ ประเทศในปัจจุบันไม่มีเครื่องแต่งกายประจำชาติที่เป็นเอกลักษณ์ เฉกเช่นเดียวกันกับเอกลักษณ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาตัวหนังสือ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมาหรือจะสร้างกันมาใหม่ก็มิใช่เรื่องแปลก หากสร้างและประสบความสำเร็จได้ เพราะอย่างในกรณีของสวีเดน ก็เพิ่งมีเครื่องแต่งกายประจำชาติเมื่อ ค.ศ. ๑๗๗๘ นี้เอง แม้ว่าสวีเดนจะเป็นรัฐที่มีอายุเก่าแก่มาก่อนหน้านี้ก็ตาม

และอย่างที่เล่าไปในตอนที่แล้วว่า ตอนสมัยที่ผู้เขียนไปศึกษาต่อที่อังกฤษใหม่ๆ ได้นำชุดราชประแตนที่ตัดเพื่อรับพระราชทานปริญญาติดตัวไปด้วย เป็นเพราะรู้สึกเสียดายที่ตัดมาและใช้เพียงหนเดียว และก็ไม่รู้ว่าจะได้ใช้อีกเมื่อไร ตอนไปใหม่ๆ ผู้เขียนยังไม่ได้ไปซื้อเสื้อโค้ทกันหนาว จึงสวมเสื้อหลายตัวและใช้ราชปะแตนสวมทับต่างเสื้อโค้ท ตอนนั้นเป็นช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ อากาศไม่หนาวนัก แต่แน่นอนว่าสำหรับคนไทยที่ไปใหม่ๆก็ถือว่าหนาวเลยทีเดียว ทั้งคนอังกฤษเองก็ยังสวมใส่แจ๊กเกตหรือโค้ทอยู่ แต่ไม่ใช่อย่างหนาที่ใช้กันในช่วงฤดูหนาว ซึ่งชุดราชปะแตนสีขาวของไทยเราก็สามารถใช้แทนโค้ทได้อย่างดี อีกทั้งดูจะเป็นที่แปลกตาสำหรับคนพื้นเมืองอย่างคนอังกฤษในลอนดอนด้วย
 
ผู้เขียนอาจจะใช้ความรู้สึกส่วนตัวหรือคิดเข้าข้างตัวเองไปว่า คนอังกฤษเขามองด้วยความสนใจไปในทางบวก และน่าจะดูดีกว่าการที่เราใส่เสื้อผ้าตามแบบของเขา ฝรั่งน่าจะมีความรู้สึกในการยอมรับความเป็นตัวของตัวเองของคนแต่ละชาติมากอยู่แล้ว และก็ไม่ได้ผิดกาลเทศะแต่อย่างใด โดยเฉพาะอากาศ ซึ่งอากาศในหน้านั้นก็ควรต้องสวมใส่โค้ทอยู่ หรือถ้าจะเปรียบเทียบกับเจ้าชายจิกมี่จากภูฏานยามเมื่อท่านเสด็จเยือนประเทศไทยด้วยชุดประจำชาติ ความรู้สึกของเราที่มีต่อท่านเป็นอย่างไร ?
 
 และอย่างที่ผู้เขียนกล่าวไปในตอนที่แล้วว่า แม้ว่าผู้เขียนจะใส่ราชปะแตนตอนอยู่อังกฤษ (ด้วยเหตุผลสองประการ นั่นคือ หนึ่ง ต้องการประหยัด สอง มันก็ดูดีไม่เหมือนใคร แม้ว่าจะคล้ายชุดของอินเดียหรือจีน-รัสเซียสมัยเข้าสู่ยุคคอมมิวนิสต์ก็ตาม แต่ก็ไม่เหมือนเสียทีเดียว ซึ่งในแง่นี้ ชุดประชาติของสวีเดน แม้ว่าจะเป็นชุดประจำชาติสวีเดน แต่ก็ยังมีส่วนเหมือนชุดของความเป็นยุโรปด้วยเช่นกัน) แต่สำหรับ “ชุดพระราชทาน”-----แม้ว่าจะมีเหตุผลดีที่จะใส่ในแง่ของความประหยัดสำหรับใช้แทนสูทราคาแพงที่ข้าราชการหรือชนชั้นสูงและชนชั้นกลางในบ้านเราจำนวนหนึ่งต้องเสียเงินหาซื้อจากต่างประเทศ----ผู้เขียนไม่ชอบเสียจริงๆ !!! 

