วรศักดิ์ มหัทธโนบล
ในความเป็นไป
ข้อสังเกตบางประการจากอดีต (ต่อ)
ด้วยเหตุที่ข้อมูลฝ่ายจีนบ่งชี้ไปเช่นนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่อาจมีบางรัฐในจีนตามช่วงระยะที่ว่านี้ (ช่วงที่แตกแยก) ที่มีความสัมพันธ์กับรัฐในสุวรรณภูมิ ขณะนี้เรายังมีข้อมูลในส่วนนี้น้อยมาก
อย่างเช่นในยุคสามรัฐ (ค.ศ.220-280 หรือที่คนไทยรู้จักกันในยุคสามก๊ก) นั้น รัฐอู๋ที่มีซุนเฉวียน (ซุนกวน) เป็นผู้นำมีบันทึกว่าได้เคยส่งทูตมายังบริเวณทะเลจีนใต้ หรืออาณาบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วกล่าวว่า ทูตจีน (จากรัฐอู๋) ได้พบกับพ่อค้าชาวโรมันที่เดินทางมาทำการค้ากับรัฐในแถบนี้ พ่อค้าบางคนอาศัยอยู่ในรัฐแถบนี้นานถึงเจ็ดหรือแปดปีก็มี เป็นต้น
จากตัวอย่างดังกล่าว ทำให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่อาจมีชาวจีนเดินทางมาถึงชายขอบภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะเมืองปัตตานีที่ในอดีตเคยเป็นสถานีการค้าที่นักเดินทางต่างรู้จักกันดี
ในประการต่อมา ไม่ว่าจีนจะอยู่ในช่วงที่มีเอกภาพหรือแตกแยกก็ตาม เป็นที่รู้กันว่าจีนมีประเพณีหนึ่งที่ยึดมั่นมาตลอดคือ การที่ชาวจีนมีธรรมเนียมในการเซ่นไหว้บรรพชนของตนในแผ่นดินใหญ่ ด้วยเหตุนี้ ชาวจีนโดยมากจึงไม่นิยมที่จะออกนอกดินแดนของตนเพื่อไปตั้งหลักแหล่งหรือหาที่ทำกินใหม่ เพราะจะทำให้ไม่สามารถทำการเซ่นไหว้บรรพชนต่อหน้าหลุมฝังศพได้ ซึ่งจะขึ้นชื่อว่าเป็นลูกหลานที่อกตัญญูเอาได้
เหตุดังนั้น หากชาวจีนจะต้องออกไปค้าขายยังแดนไกลแล้ว การออกไปดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ชาวจีนต้องปักหลักอย่างถาวรอยู่ในดินแดนนั้น ไม่ว่าจะออกไปยาวนานเพียงใดก็ตาม เมื่อถึงเวลาหนึ่งที่พอแก่การแล้ว ชาวจีนเหล่านี้มักจะกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอนของตนในที่สุด
ในประเด็นนี้ที่บอกให้รู้ว่า เหตุใดเราจึงพบหลักฐานความเป็นอยู่และความเป็นไปของชาวจีนในสุวรรณภูมิหรือชายขอบภาคใต้น้อยมาก (แม้แต่ในบันทึกของจีน) ทั้งที่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่า จีนมีความสัมพันธ์กับสุวรรณภูมิและพื้นที่ชายขอบภาคใต้มาเป็นเวลานับพันปีแล้ว ส่วนหลักฐานเท่าที่มีอยู่นั้น โดยมากมักกล่าวถึงบทบาทในทางการค้ามากกว่าที่จะฉายภาพให้เห็นถึงบทบาทอื่น ในประเด็นนี้จึงได้แต่หวังว่าจะมีการค้นคว้าหลักฐานที่ลึกซึ้งมากขึ้น
ประการสุดท้าย ตราบจนราชวงศ์สุดท้ายของจีนคือราชวงศ์ชิงนั้น เราพบว่า ชาวจีนเริ่มมีการตั้งหลักแหล่งอยู่ในต่างแดนมากขึ้น อันจะผิดธรรมเนียมดังที่กล่าวไปในประการที่สอง
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ในช่วงปลายราชวงศ์ชิงนั้นจีนได้เกิดความอ่อนแอขึ้นมา ความอ่อนแอนี้มีสาเหตุมาจากการคุกคามของตะวันตก ประการหนึ่ง และจากการไร้ธรรมาภิบาลและประสิทธิภาพในการปกครอง อีกประการหนึ่ง ในช่วงนี้ได้เกิดกบฏภายในจีนขึ้นมากมายหลายขบวนการ ซ้ำบางขบวนการก็ซึมซับรับเอาความคิดและวัฒนธรรมสมัยใหม่จากตะวันตกมาด้วย
ทัศนคติของชาวจีนในช่วงที่ว่านี้จึงมีการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับแรงกดดันต่างๆ และเป็นเหตุทำให้ชาวจีนเริ่มอพยพไปหาที่ทำกินใหม่ ในจำนวนนี้แม้ส่วนใหญ่จะยังคงมีความเชื่อในประเพณีเดิมที่จะไม่ทิ้งสุสานบรรพชนก็ตาม แต่ก็มีไม่น้อยเช่นกันที่เริ่มตั้งหลักแหล่งยังต่างแดนที่มิใช่บ้านเกิดของตน
นอกจากนี้ ยังมีชาวจีนที่ออกนอกแผ่นดินใหญ่เพื่อหนีราชภัยอันเนื่องมาจากข้อหากบฏที่ตนก่อขึ้น ชาวจีนกลุ่มนี้จึงจำต้องตัดใจทิ้งสุสานบรรพชนเอาไว้ที่บ้านเกิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แรงกดดันดังกล่าวดำรงสืบเนื่องเรื่อยมา จนถึงเมื่อราชวงศ์ชิงอ่อนแอจนถึงขีดสุดแล้วนั้นเอง ชาวจีนก็ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะต้องผูกพันกับสุสานบรรพชนอีกต่อไป และก็ยืดหยุ่นให้กับตนเองในประเพณีนี้ด้วยการนำป้ายบรรพชน หรือทำป้ายบรรพชนขึ้นใหม่เพื่อใช้เซ่นไหว้ในดินแดนที่ตนปักหลักปักฐานอาศัยอยู่
ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ครั้นพอราชวงศ์ชิงล่มสลายต่อเนื่องมาจนถึงยุคสาธารณรัฐ จนถึงเมื่อจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ชาวจีนจึงอพยพออกมาอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง และปักหลักปักฐานอยู่ในสุวรรณภูมิ และแน่นอนว่า ชายขอบภาคใต้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ชาวจีนเหล่านี้ได้เข้ามาปักหลักปักฐานด้วย
จากช่วงที่ว่านี้เองที่เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเราจึงรู้เรื่องราวของชาวจีนที่ชายขอบภาคใต้และส่วนอื่นๆ ของไทย มากกว่าที่เรารู้ในเรื่องเดียวกันนี้ในช่วงราชวงศ์ก่อนหน้านี้ และก็เพราะเหตุนี้เช่นกันที่ทำให้เราต้องตระหนักว่า เรื่องราวของชาวจีนที่ชายขอบภาคใต้คือเรื่องราวที่มียุคสมัยเฉพาะเป็นของตนเอง
สิ่งที่เราเห็นในเรื่องราวเหล่านี้ จึงไม่ควรที่จะนำไปสรุปรวมกับเรื่องราวที่มีมาก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะในด้านใด โดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรม เพราะถึงจะเป็นวัฒนธรรมจีนอยู่ก็จริง แต่ก็เป็นวัฒนธรรมจีนที่มีความเป็นเฉพาะถิ่นเฉพาะที่ เฉพาะเงื่อนไขและเฉพาะเวลา ที่สำคัญ ไม่ควรนำไปรวมกับชาวจีนที่ยังคงอยู่ที่แผ่นดินใหญ่ด้วยเช่นกัน เพราะเวลาที่ผ่านไปได้ทำให้ชาวจีนนอกแผ่นดินใหญ่ยังคงรักษาวัฒนธรรมเดิมของตนเอาไว้ และยังคงสืบทอดวัฒนธรรมในรูปแบบเฉพาะของตนอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ชาวจีนที่แผ่นดินใหญ่ได้เปลี่ยนตนไปจากเดิมอยู่เป็นระยะ