เหตุผลที่ไม่ชอบเพราะมันไม่เข้ากับตัวผู้เขียน เพราะผู้เขียนเป็นผู้ชายที่ไว้ผมยาว ขณะเดียวกัน ผู้เขียนก็ไม่นิยมใส่สูทด้วย ดังนั้น เมื่อเวลาไปงานอะไรต่างๆ ผู้เขียนเชื่อว่า การแต่งกายสุภาพ คือ ใส่เสื้อเชิ๊ตที่สะอาดและเหมาะสมก็น่าจะเพียงพอ ส่วนเรื่องกางเกงไม่ต้องพูดถึงว่าควรใส่อย่างไร

 ที่ไม่ชอบใส่สูทก็เพราะเหตุผลหลักเหตุผลเดียวนั่นคือ อากาศบ้านเรามันร้อนอยู่แล้ว ! และแน่นอนว่างานพิธีอะไรต่างๆบางงานเมื่อจัดในห้องปรับอากาศ ก็ยิ่งต้องปรับอุณหภูมิให้เย็นจัด เพื่อรองรับจำนวนคนที่เข้ามาแออัด พร้อมๆกับรองรับคนเหล่านั้นที่ใส่สูท หรือแม้แต่ชุดราชประแตนกันมาก็ตามเถอะ ทั้งนี้มิพักต้องพูดถึงงานพิธีที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ สภาพของคนใส่สูทในสภาวะแบบนั้นมันก็คือ “นรก” เราดีๆ นี่เอง 




พูดถึง “นรก” เราจะพบว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพใน “นรก” นั่นแตกต่างกันไปตามภูมิอากาศและภูมิประเทศ แม้ว่าคนหลายๆเชื้อชาติหลายเผ่าพันธุ์ต่างเชื่อหรือเคยเชื่อเรื่อง “นรก” เหมือนกันว่า นรกเป็นดินแดนที่ไม่น่าอยู่เอาเสียเลย คนที่ตายไปแล้วต้องลงไปอยู่ในนรกต้องทุกข์ทรมานยิ่ง แต่อากาศในนรกของคนแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกันไป “นรก” ของคนเมืองหนาวจะมีอากาศที่หนาวเย็นกว่าความหนาวเย็นที่พวกเขาเคยมีบนโลก ส่วนคนเมืองร้อน “นรก” ก็มีอากาศที่ร้อนตับแตกกว่าหน้าร้อนครั้งไหนๆบนโลกจะเทียบได้ ส่วน “นรก” ของคนแถบลุ่มแม่น้ำไนล์นั้น พวกเขาเชื่อว่า “นรก” มีสภาพเป็นเมืองบาดาล เพราะทุกๆ ปี กระแสน้ำจะพัดพาคร่าชีวิตคนจำนวนมาก คนแถวน้ำจึงเข้าใจว่านรกเป็นเมืองบาดาล

คนไทยจำนวนไม่น้อยก็ยังใส่และนิยมเคารพการใส่สูทและคนใส่สูทอยู่ (ไม่ว่าจะใช้ผ้าเบาบางอย่างไร มันก็ร้อนอยู่ดี เพราะมันต้องสวมสูททับเสื้อตัวในอยู่ดี) ถ้าพวกเขาไม่รู้สึก “นรก” กับการใส่สูทแต่ประการใด เพราะอยู่ในห้องปรับอากาศตลอด (หรือกลายพันธุ์ไปแล้ว นั่นคือไม่ร้อนแม้ไม่มีเครื่องปรับอากาศ !) แต่สำหรับผู้เขียน มันเป็น “นรก” เลยทีเดียว และการเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลาในอุณหภูมิเย็นจัดเพื่อทำให้การใส่สูทของพวกเขาไม่เป็น “นรก” สำหรับพวกเขา แต่การใช้พลังงานมหาศาลและไอร้อนจากเครื่องปรับอากาศ ตลอดจนการออกแบบอาคารบ้านเรือนที่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศเท่านั้น มันก็ได้สร้างความเป็น “นรก” (ภาวะโลกร้อน) ให้กับคนเดินดินกินข้าวแกงอย่างผู้เขียนและพี่น้องมนุษย์อีกจำนวนมหาศาลทั่วโลก !



กำลังโหลดความคิดเห็น