ความเป็นไปที่ชายขอบภาคใต้
แม้จะมีหลักฐานถึงการตั้งหลักแหล่งของชาวจีนที่ชายขอบภาคใต้มาตั้งแต่เมื่อหลายร้อยปีก่อนก็ตาม แต่ด้วยเหตุผลจากที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ เราจึงรู้น้อยมากเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่และบทบาทของชาวจีนเหล่านี้ นอกจากเรื่องราวที่เป็นตำนานบางเรื่อง เช่น ตำนานเจ้าแม่หลินกูเหนียง (ลิ้มกอเหนี่ยว) ที่ปัตตานี เป็นต้น
เหตุฉะนั้น เรื่องที่เรารู้มากขึ้นจึงเป็นเรื่องราวของชาวจีนที่เข้ามายังสยามและชายขอบภาคใต้นับตั้งแต่ต้นสมัยกรุงเทพฯ เรื่อยมา เรื่องราวเหล่านี้แม้จะมีบันทึกของฝ่ายไทยอยู่ไม่น้อยก็ตาม แต่ในเบื้องต้นนี้จะขอกล่าวถึงที่มาของชาวจีนเหล่านี้โดยสังเขปก่อน
หากจำแนกตามภาษาพูดแล้ว ชาวจีนที่ชายขอบภาคใต้โดยส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนที่มีภูมิลำเนาเดิมอยู่มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) และมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ของจีนปัจจุบัน
ที่มาจากกว่างตงนั้นประกอบไปด้วยชาวจีนที่พูดภาษาจีนเฉาโจว (แต้จิ๋ว) และเค่อเจียหรือฮากกา (จีนแคะ) ส่วนที่มาจากฝูเจี้ยนคือชาวจีนที่พูดภาษาจีนฮกเกี้ยน จีนอื่นๆ เช่นที่มาจากมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ที่พูดภาษาไหหลำ หรือมณฑลกว่างตงที่พูดภาษากวางตุ้งก็มีอยู่เหมือนกัน แต่ก็น้อยกว่าจีนสามภาษาข้างต้น
จีนฮกเกี้ยนอาจถือเป็นจีนที่เก่าแก่กว่าจีนอีกสองภาษาพูด ทั้งนี้สังเกตได้จากหลักฐานที่ปรากฏว่าได้เข้ามายังชายขอบภาคใต้ก่อน จีนฮกเกี้ยนนี้มีบทบาทในทางเศรษฐกิจโดยตรง จีนเหล่านี้หากไม่มั่งคั่งมาก่อนตั้งแต่อยู่ที่จีนแผ่นดินใหญ่ก็จะมามั่งคั่งเมื่อมาอยู่ในสยาม
และด้วยเหตุที่มีฐานะและความรู้ที่ค่อนข้างดี จีนฮกเกี้ยนจึงมักจะได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ให้เป็นขุนนาง เพื่อให้ชาวจีนเหล่านี้ดูแลการภาษีอากร กิจการเหมืองแร่ และดูแลกลุ่มชาวจีนด้วยกันเอง ฯลฯ
พอพ้นไปจากรุ่นที่ว่านี้ไปแล้ว จีนฮกเกี้ยนก็เหลืออยู่น้อยเต็มทีเมื่อเปรียบเทียบกับอีกสองจีนที่เหลือ แต่ก็ยังคงจัดเป็นจีนที่มีฐานะดี มีการศึกษา และกล่าวเฉพาะที่มีตำแหน่งขุนนางด้วยแล้วก็ยังคงความเป็นผู้ดีเก่าเอาไว้สืบมา